สรุปข้อเสนอ 13 ร่าง สำหรับติดตาม #แก้รัฐธรรมนูญ ภาคสอง

 

23-24 มิถุนายน 2564 รัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. มีนัดหมายพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่ง – เป็นครั้งที่สอง หรือเป็น "ภาคสอง" หลังความพยายามภาคแรกจบไปโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ถูกแตะต้อง ภาคสองเริ่มขึ้นด้วยข้อเสนอใหม่จากทุกฝ่าย ที่มีทั้งส่วนที่เสนอมาเหมือนกัน หรือคล้ายกัน หรือแตกต่างกันไปคนละทาง 
พรรคพลังประชารัฐ ใช้เทคนิคการนำเสนอเป็น "แพ็กเกจ" คือ เสนอแก้ไขทุกเรื่องรวมมาในร่างเดียว ขณะที่รอบนี้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ไม่ได้ร่วมเสนอกับพรรคพลังประชารัฐด้วย แยกตัวออกมาเสนอต่างหากตามความสนใจ โดยแยกเป็น 8 ร่าง 8 ประเด็น ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หายหน้าไปจากสนามแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้แล้ว ด้านพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้ "ร่วมใจ" กันเหมือนที่เป็นมา พรรคเพื่อไทยนำเสนอร่าง 5 ฉบับโดยพรรคก้าวไกลร่วมด้วยแค่ฉบับเดียว คือ เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. ส่วนร่างฉบับที่เสนอให้ตั้ง สสร. จากการเลือกตั้ง 100% ถูกฝ่ายกฎหมายของสภาตีตก ไม่ให้บรรจุวาระการประชุม 
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่บรรจุเข้าสู่การพิจารณาจึงมีทั้งหมด 13 ฉบับ เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียว 1 ฉบับ เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ 4 ฉบับ เสนอนำโดยพรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ เสนอนำโดยพรรคประชาธปัตย์ 6 ฉบับ
ข้อเสนอทั้งจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีจุดร่วมสำคัญอยู่สามประเด็น ได้แก่ 
1) การแก้ไขเรื่อง “ระบบเลือกตั้ง” ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเช่นเดียวกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 
2) การเพิ่มเติมหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเสนอมาคล้ายกันสามฉบับ
3) การเสนอให้ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ซึ่งมีแค่พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ยอมเสนอประเด็นนี้ด้วย
จุดต่างที่สำคัญ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ยอมเสนอ คือ การ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." หรือยกเลิกที่มาและอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล หรือ ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช.
แตกต่างเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งคล้าย'40 ที่เสนอโดยพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์
หนึ่งในประเด็นร้อนของศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคสอง ต้องหนีไม่พ้นการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง นำโดยพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ต่างเสนอให้นำระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้อีกครั้งแทนระบบจัดสรรปันส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เดิม กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คนจะถูกแบ่งเป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบแรกจะใช้สำหรับเลือกผู้แทนเขตของตนเอง และใบที่สองจะใช้สำหรับเลือกพรรคการเมืองเพื่อคิดเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อต่อไป โดยไม่มีการคิดจำนวน ส.ส. ที่พึงมีแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของทั้งสามพรรคยังแตกต่างกันในรายละเอียด ทั้งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และแตกต่างกันเองอยู่ด้วย ดังนี้
ร่างของพรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเหลือเพียงร้อยละ 1 (มาตรา 91) จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ถึงจะมีสิทธิได้รับที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ร่างของพรรคเพื่อไทยยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 85) จากที่ฉบับปี 60 กำหนดไว้ 60 วัน
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในร่างของพรรคเพื่อไทย คือ การลดอำนาจ กกต. จากเดิมที่มีอำนาจในเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งชั่วคราว เพิกถอนสิทธิในการรับสมัครหรือเลือกตั้ง รวมไปถึงการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือที่เรียกว่าการแจกใบเหลือง ใบส้ม หรือใบแดงแก่ผู้สมัคร ส.ส. โดยร่างของพรรคเพื่อไทยเสนอให้เป็นอำนาจของศาลในการวินิจฉัยแทน (มาตรา 92)
ร่างของพรรคพลังประชารัฐ
ร่างของพรรคพลังประชารัฐกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันเช่นเดียวกับร่างของพรรคเพื่อไทย
ข้อแตกต่างหลักของร่างของพรรคพลังประชารัฐ คือ เกณฑ์ขั้นต่ำในการได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยเสนอให้ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่ร้อยละ 1 เหมือนกับร่างของพรรคเพื่อไทย แต่ร่างของพรรคพลังประชารัฐยังกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเพิ่มอีกว่า พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้ ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไม่น้อยกว่า 100 เขต (มาตรา 90)
ร่างของพรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ต่างจากทั้งสองพรรคข้างต้น โดยร่างของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเสนอให้แก้ระบบการเลือกตั้งเพียง 2 มาตรา (พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ 8 มาตรา ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเสนอแก้ 7 มาตรา) แต่ก็มีใจความสำคัญที่จะนำเสนอระบบเลือกตั้งแบบเดียวกัน
ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการแบ่งสัดส่วน ส.ส. เป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน (มาตรา 83) และให้คำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 (มาตรา 91) เท่านั้น โดยหลักเกณฑ์อื่นยังให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อยู่ ซึ่งไม่มีกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ 

ตารางเปรียบเทียบข้อเสนอแก้ระบบเลือกตั้ง

 

ระบบบัตร 2 ใบ MMM  รัฐธรรมนูญ 2540 ร่างพลังประชารัฐ ร่างเพื่อไทย ร่างประชาธิปัตย์
จำนวน ส.ส. แบ่งเขต
 
400 400 400 400
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ
 
100 100 100 100
คะแนนเสียงขั้นต่ำ
ของพรรคที่จะได้
ส.ส. บัญชีรายชื่อ
ร้อยละ 5 ร้อยละ 1 ร้อยละ 1 ไม่เสนอ
(ตามฉบับ 2560
คือไม่กำหนดขั้นต่ำ)
จำนวนผู้สมัคร ส.ส. เขตขั้นต่ำ
ของพรรคที่จะส่ง
ส.ส. บัญชีรายชื่อ
ไม่กำหนด 100 คน ไม่กำหนด ไม่เสนอ
(ตามฉบับ 2560
คือไม่กำหนดขั้นต่ำ)
กำหนดเวลา ให้ กกต.
ประกาศผลเลือกตั้ง
ไม่กำหนด 30 วัน 30 วัน ไม่เสนอ
(เท่ากับ ตามฉบับ 2560
คือ 60 วัน)
การแจกใบเหลือง
ใบส้ม หรือใบแดง
ไม่มีอำนาจนี้
มีแค่การสั่งให้เลือกตั้งใหม่
ไม่เสนอแก้ไข
(ตามฉบับ 2560
ใบเหลือง ใบส้มเป็นอำนาจ กกต.
ใบแดง เป็นอำนาจศาล)
เป็นอำนาจของศาล
ไม่เสนอแก้ไข
(ตามฉบับ 2560
ใบเหลือง ใบส้มเป็นอำนาจ กกต.
ใบแดง เป็นอำนาจศาล)

 

4 ความฝัน เรื่องสิทธิในรัฐธรรมนูญจาก 4 พรรคการเมือง
หมวดสิทธิเสรีภาพถือว่าเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจกล่าวได้ว่า การแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพที่พรรคการเมืองเสนอ เป็นการวาดภาพ "สังคมในฝัน" ว่า รัฐมีพันธะสัญญาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักประกันไม่ให้รัฐหรือใครก็ตามไปละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยมิชอบ รวมถึงเป็นการให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการเรียกร้องบริการสาธารณะจากภาครัฐได้ 
โดยในศึกแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรค ที่เสนอแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพและหมวดที่เกี่ยวข้องกันไว้ มีประเด็นสำคัญต่างกัน ดังนี้
ร่างของเพื่อไทย รับรองกติการะหว่างประเทศ 
ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวกับแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพ เริ่มต้นจากการวางหลักทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพว่า ต้องครอบคลุมถึงสิทธิเสรีภาพที่ได้ รับรองไว้ในพันธะสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ไล่ไปจนถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่มตั้งพรรคการเมือง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข และสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ต่อต้านการรัฐประหาร 
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจในข้อเสนอภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย คือ การเสนอแก้ไขในเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็เพิ่มมากขึ้น
โดยพรรคเพื่อไทยได้เขียนเจาะจงไปที่สิทธิในการขอปล่อยตัวหรือการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาว่า การไม่ให้ประกันตัวให้พิจารณาจากเหตุหลบหนีคดีเป็นหลัก และจะไม่ให้ประกันตัวพร้อมคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ระหว่างการพิจารณาคดีเกินหนึ่งปีไม่ได้ อีกทั้ง ยังเสนอให้การคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออก การจะออกกฎหมายหรือใช้กฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้
ร่างของประชาธิปัตย์ เอาสิทธิตามฉบับ 50 กลับมา
ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่เกี่ยวกับแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่เป็นการนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กลับมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน และสิทธิผู้บริโภค แต่จุดที่น่าสนใจ คือ การระบุแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินและการกระจายอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยสาระสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ คือ ให้ระบุในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้สองเรื่อง ได้แก่ หนึ่ง รัฐต้องการปฏิรูปที่ดินกระจายการถือครองที่ดินหรือให้สิทธิในที่ดินทำกินกับเกษตรกร รวมทั้งต้องจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสม กับสอง รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถ่นมีสิทธิจัดการศึกษา ฝึกอบรม ฝึกอาชีพ ตามความเหมาะสม มีหน้าที่ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กิจการใดที่ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมทำได้
ทั้งนี้ ในข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ยังไปแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาทัองถิ่น ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และห้ามผู้บริหารท้องถิ่นเป็นข้าราชการที่มีผลประโยชน์ขัดกัน
ร่างของพลังประชารัฐ เอาแค่เรื่องกระบวนการยุติธรรม
ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐที่เกี่ยวกับแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพมีเพียงประเด็นเดียว คือ การแก้ไขเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยการนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาบัญญัติไว้ อาทิ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนกระบวนการยุติธรรมโดยสะดวก การได้รับสิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา หรือการคุ้มครองสิทธิในระหว่างถูกสอบสวน เป็นต้น
โดยข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐเป็นความพยายามกลบ 'จุดอ่อน' ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่เขียนให้สิทธิของประชาชนกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ และมีการบัญญัติสิทธิของประชาชนไว้สั้นกว่าในอดีตทำให้สิทธิที่เคยได้รับการรับรองในอดีตหายไป เหลือเพียงหลักการไม่ต้องรับโทษถ้าไม่มีกฎหมายและหลักต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น
ร่างของภูมิใจไทย ประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า
ข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทยที่เกี่ยวกับแก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพมีเพียงประเด็นเดียวอีกเช่นกัน คือ การกำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับ "รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง หรือที่เรียกกว่า Universal basic income (UBI) ซึ่งปัจจุบันมีการพูดถึงในหลายแวดวงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในฐานะสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำ
ทั้งนี้ แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ใช่พรรคแรกที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า แต่ก็เป็นพรรคการเมืองแรกและพรรคการเมืองเดียวในตอนนี้ที่เสนอให้มีการบัญญัติเรื่องการจัดสวัสดิการแบบให้เงินอย่างถ้วนหน้ากับประชาชน

 

'ปิดสวิตซ์ ส.ว. เลือกนายกฯ' จุดร่วมพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล
ญัตติสำคัญที่พรรคการเมืองทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยประชาธิปัตย์เสนอมา คือ การ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." หรือ การยกเลิกอำนาจ ส.ว.ชุดพิเศษที่มาจากการคัดเลือกของคสช. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยร่างฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอเขียนไว้ว่า "ให้ยกเลิก มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ทั้งนี้มิให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ"
แม้ว่าจะ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกฯ แต่ก็ไม่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่มีผลต่อการดำรงอยู่ของ ส.ว. 250 คนนี้ แต่ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคสช. จะไม่มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ อีกต่อไป ดังนั้น ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่ายุบสภา หรือลาออก หรือ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ว. ก็จะไม่มีสิทธิเลือก พล.อ.ประยุทธ์ หรือ "คนของระบอบคสช." ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้
พรรคการเมืองที่ร่วมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้ได้แก่ พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย รวมถึง พรรคไทยศรีวิไลย์ ในขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา กลับเลือกจะไม่แตะต้องในประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ชุดพิเศษของคสช. 
ข้อเสนอให้ยกเลิก มาตรา 272 นอกจากจะยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นการยกเลิกช่องทาง "นายกคนนอก" ด้วย  ทั้งข้อเสนอจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลระบุตรงกันให้นายกรัฐมนตรีมาจากบัญชีว่าที่นายกฯ  ที่พรรคการเมืองเสนอ หรือมาจาก ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้ง และปิดช่องทางการมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านสนามเลือกตั้งเลย
สรุปข้อเสนอจากร่างทั้ง 13 ฉบับ
ญัตติที่ 1
ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคเดียว เสนอหลายประเด็นรวมกัน ดังนี้
1) เพิ่มมาตรา 29 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560
2) แก้ไขมาตรา 41(3) ในประเด็นสิทธิของชุมชน เพิ่มเติมให้ชุมชนยังมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในกรณีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐ
3) แก้ไขมาตรา 45 เลิกบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote
4) เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ แต่มีรายละเอียดต่างไป เช่น กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของพรรคที่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไว้ที่ 1%
5) แก้ไขมาตรา 144 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการกำหนดโทษ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ แปรญญัติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ
6) แก้ไขมาตรา 185 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
7) แก้ไขมาตรา 270 ให้อำนาจกำกับการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่เป็นของ ส.ว. ฝ่ายเดียว ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. ร่วมด้วย
ญัตติที่ 2
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 1 ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1) เพิ่มเติมมาตรา 25 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ เขียนเพิ่มวรรคห้า ว่า "สิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงสิทธิหรือเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย"
2) เพิ่มเติมมาตรา 29 เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเอาสิทธิได้รับการพิจารณาประกันตัว "อย่างรวดเร็ว" กลับมา ซึ่งเคยมีอยู่แต่ฉบับ 2560 ตัดออก เพิ่มหลักการว่า การไม่ให้ประกันตัวต้องเป็นกรณีเชื่อว่าจะหลบหนีเท่านั้น และจำเลยจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณานานกว่าหนึ่งปีไม่ได้
3) เพิ่มมาตรา 29/1 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560
4) เพิ่มเติมมาตรา 34 เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพจะจำกัดการติชมด้วยความเป็นธรรมไม่ได้
5) แก้ไขมาตรา 45 เรื่องสิทธิจัดตั้งพรรคการเมือง โดยผ่อนปรนเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยเขียนด้วยว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขึ้นตอนและความยุ่งยากเกินควร ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะทำได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6) แก้ไขมาตรา 47 เรื่องสิทธิทางสาธารณสุข ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและได้รับหลักประกันสุขภาพโดยถ้วนหน้า" เพิ่มคำว่า "สิทธิเสมอกัน" จากที่ฉบับปี 2560 เขียนเพียงว่ามีสิทธิ และยืนยันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีกระแสว่า ระบบหลักประกันสุขภาพอาถูกตัดทอนหรือยกเลิกภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
7) เพิ่มมาตรา 49/1 เป็นบทต่อต้านการรัฐประหาร ห้ามศาลและหน่วยงานรัฐยอมรับการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานทำรัฐประหารไม่มีอายุความ ห้ามการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร กำหนดสิทธิของประชาชนที่จะต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี 
8) แก้ไขมาตรา 129 วรรคสี่ ให้กรรมาธิการ ส.ส. มีอำนาจเรียกเอกสารและเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง และให้คำสั่งเรียกมีผลทางกฎหมาย การเสนอแก้ไขมาตรานี้สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า การกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแยังต่อรัฐธรมนูญ 
ญัตติที่ 3
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 2 ประเด็นระบบเลือกตั้ง
เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 
ญัตติที่ 4
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 3 ที่มานายกรัฐมนตรี
1) แก้ไขมาตรา 159 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ก็ได้ หรือเลือกจาก ส.ส. จากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คนก็ได้
2) ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องช่องทางที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรี
ญัตติที่ 5
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ฉบับที่ 4 รื้ออำนาจ คสช.
1) ยกเลิกมาตรา 65 275 ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ของ คสช. แก้ไขมาตรา 142 และ 162 ไม่บังคับการเสนอร่างงบประมาณและการแถลงนโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ คสช.
2) ยกเลิกมาตรา 270 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการปฏิรูปประเทศ และกำกับยุทธศาสตร์ของ คสช.
3) ยกเลิกมาตรา 279 ไม่นิรโทษกรรมให้ คสช.
ญัตติที่ 6
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 1 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ
เสนอให้ยกเลิกมาตรา 65 ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ของ คสช. มาตราเดียว เพิ่มคำว่า "ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมได้เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์"
ญัตติที่ 7
ร่างที่นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ฉบับที่ 2 ประเด็นรายได้ถ้วนหน้า
เพิ่มเติมมาตรา 55/1 เขียนว่า รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง
ญัตติที่ 8
ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 1 ประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
1) เพิ่มมาตรา 29 เอาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลับมา ซึ่งเขียนคล้ายกับฉบับปี 2550 สิทธิเหล่านี้เคยเขียนไว้ชัดเจนในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560
2) เพิ่มมาตรา 43 เอาหลักการเรื่ององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกลับคืนมา ซึ่งเคยมีในฉบับปี 2550 แต่ถูกตัดออกไปในฉบับปี 2560
3) แก้ไขมาตรา 46 เรื่องสิทธิผู้บริโภค คุ้มครองสิทธิได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ได้รับการเยียวยาความเสียหาย สิทธิการรวมตัว และกำหนดให้ “ต้องมี” องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รับงบประมาณจากรัฐ ซึ่งต่างจากฉบับปี 2560 ที่กำหนดเพียงให้ผู้บริโภคมีสิทธิจัดตั้งองค์กร
4)เพิ่มเติมมาตรา 72 แนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับที่ดิน น้ำ พลังงาน โดยให้เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึงโดยการ “ปฏิรูปที่ดิน” รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสม
ญัตติที่ 9
ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ ส.ว. ขวางแก้รัฐธรรมนูญ
แก้ไขมาตรา 256 ให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ไม่ต้องใช้เสียงพิเศษของ ส.ว. ชุดพิเศษ ซึ่งเป็นข้อเสนอคล้ายกับร่างฉบับสุดท้ายที่ไม่ผ่านวาระสามในเดือน 17 มีนาคม 2564
ญัตติที่ 10
ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 3 กระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช.
1) แก้ไขมาตรา 236 ยกเลิกสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อกัน 20,000 คนเพื่อเสนอเรื่องให้ตรวจสอบและถอดถอนกรรมการป.ป.ช. 
2) แก้ไขมาตรา 237 กรณี ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากเดิมที่ต้องส่งให้อัยการสูงสุด ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เปลี่ยนเป็นเสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อวินิจฉัย
ญัตติที่ 11
ร่างที่เสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 4 ที่มานายกรัฐมนตรี
1) แก้ไขมาตรา 159 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ก็ได้ หรือเลือกจาก ส.ส. คนใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. จำนวนเท่าใด
2) ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องช่องทางที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรี
ญัตติที่ 12
ร่างที่นำเสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 5 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
1) เพิ่มมาตรา 76/1 และ 76/2 แนวนโยบายแห่งรัฐ ให้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถ่นมีสิทธิจัดการศึกษา ฝึกอบรม ฝึกอาชีพ ตามความเหมาะสม มีหน้าที่ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กิจการใดที่ไม่ได้บัญญํติห้ามไว้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมทำได้
2) เขียนมาตรา 250 ใหม่ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจของตนเองโดยเฉพาะ และให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่นภายในสามปี
3) เขียนมาตรา 251 ใหม่ ให้รัฐส่วนกลางกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็น ไม่กระทบถึงหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยจัดทำมาตรฐานกลางสำหรับการกำกับดูแลขึ้น 
4) เขียนมาตรา 252 ใหม่ จากเดิมที่กำหนดเพียงให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง หรือวิธีอื่น เป็นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรรงร หรือมาจากความเห็นชอบของสภาทัองถิ่น ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และห้ามผู้บริหารท้องถิ่นเป็นข้าราชการที่มีผลประโยชน์ขัดกัน
5) เขียนมาตรา 254 ใหม่ ให้การแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามความเหมาะสมของท้องถิ่น ให้มีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เขียนรับรองสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น อีกต่อไป
ญัตติที่ 13
ร่างที่เสนอโดยประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 6 ประเด็นระบบเลือกตั้ง
เสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ไฟล์แนบ