เหตุผล 4 ข้อ #แก้รัฐธรรมนูญ ต้องยกเลิก ‘ส.ว. แต่งตั้ง’

นับแต่การรัฐประหารในปี 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยึดครองอำนาจทางการเมือง และพยายามสร้างระบอบการปกครองที่กองทัพแผ่ขยายอำนาจเข้าไปยังสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งวางฐานอำนาจไว้ในกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ที่ชัดเจนที่สุด คือ การกำหนดให้มี ‘ส.ว. แต่งตั้ง’ ที่คัดเลือกมาเองเพื่อเป็นหลักประกัน คอยค้ำยันการสืบทอดอำนาจของ คชส. ให้คงอยู่อย่างมั่นคง
ท่ามกลางกระแส #แก้รัฐธรรมนูญ ที่กำลังร้อนแรง ต้องขอย้ำถึงเหตุผลหลักที่ 'การยกเลิกกลไก ส.ว.’ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการรื้อระบอบประยุทธ์? ด้วยเหตุผล 4 ข้อต่อไปนี้
(1) ส.ว. แต่งตั้ง = คอนเทนเนอร์ยักษ์ ขวาง ‘แก้รัฐธรรมนูญ’
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ว่า ในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ จะต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมด้วย โดยมีเงื่อนไขพ่วงว่า ‘ต้องใช้เสียงเกินครึ่งหนึ่งขึ้นไปจากสองสภา’ รวมทั้งต้องมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด (250 คน) นั่นหมายความว่า ถ้าหาก ส.ว. เห็นชอบไม่ถึง 84 คน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ 
ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในการลงคะแนนแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ฉบับประชาชน) แม้คะแนนรวมทั้งหมดเสียงที่เห็นชอบจะเยอะกว่าเสียงไม่เห็นชอบ แต่เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพียง 3 เสียง ไม่รับ 78 เสียง และงดออกเสียงอีก 156 เสียง จึงส่งผลให้ร่างฉบับดังกล่าวไม่ถูกนำมาพิจารณาในวาระถัดไป
หากข้อเสนอใดผ่านมาจนถึงวาระที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังกำหนดให้ ‘ใช้เสียงอีกกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา’ โดยต้องใช้เสียงของ ส.ว. อีก 1 ใน 3 เช่นกัน ซึ่งการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระสาม ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ส.ว.แต่งตั้งก็ได้รวมกันผนึกกำลัง ‘งดออกเสียง-ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ เพื่อคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ว.ที่เห็นชอบเพียง 2 เสียง, ไม่เห็นชอบ 4 เสียง, งดออกเสียง 84 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน 127 เสียง ส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป 
(2) ส.ว. แต่งตั้ง = แทรกแซง ‘เสียงจากการเลือกตั้ง’
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ที่มาของ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง โดยมี คสช. เป็นผู้สรรหาและคัดเลือกให้เหลือ 250 คน และยังเขียนใน มาตรา 272 ให้การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หรือต้องอาศัยความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกัน ในกรณีนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า ส.ว. 250 เสียงที่มาจากคสช. มีอำนาจ "กดทับ" เสียงจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 
หากพิจารณาจาก ส.ส. ที่มีจำนวน 500 คน เสียงของ ส.ว.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จะมีอำนาจมากถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภา
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังกำหนด ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 5 ปี ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งนี้มีนัยยะสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก นายกฯ มีวาระละ 4 ปี ในขณะที่ ส.ว.แต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี ดังนั้น กลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงจะยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อยสองสมัย
(3) ส.ว. แต่งตั้ง = สูตรโกง ‘ผ่านกฎหมาย’
โดยทั่วไป อำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมายระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว.จะแยกขาดจากกัน โดย ส.ว.ทำหน้าที่ได้เพียงกลั่นกรองหรือชะลอการออกกฎหมาย ไม่สามารถยับยั้งหรือมีส่วนร่วมในการผ่านกฎหมายได้ด้วยตัวเอง  อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 270 ในบทเฉพาะกาล ได้ระบุให้ส.ว. มีอำนาจ ‘เร่งรัดและติดตาม’ การดำเนินงานปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน อันเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีให้สำเร็จ ซึ่งนิยามของการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านนี้ก็ยากที่จะตีความ เนื่องจากครอบคลุมเรื่องการพัฒนาประเทศในความหมายที่กว้าง 
นอกจากนี้ มาตรา 270 วรรค 2 ยังระบุอีกว่า ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศให้เป็น ‘การพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา’ ดังนั้น ส.ว. จึงมีบทบาทในการร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ส. และก็จะกลายเป็นเสียงที่มีอำนาจมากที่จะลงมติผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายฉบับสำคัญๆ
ในแง่นี้ อำนาจที่สำคัญของ ส.ว. จึงกลายมาเป็นหลักประกันสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันหรือยับยั้งกฎหมาย เปรียบเสมือนการมี ‘ช่องทางพิเศษ’ ในรูปแบบของส.ว.ที่มีเสียงเป็นเอกภาพ และสามารถต่อกรกับเสียงข้างมากในสภาได้
(4) ส.ว. แต่งตั้ง = บ่อนทำลาย ‘การตรวจสอบ’
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีที่มาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา 
เมื่อเราย้อนกลับไปที่กระบวนการสรรหาส.ว. อันมี คสช. เป็นผู้คัดเลือก ก็จะสามารถสรุปได้ว่า ‘คสช.เป็นผู้เลือกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผ่าน ส.ว.’ ดังนั้น กระบวนการที่องค์กรอิสระ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตจากการใช้อำนาจรัฐและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถูกแต่งตั้งโดยคนที่ต้องถูกตรวจสอบ จึงถือเป็นการทำลายกลไกความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ  
สำหรับผลงานที่ผ่านมาขององค์กรอิสระ จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทางการเมือง เช่น การวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าจะเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. ระหว่างเข้ารับตำแหน่งนายกฯ การยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ในแง่นี้ จึงประจักษ์ชัดเจนว่าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีไว้เพื่อปกป้องรัฐบาลและตัดแข้งขาศัตรูทางการเมือง