เปรียบเทียบสามระบบเลือกตั้งแบบไหนเหมาะสมกับการเมืองไทย

การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หนที่สองนำมาสู่ข้อถกเถียง เมื่อพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ต่างเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 คือเปลี่ยนระบบผสมแบบคู่ขนานใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเพื่อเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แยกจากกัน อย่างไรก็ตามการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งถูกกล่าวหาว่า จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคพลังประชารัฐ และจะเป็นการขยายการสืบทอดอำนาจให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งที่สอง รวมทั้งเป็นการลดจำนวนพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กในสภาผู้แทนราษฎรลง

 

ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ บัตรใบเดียว ตามรัฐธรรมนูญ 2560

 

ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment) หรือ ระบบ MMA เป็นระบบเลือกตั้งพิสดารที่ไม่เคยมีประเทศใดใช้มาก่อน เป็นระบบเลือกตั้งที่เอาข้อดีของการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือ ระบบ MMP มาใช้ และใส่เทคนิคการเลือกตั้งเพื่อลดจำนวน ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่มักจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. อย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทุกครั้งไม่ให้มี ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มโอกาสให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้ง่ายขึ้น

 

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีจำนวน ส.ส. 500 คน แบ่ง ส.ส. เป็นสองประเภท คือ ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยใช้บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียว ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในเขตจะเป็น ส.ส. โดยอัตโนมัติ แต่ทุกคะแนนที่ออกเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองจะถูกนำมาคำนวณที่นั่งทั้งหมดที่แต่ละพรรคพึงมี ซึ่งจะต้องนำจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคไปลบกับจำนวน ส.ส. แบบเขต ก็จะได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

 

ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 เป็นไปตามคาดคือ พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.แบบเขต ได้มากเป็นลำดับที่หนึ่ง แต่ก็ได้ที่นั่งไม่เกินครึ่งหนึ่งของสภา ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแม้จะมีที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่าพรรคเพื่อไทย แต่ก็สามารถใช้อิทธิพลของ คสช. รวบรวมพรรคกลางและพรรคเล็กเข้าร่วมรัฐบาลได้สำเร็จ

 

ข้อเด่นของระบบเลือกตั้ง MMA

 

– พรรคการเมืองขนาดกลางหรือพรรคหน้าใหม่ที่มีทุนมากจนสามารถส่งผู้สมัครลงเก็บคะแนนได้ทุกเขตมีโอกาสได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อง่ายขึ้น

– พรรคขนาดกลางและเล็กมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นและมีอำนาจต่อรองมากขึ้นและเป็นปัจจัยชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาล

– คะแนนเสียงทุกคะแนนได้รับการพิจารณาอย่างไม่สูญเปล่า และทำให้สัดส่วนที่นั่งกับคะแนนใกล้เคียงกัน

– ลดทอนอิทธิพลของพรรคใหญ่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองได้สามารถกุมที่นั่งในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

 

ข้อด้อยของระบบเลือกตั้ง MMA

 

– ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะต้องเลือกตั้งตัวบุคคลจากเขต และเลือกพรรค จากนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง

– สร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองขนาดเล็กและพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่มีทุนน้อยอยากที่จะมีโอกาสได้ที่นั่งในสภา

– ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองได้ เกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรค เช่น พรรคใหญ่ ไม่มีใครอยากลง ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะอาจไม่ได้เป็น ส.ส. หรือ พรรคเล็ก ไม่มีใครอยากลงเขตเพราะมีหน้าที่ไปแค่เก็บคะแนนให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

– ยากที่จะมีพรรคการเมืองใดมีเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้

– ระบบเลือกตั้งทำให้ประชาชนสับสน

 

ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก หรือ บัตรเลือกตั้งสองใบ ตามรัฐธรรมนูญ 2540

 

ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian) หรืออีกชื่อว่า ระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาด (Parallel system) เป็นผลมาจากการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 โดยเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเดิมที่เป็นระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาเพียงอย่างเดียวที่แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนได้หลายคน ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้แทนที่มาจากหลายพรรค  ผลลัพธ์ของการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ คือ มีพรรคการเมือง กระจัดกระจายเป็นจำนวนมากในรัฐสภาและไม่เคยมีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการเลือกตั้งเลย  นอกจากนี้ระบบการเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ยังทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้สมัครภายในพรรคการเมืองเดียวกัน ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดความเป็นเอกภาพและเกิดเป็นมุ้งย่อยจำนวนมาก และผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนมุ่งสร้างคะแนนนิยมกับเฉพาะฐานเสียงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตัวเองมากกว่าที่จะมุ่งนำเสนอนโยบายรูปธรรมที่ตอบสนองปัญหาระดับชาติ

 

ด้วยเหตุนี้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงออกแบบระบบเลือกตั้งที่เน้นพัฒนาพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง และขจัดมุ้งการเมืองรวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องตอบสนองกับฐานเสียงที่กว้างขวางในระดับชาติ ผลปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ประสบความสำเร็จอย่างดีในการลดจำนวนพรรคการเมือง และเป็นครั้งแรกที่มีพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งจนเกินครึ่งหนึ่งในสภา นอกจากนั้นยังพบว่าพรรคการเมืองที่แข่งขันในการเลือกตั้งให้ความสำคัญในการนำนโยบายระดับชาติเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการชนะการเลือกตั้งมากขึ้น

 

ระบบผสมแบบคู่ขนาน คือ ระบบที่ผสมผสานระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากกับระบบการเลือกตั้งเป็นสัดส่วนเข้าด้วยกัน แต่การนับคะแนนเป็นอิสระจากกันและกัน ผู้เลือกตั้งมีสองคะแนนในมือ คะแนนหนึ่งสำหรับเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต อีกคะแนนหนึ่งเลือกพรรค หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอีกนัยหนึ่งคือการเลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีจากผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งด้วย

 

แม้ระบบการเลือกตั้งนี้จะถูกมองว่าทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบดังที่จะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้รับที่นั่ง ส.ส. จำนวน 377 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ขณะเดียวพรรคเล็กก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในระบบเลือกตั้งนี้ โดยในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรครักประเทศไทย ที่นำโดยชูวิทย์ กลมวิศิษฏ์ ส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวน 10 คน และไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตแม้แต่คนเดียว แต่พรรครักประเทศไทย ได้ ส.ส. ในสภาจำนวนถึง 4 คน ด้วยกัน

 

ข้อเด่นของระบบ MMM

 

– ระบบเลือกตั้งแบบเขตส่งเสริมให้ผู้แทนกับประชาชนในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย

– ทำให้ประชาชนไม่ต้องชั่งใจเลือกระหว่าง ส.ส.เขต หรือพรรคการเมือง

– พรรคการเมืองให้ความสำคัญในการนำนโยบายระดับชาติมาเป็นยุทธศาสตร์ในหาเสียงเลือกตั้ง

– รัฐบาลมีเสถียรภาพ

– ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง

– เข้าใจง่าย ใช้สิทธิได้อย่างไม่ซับซ้อน

 

ข้อด้อยของระบบ MMM

 

– ทำให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางมีน้อยลง

– พรรคการที่มีนโยบายสะท้อนความต้องการของกลุ่มตนอาจเข้าสภาได้ยากทำให้สภาขาดความหลากหลาย ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนได้

– ความไม่เป็นสัดส่วนระหว่างเสียงกับที่นั่ง ก่อให้เกิดปัญหาพรรคขนาดใหญ่ได้รับจำนวนที่นั่งมากกว่าความจริง 

 

ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนแบบเยอรมนี

 

ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional) หรือระบบ MMP หรือที่เรียกกันว่า ระบบเยอรมนี เป็นระบบที่พรรคก้าวไกลเสนอขึ้นมาท่ามกลางกระแสการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ระบบ MMP เป็นระบบที่ใช้กันในหลายประเทศ เช่น เยอรมัน อิตาลี เม็กซิโก และนิวซีแลนด์ เป็นต้น การเลือกตั้งระบบ MMP ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้กาบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส. แบบเขต อีกใบหนึ่งเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง 

 

วิธีคิดที่นั่ง ส.ส. ของระบบนี้คือ นำคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อเป็นตัวกำหนดจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภาของพรรคนั้น (ซึ่งต่างจากระบบ MMA ที่ใช้บัตรเลือกตั้งระบบเขตใบเดียวเป็นตัวกำหนดจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมด ดงนั้นถ้าเขตนั้นพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครก็เท่ากับจะไม่มีคะแนนแน่นอน) สูตรการจัดสรรที่นั่งเริ่มจากดูว่าคะแนนเสียงที่พรรคได้รับจากบัตรเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์จากทั้งประเทศ คำนวณออกมาเป็นจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมดที่พรรคพึงมี จากนั้นดูว่าพรรคชนะการเลือกตั้งระบบเขตมาได้กี่ที่นั่ง โดยส่วนต่างระหว่างจำนวนที่นั่ง ส.ส.ระบบเขตของพรรค กับจำนวนที่นั่ง ส.ส. พึงมี จะถูกเติมด้วยจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่หากได้มากเกินกว่าจำนวน ส.ส. พึงมี พรรคนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับที่นั่งจากบัญชีรายชื่ออีก

 

ข้อเด่นของระบบ MMP

 

– ระบบบัญชีรายชื่อช่วยกระตุ้นให้พรรคการเมืองเกิดการสร้างสรรค์เชิงนโยบายเพื่อมาแข่งขันกันมากขึ้น

– เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรคะแนนมากขึ้น เพราะคะแนนเสียงสะท้อนที่นั่ง ส.ส.

– สภาจะมีความหลากหลายทางความคิดและอุดมการณ์

 

ข้อด้อยของระบบ MMP

 

– พรรคขนาดกลางอาจมีจำนวน ส.ส. เกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นอยู่ เนื่องจากได้จำนวน ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี

– พรรคขนาดกลางอาจไม่สามารถหนีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อภายในพรรค

– ระบบเลือกตั้งยังไม่เป็นที่คุ้นเคย