ส.ว.แต่งตั้ง : ถึงเวลาต้องปิดสวิตซ์ตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส.ว.ถือเป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในเกมส์การเมืองของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่แค่อำนาจในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่หนึ่งและวาระที่สามของรัฐสภาที่ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ยังมีอำนาจอื่นตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 อันได้แก่ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่สามารถเลือกได้ตลอดในระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยที่สภาผู้แทนราษฎรมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี รวมถึงอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่ถูกตีความว่าเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ส. ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจเพียงยับยั้งหรือส่งกลับเท่านั้น ซึ่งอำนาจทั้งหมดก็อยู่ในรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนกลุ่มเดียวเพื่อให้อำนาจกับคนเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องที่กระทบต่อคนทั้งประเทศได้
หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันมาตลอดว่าปัญหาที่เปรียบเสมือนเป็นกับดักการเมืองไทยที่ไม่พาประเทศเดินไปข้างหน้า ก็คือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ทำให้ในศึก #แก้รัฐธรรมนูญ ยกที่สองที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22-24 มิถุนายน 2564 ข้อเสนอสำคัญที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ ต่างพร้อมใจกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว. ซึ่งในการแก้ไขเรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจากตัว ส.ว. เองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนจากเสียงทั้งหมด 250 คน
เปิดรายชื่อ ส.ว. เคยโหวตไม่เห็นด้วยกับการ 'ปิดสวิซต์' อำนาจตัวเอง 
การเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนกลับไปดูการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2563 ที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 7 ฉบับโดยมีสองร่างที่พูดถึงการตัดอำนาจ ส.ว. อันได้แก่ การยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการยกเลิกอำนาจตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 
ซึ่งการลงมติวาระแรกหรือชั้นรับหลักการในครั้งนั้นเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 จากจำนวน ส.ว. 245 คน (ที่อยู่ในตำแหน่งขณะนั้น) ปรากฎคะแนนเสียง ดังนี้ 
๐ ร่างฯ เสนอให้ยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
เห็นด้วย 56 คน 
งดออกเสียง 169 คน 
ไม่เห็นด้วย 12 คน
ขาดประชุม 8 คน 
โดยส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย มีรายชื่อดังนี้ 
1. ถวิล เปลี่ยนศรี
2. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
3. ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์
4. พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป
5. ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา
6. พันตำรวจเอก ยุทธกร วงเวียน
7. ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี
8. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร
9. พลเอก สกล ชื่นตระกูล
10. สมชาย แสวงการ
11. สุรสิทธิ์ ตรีทอง
12. เสรี สุวรรณภานนท์
๐ ร่างฯ เสนอให้ยกเลิกอำนาจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
เห็นด้วย 4 คน 
งดออกเสียง 207 คน
ไม่เห็นด้วย 26 คน 
ขาดประชุม 8 คน
โดยส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย มีรายชื่อดังนี้ 
1. จเด็จ อินสว่าง
2. เจตน์ ศิรธรานนท์
3. เจน นำชัยศิริ
4. เฉลา พวงมาลัย
5. เฉลิมชัย เฟื่องคอน
6. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
7. ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
8. ดุสิต เขมะศักดิ์ชัย
9. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
10. พลเอก นาวิน ดำริกาญจน์
11. พลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง
12. ประภาศรี สุฉันทบุตร
13. ประมนต์ สุธีวงศ์
14. ร้อยเอก ประยุทธ เสาวคนธ์
15. พรทิพย์ โรจนสุนันท์
16. พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป
17. พันตำรวจตรี ดร. ยงยุทธ สาระสมบัติ
18. พันตำรวจเอก ยุทธกร วงเวียน
19. ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี
20. วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร
21. พลเอก สกล ชื่นตระกูล
22. สุรสิทธิ์ ตรีทอง
23. เสรี สุวรรณภานนท์
24. พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
25. อนุศักดิ์ คงมาลัย
26. อำพล จินดาวัฒนะ
โดย ส.ว.ที่ลงมติเห็นด้วยกับการตัดอำนาจของตัวเองทั้งสองประเด็นในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา มีเพียงแค่สองคน ได้แก่  พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม และ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย โดยที่ ส.ว. ส่วนใหญ่ลงมติงดออกเสียงในทั้งสองประเด็น ขณะที่ สมชาย แสวงการ, เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นสองคนที่ลงมติไม่เห็นชอบให้ตัดอำนาจในการเลือกนายก และออกมาแสดงท่าทีว่าจะไม่ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านโดยเฉพาะประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว.ในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่กำลังจะมาถึง 
จากข้อมูลล่าสุด (14 มิถุนายน 2564) มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาวันที่ 22-24 มิถุนายน 2564 จำนวน 14 ร่าง มาจากทั้งพรรคพลังประชารัฐที่เสนอโดยไพบูลย์ นิติตะวัน มาจากพรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา และมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลักการที่เป็นจุดร่วมของทุกพรรคยกเว้นพรรคพลังประชารัฐและพรรคชาติไทยพัฒนา คือการเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ดังนั้นการเมืองไทยจะสามารถก้าวไปข้างหน้าหรือจะต้องย่ำอยู่กับที่ ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการมีอยู่หรือจากไปของ ส.ว. 250 คน ที่มีขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.ชุดนี้  นี่จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของประชาชนที่จะช่วยกันกดดันพรรคการเมืองและ ส.ว. ในการลงมติตัดต้นตอปัญหาสำคัญออกไปอย่างเร่งด่วนในวาระแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาถึงนี้