แก้รัฐธรรมนูญ: สรุปร่างพลังประชารัฐ2 เอาระบบเลือกตั้งคล้าย’40 ลดทอนกลไกปราบทุจริต

 

ภาคสองของรัฐสภา ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มต้นจากข้อเสนอของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 110 คน ที่นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคอันดับหนึ่งฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะขอเรียกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 หลังจากข้อเสนอครั้งแรกที่เริ่มพิจารณาเมื่อเดือนกันยายน 2563 ตกไปเพราะ ส.ว. และ ส.ส. ของพรรคเอง "ไม่ลงมติ" 
ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในชุดนี้ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ แยกได้เป็น 5 ประเด็น 13 มาตรา โดยระบุเหตุผลเอาไว้ว่า “รัฐธรรมนูญแม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศในยามที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป หรือความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลง ก็อาจมีความจำเป็นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้” 
ไพบูลย์ กล่าวต่อสื่อมวลชนด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เห็นชอบกับเนื้อหาที่เตรียมเสนอให้แก้ไข ทั้ง 5 ประเด็น 13 มาตรา ท้ังนี้ ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านหรือส.ส.ที่ต้องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาเนื้อหาตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เพื่อให้ได้รับการยอมรับร่วมกัน เพราะ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมรับในเนื้อหาที่เกินไปกว่า 5 ประเด็นที่นำเสนอ  
1. เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เอา'50 กลับมา
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยนำวิธีการเขียนรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 ทั้ง 8 อนุมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมาเพิ่มในมาตรา 29 เดิมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้การรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 กลับตัดให้สั้นลง หลายประเด็นไม่ถูกเขียนรับรองไว้ เหลือเพียงหลักไม่ต้องรับโทษถ้าไม่มีกฎหมายและหลักต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์เท่านั้น นอกจากนี้ เช่น สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็ว ก็ถูกเขียนให้กลายเป็น “หน้าที่ของรัฐ” แทนที่จะเป็น “สิทธิของประชาชน” เหมือนที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นข้ออ่อนประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. 
ข้อเสนอแก้ไขในครั้งนี้จึงนำรายละเอียดต่างๆ ของฉบับก่อนยกมาเขียนใหม่ เท่ากับเป็นการยอมรับจากผู้ร่วมกันเสนอร่างฉบับนี้แล้วว่า การคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น "อ่อนแอเกินไป" โดยให้นำข้อความจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมาอีกครั้ง รวมเข้าเป็นวรรคห้า ของมาตรา 29 เดิม ดังนี้
           บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังต่อไปนี้
           (1) สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง
           (2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการรับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง
           (3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
           (4) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จําเลย คู่กรณี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพยานในคดีมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่ เหมาะสมในการดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอยางถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคําเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
           (5) ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับการคุ้มตรอง และความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ส่วนค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
           (6) เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ
           (7) ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือจากคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
           (8) ในคดีแพ่ง บุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทากฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ
เท่ากับว่าในร่างฉบับพลังประชารัฐ2 ได้เสนอให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญลงไปว่า สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็ว (มาตรา 29 (2)) สิทธิในการมีทนายความ (มาตรา 29 (7)) จะกลับมาเป็น “สิทธิของประชาชน” อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จัดให้เป็น “หน้าที่ของรัฐ”เท่านั้น โดยเฉพาะสิทธิในการมีทนายความที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุว่ารัฐมีหน้ามีที่ต้องจัดหาให้กับผู้ยากไร้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอีกหลายประเด็นที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ต่อมาถูกตัดออกในฉบับปี 2550 และ 2560 ก็ยังไม่ปรากฏในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของผู้ถูกจับกุมที่จะมีทนายความเข้าเยี่ยม หรือสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบการคุมขังมิชอบ โดยสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทน
นอกจากนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขมาตรา 41(3) ในประเด็นสิทธิของชุมชน จากเดิมที่กำหนดให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทําหรือการละเว้นการกระทําของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ เพิ่มเติมให้ชุมชนยังมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐในกรณีที่ฟ้องหน่วยงานของรัฐด้วย
2. แก้ระบบเลือกตั้งกลับไปคล้ายปี 2540 ใช้บัตรสองใบ
  • เลิกบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จากเดิมที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีระบบคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้นหรือ Primary Vote โดยจะไม่มีการบังคับพรรคการเมืองทำ Primary Vote อีกต่อไป
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้วางหลักในมาตรา 45 ให้พรรคการเมืองต้อง “เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ซึ่งหมายความว่า ตัวแทนของพรรคการเมืองที่จะลงสมัครรับการเลือกตั้งนั้นต้องมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกกันเองภายในพรรคหรือที่เรียกว่า Primary Vote เสียก่อน ไม่ใช่ให้หัวหน้าพรรค หรือผู้มีอิทธิพลภายในพรรคจิ้มเลือกผู้สมัครได้ตามใจชออบ
เงื่อนไขการทำ Primary Vote ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายพรรคการเมืองเป็นอย่างมากเนื่องจากมีข้อกำหนดที่เคร่งครัด ทำให้ไม่สะดวกและอาจทำให้พรรคการเมืองถูกลงโทษตามมา เช่น ระบุว่าพรรคการเมืองที่ต้องการส่งผู้สมัครในระบบแบ่งเขต ต้องมี “สาขาพรรคการเมือง” ในเขต (มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาอย่างน้อย 500 คน) หรือ "ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" (มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน) ถึงจะสามารถส่งผู้สมัครได้ ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่า พรรคการเมืองที่ต้องการส่งผู้สมัครลงครบทั้ง 350 เขตใน 77 จังหวัด จะต้องมีสมาชิกทั้งประเทศขั้นต่ำ 7,700 คน จังหวัดละ 100 คน ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต ก็ต้องมีคณะกรรมการ จัดการประชุม มีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่า 100 คน เพื่อลงคะแนนเลือกผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นในนามของพรรค 
กติกาที่ละเอียดเช่นนี้แม้จะเป็นอุปสรรคกับการทำงานของพรรคการเมืองอย่างมาก แต่ก็เคยถูกฝ่าย "ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ใช้อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่เสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยมากที่สุด สลายวัฒนธรรมผูกขาดของพรรคการเมืองเดิมและ ส.ส.เดิมที่มีอิทธิพลในพื้นที่ที่สืบอำนาจจากผัวสู่เมีย จากพ่อสู่ลูก แต่ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจ "มาตรา 44" ออกคำสั่งยกเลิกการทำ Primary Vote ไปก่อน โดยอ้างเหตุผลว่า พรรคการเมืองยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางประการ จึงแก้ไขเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้ทัน และจัดการเลือกตั้งในปี 2562 ไปโดยไม่มีการทำ Primary Vote เกิดขึ้น พรรคการเมืองต่างก็มีเวลามากขึ้นเพื่อเตรียมระบบให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป
แต่เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 ได้นำเนื้อหาในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมาอีกครั้งแทนที่มาตรา 45 เดิมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำ Primary Vote แล้ว หากร่างฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ก็เท่ากับว่า ระบบ Primary Vote ยังคงเป็นเพียงภาพฝันลอยๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
  • แก้ระบบเลือกตั้ง ใช้บัตรสองใบ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน
อีกหนี่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 คือ การเสนอให้นำระบบเลือกตั้ง "บัตรสองใบ" แบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง ที่ผ่านมา ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system หรือ MMA) ที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการใช้บัตรใบเดียวที่ไม่สะท้อนเสียงของประชาชน ไปจนถึงการสร้างพรรคเล็กพรรคน้อยมากมายจนทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เคยยืนยันหนักแน่นว่า ระบบนี้มีข้อดีทำให้ "คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ" 
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 ได้เสนอให้ยกเลิกระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมในมาตรา 83, 85, 86, 90, 92 และ 94 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ กล่าวคือ ให้จำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 500 คน แบ่งออกเป็น ส.ส. ตามระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. ตามระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 คน ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อการเลือกผู้แทนเขตของตนเองและพรรคการเมือง โดย ส.ส. ตามระบบบัญชีรายชื่อจะมาจากสัดส่วนของคะแนนเสียงทั่วประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในบัตรใบที่ 2
ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 มีความแตกต่างจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดังนี้
หนึ่ง มีการลดเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้พรรคเมืองต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากคะแนนเสียงรวมทั่วประเทศ จึงจะสามารถนำคะแนนเสียงเหล่านั้นมาคิดคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อได้ ซึ่งมีปัญหาตัดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็ก จึงลดเหลือเพียงร้อยละ 1 
สอง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เพิ่มหลักเกณฑ์ในมาตรา 91 ว่า พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 100 เขตถึงจะมีสิทธิส่งรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำไว้
สาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ต้องประกาศภายใน 60 วัน
สี่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 กำหนดเพิ่มในมาตรา 94 ว่า ในกรณีที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ตามระบบแบ่งเขตขึ้นใหม่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” หรือจัดเลือกตั้งซ่อม คะแนนเสียงนั้นก็จะไม่มีผลกระทบต่อจำนวนที่นั่งตามระบบบัญชีรายชื่อเดิม
ห้า ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ว่าบุคคลในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต้อง “มาจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม” ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เหมือนที่มีในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งแม้กระทั่งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังกำหนดให้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นต้อง “คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง”
3. ลดความเข้มงวดให้เจ้าหน้าที่ กรณีแปรญัติให้ใช้งบประมาณ
มาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุว่าในกรณีที่ “… กระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย” ส.ส. หรือ ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสิบของสภาของตนเองสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งหากผลการวินิจฉัยออกมาว่า มีความผิด ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือหากเป็นคณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดทำโครงการหรืออนุมัติเงินทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขัดต่อมาตรานี้ ให้มีความผิดด้วย เว้นต่อได้ทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 
หลักการในมาตรา 144 เคยถูกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกขึ้นมาอ้างเป็นรูปธรรมข้อหนึ่งที่จะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "ฉบับปราบโกง" และนำเสนอประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนการทำประชามติปี 2559 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้มาก็ยังไม่เคยเห็นว่า มีนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกลงโทษฐานแปรญัตติให้มีส่วนใช้งบประมาณดังที่กำหนดไว้เลย
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณปลายปี โดยนำข้อความในวรรค 5, 6, 7, 8 และ 9 ของมาตรา 168 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาแทนที่มาตรา 144 โดยระบุเพียงว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด “ให้การเสนอการแปรญัตติหรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไป” เท่านั้น ไม่ได้กล่าวต่อถึงผลที่เกิดกับ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จัดทำโครงการหรืออนุมัติเงินทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ขัดต่อมาตรา 144 ในส่วนนี้ไพบูลย์อธิบายว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก
4. เลิกห้าม ส.ส. ส.ว. แทรกแซงราชการ
อุปสรรคอีกข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือมาตรา 185 ที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่สามารถก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินงานของหน่วยงานราชการได้ โดยหวังว่าจะลดอำนาจของฝ่ายการเมืองเหนือหน่วยงานราชการ ซึ่งมาตรานี้เคยถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาต่อสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กรณีที่มีปากเสียงกับตำรวจในจังหวัดภูเก็ต แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่มีความผิด 
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขมาตรา 185 นี้ โดยนำมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเขียนไว้แทน ซึ่งระบุว่า ห้ามไม่ให้ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุแต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นของข้าราชการเท่านั้น ไม่ได้ห้ามกรณีนักการเมืองก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจําของข้าราชการอีกต่อไป โดยไพบูลย์อธิบายว่า ข้อเสนอนี้เพื่อให้ ส.ส. หรือ ส.ว. สามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้
5. ส.ส. ขอร่วมดันแผนปฏิรูปประเทศกับ ส.ว. 
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ2 เสนอให้แก้ไขมาตรา 270 โดยอำนาจในการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จากเดิมที่เป็นของสมาชิกวุฒิสภาแต่ฝ่ายเดียว ให้เป็นอำนาจของรัฐสภามีอำนาจพิจารณา กล่าวคือ ส.ส. จะมีอำนาจร่วมกับ ส.ว. แต่งตั้งในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่ คสช. เขียนขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นอำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ เสนอยังคงอยู่เช่นเดิมตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ