ชวนวาด #ภาพเรือนจำจากคำบอกเล่า

ภาพเรือนจำจากคำบอกเล่า
 
 
สถานการณ์โควิดในเรือนจำกำลังวิกฤต 17 พฤษภาคม 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 6,853 ราย วันนี้ 18 พฤษภาคม 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 680 คน รวมตั้งแต่ที่ ศบค.รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนรวมสะสมทั้งสิ้น 11,428 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
ขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังและนักโทษในเรือนจำยังคงเป็นภาพเบลอ ไม่อยู่ในภาพจำของประชาชนทั่วไปนัก ปัญหาความแอดอัดในเรือนจำมีมาโดยตลอด เป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่เมื่อไม่มีภาพที่จะบอกเล่าความทุกข์ทรมานเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ก็กลายเป็นที่รับรู้กันแต่เพียงตัวหนังสือ โดยไม่ได้รู้สึกร่วม เมื่อผนวกกับวิกฤตโควิด 19 ยิ่งทำให้ปัญหาความแอดอัดเรือนจำกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด
 
เชิญชวนนักวาดร่วมกันวาด #ภาพเรือนจำจากคำบอกเล่า จากคำบรรยายของผู้ต้องหาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ เพื่อกระจายข้อเท็จจริงของสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แออัด-เสี่ยงโรค และกระตุ้นเตือนให้ "ระดับนโยบาย" ออกมาตรการที่อาจทำให้สถานการณ์ไม่แย่ลงไปกว่านี้
 
โพสต์ภาพวาดหรือภาพถ่ายพร้อมคำบอกเล่าที่เลือกมาให้ หรือเท่าที่หาเองเพิ่มเติม จากช่องทางใดก็ได้ ติดแฮชแท็ก #ภาพเรือนจำจากคำบอกเล่า #โควิดเรือนจำ หรือจะคัดลอกข้อความนี้เพื่อเชิญชวนคนอื่นๆ ต่อไปก็ได้
_____________
 
ตัวอย่างคำบอกเล่าจากผู้ที่เคยอยู่ในเรือนจำ
 
“สถานการณ์ในแดนแรกรับตอนนี้ผู้ต้องขังไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ถูกขังไว้แค่ในห้องเท่านั้น จะได้ออกมานอกห้องแค่ตอนที่อาบน้ำเช้า-เย็น และตอนนี้ผู้ต้องขังมีอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากแผนกสูทกรรม(ผู้ต้องขัง/นักโทษที่มีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงคนทั้งคุก) ติดโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถทำอาหารจำนวนมากได้เท่าเดิม”
 
รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำ
____________
 
ในแต่ละแดนที่ใช้ห้องชั้นบนเป็นโรงพยาบาลสนาม ความเป็นอยู่ คือ เพื่อนผู้ต้องขังที่ยังไม่ติดเชื้อก็ต้องไปเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำผู้ที่ติดเชื้อแล้ว พวกเขาก็ระมัดระวังตัวกันเท่าที่ทำได้ ก่อนหน้าเรื่องจะแดงขึ้นมาหลายคนใช้เสื้อกันฝนคลุม ใส่หน้ากากอนามัยไปทำหน้าที่ แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
 
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้ต้องขัง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2564 ในรายการ OctDem
____________
 
การแยกกักโรคนั้นจะเป็นการกักร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่มาจากศาลในวันเดียวกัน โดยแบ่งกักในห้องขังที่มีลักษณะห้องเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยม เมื่อต้องนำมาใช้ในการกักโรคจึงต้องใช้พลาสติกมากั้นห้องทำให้อากาศภายในห้องอบอ้าวและไม่ถ่ายเท แต่ละห้องจะมีผู้ต้องขังเฉลี่ยประมาณ 20-30 คน ซึ่งค่อนข้างแออัดนอนไหล่ชิดกัน ส่วนการกินอาหารนั้นจะกินแยกถาดกันภายในห้อง
 
สภาพเรือนจำชั้นในยังคงมีความแออัด ใช้ห้องขังขนาด 5×10 เมตรเป็นห้องนอน แต่ละห้องอยู่กันประมาณ 30-40 คน นอนไหล่ติดกันเต็มประชิดห้องน้ำ คนที่อยู่ติดห้องน้ำรันทดหน่อย โดยจะต้องเข้าห้องขังตั้งแต่เวลา 15.00 – 06.00 น. หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวต้องลงมาอยู่ที่สนามด้านล่างก็ยังมีความแออัดเช่นกัน ทำให้เกิดเหตุการณ์ประเภทเดินไหล่ชนกันเป็นเหตุให้วิวาทมีให้พบเจอบ่อยครั้ง
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
____________
 
“สถานการณ์ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตอนนี้แย่มาก เกือบทุกห้องขังมีคนป่วยที่มีอาการคล้ายกับโรคโควิด19 โดยทุกคนยังต้องอยู่รวมกันภายในห้องขังทั้งคนที่มีอาการและไม่มีอาการ โดยแพทย์จะเข้ามาทำการตรวจให้ในช่วงเวลา 7 หรือ 14 วัน เนื่องจากแพทย์มีจำกัด อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า ทางเรือนจำได้ตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละแดนขึ้นเพื่อรองรับผู้ต้องขังที่มีอาการเล็กน้อย (เคสเขียว) ส่วนผู้ต้องขังที่มีอาการหนักขึ้น (เคสเหลืองและแดง) จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยแพทย์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเข้าไปตรวจหาเชื้อโควิด19 คือแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์”
 
คำบอกเล่าจากทนายที่ไปเยี่ยม ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอกผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯที่ติดเชื้อโควิด 19
____________
 
" หนูตรวจวันเสาร์คนที่ 1299 ได้ตรวจตอน4โมงเย็น ให้เราลงมาจากห้องกักไม่แจกเจลล้างมือเลย ลงมานั่งรอแถวล่ะ 5 คน แจกอุปกรณ์ตรวจไว้ที่เรา แล้วเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆตามแถว เก้าอี้ที่ใช้นั่งตรวจก็ไม่ทำความสะอาดเลยตรวจเสร็จต่อคน เน้นเสร็จไม่เน้นดี ทุกอย่างไวมากแมสที่แจกกันโควิดแบบนี้มันได้หรอคะข้างในบอกให้ใส่ตลอดแต่ช่วยอะไรที่ห้องกักก็ไม่แจกเจลล้างมือไว้ที่ห้อง"
 
"เสื้อผ้ารวมกันในห้องกักเพื่อให้คนเอาออกไปซักเก็บมารวมกันแล้วมาแยกที่ห้องเอา ของใช้ส่วนตัวพวกแปรงสีฟัน ขันอาบน้ำ ชุดใส่วันต่อไป เอารวมกันใส่กล่องปิดฝาส่งคืนห้ามมีของไว้ในห้อง"
 
พลอย-หทัยรัตน์ แก้วศรีคร้าม อดีตผู้ต้องขัง
____________
 
"หนึ่งในสามเรือนจำที่ผมไปมา มีเรือนจำหนึ่งไม่มีแม้กระทั่งแมสก์ขายไม่มีจำหน่ายให้กับนักโทษ แล้วนักโทษทำยังไง เค้าก็กลัวตายเหมือนกันครับ เค้าก็เอาเสื้อนักโทษนี่แหละมาตัดม้วนแล้วก็เอามาทำเป็นที่ห้อยกับหู แล้วก็เอาส่วนของเสื้ออีกส่วนมาทำเป็นแมสก์ปิดปาก ผมเห็นอย่างนั้นเลย ผมก็อยากไปหาแมสก์มาให้เค้าแต่ก็จนปัญญาเพราะว่ามันไม่มีจำหน่ายในเรือนจำ"
 
โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรี, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าประสบการณ์ในเรือนจำผ่านไลฟ์ของ The Standard
____________
 
ตอนที่อยู่ในแดนหนึ่ง มีผู้ต้องขังในแดนนี้ประมาณ 400-500 คน มีความแออัดสูง คนจำนวน 500 คนอยู่ในที่ประมาณหนึ่งไร่และมีเรือนนอน วันไหนที่มีนักโทษใหม่มาเยอะก็จะนอนอย่างแออัด ผู้ต้องขังต้องใช้เวลา 14-15 ชั่วโมงอยู่รวมกันในเรือนนอน ห้องน้ำมีพื้นที่ผนังสูงเท่าเอว ผู้ต้องขังมีการใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดการสัมผัสร่วมกันเช่น ขันน้ำ ขณะที่มาตรการป้องกันโรค เช่น การใส่หน้ากากตลอด 24 ชั่วโมงและล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งการรักษาระยะห่าง นั้นเป็นไปไม่ได้ ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ โรงอาหาร เวลาอาหารผู้ต้องขังต้องอยู่ในโรงอาหารและมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ความเสี่ยงอีกพื้นที่หนึ่ง จะเห็นว่ามาตรการป้องกันโรคที่ทำกันในสังคมภายนอกนั้นทำภายในเรือนจำไม่ได้
 
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี๊ยบ ยกตัวอย่างประสบการณ์ที่อยู่ในเรือนจำระหว่างเดือนสิงหาคม 2559 จนถึงต้นกรกฎาคม 2560
____________
 
ร่วมลงชื่อเรียกร้องฉีดวัคซีน-ลดแออัด-หยุดเข้าไปเพิ่ม
 
_______________________________________

ตัวอย่างภาพวาด

Covid in Thai Prison

"หนึ่งในสามเรือนจำที่ผมไปมา มีเรือนจำหนึ่งไม่มีแม้กระทั่งแมสก์ขายไม่มีจำหน่ายให้กับนักโทษ แล้วนักโทษทำยังไง เค้าก็กลัวตายเหมือนกันครับ เค้าก็เอาเสื้อนักโทษนี่แหละมาตัดม้วนแล้วก็เอามาทำเป็นที่ห้อยกับหู แล้วก็เอาส่วนของเสื้ออีกส่วนมาทำเป็นแมสก์ปิดปาก ผมเห็นอย่างนั้นเลย ผมก็อยากไปหาแมสก์มาให้เค้าแต่ก็จนปัญญาเพราะว่ามันไม่มีจำหน่ายในเรือนจำ"
โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรี, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าประสบการณ์ในเรือนจำผ่านไลฟ์ของ The Standard