ลุ้น! ธรรมนัสพ้นตำแหน่ง รมช./ส.ส. เหตุต้องคำพิพากษาคดีค้ายาเสพติดที่ออสเตรเลีย

7 เมษายน 2564 ข่าวศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีของร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ 
คดีนี้ส.ส. 51 คน เข้าชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา มีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากคู่กรณีและกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า จะถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวผ่านทางช่องยูทูบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญด้วย
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดเรื่องคุณสมบัติของส.ส. ไว้ในมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (10) ว่า สมาชิกภาพของส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้าม คือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า และลักษณะต้องห้ามนี้ ก็ส่งผลไปยังเรื่องความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) กำหนดเรื่องลักษณะต้องห้ามไว้ว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
เหตุที่นำมาสู่การวินิจฉัยคดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยธีรัจชัยอภิปรายว่า ธรรมนัสเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด กระทำผิดกฎหมายยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ค้า ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและการสมัครเป็นส.ส.
ธีรัจชัยระบุว่า การค้ายาเสพติดเป็นอาชญากรรมร้ายแรงระดับโลกที่นานาชาติมีอนุสัญญาเกี่ยวกับความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดอย่างน้อยสามฉบับ การจะนำบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มีอำนาจในการบริหารงบประมาณ มีอำนาจสั่งการระดับประเทศนั้น เป็นอันตรายต่อประชาชน และธีรัจชัยได้ยกตัวอย่างของหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้หลังจากการเลือกตั้งพ.ศ. 2535 เหตุติดบัญชีดำไม่สามารถเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เพราะสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับยาเสพติด โดยธีรัจชัย ได้อ้างอิงบทความของบีบีซีไทย ซึ่งอ้างอิงบันทึกของศาลแขวงดาวนิ่งในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า “จากสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีระบุว่ามนัส ถูกจับเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2536 ที่โรงแรมพาลาจใกล้ชายหาดบอนได พร้อมผู้กระทำความผิดร่วมอีก 3 คน ซึ่งเป็นคนไทย 1 คน และคนออสเตรเลีย 2 คน” และระบุว่า “มนัส โบพรหม ยอมรับสารภาพเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2536 ฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีนในปริมาณเพื่อการค้าเข้าไปยังออสเตรเลีย ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2537 ลงโทษจำคุก 6 ปี โดยให้เริ่มนับวันรับโทษตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม และจะไม่ปล่อยตัวจนกว่าจะรับโทษไปแล้ว 4 ปี จากนั้นประสงค์ให้เนรเทศออกนอกประเทศ”
ธีรัจชัยระบุว่า การทำงานของอนุกรรมาธิการ เพื่อตรวจสอบการเข้าสู่ตำแหน่งของธรรมนัส มักไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกมธ. ป.ป.ช. จึงส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2562 จากนั้นศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลล์ก็ได้ส่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีของร้อยเอกธรรมนัส คดีเลขที่ 6044/94 และ 6034/94 มายังประธานกมธ. ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 พบว่า คำพิพากษาที่อ่านเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538  มีเนื้อหาโดยสรุปว่า มนัส โบพรม ได้รับสารภาพว่า เจตนานำเข้าและเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเฮโรอีน ถูกพิพากษาจำคุกหกปี โดยกำหนดเป็นโทษขั้นต่ำสี่ปี และเวลาห้ามปล่อยตัวสองปี 
สำหรับประเด็นทางกฎหมายที่ว่า "ลักษณะต้องห้าม" เนื่องจาก "ต้องคำพิพากษา" นั้น จะรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ธีรัจชัยอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 276/2525 เรื่องหารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ปัญหาการตีความมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) ฉบับปี 2521 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมิได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ก็เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม  ถ้าห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผลในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศ ต้องห้าม ถ้าทำผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม
ด้านร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ชี้แจงว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมีผลในดินแดน กฎหมายที่บังคับใช้ในรัฐใด ก็มีผลบังคับใช้ในรัฐนั้น จะเอากฎหมายของประเทศออสเตรเลียมาลงโทษผู้กระทำความผิดคนไทยในลักษณะกฎหมายไทยไม่ได้ และตนได้รับคำตัดสินทั้งของศาล คือ คำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2537 เป็นคำตัดสินแบบลองตัดสิน (Pre-sentence) หรือเจรจาก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแบบลูกขุน ธรรมนัสแย้งว่า ความผิดของตนเป็นความผิด Knowingly Concerned หมายความว่า เป็นความผิดฐานรู้ว่ามีผู้กระทำความผิด แต่ปกปิดหรือไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้รับทราบ จะแปลว่า เจตนาไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้ผู้แปลที่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ย้ำว่าตนไม่ได้รับสารภาพว่าเป็นผู้นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และผลิตสิ่งเสพติดให้โทษประเภทเฮโรอีน
ด้านผศ. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในประเทศที่มีระบบกฎหมาย Common Law ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศออสเตรเลียใช้  ให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยต์ทูเดย์ว่า ในทางทฤษฎี “Knowingly Concerned” คือองค์ประกอบภายในของความผิดทางอาญาตามระบบกฎหมาย Common Law ระดับความรุนแรงต่ำกว่าเจตนา เทียบกับเจตนาของกฎหมายไทยไม่ได้ แต่ก็เป็นระดับร้ายแรงกว่าประมาท (Recklessness) นับว่ามีความรุนแรง เน้นใช้กับคดียาเสพติด อย่างไรก็ดี รณกรณ์มีความเห็นว่า ในทางปฏิบัติของคดีอาญาคอมมอนลอว์ เจตนากับ Knowingly Concerned ไม่ได้ต่างกันมาก ทั้งนี้ รณกรณ์ได้แปลข้อกล่าวหาของร้อยเอก ธรรมนัส โดยใกล้เคียงที่สุดจะแปลได้ว่า “เข้าไปเกี่ยวข้องกับการนำเข้ายาเสพติด (เฮโรอีน) โดยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด”
นอกจากถูกอภิปรายในประเด็นเรื่องต้องคำพิพากษาจากศาลต่างประเทศแล้ว ในวันเดียวกันนั้นเองณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ในประเด็นเรื่องภรรยาถือหุ้นตลาดของเตย อันเกี่ยวพันกับการเป็นคู่สัญญากับรัฐด้วย
ต่อมา โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า 27 พฤษภาคม 2563 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล 54 คน ได้เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็น ส.ส. จากกรณีคู่สมรสถือครองหุ้นตลาดคลองเตย ซึ่งเป็นการถือครองสัญญากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ในลักษณะผูกขาดตัดตอนซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสาม อันจะส่งผลให้สมาชิกภาพส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่ และจะขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและพ้นสมาชิกสภาพส.ส.  ตามรัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจากการต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลียหรือไม่
ในส่วนของกรณีคู่สมรสถือหุ้นตลาดคลองเตย มีข้อยุติแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 48/2563 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า กรณีที่อริสรา พรหมเผ่า ภริยาของร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าพื้นที่บริเวณตลาดคลองเตย เพื่อลงทุนบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่เป็นตลาดและเป็นส่วนประกอบของตลาดกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเอกชนรายอื่นก็สามารถประกอบกิจการตลอดในพื้นที่ใกล้เคียงได้ จึงไม่มีลักษณะผูกขาดตัดตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ที่กำหนดให้ ส.ส. ต้องไม่เข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และมาตรา 184 วรรคสาม ที่กำหนดให้นำมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ไปใช้กับคู่สมรสของส.ส. ด้วย มูลกรณีจึงไม่ได้เป็นการกระทำที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่จะส่งผลให้สมาชิกภาพของส.ส. สิ้นสุดลง ตามมาตรา 101 (7) ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีภริยาของร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า ถือหุ้นในตลาดคลองเตย กรณีที่อาจส่งผลต่อความเป็นส.ส. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าจะสิ้นสุดลงหรือไม่ จึงต้องดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในศาลต่างประเทศ ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวในช่องยูทูบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ