เปิดเกณฑ์การ “สึกพระ” ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์-กฎมหาเถรสมาคม

ถึงแม้การเข้าเป็นนักบวชของพุทธศาสนา จะมีจุดมุ่งหมายคือการเข้าสู่โลกแห่งธรรม และมุ่งถึงนิพพานตามแนวทางที่สืบทอดจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ชีวิตและสถานะความเป็นภิกษุสงฆ์ในรัฐไทยก็ไม่แยกขาดออกจากเรื่อง “ทางโลก” เสียทีเดียว เมื่อรัฐไทยยังกำกับการปกครองคณะสงฆ์ โดยให้อำนาจมหาเถรสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย “ดีงาม” และมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ เพื่อให้ไปเป็นตามการปฏิบัติอำนาจหน้าที่ดังกล่าว มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดหลักเกณฑ์ประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ทั้งนี้ กฎหมายที่ให้อำนาจดังกล่าวแก่มหาเถรสมาคม คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีการประกาศใช้ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยเหตุที่มีกฎหมาย-กฎมหาเถรสมาคมมากำกับ การพ้นไปจากสถานะความเป็นภิกษุสงฆ์ หรือการสละสมณเพศ จึงไม่ได้มีเพียงแต่การสละสมณเพศโดยเจตจำนงของภิกษุรูปนั้นเท่านั้น เพราะในหลายกรณีกฎหมายและกฎมหาเถรสมาคมก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ส่งผลให้พระต้องสละสมณเพศ ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติไม่สอดคล้องธรรมวินัย รวมไปถึงการประพฤติในทางโลก ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้บังคับกับประชาชนในรัฐ เช่น การตกเป็นผู้ล้มละลาย การถูกกล่าวหาในคดีอาญา หรือการต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
พระภิกษุล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และผ่านกระบวนการลงโทษตามพระธรรมวินัย มีคำวินิจฉัยให้สึก
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (พ.ร.บ.คณะสงฆ์) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ในมาตรา 26 ว่าพระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรม (การลงโทษตามพระธรรมวินัย) ให้สึก ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น
กรณีนี้ หากพระภิกษุละเมิดพระธรรมวินัย ก็ไม่ใช่ว่าต้องสึกในช่วงเวลาที่ละเมิดพระธรรมวินัยเสียทีเดียว แต่ต้องผ่านกระบวนการลงโทษตามพระธรรมวินัยเสียก่อน ซึ่งในมาตรา 25 ก็ได้กำหนดให้อำนาจมหาเถรสมาคม ในการตรา “กฎมหาเถรสมาคม” กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม
โดยในคู่มือพระสังฆาธิการ ที่จัดทำโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตีพิมพ์ในปี 2558 ได้รวบรวมกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม และประกาศรวมไปถึงคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ไว้ ซึ่งปรากฏ กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
หากเปรียบเทียบกับกฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปแล้ว กฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกฎหมายวิธีพิจารณาความ กำหนดกลไกการบอกกล่าวว่าภิกษุกระทำความผิด กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจในการลงนิคหกรรม และกระบวนการลงนิคหกรรมต่อภิกษุ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
เมื่อมีผู้ฟ้อง (โจทก์) ต่อพระภิกษุว่าได้กระทำความผิด โดยยื่นฟ้องเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อผู้พิจารณามีอำนาจลงนิคหกรรม (พระผู้พิจารณาฯ) ได้แก่ เจ้าอาวาส เจ้าคณะเจ้าสังกัด หรือเจ้าคณะเจ้าของเขตในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี ถ้าคำฟ้องนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ข้อ 12 พระภิกษุผู้พิจารณามีอำนาจลงนิคหกรรม สามารถรับฟ้องได้
เมื่อรับฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว ให้เรียกพระภิกษุซึ่งตกเป็นจำเลย (พระภิกษุที่ถูกโจทก์ฟ้องต่อพระภิกษุผู้พิจารณา) มาแจ้งคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทราบ แล้วสอบถามและจดคำให้การของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยลงชื่อในคำให้การนั้นด้วย
ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ ให้พระผู้พิจารณาฯ มีอำนาจสั่งลงนิคหกรรมแก่จำเลย ตามคำรับสารภาพนั้น แต่ถ้าจำเลยให้การแบ่งรับความผิดเบากว่าหรือน้อยกว่าที่ถูกฟ้อง หรือให้การปฏิเสธ พระผู้พิจารณาฯ ก็ต้องรายงานและส่งคำฟ้องต่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป เมื่อดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องเสร็จแล้ว ถ้าคำฟ้องเรื่องใดมีมูล ให้สั่งประทับฟ้อง แล้วดำเนินการพิจารณาต่อไป แต่ถ้าคำฟ้องเรื่องใดไม่มีมูล ให้สั่งยกฟ้อง
ในกรณีที่ไต่สวนมูลฟ้องแล้วคำฟ้องมีมูล เมื่อสั่งประทับฟ้องแล้ว ก็ต้องดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้มีสามชั้น คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา มีการกำหนดกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยบางประการ คล้ายกระบวนการในศาล
ดังนั้น กรณีที่พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 26
พระภิกษุไม่ยอมรับการลงโทษตามพระธรรมวินัยไม่ถึงให้สึก ก็ต้องสึกภายในสามวัน
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 (1) กำหนดว่า กรณีที่พระภิกษุรูปใดต้องคำวินิจฉัยให้รับนิคหกรรม “ไม่ถึงให้สึก” แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น พระภิกษุรูปนั้นต้องสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 ก็ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชารายงานเรื่องดังกล่าวถึงมหาเถรสมาคม ถ้ามหาเถรสมาคมวินิจฉัยและมีคำสั่งให้สละสมณเพศ พระภิกษุรูปนั้นก็ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น
พระภิกษุละเมิดพระธรรมวินัยเป็นประจำ ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ถูกวินิจฉัยให้สละสมณเพศ
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 (2) พระภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยไม่ว่าจะเรื่องเดียวกันหรือหลายเรื่องเป็นอาจิณ (เป็นประจำ) ต้องสละสมณเพศตามกฎมหาเถรสมาคม โดยกฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 พ.ศ. 2538 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 กำหนดให้เจ้าอาวาสวัดซึ่งพระภิกษุนั้นอยู่ในสังกัด หรือเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุนั้นพำนักอาศัยอยู่ มีอำนาจหน้าที่แนะนำ ชี้แจง ตักเตือน ถ้าพระภิกษุประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัย เพื่อให้ให้พระภิกษุรูปนั้นประพฤติตามพระธรรมวินัย โดยคำแนะนำ ชี้แจง ตักเตือน ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดเวลาให้ปฏิบัติ หากพระภิกษุรูปนั้นไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าอาวาสวัดรายงานตามลำดับ จนถึงเจ้าคณะอำเภอเจ้าสังกัดเพื่อวินิจฉัยให้สละสมณเพศต่อไป ซึ่งเมื่อมีคำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศแล้ว ให้เป็นอันถึงที่สุด กล่าวคือ พระภิกษุผู้ที่ต้องคำวินิจฉัยนั้นต้องปฏิบัติตาม จะโต้แย้งไม่ได้อีกแล้ว
หลังจากมีคำวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศแล้ว เจ้าอาวาสซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัดหรือพำนักอาศัย ต้องแจ้งผลคำวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ
กรณีที่ไม่พบตัวพระภิกษุรูปนั้น หรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมรับทราบคำวินิจฉัย ก็ต้องปิดประกาศคำวินิจฉัยไว้ ณ ที่พำนักอาศัยของพระภิกษุรูปนั้น และถือว่าพระภิกษุรูปนั้นทราบคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ซึ่งพระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัย ก็ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย หรือนับแต่วันที่ประกาศคำวินิจฉัยนั้นถูกปิดไว้ ณ ที่พำนักอาศัย
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ยังได้กำหนดอีกว่า กรณีที่พระภิกษุรูปนั้นไม่สึกภายในสามวัน ให้พระภิกษุผู้มีหน้าที่จัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศขออารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย
การให้สละสมณเพศเพราะพระภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
พ.รบ.คณะสงฆ์ มาตรา 27 (3) และ (4) กำหนดว่าหากพระภิกษุไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศ
ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ให้อำนาจพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ใน “เขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น” มีอำนาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ซึ่งเมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว คำวินิจฉัยก็เป็นถึงที่สุด พระภิกษุจะไม่สามารถโต้แย้งได้ และเมื่อมีคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศแล้ว พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นต้องแจ้งผลคำวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และจัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ
การสึกเพราะพระภิกษุต้องคำพิพากษา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา
นอกจากเรื่องในทางธรรมวินัยหรือทางแนวปฏิบัติของสงฆ์ ที่ส่งผลต่อสมณเพศของภิกษุ กฎหมายทางโลกซึ่งใช้บังคับกับประชาชนในรัฐ ยังเข้าไปเกี่ยวพันกับสถานะความเป็นภิกษุเช่นกัน
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 28 กำหนดว่า พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น อาจเป็นคำพิพากษาจากศาลฎีกา หรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งคู่ความไม่สามารถฎีกาได้ เนื่องจากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 เพราะไม่เข้าเงื่อนไขให้ฎีกาได้ตาม มาตรา 249 หรืออาจเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้ ตามมาตรา 147
มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ยังกำหนดว่า พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ถ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
กรณีนี้พระภิกษุถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล แต่ถ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นว่าไม่สมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเข้าเงื่อนไขอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น พนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินการให้พระภิกษุสละสมณเพศได้
ขณะที่ มาตรา 30 กำหนดว่า เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศ
กรณีตามมาตรา 30 แตกต่างจากมาตรา 29 เพราะเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลออกมา และมีผลบังคับต่อตัวภิกษุรูปนั้นให้ต้องปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็สามารถดำเนินการให้ภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้
มีข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาตามมาตรา 29 และมาตรา 30 ประกอบกัน จะพบว่า แม้ว่ารายละเอียดจะแตกต่างกัน กล่าวคือ มาตรา 29 เป็นกรณีที่ภิกษุเพียงถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีโดยศาล ที่จะพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดและต้องรับโทษ หรือจะยกฟ้องเพราะมีหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิดหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนพอที่จะบ่งชี้ว่ากระทำความผิด ส่วนมาตรา 30 เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว แต่ผลที่มีต่อพระภิกษุนั้นเหมือนกัน คือ พระภิกษุจะต้องสละสมณเพศโดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
จะเห็นได้ว่าในเชิงของผลที่เกิดขึ้น กรณีตามมาตรา 29 แทบจะเป็นการปฏิบัติต่อภิกษุเหมือนกับกรณีที่ภิกษุต้องคำพิพากษาตามมาตรา 30 ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ในมาตรา 29 วรรคสอง ว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ดังนั้นการที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 29 ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 และไม่เคยมีการแก้ไขมาตรานี้เลย กำหนดไว้เช่นนี้ จึงอาจไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่คุณค่าบางอย่างแตกต่างออกไปจากช่วง 50 กว่าปีก่อน
อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการให้ภิกษุสละสมณเพศได้เลย โดยที่ภิกษุยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวก่อนนั้น อาจส่งผลต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 31 ที่กำหนดให้ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน การที่พระภิกษุต้องสละสมณเพศตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ นั้น แม้ว่าภายหลังภิกษุจะไม่ต้องคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด และสามารถกลับมาบวชใหม่ได้อีกครั้ง แต่ในช่วงเวลาที่ภิกษุต้องสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์มาตรา 29 ภิกษุรูปนั้นก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาตามความเชื่อของตนเองได้อย่าง “บริบูรณ์” ไม่สามารถแสดงออกตามความเชื่อของตนเองที่ประสงค์จะเป็นนักบวชในพุทธศาสนาได้ เพราะกลไกตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 29 กำหนดไว้เช่นนี้
ฝ่าฝืนไม่ยอมสึกตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.คณะสงฆ์-กฎมหาเถรสมาคม มีโทษอาญาจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ยังได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ในมาตรา 43 ว่า กรณีที่ภิกษุฝ่าฝืนบทลงโทษตามกฎมหาเถรสมาคม และไม่สึกภายในสามวัน หรือล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก แล้วไม่สึกภายใน 24 ชั่วโมง หรือเข้ากรณีตามมาตรา 27 กล่าวคือ ได้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น, ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นประจำ, ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง, ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แล้วไม่ยอมสึกภายในสามวัน หรือต้องสึกเพราะได้รับคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย แล้วไม่ยอมสึกภายในสามวัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
รัฐห้ามภิกษุเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่การเมืองก็เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตภิกษุ?
นอกจากรัฐจะกำหนดไว้ว่ากรณีใดบ้างที่พระภิกษุจะต้องสละสมณเพศแล้ว การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของพระภิกษุก็ถูกกำหนดห้ามเอาไว้เช่นกัน โดยในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 96 อีกทั้งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) ยังกำหนดให้ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ดังนั้น หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ แม้จะมีการจัดทำประชามติ ซึ่งต้องการการตัดสินใจของประชาชนในประเทศ พระภิกษุก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงได้
นอกจากการห้ามมิให้ภิกษุเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งหรือการทำประชามติแล้ว มหาเถรสมาคมยังได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. 2538 เช่น ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด และให้พระสังฆาธิการตั้งแต่ชั้นเจ้าอาวาสขึ้นไป ผู้มีอำนาจหน้าที่ในทางปกครองชี้แจงแนะนำผู้อยู่ในปกครองของตัวเองให้ทราบคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ และกวดขันอย่าให้มีการฝ่าฝืนละเมิด กรณีที่พระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนละเมิดคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ ให้พระสังฆาธิการผู้ปกครองใกล้ชิด “ดำเนินการ” ตามอำนาจหน้าที่ของตน
มีประเด็นน่าคิดว่า หากภิกษุที่อยู่ภายใต้ปกครองของภิกษุที่มีสถานะเป็นผู้ปกครอง ไม่พอใจกับระบบการปกครอง การจัดระเบียบคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และต้องการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย โดยมีการรวมกลุ่มกันเพื่ออภิปรายในทำนองเดียวกันกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นฆราวาส เช่นนี้จะถูกตีความว่า อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับ “การเมือง” หรือไม่ ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นสัมพันธ์กับชีวิตของพระสงฆ์
นอกจากนี้แล้ว คำสั่งมหาเถรสมาคมดังกล่าวนั้น มหาเถรสมาคมก็ยังออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นภายบรรยากาศการเมืองระบอบเผด็จการโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังนั้นการมีอยู่ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จึงไม่ได้หลุดพ้นไปจาก “การเมือง” แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ตราบใดที่ยังต้องการกลไกการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement) การเมืองก็ยังเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เสมอ หากไม่มีฝ่ายบริหารที่ชงเรื่องโดยการเสนอร่างกฎหมาย ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติ ที่บางส่วนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน กฎหมายนี้ก็อาจไม่มีผลบังคับใช้ได้ หรืออาจไม่มีการแก้ไขในครั้งต่อๆ มา
ดังนั้น การห้ามไม่ให้พระภิกษุเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่รัฐก็มีอำนาจเหนือภิกษุในบางเรื่อง จึงอาจเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อภิกษุและอาจส่งผลต่อการแสดงออกในเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตภิกษุนั้น สังคมไทยที่อ้างว่าเมืองพุทธควรจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอภิปรายให้มากขึ้น และฟังเสียงของภิกษุผู้อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหาทางออกร่วมกันของสังคมไทย เพราะถึงแม้ว่าภิกษุจะเป็นนักบวชในพุทธศาสนา ที่ต้องปฏิบัติตามธรรมวินัย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภิกษุก็มีสถานะเป็นประชาชนในรัฐไทย ซึ่งอยู่ใต้บังคับกฎหมายและต้องปฏิบัติตามกฎหมายเหมือนประชาชนชาวไทยที่เป็นฆราวาส