ประชาชนเสียอะไรบ้าง จากการที่รัฐสภาคว่ำ #แก้รัฐธรรมนูญ

17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. …. ในวาระสาม เพียง 208 เสียง ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการถึง 369 เสียง จึงเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป หลังมีการหารือและอภิปรายกันมายาวนานมากกว่า 12 ชั่วโมง
โดยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตกไปแล้วนั้น มีสาระสำคัญคือ การแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 200 คน มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า สสร. ห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นการแก้ไขเนื้อหาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จึงอาจกล่าวได้ว่า โดยตัวร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ไม่ได้ให้อำนาจ สสร. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” เพราะยังมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ต้องยึดถือไว้ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม การที่สมาชิกรัฐสภา “คว่ำ” การแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม โดยการร่วมมือกันของพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค และวุฒิสภา ทำให้รัฐสภาเสียความเชื่อมั่นในสายตาประชาชน นอกจากนี้ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็ยิ่งสูญเสียทั้งโอกาส รวมไปถึงงบประมาณจากภาษีประชาชนที่เสียเปล่าไปกับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ตลอด 15 เดือน ที่ผ่านมา นับแต่การตั้งกมธ. พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
เสียโอกาส เปิดทางให้ประชาชนร่วมกันหา “ฉันทามติ” ในการอยู่ร่วมกัน
ภายหลังจากที่ประชุมรัฐสภาเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. ได้ร่วมกันเสนอญัตติ ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าว (press release) ระบุมติศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติ “เสียก่อน” ว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
จากคำว่า “เสียก่อน” นั้น นำไปสู่ข้อถกเถียงทั้งในบรรดาสมาชิกรัฐสภา และแวดวงวิชาการว่า ต้องทำประชามติ “ก่อน” เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือทำประชามติได้ภายหลังจากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมผ่าน วาระสาม เพราะมีการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) ได้กำหนดให้ต้องทำประชามติ 
อย่างไรก็ตามวันที่ 15 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับด้วยวิธีการแก้รัฐธรรมนูญให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นการแก้ไขหลักการที่มีผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองเอาไว้ รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ถ้าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญทำประชามติ
ทั้งนี้ เมื่อไล่ลำดับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น กล่าวได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นยังไม่เข้าสู่กระบวนการ “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพราะในหมวด 15/1 ที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ก็อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระสาม และยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายว่าจะริเริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จนกว่าจะได้มีการทำประชามติตามมาตรา 256 (8) เมื่อผ่านประชามติจึงทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มขึ้น รัฐสภาย่อมสามารถพิจารณาผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม เพื่อไปทำประชามติได้ตามมาตรา 256 (8) เพื่อถามประชาชนได้ว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
โดยผู้ที่เห็นว่ารัฐสภาสามารถผ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม แล้วค่อยไปทำประชามติได้ มีหลายคนด้วยกัน เช่น สองในสี่ของมือร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ทำความเห็นส่งสำหรับการพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ได้แก่ 
สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้เคยเป็น สสร. ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในยุค คสช.  
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต และอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การที่รัฐสภาชิงคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญก่อน แทนที่จะผ่านวาระสามเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำประชามติทั้งๆ ที่สามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่งผลให้ประชาชนไม่มีโอกาสที่จะได้หา “ฉันทามติ” ร่วมกัน ในบรรยากาศที่ผู้คนมีความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประสงค์จะให้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับต่อไป ผู้ที่เคยเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้วมีความคิดเห็นใหม่ภายหลัง หรือผู้ที่ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ควรมีพื้นที่ในหาจุดยืนร่วมกันตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อกระบวนการดังกล่าวยุติไป หนทางสู่การหาฉันทามติร่วมกันของปวงชนชาวไทยนั้นจึงถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดการชัดเจนว่าจะได้เริ่มเมื่อใด
เสียโอกาส ในการได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ถูกคว่ำไปในวาระที่สามนั้นได้กำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 200 คนมาจากการเลือกตั้ง โดยใช้ระบบแบ่งเขต "หนึ่งเขต-หนึ่งคน" คล้ายกับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ดังนั้น การที่รัฐสภาคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญไป จึงเป็นการปิดทางตั้ง สสร. ที่มาจากประชาชนให้มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องรอผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง ถึงจะมีโอกาสได้ สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าสมาชิกรัฐสภาหลายรายก็เป็นหนึ่งในกลไกคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีการกระทำเช่นนี้ซ้ำอีกหรือไม่
หากเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือ ไม่มีกระบวนการเปิดทางให้ประชาชนทำประชามติว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ แม้ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรายมาตราได้ แต่ก็เป็นการแก้ไขที่ยังอยู่ภายใต้กลไกตามมาตรา 256 ที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก โดยการพิจารณาวาระหนึ่งและวาระสามต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามจากจำนวนทั้งหมด คิดเป็น 84 คน 
อาจกล่าวได้ว่า แม้จะมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราได้ แต่ ส.ว. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการสืบทอดอำนาจของ คสช. ก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อการแก้รัฐธรรมนูญ
เสียงบประมาณจากภาษีประชาชน จ่ายค่าเบี้ยประชุมฟรี โดยที่การแก้รัฐธรรมนูญไม่บรรลุผล
นอกจากการเสียโอกาสในมิติของอนาคตแล้ว การที่รัฐสภาคว่ำการแก้รัฐธรรมนูญยังทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องสูญเสียไปโดยที่หนทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งไม่บรรลุผล เช่น ค่าเบี้ยประชุม
จากข้อมูลในพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 ได้กำหนดเบี้ยประชุมกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภา และกรรมาธิการร่วมกันทั้งสองสภา ให้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท สำหรับอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมาธิการวุฒิสภา อนุกรรมาธิการรัฐสภา และอนุกรรมาธิการร่วมกันทั้งสองสภา ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท
หากไล่ลำดับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญ พบว่ามีการตั้งถึงสามชุดด้วยกัน ดังนี้
โดยคณะกรรมาธิการชุดแรก มี กมธ. ทั้งสิ้น 24 คน โดยมีพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานคณะกรรมาธิการ จากข้อมูลการนัดประชุม พบว่า มีการประชุมทั้งสิ้น 24 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ 9 กันยายน 2563
ถ้าคำนวณว่าในทุกครั้งมี กมธ.อย่างน้อยมาประชุมครึ่งหนึ่งของ กมธ.ทั้งหมด คิดเป็น 12 คน เท่ากับว่าในการประชุมหนึ่งครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุมกรรมาธิการ 18,000 บาท และการประชุม 24 ครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุมกรรมาธิการชุดนี้ 432,000 บาท 
ส่วนคณะอนุกรรมาธิการใน กมธ. ชุดนี้ มีสองชุด ชุดแรก คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีจำนวนทั้งหมด 16 คน จากข้อมูลการนัดประชุม มีการประชุม 22 ครั้ง กรณีที่อนุกรรมาธิการมาประชุมอย่างน้อยแปดคน ในการประชุมหนึ่งครั้งจะมีค่าเบี้ยประชุมสำหรับอนุกรรมาธิการ 8,800 บาท และการประชุม 22 ครั้ง จะมีเบี้ยประชุม 140,800 บาท และชุดที่สอง คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มีจำนวนทั้งสิ้น 18 คน มีกำหนดการประชุมทั้งหมด 18 ครั้ง เท่ากับว่า หากมีอนุกรรมาธิการมาประชุมอย่างน้อยครั้งละ 9 คน จะมีค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 7,200 บาท การประชุม 18 ครั้ง จะมีค่าเบี้ยประชุม 129,600 บาท
เมื่อรวมเบี้ยประชุมของ กมธ.และอนุกรรมาธิการทั้งสองชุดตามที่คำนวณไว้ข้างต้น จะมีค่าเบี้ยประชุมที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ เป็นจำนวนอย่างน้อย 702,400 บาท
คณะกรรมาธิการชุดที่สอง มีจำนวนทั้งสิ้น 14 คน โดยมีวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ จากข้อมูลการประชุม มีประชุมทั้งสิ้นเก้าครั้ง หากคำนวณโดยคิดจากฐานว่ามี กมธ.มาประชุมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คือเจ็ดคน เท่ากับว่า การประชุมของ กมธ.ชุดนี้ หนึ่งครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม 10,500 บาท และประชุมเก้าครั้ง จะมีค่าเบี้ยประชุม 94,500 บาท
คณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการสองชุด ชุดแรก คือ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย มีจำนวน 15 คนโดยแรกเริ่มไม่ได้มีจำนวนถึง 15 คน แต่มีการทยอยแต่งตั้งเพิ่มภายหลัง มีการประชุมทั้งสิ้นสี่ครั้ง หากคิดจากฐานว่าแต่ละครั้งมีคนมาประชุมเจ็ดคน จะมีค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 5,600 รวมสี่ครั้งคิดเป็น 22,400 บาท ชุดที่สอง คือ คณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 10 คน มีการประชุม ทั้งสิ้นสี่ครั้ง หากพิจารณาว่าอย่างน้อยแต่ละครั้งจะมีผู้มาประชุมครึ่งหนึ่ง คือ ห้าคน การประชุมหนึ่งครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม 4,000 บาท การประชุมสี่ครั้ง จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม 16,000 บาท
เมื่อรวมเบี้ยประชุมของคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการทั้งสองชุดตามที่คำนวณไว้ข้างต้น จะมีค่าเบี้ยประชุมที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ เป็นจำนวนอย่างน้อย 132,900 บาท
คณะกรรมาธิการชุดที่สาม คือ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นคณะกรรมาธิการที่ประชุมรัฐสภาตั้งขึ้นในวาระที่หนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอย่างละเอียด และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวาระสองต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะรับตามที่กมธ. ได้แก้ไขหรือไม่
โดย กมธ. ชุดนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 26 คน มีการประชุม ทั้งหมด 12 ครั้ง หากคิดจากฐานว่าแต่ละครั้งมีผู้เข้าประชุม 13 คน การประชุมหนึ่งครั้งมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุม 19,500‬ บาท การประชุม 12 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุม 234,000‬ บาท
หากรวมค่าใช้จ่ายเบี้ยประชุมของ กมธ. สามชุดข้างต้น จะอยู่ที่ราวๆ หนึ่งล้านบาท อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ การประชุมคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการในแต่ละครั้ง อาจมีผู้มาประชุมในจำนวนไม่เท่ากัน การคำนวณนี้เพื่อให้เห็นข้อมูล “ตัวเลขขั้นต่ำ” เท่านั้น
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าเบี้ยประชุมเท่านั้น แต่ยังมีค่าของว่างรับรองระหว่างการประชุม กมธ. ในแต่ละครั้ง ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทางสำหรับ กมธ. ที่อยู่จังหวัดอื่นๆ มายังรัฐสภา ค่าเดินทางสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ที่อยู่จังหวัดอื่นๆ มายังรัฐสภา กรณีที่มีประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในแต่ละครั้ง ค่าจัดทำเอกสารที่ต้องทำให้เพียงพอต่อสมาชิกรัฐสภา ทั้งตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ตอนแรกเสนอเข้าสู่สภาถึงเจ็ดฉบับ รายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ก่อนรับหลักการ ซึ่งมีจำนวนถึง 426 หน้า รวมไปถึงเอกสารอื่นๆ ที่ต้องจัดทำ เหล่านี้ล้วนแต่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับการจัดสรร โดยงบประมาณเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และในท้ายที่สุดสิ่งที่เสียไปนั้นก็ไม่เกิดผลิตผลที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
เสียโอกาสลดอำนาจ คสช. และเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ปกติ
อย่างที่ทราบกันว่าเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่นำโดยกองทัพ พร้อมกับการสนับสนุนจากชนชั้นนำฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ การคว่ำรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะลดอำนาจและอิทธิพลของ คสช. ออกไป ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือการรีเซ็ตระบบการสรรหาองค์การอิสระใหม่ให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น 
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังต้องจมปลักอยู่ในระบอบการเมืองกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย เพราะอำนาจเผด็จการที่เกิดจากประกาศและคำสั่ง คสช. ยังคงแฝงอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเป็นเพียงข้อความในเศษกระดาษ และการเดินหน้าที่สู่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นปกติ ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน คุณสมบัตินายกฯ ยังคงไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกฯ และกำหนดทิศทางในรัฐสภา