แก้รัฐธรรมนูญ: จับตาวาระสาม “สองประเด็น-สองเงื่อนไข-หนึ่งประชามติ”

หลังที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ในวาระที่สอง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ขั้นตอนถัดไปคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งเป็นวาระสุดท้าย หากรัฐสภามีมติเห็นชอบก็ให้ดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ทว่า เกมส์การแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามไม่ใช่เรื่องง่าย หาก ส.ว.ชุดพิเศษของคสช. ไม่เห็นด้วย หรือ พรรคฝ่ายค้านรวมตันกันไม่เห็นด้วย และหลังจากผ่านวาระสาม เนื่องจากมีการแก้ไขในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องมีการออกเสียงประชามติเป็นด่านสุดท้ายของภารกิจแก้รัฐธรรมนูญ
สองประเด็นใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านวาระสอง
ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระสองมีสาระสำคัญอย่างน้อยสองเรื่อง ดังนี้
หนึ่ง การแก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า "สามในห้า" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ซึ่งต่างจากเดิมที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
สอง การแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือระบบ "หนึ่งเขตหนึ่งคน" โดยมีเงื่อนไขพิเศษว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นต้องห้ามมิให้แก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
สองเงื่อนไขที่อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านวาระสาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (5) กำหนดว่า เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป ดังนั้น การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุด คือ ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประธานสภานัดหมายการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 และ 18 มีนาคม 2564 โดยในวาระนี้ จะเป็นการพิจารณาเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างเดียวเท่านั้น จะไม่มีการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอีก 
อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) กำหนดว่า "การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา"
หรือหมายความว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านสภาได้ ไม่ใช่แค่อาศัยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ยังมีอีกสองเงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ 
๐ หนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
๐ สอง ต้องมีเสียงของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดอยู่ 737 คน ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ นอกจากจะต้องต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 369 เสียงแล้ว ต้องมีเงื่อนไข เสียงเห็นชอบ จาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือ ประมาณ 84 คน จาก 250 เสียง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า คสช. เป็นคนเลือก ส.ว. มากับมือ การจะผ่านเงื่อนไขเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกทั้ง อีกหนึ่งเงื่อนไขที่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร ร้อยละยี่สิบ ซึ่งจากข้อมูล พบว่า  พรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเป็นรัฐมนตรีและ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย
เพื่อไทย มี ส.ส. 134 คน  
ก้าวไกล มี ส.ส. 53 คน
เสรีรวมไทย มี ส.ส. 10 คน  
ประชาชาติ มี ส.ส. 7 คน
เพื่อชาติ มี ส.ส. 5 คน
พลังปวงชนไทย มี ส.ส. 1 คน
พลังท้องถิ่นไท มี ส.ส. 5 คน
เศรษฐกิจใหม่ มี ส.ส. 6 คน
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย มี ส.ส. 2 คน
พลังชาติไทย มี ส.ส. 1  คน
ประชาภิวัฒน์ มี ส.ส. 1 คน
ไทยศรีวิไลย์ มี ส.ส. 1 คน
พลังไทยรักไทย มี ส.ส. 1 คน
ครูไทยเพื่อประชาชน มี ส.ส. 1 คน
ประชาธรรมไทย มี ส.ส. 1 คน
พลเมืองไทย มี ส.ส. 1 คน
ประชาธิปไตยใหม่ มี ส.ส. 1 คน
พลังธรรมใหม่ มี ส.ส. 1 คน
ไทรักธรรม มี ส.ส. 1 คน
รวมทั้งสิ้น 233 คน
ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการเห็นชอบในวาระที่สามได้ ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเป็นรัฐมนตรีและ ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 47 คน ด้วยเช่นกัน
หนึ่งประชามติหลังรัฐสภาเห็นชอบวาระสาม
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (7) กำหนดว่า หลังจากที่สภามีมติเห็นชอบแล้ว คือให้รอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่ในมาตรา 256(8) ได้กำหนดให้มีการทำประชามติไว้ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในกรณีที่มีการแก้ไขในประเด็น ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
หมวด 2 พระมหากษัตริย์
หมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ
เรื่องที่ทำให้ศาล หรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่ หรืออำนาจใด
ดังนั้น ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากเป็นการแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยคาดหมายว่าการออกเสียงประชามติอาจมีขึ้นอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 และถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็จะตกไป