ปฏิทิน ‘อย่างเร็ว’ สู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ถูกคว่ำ

24-25 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐสภาประชุมพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สอง และลงมติเพื่อชี้ขาดตามข้อเสนอแก้ไขจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่มีอยู่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ข้อสรุปที่ได้ คือ การแก้ไขมาตรา 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา ไม่ต้องใช้เสียงพิเศษของ ส.ว. และให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นใหม่มีสมาชิก 200 คนจากการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงเนื้อหา “หมวด1 หมวด2” 

เท่ากับเส้นทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเดินหน้าต่อไปโดยรัฐสภาชุดนี้ ขณะเดียวกันก็ยังมีกลไกอีกมากที่อาจสะกัดกั้น หรือ “คว่ำ” ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้อีกหลายชั้น

1. ลงมติวาระสาม

ภายในกลางเดือนมีนาคม 2564 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (5) กำหนดว่า เมื่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สองแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน ก่อนแล้วให้เริ่มพิจารณาวาระที่สาม

ดังนั้น การพิจารณาวาระที่สาม จะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 13 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเสาร์ และรัฐสภาวางกำหนดการประชุมร่วมกันแล้วเป็นวันที่ 17-18 มีนาคม 2564 จึงคาดหมายได้ว่า ภายในกำหนดสองวันดังกล่าวน่าจะมีการลงมติวาระที่สาม

การลงมติในวาระที่สาม จะไม่มีการแก้ไขในรายละเอียดของข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก การลงมติของรัฐสภาที่จะผ่านในวาระที่สามได้ ต้องอาศัยเสี่ยงครึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. คือ อย่างน้อย 369 จากทั้งหมด 737 คน โดยต้องมีเสียง ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน และต้องมีเสียงของ ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรีและประธานสภา รวมกันร้อยละ 20 ถ้าหากได้เสียงของสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงตามหลักเกณฑ์นี้ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป

2. ทำประชามติโดยประชาชน

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดว่า การแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำประชามติ

ซึ่งรายละเอียดของกระบวนการทำประชามติ เช่น ผู้มีสิทธิออกเสียง, การตั้งคำถาม, การนับคะแนน รวมทั้งการกำหนดวันออกเสียงประชามติ จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องตามมาภายหลัง ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกสักช่วงหนึ่งเพื่อออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดวันออกเสียง คาดหมายว่า การออกเสียงประชามติอาจมีขึ้นอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564

ถ้าหากไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป 

3. ทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (7) กำหนดว่า เมื่อลงมติเห็นชอบแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

คาดหมายว่า การลงพระปรมาภิไธยอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 หรือต้นเดือน กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้

4. เลือกตั้ง สสร. 200 คน

ในระหว่างการทำประชามติ และขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะต้องมีการออกกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง สสร. เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, ขั้นตอนการสมัคร, เงื่อนไขในการหาเสียง, การนับคะแนน รวมทั้งการประกาศรับรองผล โดยองค์กรที่รับผิดชอบหลัก คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้าหากมีการเร่งรัดกระบวนการให้ดำเนินการโดยรวดเร็วและเริ่มกระบวนการยกร่างและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปก่อน ก็อาจประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ไม่นานนักหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้แล้ว คาดหมายว่า อาจประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเร็วในเดือนกรกฎาคม 2564 

และเมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง สสร. แล้วยังต้องเริ่มจากการประกาศรับสมัคร และกำหนดเวลาให้ผู้สมัครมาสมัครรับเลือกตั้ง และให้เวลาพอสมควรในการหาเสียงเลือกตั้ง จึงคาดหมายว่า อาจจัดการเลือกตั้ง สสร. ได้อย่างเร็วในเดือนกันยายน 2564

5. เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระสองแล้ว กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 240 วัน ถ้าหาก กกต. สามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วและรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในเดือนกันยายน 2564 และ สสร. เข้าเริ่มทำงานทันที การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเริ่มเดินหน้าไป

คาดหมายว่า จะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ สสร. เป็นผู้เขียนขึ้นอย่างเร็วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565

อย่างไรก็ดี กระบวนการเหล่านี้ยังมีอุปสรรคสำคัญ เมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง รวมเสียงกับ ส.ว. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยตั้งประเด็นว่า รัฐสภาอาจจะไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ เพื่อมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับประเด็นที่ส่งมา ก็อาจทำให้ข้อเสนที่จะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่เป็นอันตกไป เหลือเพียงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เท่านั้น ที่จะได้ไปต่อ ซึ่งยังต้องทำประชามติอยู่

เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ว่า เมื่อรับคำร้องแต่ละเรื่องแล้วศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายในเวลาเท่าใด ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยช้ากว่าการลงมติวาระสามของรัฐสภา เมื่อลงมติเสร็จแล้วอาจจะต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทำให้กำหนดเวลาการทำประชามติต้องเลื่อนออกไป และขั้นตอนอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะต้องขยับตามออกไปทั้งหมดด้วย

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์