แก้รัฐธรรมนูญ: ถึงรัฐธรรมนูญจะแก้ง่ายขึ้นแต่เกมส์การแก้ยังอยู่ในมือ คสช.

มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือมาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ คือ กุญแจสำคัญในการปลดล็อกการเมืองไทยออกจากวังวนอำนาจของ คสช. และพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มไปได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามของรัฐสภาที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวาระสองเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญแก้ง่ายขึ้น โดยให้ใช้เสียง “สามในห้า” ของรัฐสภา แต่ทว่า หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวก็ยังคงทำให้ คสช. เป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ดี

รัฐธรรมนูญประชาชนเคยกำหนด “ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง” แก้รัฐธรรมนูญได้

ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาไทยเป็นความปกติที่กระทำและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตกทอดต่อกันมาไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปกี่ฉบับและไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญถาวรที่เกิดหลังจากคณะรัฐประหาร เช่น รัฐธรรมนูญ 2534 หรือ รัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่เกิดจากประชาชนอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ต่างมีบทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญคือ

  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.)
  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐสภาต้องพิจารณา 3 วาระ
  • วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาในการเห็นชอบ
  • วาระที่สามขั้นสุดท้ายในการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

รัฐธรรมนูญ 60 สร้างเงื่อนพิสดารต้องให้กลไกของคณะรัฐประหารเห็นชอบด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 กับสร้างเงื่อนไขพิศดารเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากต้องการป้องกันรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ไขรื้ออำนาจของ คสช. ในกรณีที่ คสช. ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเองได้  โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้

  1. วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาในการเห็นชอบ แต่กำหนดเงื่อนไขว่าในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
  2. วาระที่สามขั้นสุดท้ายในการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา แต่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวร่วมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
  3. การแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดดังต่อไปนี้ให้จัดออกเสียงประชามติก่อน หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
  4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถถูกตรวจสอบความถูกต้องโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน เข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นี่คือเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่าย คสช. ดังจะเห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว.แต่งตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส.ส. ฝ่ายที่สนับสนุน คสช. ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม

การแก้ไขมาตรา 256 ใหม่ ตัดเงื่อนไขพิศดาร แต่ยังอยู่ในเกมส์ ส.ว. แต่งตั้ง

ในการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระที่สอง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐสภามีมติให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตัดเงื่อนไขเดิมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทิ้งไป เช่น การตัดเงื่อนไขที่ต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามในวาระที่หนึ่งและสาม หรือ การตัดเงื่อนไขที่ต้อง ส.ส. พรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี หรือประธานสภาร้อยละ 20 เห็นชอบด้วย แต่ยังคงการออกประชามติไว้ในกรณีที่มีการแก้ในหมวดต้องห้าม

สำหรับการแก้ไขมาตรา 256 โดยเฉพาะการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม กำหนดให้ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

แม้จะตัดเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พิศดารออกไป แต่การกำหนดเสียงเห็นชอบถึงสามในห้าของสมาชิกทั้งสองสภา ก็ยังคงเป็นเงื่อนไขที่สูงมาก เพราะต้องอาศัยเสียงของ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจับมือกันถึงประมาณ 450 เสียง จาก 500 เสียง หากไม่ต้องการให้ ส.ว. ชุดพิเศษของ คสช. เข้ามาเกี่ยวข้อง และในทางกลับกัน หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล คสช. ไปจับมือกับ ส.ว. แต่งตั้งฯ ของตัวเอง ก็จะทำให้ฝ่าย คสช. แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายไปโดยปริยาย

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์