แก้รัฐธรรมนูญ: สภาลงมติวาระสอง เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา

24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ลงมติวาระสอง (ลงมติแก้ไขรายมาตรา) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยผลการลงมติคือ ให้คงมาตรา 3 ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตามร่างแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภาเห็นชอบในวาระหนึ่ง

กล่าวคือ ให้การออกเสียงลงคะแนนร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่ง (ขั้นรับหลักการ) และการลงคะแนนเสียงในวาระที่สาม (ขั้นสุดท้าย) ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยสามในห้า หรือ ประมาณ 450 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 750 เสียง

และให้คงเรื่องการแก้ไขบางประเด็นที่ต้องมีการออกเสียงทำประชามติ เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ 

และยังให้คงเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาขัดต่อมาตรา 255 เรื่องห้ามแก้ไขในลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

สำหรับการอภิปรายในการแก้ไขมาตราดังกล่าว มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติที่อภิปรายไว้อย่างน่าสนใจหลายคน อาทิ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่งและวาระที่สาม ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาก็เพียงพอแล้ว แต่เฉพาะในวาระสามให้เพิ่มเงื่อนไขว่าต้องได้เสียงของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อีกทั้ง การกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ถือว่าใช้เสียงจำนวนมาก จนต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ด้วย  ซึ่ง ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่สามารถโหวตให้แก้รัฐธรรมนูญได้

ด้าน นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ชี้แจงว่า ที่มาของการให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภา เป็นความผิดพลาดทางเทคนิก เนื่องจากในชั้น กมธ. มีการลงมติว่า เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก หรือ เห็นด้วยกับการแก้ไข ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการแก้ไข ทำให้การใช้เสียง 3 ใน 5 ของสองสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญตกไป ต่อมามีการลงมติว่า เห็นด้วยกับการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ กับ การใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาในการแก้รัฐธรรมนูญ พบว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่งนั้นน้อยเกินไปจึงต้องโหวตเห็นด้วยกับการใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภาตามความเห็นของ ฝ่าย ส.ว.

สุดท้าย ที่ประชุมร่วมของรัฐสภามีมติเสียงข้างมากของ จำนวน 441 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ. ต่อ 178 งดออกเสียง 13 เสียง ทำให้มาตรา 256 กลับไปใช้ตามร่างรัฐธรรมนูญเดิมที่ ใช้เกณฑ์คะแนนที่ใช้เสียง ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ​หรือ 450 เสียง ในวาระแรกและวาระสาม  และไม่มีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้มีกระบวนการตรวจสอบการตรารัฐธรรมนูญที่มิชอบโดยศาลรัฐธรรมนูญ

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์