แก้รัฐธรรมนูญ: กมธ.เสียงข้างมาก ห้าม สสร. “แก้ไขหมวด 1-หมวด 2” รัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 24 และ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….  ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ การเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 200 คน เป็นผู้จัดทำ แต่ทว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อห้ามไม่ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีผลเป็นการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจเต็มที่จะนำปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนเข้ามาพิจารณาและหาทางออก โดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎรก็จะไม่ได้นำเข้าสู่กลไกการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.
แต่อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในสภาก็มีความแตกต่างกัน เพราะในรายงานของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ หรือ ขอสงวนความเห็นเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาปรับแก้ในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน้อย 4 แนวทาง ได้แก่
(1) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. มาตรา 256/13 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้"
(2) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ได้ตามข้อยกเว้น
ข้อเสนอดังกล่าว มีผู้เสนอหลักๆ อยู่สองแนวทาง แนวทางแรก เป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ไข มาตรา 256/13 วรรคห้า โดยให้เขียนว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ เว้นแต่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"
ส่วนแนวทางที่สอง มีผู้เสนอหลักได้แก่  นิยม เวชกามา และ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ตัด มาตรา 256/13 วรรคห้าออก แต่ให้บัญญัติไว้ใน มาตรา 256/13 วรรคสอง อนุหนึ่ง ว่า "ต้องคงไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและคงไว้ซึ่งหลักการที่ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้"
(3) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา
ข้อเสนอที่ให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา เป็นข้อเสนอที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้สนับสนุนหลัก เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ธีรัจชัย พันธุมาศ และรังสิมันต์โรม อีกทั้งยังมี ส.ส.พรรคประชาชาติ อย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่สนับสนุน โดยเสนอให้ตัด มาตรา 256/13 วรรคห้า ของร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ กมธ. ออกทั้งวรรค
(4) การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามแก้หมวด 1-2 และที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ รวมถึงให้คงบรรดากลไกพิเศษของคสช.ไว้
ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการสงวนคำแปรญัตติของบรรดา ส.ว. โดยบุคคลที่เสนอแนวทางดังกล่าวไว้อย่างครอบคลุมทุกประเด็น คือ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ที่เสนอแก้ไข มาตรา 256/13 ของร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ กมธ. ว่า  "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้"
นอกจากนี้ ยังเสนอเพิ่มในมาตรา 256/13 วรรคหกด้วยว่า "บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ หรือหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือเงื่อนไขในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา 144 หรือ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทบัญญัติหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ เป็นบทบัญญัติที่ต้องมีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย"
ส่วนคนที่ขอสงวนคำแปรญัตติไว้เฉพาะการห้ามแก้หมวดที่ 1 และ 2 รวมถึงให้คงกลไกพิเศษของคสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงบางประเด็น ได้แก่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. ที่เสนอให้เขียน มาตรา 256/13 วรรคห้า ว่า "การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ และต้องบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มาตรา 269 มาตรา 272 และมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป"
จากการบัญญัติรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ จะทำให้กลไกพิเศษของคสช. ได้แก่ ที่มาและอำนาจของ ส.ว.แต่งตั้ง กลไกยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รวมถึงอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้รับการรับรองให้ยังคงอยู่ต่อไป
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์