กฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง กับความหวัง “ชาติพันธุ์ก็คือคน”

ชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ธรรมชาติในหลายภูมิภาคทั่วประเทศมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมดั้งเดิม และวิถีการดำรงชีวิตเป็นของตนเอง และโดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนพื้นเมืองเหล่านี้จะอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว คอยทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาผืนป่ามีความหวงแหนเพราะเชื่อว่าพื้นที่ธรรมชาตินั้นเองคือบ้านของพวกเขา
จากกรณีเหตุการณ์ #saveบางกลอย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าภาครัฐกำลังขัดขวางไม่ให้คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนได้ใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมของเขาในแบบที่ควรจะเป็น และไม่ใช่แค่ชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการของภาครัฐ ยังมีชนเผ่าพื้นเมืองอีกหลายแห่งที่ไม่ได้รับโอกาสและความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม จึงเป็นที่มาของ การรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆและก่อตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายได้รับการปกป้องคุ้มครอง
และเพื่อให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้อง ตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ไทยเคยให้สัตยาบันไว้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองจึงได้ผลักดันให้เกิดร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ.… ฉบับนี้ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งกลไกในการแก้ไขปัญหาให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการรับรองอย่างถูกต้องและเป็นทางการ 
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ มีดังนี้
(1) กำหนดนิยาม "ชนเผ่าพื้นเมือง"
ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กำหนดให้“ชนเผ่าพื้นเมือง” หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันโดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่และพึ่งพาผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่นั้นๆ มิได้เป็นกลุ่มครอบงำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม และพิจารณาตนเองว่ามีความแตกต่างไปจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์พัฒนา และสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์ระบบภูมิปัญญาสู่คนรุ่นอนาคต อันเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม สถาบันทางสังคม และระบบนิติธรรมของตน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม อันเป็นแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณี ยิ่งกว่านั้น ยังระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่นๆ 
(2) ให้ตั้งสภาชนเผ่าเป็นกลไกหลักเพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กำหนดให้มี ‘สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ที่มาจากชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาแล้ว จำนวนกลุ่มละไม่เกิน 15 คน โดยต้องมีสัดส่วนหญิง ชายและตัวแทนเยาวชนที่เป็นธรรมภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน
#อำนาจหน้าที่ของสภาชนเผ่าฯ คือ ประสานงานกับชุมชนและเครือข่ายในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองและสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ภาครัฐและสาธารณชน เพื่อให้ภารกิจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  โดยเฉพาะการส่งเสริม ฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทำมาหากินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงศึกษา ติดตาม และประเมินผลกระทบของนโยบายหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อจัดทำรายงานและข้อเสนอในประเด็นของชนเผ่าพื้นเมืองต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์การระหว่างประเทศ
ในการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองนั้น ร่างกฎหมายหมายดังกล่าวได้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ขึ้นจำนวน 15 คน มีประธานสภาที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภา โดยในการคัดเลือกกรรมการบริหารสภาตำแหน่งต่างๆนั้นกำหนดให้ต้องคำนึงถึงสัดส่วนหญิง ชาย เยาวชน และการกระจายตามภูมิภาคอย่างเท่าเทียม
โดยในวาระเริ่มแรกให้สำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาที่มีอยู่ ดำเนินการเลือกสมาชิกสภาภายในเก้าสิบวัน และให้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมถึงดำเนินการรวบรวมจัดทำทะเบียนประชากรชนเผ่าพื้นเมือง
(3) ให้มีคณะกรรมการอาวุโสประจำชนเผ่าเป็นที่ปรึกษาของสภา
ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กำหนดให้มี ‘คณะผู้อาวุโสสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง นักพัฒนา หรือนักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จำนวน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือ แก่สมาชิกสภา คณะกรรมการบริหารสภารวมถึงคณะทำงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ โดยมี ‘สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก คณะกรรมการบริหาร คณะผู้อาวุโสของสภาชนเผ่าพื้นเมือง
(4) ให้มีกองทุนสภาชนเผ่าพื้นสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มชาติพันธ์ุ
ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กำหนดให้มี ‘กองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ ซึ่งมาจากการเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินหรือทรัพย์สิ่งที่มีผู้บริจาคให้เพื่อสบทบกองทุน โดยกองทุนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของสภาชนเผ่าพื้นเมือง และสนับสนุนกิจกรรมโครงการของกลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมือง อย่างเช่น สนับสนุนกิจกรรมโครงการของกลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ดี เมื่อร่างกฎหมายได้รับการพิจารณาและผ่านเป็นกฎหมายแล้วนั้น ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆก็จะมีกฎหมายและนโยบายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเอง โดยหวังว่าปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน สาธารณสุข สิทธิในสัญชาติ ปัญหาการสูญเสียอัตลักษณ์ ภาษาและวัฒนธรรม เป็นต้น  จะได้รับการแก้ไขผ่านกลไกทางกฎหมายนี้
ร่างกฎหมายชนเผ่าพื้นเมืองที่เสนอจากภาคประชาชนฉบับนี้ มีกำหนดในการยื่นเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 โดยจะถูกนำไปพิจารณาควบคู่กับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ที่เสนอโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจะมีการปรับนำมารวมกันอีกครั้งก่อนจะลงมติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป 
 
สำหรับบุคคลที่สนใจร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเอกสารเข้าชื่อได้ ที่นี่ พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง และส่งไปรษณีย์ไปที่ สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 252 หมู่ 2 ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50210 
ไฟล์แนบ