รัฐสภามีมติเสียงข้างมากยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. หรือไม่?

9 กุมภาพันธ์ 2564 มีการประชุมร่วมรัฐสภาที่มี 'พรเพชร วิชิตชลชัย' รองประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาขอมติจากรัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐสภากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นหลัก คือ การให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ
ตามกำหนดการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะได้ประชุมในวาระที่สองภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และลงมติในวาระที่สาม ภายในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งอาจนำไปสู่การทำประชามติ และเริ่มจัดตั้ง สสร. ได้จริงภายในกลางปี 2564 แต่กำหนดการนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในปัญหาทางกฎหมายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นอำนาจที่รัฐสภาสามารถทำได้หรือไม่
พปชร. จับมือ ส.ว. ยื่นญัตติขวางแก้รัฐธรรมนูญ อ้างเหตุแก้ได้ร่างใหม่ไม่ได้
ญัตติที่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจรัฐสภาถูกเสนอมาตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 โดยมีผู้ร่วมเสนอญัตติดังกล่าว 73 ราย นำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ 23 คน กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 48 คน ซึ่งหลายคนเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลคสช. เป็นอย่างดี หรือเรียกได้ว่า เป็นคน "หน้าคุ้น" ทั้งสิ้น อาทิ สมชาย แสวงการ, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, จเด็จ อินสว่าง, คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นต้น และเหตุผลในการยื่นญัตติดังกล่าว คือ การอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้อำนายรัฐสภาเพียงแก้ไขเพิ่มเติมได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องอำนาจของสภาในการเสนอตั้ง สสร. เคยถูกหยิบนำมาถกเถียงครั้งหนึ่งแล้วในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ หรือ "กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ" ซึ่งข้อสรุปของ กมธ.ชุดดังกล่าว แบ่งออกเป็นสองแนวทาง คือ กลุ่มที่เห็นด้วยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน กับ กลุ่มที่เห็นแย้ง โดยฝ่ายที่เห็นแย้งให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560  ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนอยู่แล้ว และในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการทำแบบเดียวกัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ที่เสนอให้มีการจัดตั้ง สสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นกัน
พปชร. จับมือ ส.ว.และพรรคหนุนคสช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จ
การลงมติในวันนี้จึงเป็นการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา คือ ที่ประชุมรวมทั้ง ส.ส. และส.ว. ว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่ ผลการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 366 ต่อ 316 เสียง ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่รัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. 
สมาชิกรัฐสภาคนที่ลงมติ "เห็นด้วย" หมายความว่า เห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเอง และคนที่ลงมติ "ไม่เห็นด้วย" หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวได้ โดยมีรายละเอียด การลงคะแนน ดังนี้
ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาล
๐ พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วย 113 คน ไม่มาลงมติ 8 คน
๐ พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย 60 คน ไม่มาลงมติ 1 คน
๐ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย 47 คน ไม่มาลงมติ 3 คน เห็นด้วย หนึ่งคน คือ อภิชัย เตชะอุบล
๐ พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วย 12 คน
๐ พรรคพลังท้องถิ่นไท เห็นด้วย 5 คน
๐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เห็นด้วย 5 คน
๐ พรรคชาติพัฒนา งดออกเสียง 4 คน
๐ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เห็นด้วย 2 คน
๐ พรรคไทยศิวิไลซ์ ไม่เห็นด้วย 1 คน
๐ พรรคอื่นๆ เห็นด้วย 9 คน
ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน
๐ พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย 124 คน ไม่มาลงมติ 10 คน
๐ พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วย 51 คน ไม่มาลงมติ 2 คน  
๐ พรรคเสรีรวมไทย ไม่เห็นด้วย 9 คน ไม่มาลงมติ 1 คน
๐ พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วย 4 คน ไม่มาลงมติ 2 คน
๐ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่เห็นด้วย 1 คน เห็นด้วย 1 คน งดออกเสียง 4 คน
๐ พรรคเพื่อชาติ ไม่เห็นด้วย 5 คน
๐ พรรคพลังปวงชนไทย ไม่เห็นด้วย 1 คน

 

สมาชิกวุฒิสภา

 

๐ เห็นด้วย 230 คน
๐ งดออกเสียง 7 คน ได้แก่ คำนูณ สิทธิสมาน, ซากีย์ พิทักษ์คุมพล, ดุสิต เขมะศักดิ์ชัย, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์, อนุศาสน์ สุวรรณมงคล, อำพล จินดาวัฒนะ
๐ ไม่มาลงคะแนน 13 คน
การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา เป็นไปตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 (2) ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (2) มาตรา 41 (4) และมาตรา 44ประกอบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (2) มาตรา 41 (4) และมาตรา 44  ที่ให้อำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ 
ทั้งนี้ ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจิฉัยอำนาจรัฐสภา ไม่มีบทบัญญัติใดที่มีผลให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ของรัฐสภาต้องหยุดชะงัก รัฐสภายังมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งตามกำหนดเดิม คือ จะมีการลงมติในวาระที่สองภายในเดือนกุมภาพันธ์และวาระที่สามภายในเดือนมีนาคม 2564 แต่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจมีผลต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภาได้ เช่น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ การดำเนินการของรัฐสภาที่เกิดขึ้นไปแล้วก็อาจสิ้นผลไป
ถ้าหากรัฐสภายังคงเดินหน้าพิจารณาต่อไปตามกำหนดเดิม และภายหลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นอำนาจของรัฐสภาสามารถทำได้ ก็จะไม่กระทบต่อกรอบเวลา ไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าลง ความล่าช้าของกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ รัฐสภาเห็นพ้องว่า ควรเลื่อนการพิจารณาตามกำหนดเดิมออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่ารับคำร้องหรือไม่ และรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยจนถึงที่สุดออกมาก่อน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนว่า ศาลจะต้องวินิจฉัยภายในเวลาเท่าใด
ฝ่ายรัฐบาลเสียงแตก อภิปรายคัดค้านดุเดือด 
ในระหว่างการประชุมรัฐสภาในประเด็นนี้ นิกร จำนง ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาอันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย จะร้องขอให้ผู้ทรงอำนาจอื่นมาวินิจฉัยอำนาจหน้าที่เชิงองค์กรของรัฐสภา นิกรยืนยันว่า รัฐสภาต้องดำรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคานอำนาจ หากรักษาไม่ได้จะเสียหลักสำคัญของระบอบประชาธิปไตยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นอำนาจที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการตามกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อีกทั้งยังมีกมธ. ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาผ่านมาแล้ว
บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นได้ ในกรณีตามที่สรุปได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวางแนวทางไว้ว่า
1) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่น ต้องเป็นปัญหาที่มีแล้วจริงๆ ไม่ใช่การคิดเอาเองว่ามีปัญหา ไม่ใช่การขอให้อธิบายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
2) แม้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วแต่หากองค์กรนั้นใช้อำนาจของตนวินิจฉัยเสร็จแล้ว ก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้
บัญญัติ อภิปรายถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระหนึ่งและกรรมาธิการมาแล้วนั้น แม้จะมีปัญหา แต่ก็มีกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สะท้อนว่า องค์กรที่ทรงอำนาจได้ใช้อำนาจวินิจฉัยปัญหาของตนเองแล้ว การเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจเป็นการเปล่าประโยชน์ ในอดีตมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงสองครั้ง โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้ให้อำนาจไว้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่มีที่มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มาที่มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 ทั้งสองฉบับเป็นการจัดทำขึ้นมาโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้ให้อำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้เช่นกัน
ด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามมาตรา 7 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ "ที่เกิดขึ้นแล้ว" เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การแก้ไขเป็นรายมาตรา ไม่ใช่ทั้งฉบับ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จึงจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผู้เสนอญัตติอ้างว่า "ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ" นั้น การแก้ไขครั้งนี้ก็เพื่อให้สสร. มีอำนาจมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์