ภาคีนักกฎหมายสิทธิฯ แถลงเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐหยุดใช้อำนาจที่ผิดกฎหมายคุมการชุมนุม

แม้ว่าการชุมนุมบนท้องถนนในช่วงเดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 ซาลงไปบ้างและหยุดพักไปเนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด19 แต่การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐต่อผู้ชุมนุมยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกระทำของรัฐส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย มีหลายกรณีที่รัฐแจ้งข้อหาร้ายแรงเกินเหตุจำเป็นต่อผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น หรือมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงเกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรด้านสิทธิและสำนักงานกฎหมายหลายแห่ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการตอบโต้การกระทำที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านการร้องเรียนหรือช่องทางในกระบวนการยุติธรรมเพื่อยืนยันหลักการว่า การออกมาเรียกร้องหรือออกมาชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงทำได้และต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ทางภาคีฯ จัดการแถลงข่าวขึ้น เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ในหัวข้อ “หยุดใช้อำนาจนอกกฎหมาย หยุดใช้ความรุนแรง และหยุดใช้การดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม” ที่ห้องออดิทอเรียม The Connecion Seminar Center ลาดพร้าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในการยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และหยุดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเรียกร้องมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการดูแลการชุมนุม

มีตัวแทนจากองค์กรในภาคีฯ เข้าร่วมการแถลงข่าวทั้งหมด 7 องค์กรได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม (LEPA) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) และไอลอว์

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การจับกุมตัวผู้ชุมนุมและควบคุมตัวไปยังสถานที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกรณีหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ไม่ได้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งผู้ชุมนุมยังเป็นประชาชน ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด การนำตัวไปสถานที่ที่ห่างไกล อย่างเช่น ตชด. ภาค 1 ทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การติดต่อทนายความและญาติ การไม่บอกข้อกล่าวหาแล้วพาตัวไป เป็นสิ่งที่เราพบเห็นในขณะนี้ ดังนั้น ข้อเรียกร้องคือ เราต้องการให้เจ้าหน้าที่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นข้อหาทางการเมือง ข้อหาที่ยังสุ่มเสี่ยงที่จะตีความว่าผิดกฎหมายบ้านเมือง

รัฐศักดิ์ อนันตริยกุล ตัวแทนจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ปกครองประเทศด้วยกฎหมาย หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเที่ยงธรรม ความวุ่นวายในประเทศย่อมเกิดขึ้นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การแจ้งข้อหาที่เกินความเป็นจริงและไม่เป็นธรรมแก่ผู้ชุมนุม ประการแรก คือ การแจ้งข้อหากับผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยหลักเด็กและเยาวชนต้องถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย รัฐไม่สามารถทำอะไรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่รัฐไทยกำลังทำกับเด็กเหมือนกับเป็นอาชญากร ประการที่สอง การแจ้งข้อหากับบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิดจริง มีหลายกรณีที่การแจ้งข้อหากับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ประการที่สาม การแจ้งข้อหาที่เกินไปกว่าการกระทำความผิด เช่น แจ้งสี่ถึงห้าข้อหาและข้อหาที่แจ้งนั้นก็ไม่ได้ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย นอกจากนั้นยังมีการแจ้งข้อหาในลักษณะกลั่นแกล้ง ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป สังคมอาจเกิดความวิบัติได้สักครั้งหนึ่ง จึงขอเรียกร้องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม 

สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้เราได้เห็นการใช้กฎหมายในลักษณะเลือกปฏิบัติกับบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำไม่ถูกต้อง มีเจตนากลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง โดยการแจ้งข้อหาที่เกินความเป็นจริงโดยเฉพาะในทางอาญาเพื่อให้เขาได้รับโทษ จนทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาเพื่อต่อสู้คดี เพื่อเจตนาให้ได้รับโทษเกินกว่าความจริง เราจึงต้องมีการดำเนินการบางอย่างเพราะเราไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง รัฐจะต้องใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

หลังจากนั้น คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้อ่านแถลงการณ์ของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมีใจความสำคัญ คือ สถานการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถานการณ์การสลายการชุมชนและการควบคุมตัวผู้ชุมนุมหลายเหตุการณ์ที่ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินส่วนของเจ้าหน้าที่อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 การจับตัวประชาชนในยามวิกาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงไม่เป็นธรรม 

โดยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า การออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย และจำเป็นต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกทำให้เสื่อมค่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวข้างต้น เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ ภาคีฯ ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดการใช้อำนาจเกินสัดส่วนอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน และต้องหยุดการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนทันที

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ุ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ขณะนี้ ภาคีฯได้ดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำตัวผู้ต้องหาไปสอบปากคำที่ ตชด.ภาค1 ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือกฎหมาย โดยเล่าอีกว่าในช่วงที่มีการนำตัวผู้ชุมนุมไปสอบสวนที่ตชด.ภาค1 ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ในการพบผู้ต้องหา โดยเจ้าหน้าที่มักอ้างว่า ต้องรอคำส่ังก่อน นอกจากนี้ ยังมีการยึดโทรศัพท์มือถือทนายความทั้งที่ไม่มีอำนาจใดๆ ทำให้การประสานงานหรือติดต่อญาติผู้ต้องหาเป็นไปอย่างลำบาก  ดังนั้น ในทางคดี จึงจำเป็นต้องดำเนินการร้องเรียนไปในทุกช่องทางการตรวจสอบ ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่นั้นล้วนเป็นไปอย่างไม่มีอำนาจทั้งสิ้น 

ไฟล์แนบ