5 ประเด็นการเมืองที่น่าจับตาจากแฮชแท็ก #Save บนทวิตเตอร์

คำว่า Save กลายเป็นคำขึ้นต้นของ Hashtag (แฮชแท็ก) ยอดนิยมในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Twitter (ทวิตเตอร์) โดยข้อมูลจาก Wisesight บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์แฮชแท็กที่มีคำว่า #Save ในปี 2562-2563 พบว่า มีผู้ใช้บัญทวิตเตอร์ทวีตข้อความพร้อมติดแฮชแท็กที่มีข้อความคำว่า #Save อย่างน้อย 87 ล้านข้อความ และมีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นผ่านแฮชแท็กที่มีคำว่า #Save อย่างน้อย 101 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้น อาทิ แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ที่ขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งที่มีคนทวีตมากที่สุด

ทั้งนี้ หากนำข้อมูลของ Wisesight มาวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อหาประเด็นจากแฮชแท็ก #Save ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ จะพบว่า มีประเด็นทางสังคมและการเมืองที่น่าจับตาอยู่อย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง สงครามกฎหมายระหว่าง “คสช.” กับ “พรรคอนาคตใหม่”

นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2563 แฮชแท็กที่เกี่ยวกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่ และพรรคอนาคตใหม่ ได้ขึ้นมาเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ เช่น #Saveอนาคตใหม่ #Savethanathorn มีจำนวนการทวีตข้อความพร้อมติดแฮชแท็กดังกล่าวอย่างน้อย 4.7 ล้านข้อความ และ 3.6 ล้านข้อความ ตามลำดับ ถัดมาคือ แฮชแท็ก #Savepannika และ #Savepiyabutr ที่มีจำนวนการทวีตข้อความ อย่างน้อย 7.8 แสนข้อความ และ 6.4 แสนข้อความ ตามลำดับ ซึ่งแฮชแท็กเหล่านี้เป็นผลมาจากการทำ “นิติสงคราม” หรือ การทำสงครามที่นำกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง มีเป้าประสงค์ในทางการเมือง เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองในสงครามช่วงชิงความชอบธรรมและความนิยมระหว่างระบอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับแนวทางแบบที่พรรคอนาคตใหม่นำเสนอ 

ตัวอย่างของ “นิติสงคราม” ก็อย่างเช่น การดำเนินคดีกับ ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ และกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน จากการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงปรากฏการณ์ “ดูด ส.ส.” ของพรรคพลังประชารัฐพรรคนอมินีของคสช. ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หรือ อย่างการดำเนินคดีกับ ‘รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกุล’ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จากการอ่านคำแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในข้อหาดูหมิ่นศาล ทั้งที่เป็นการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองที่พึงกระทำได้ และผลสุดท้ายอัยการก็สั่งฟ้องในคดีดังกล่าว

นอกจากสงครามระดับบุคคล คสช. ยังทำนิติสงครามกับพรรคอนาคตใหม่ โดยใช้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มาจากกระบวนการคัดเลือกของตัวเอง ส่งไม้ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีพรรคกู้เงินหัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท แต่ทว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ถูกโต้แย้งจากบรรดาคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ใช้กฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดี และการกู้เงินเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถทำได้และไม่ใช่การรับผลประโยชน์อื่นใดตามที่กฎหมายห้าม

อย่างไรก็ตาม นิติสงครามระหว่าง คสช. กับ พรรคอนาคตใหม่ ยังไม่สิ้นสุด เพราะ กกต. ได้มีมติให้ดำเนินคดีอาญากรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 15 คน โดยนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธรมาเป็นหลักฐาน ซึ่งหากศาลพิพากษาว่ามีความผิด กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 5 ปี

ความขัดแย้งนี้ย่อมนำมาซึ่งกระแสของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ทำให้แฮชแทก #save พรรคและบุคลากรของพรรค ถูกใช้อยู่บ่อยครั้งและติดเทรนที่มีผู้ใช้งานมากอยู่เป็นระยะๆ ตามจังหวะของนิติสงคราม

สอง ชะตากรรมของ “ผู้ลี้ภัย” ที่ถูกสังหารและสูญหาย

ในปี 2563 แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งที่มีคนทวีตมากที่สุด อย่างน้อย 5 ล้านข้อความ หลังจากมีรายงานข่าวการหายตัวไปของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่อยู่ในประเทศกัมพูชา และมีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมในการหายตัวไปของวันเฉลิม ก่อนจะมีสถานะผู้ลี้ภัย วันเฉลิมเคยเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และมักแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 คสช. มีคำสั่งเรียกวันเฉลิมไปรายงานตัว แต่วันเฉลิมไม่เข้ารายงานตัวและได้ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลังจากนั้น เขาก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” พร้อมกับข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ในวันที่4 มิถุนายน 2563 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม เปิดเผยว่า ในที่วันเฉลิมหายไปเขากำลังไปซื้อของอยู่บริเวณร้านสะดวกซื้อใกล้ที่พัก โดยเธอกำลังพูดคุยกับวันเฉลิมทางโทรศัพท์อยู่ จากนั้น ก็มีเสียงเหมือนรถชนและวันเฉลิมตะโกนว่า “หายใจไม่ออก” อยู่ประมาณสามสิบนาที ก่อนจะตัดสายไป หลังจากนั้น เธอพยายามติดต่อกับวันเฉลิมอีกครั้งเพราะคิดว่าได้รับอุบัติเหตุ แต่หลังจากติดต่อไปยังเพื่อนของวันเฉลิม จึงทำให้ทราบว่า วันเฉลิมถูกอุ้มหายไป

หลังการหายตัวไปครบ 6 เดือนของวันเฉลิม กระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกัมพูชาให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้อำนวยความสะดวกให้ญาติได้เข้าประเทศกัมพูชาเพื่อให้ข้อมูลกับทางการกัมพูชา ส่วนกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่มีความคืบหน้า แม้ทางญาติจะได้ร้องเรียนต่อทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ

ในขณะเดียวกัน หลังการหายตัวไปของวันเฉลิมได้นำไปสู่การผลักดันกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยภาคประชาชน และนำไปสู่การผลักดันร่างกฎหมายในสภาอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่พรรคประชาชาติเสนอ พรรคประชาธิปัตย์เสนอ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเสนอ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อบรรจุระเบียบวาระ และมีสาระสำคัญว่า ให้กำหนดความผิดว่าด้วยการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้มีกลไกในการป้องกัน เยียวยาผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี การสูญหายของวันเฉลิมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาผู้ลี้ภัยชาวไทย เพราะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2557 มีผู้ลี้ภัยสูญหายอย่างน้อย 7 คน และมีผู้ลี้ภัยที่เคยสูญหายอย่างน้อย 2 คน ถูกค้นพบว่าเป็นศพ ได้แก่ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ “สหายภูชนะ” กับ ไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง” โดยสภาพศพมีการคว้านท้องและร่องรอยการมัดก่อนนำไปถ่วงน้ำ ซึ่งคดีความและการตามหาความยุติธรรมให้กับบรรดาผู้ลี้ภัยที่สูญหายไม่มีความคืบหน้า และไม่มีความพยายามของรัฐบาลในการเร่งรัดสร้างกลไกคุ้มครองหรือป้องกันปัญหาการอุ้มหายผู้ลี้ภัย

สาม สมรภูมิคดีของ “นักเคลื่อนไหว” เพื่อประชาธิปไตย

ในปี 2563 แฮซแท็ก #Save ที่ตามด้วยชื่อของบรรดาแกนนำหรือผู้ชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นแฮชแท็กที่พบได้บ่อยในทวิตเตอร์ โดยมีแกนนำหรือผู้ชุมนุม อย่างน้อย 14 คน ที่ถูกติดแฮชแท็ก ดังกล่าว เช่น #Saveparit #Saveหมอทศพร #Saveทนายอานนท์ หรือ #Savepanusaya ซึ่งจำนวนการทวีตข้อความดังกล่าวมีอย่างน้อย 5 ล้านข้อความ, 3.4 ล้านข้อความ, 3.3 ล้านข้อความ และ 2.7 ล้านข้อความ ตามลำดับ

การที่แฮชแท็กเหล่านี้กลายเป็นกระแสในโลกทวิตเตอร์ ก็เนื่องมาจากการดำเนินคดีครั้งมโหฬารกับผู้ชุมนุมทางการเมือง จนคล้ายกับเป็น “สมรภูมิคดี” ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมโรคโควิด 19 กฎหมายนี้ถูกใช้มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างน้อย 73 ราย อาทิ การดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่จัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์กปทุมวัน หรือ การดำเนินคดีกับ ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ชูป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ระยอง เป็นต้น

ต่อมาในช่วงที่มีการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน การจับกุมและดำเนินคดีกับบรรดาแกนนำผู้ชุมนุมยิ่งขยายตัวและเข้มข้นขึ้น โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม จนถึง 13 พฤศจิกายน 2563 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 175 คน ในจำนวน 75 คดี อีกทั้ง ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า หลายคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงข้อหาภัยความมั่นคงกับการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ อีกทั้ง กระบวนการจับกุมมีการละเมิดต่อสิทธิผู้ต้องหา เช่น การไม่ให้ผู้ต้องหาได้พบบุคคลที่ไว้วางใจหรือทนายความเข้าพบ ดังที่เกิดขึ้นในคดีของ อานนท์ นำภา และ ภานุพงศ์ จาดนอก ที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’

ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีพร้อมระบุว่า จะ “ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” และสมรภูมิคดีก็ยิ่งดุเดือด เพราะเพียงในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน (นับถึงวันที่ 11 มกราคม 2564) เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตั้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” กับผู้ชุมนุม อย่างน้อย 42 ราย อีกทั้ง ยังมีการใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางแม้แต่กับบุคคลที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง อาทิ นัท (นามสมมติ) ที่ป็นแอดมินเพจคณะราษฎรและจำหน่ายปฏิทินที่มีรูปเป็ดสีเหลืองที่เขียนว่า “ปฏิทินพระราชทาน” เป็นต้น

นอกจากการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมแล้ว รัฐบาลยังมีการดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวหรือคนที่แสดงความคิดเห็นในทางการเมือง อย่างผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า ‘นิรนาม’ ที่ทวิตเนื้อหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เช่น การลบประวัติศาสตร์คณะราษฎร การสวรรคตของรัชกาลที่แปด และบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์  จนนำไปสู่การติดแฮชแท็ก #Saveนิรนาม หรือการพยายามดำเนินคดีกับแอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำ เพจที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารปัญหาบ้านเมือง และได้ออกมาเปิดเผย ข้อมูลเกี่ยวกับการกักตุนหน้ากากอนามัยซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี จนมีการติดแฮชแท็ก #saveแหม่มโพธิ์ดำ ขึ้นมา

สี่ “เสรีภาพสื่อไทย” ภายใต้ยุคเผด็จการ คสช.

หากนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เสรีภาพสื่อเป็นไปอย่างเปราะบาง ไม่ว่าจะด้วยเพราะมีการใช้อำนาจพิเศษของคสช. อย่าง คำสั่งคสช. ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 หรือ การดำเนินคดีกับสื่อมวลชน อย่างน้อย 14 คน จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่มาในรูปของ “การปรับทัศนคติ” อย่างน้อย 35 คน เป็นต้น

แม้มีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้ว สื่อก็ยังเป็นเป้าที่รัฐบาล คสช. พยายามจะควบคุมอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ในปี 2563 มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4/2563 โดยมีใจความว่า ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของสื่อ อย่างเช่น Voice TV, ประชาไท, The Reporters และ The Standard จนเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #Saveสื่อเสรี ในทวิตเตอร์ และมียอดทวีตอย่างน้อย 1.4 ล้านข้อความ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ยังมีการติดแฮชแท็ก #SaveVoiceTV อย่างน้อย 3 แสนข้อความ หลัง ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาพร้อมเปิดเผยว่า ศาลอาญามีคำสั่งให้ปิดกั้นการเผยแพร่ของ VoiceTV ทุกช่องทาง โดยอ้างว่าฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ทว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งปิดช่องทางการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ที่ได้สั่งไป เนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ไม่แสดงเหตุชัดเจนว่าจะให้ศาลปิดเนื้อหาบางส่วน หรือปิดทั้งหมด

ห้า การต่อสู้ของชุมชนเพื่อคัดค้านการพัฒนาแบบบีบบังคับ

การต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยเพื่อชุมชนบ้านเกิดได้รับความสนใจและการขานรับจากโลกทวิตเตอร์ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น แฮชแท็ก #Saveจะนะ หรือ #SaveChana ที่มียอดทวีตอย่างน้อย 8.7 แสนข้อความ และ 4.5 แสนข้อความ ตามลำดับ โดยแฮชแท็กดังกล่าวเป็นการบอกเล่าถึงการต่อสู้คัดค้านการพัฒนาแบบ ‘บีบบังคับ’ ระหว่างทุนและรัฐได้เป็นอย่างดี

โดยจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ 21 มกราคม 2563 ที่อนุมัติหลักการให้ใช้พื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และเป็น “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” แต่ทว่า ในชื่อโครงการพัฒนาอันสวยหรูมีราคาที่ต้องจ่าย

เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนไป คือ “สีของผังเมือง” เนื่องจากพื้นที่ในโครงการจะนะส่วนใหญ่เป็นสีเขียวหรือเป็นที่ดินที่มีไว้สำหรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตร แต่หากจะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมก็จำเป็นจะต้องปรับผังเมืองให้เป็นสีม่วง หรือเปลี่ยนเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ซึ่งหมายความว่า พื้นที่ที่เคยเป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตของผู้คนจะต้องถูกแทนที่ด้วยการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น กระบวนการเปลี่ยนสีผังเมืองยังมีปัญหา เนื่องจาก ไม่มีการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ อย่างครอบคลุมเพียงพอ อีกทั้ง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการฯ ที่จัดขึ้นโดย ศอ.บต. จำกัดพื้นที่และบุคคลที่จะเข้าร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็น

ด้วยการกระทำของภาครัฐในลักษณะนี้จึงทำให้ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ต้องเดินทางมากรุงเทพมหานคร และมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐยับยั้งการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ เนื่องจากทางเครือข่ายเห็นว่าขาดการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้เห็นต่าง ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการ และในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การที่รัฐยอม “ชะลอโครงการ” แต่ทว่าก็ไม่มีความแน่นอนว่า โครงการนี้จะกลับมาเมื่อไร