ยุบอนาคตใหม่ และปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญผลงานชุกสุดตั้งแต่รัฐประหาร

ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกคาดหวังให้เป็นองค์กร “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” มีบทบาทหลักในการตรวจสอบว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ ปี 2563 เรียกได้ว่า เป็นช่วง ‘ผลัดใบ’ ของศาลรัฐธรรมนูญ มีการเปลี่ยนตัวตุลาการมากถึง 5 จาก 9 คน โดย 5 คนที่จากไปนั้น หมดวาระมานานแล้วแต่ได้รับการต่ออายุในสมัยของ คสช. ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการคัดเลือกหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น

เดือนเมษายน 2563 วุฒิสภาได้เห็นชอบให้แต่งตั้งตุลาการชุดใหม่จำนวน 4 คน ได้แก่ อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน, จิรนิติ หะวานนท์ ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสายราชการ และอีก 1 คน ในเดือนกรกฎาคม 2563 คือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง เป็นอันครบ 9 คน และถึงแม้ว่า จะมีการเปลี่ยนหน้าคนในทีมเกินครึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงทำงานหนักและมีผลงานให้เราเห็นได้อย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องกว่า 30 เรื่อง จนออกมาเป็น 20 คำวินิจฉัย ออกคำสั่งไม่รับวินิจฉัย 66 คำสั่ง จำหน่ายคดี 3 คำสั่ง ซึ่งคำวินิจฉัยในปีนี้มีมากกว่าคำวินิจฉัยในปี 2562 ถึงสองเท่า และเท่ากับคำวินิจฉัยคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561

ส่วนคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น ก็น่าสนใจอยู่หลายประเด็น หนึ่งในนั้น คือ การไม่รับวินิจฉัยคำร้องของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ต่อการสิ้นสภาพ ส.ส. ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปมภรรยาถือหุ้นในบริษัท ตลาดคลองเตย จำกัด รวมทั้งการไม่รับวินิจฉัยคำร้องกรณีกล่าวหาว่าการกระทำของกลุ่ม Free Youth เยาวชนปลดแอกเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง

ไอลอว์หยิบคำวินิจฉัยทั้ง 20 เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญมาสรุปไว้ให้ดูอีกครั้ง เพื่อให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองตลอดทั้งปี รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในแวดวงกฎหมาย ที่จะเป็นผลต่อเนื่องไปจากคำวินิจฉัยเหล่านี้ด้วย

 

คำวินิจฉัยที่ 1 “คดีอิลลูมินาติ” พรรคอนาคตใหม่ไม่ล้มล้างการปกครอง แต่เข้าใจ ผู้ร้องเพียงห่วงใย

21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีระหว่างนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้อง และ พรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ในกรณีที่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง โดยณัฐพรกล่าวหาว่า เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 หรือไม่

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง ซึ่งประกอบด้วยการเสนอข้อบังคับพรรคที่มีเพียงคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แต่ไม่มีคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” การใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมหัวกลับคล้ายกับสัญลักษณ์ของสมาคมอิลลูมินาติ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังของการล้มล้างระบอบกษัตริย์หลายประเทศในทวีปยุโรป และพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ในการหาเสียง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และการปราศรัยในการเลือกตั้ง ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุในเนื้อหาของคำวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้องนี้ คงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองประเทศ

 

คำวินิจฉัยที่ 2 ส.ส. เสียบบัตรแทนกันไม่สุจริต ให้ลงคะแนนใหม่

7 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเข้าชื่อโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากปรากฏเหตุการณ์มีผู้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส. จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไปลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในขณะที่ฉลอง ไปร่วมงานศพที่พัทลุง ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เฉพาะการพิจารณาในวาระสอง วาระสาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการซึ่งมีการสวมบัตรลงมติแทนกันเท่านั้น และกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติในวาระดังกล่าวใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาต่อไป

 

คำวินิจฉัยที่ 3 โทษทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ สิทธิแม่และเด็กต้องสมดุล เสนอแนะปรับปรุงกฎหมาย

19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศรีสมัย เชื้อชาติ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบุรี และแพทย์ในเครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมาย ถูกจับกุมและกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 จนนำไปสู่การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ท้องไม่พร้อม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้หญิงต้องรับโทษเพียงฝ่ายเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 เรื่องข้อยกเว้นที่สามารถทำแท้งได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง แม้จะมุ่งคุ้มครองสิทธิของเด็กในครรภ์ แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ส่วนการกำหนดให้ผู้หญิงรับโทษแต่ฝ่ายเดียวนั้น เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างเหมือนกัน ผู้ชายไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เหมือนเพศหญิง จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามที่ผู้ร้องอ้าง ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 นั้นเป็นบทยกเว้นความผิดให้กับแพทย์ผู้ทำแท้ง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองคุณธรรมและสิทธิเสรีภาพในร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งนี้ ศาลยังเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก ถูกบังคับใช้มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี ไม่ทันต่อวิทยาการทางแพทย์ที่มีความก้าวหน้าประกอบกับยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและเหมาะสม จึงให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใน 360 วัน

 

คำวินิจฉัยที่ 4 ยุบพรรคอนาคตใหม่ กู้เงินผิดวิสัยทางการค้า ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีระหว่างคณะกรรมการเลือกตั้งและพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ทำสัญญาให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนกว่า 191 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการเลือกตั้ง อ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ทำเพื่อปกปิดและให้ประโยชน์แก่พรรคการเมือง จึงร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและห้ามดำรงตำแหน่งบริหารพรรคการเมือง

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามปรกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน การกระทำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำพรรคการเมือง บงการพรรค เป็นธุรกิจการเมือง มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจดทะเบียนหรือดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปี

 

คำวินิจฉัยที่ 5 อำนาจท้องถิ่นมีจำกัด จัดทำบริการสาธารณะต้องเป็นไปตามมติของ ครม.

13 พฤษภาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลปกครองกลางยื่นคำโต้แย้งของเทศบาลเมืองปทุมธานีให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากมีข้อพิพาทกับทางกรมเจ้าท่าที่ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จนนำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครอง โดยทางเทศบาลเมืองปทุมธานี โต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 249 และมาตรา 250 บัญญัติให้การจัดทำบริการสาธารณะเป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่เทศบาลเมืองปทุมธานีจัดทำถนนค่อมคลอง ก่อสร้างทางน้ำลอดเป็นอำนาจของเทศบาลโดยตรง ไม่จำเป็นต้องรับได้อนุญาตจากกรมเจ้าท่า

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญรับรองให้การจัดทำบริการสาธารณะเป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 และมาตรา 250 แต่ยังต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 250 วรรค 2 ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นอีก คือ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดการกระจายอำนาจอนุมัติให้แก่ท้องถิ่นโดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ลำน้ำเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทั้งประเทศใช้ร่วมกันได้ มิใช่สงวนไว้เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ดังนั้นพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 และมาตรา 250

 

คำวินิจฉัยที่ 6 คนสัญชาติไทยต้องเข้าไทยได้ทุกคน กำชับหน่วยงานพิสูจน์สัญชาติมีมาตรการรองรับ

27 พฤษภาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีนายวิทเตอวีน จิบเบอ ยูลิซ์ซิส ไมเคิล ได้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 115/2546 มีเนื้อหาไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาในประเทศไทย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ทั้งขอให้เพิกถอนและขอให้วินิจฉัยหนังสือคำสั่งของผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ไม่อนุญาตให้บันทึกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออนุญาตให้ผู้ร้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรว่า เป็นโมฆะ และวินิจฉัยให้ผู้ร้องสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ในฐานะผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิด เพื่อมาเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ร้องจะได้รับการรับรองสัญญาติไทยโดยการเกิดและได้รับการเยียวยาความเดือดร้อนโดยการจัดทำบัตรประชาชนและลบชื่อออกจากบัญชีบุคคลต้องห้ามเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงเห็นควรวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการกำหนดมาตรการในการพิสูจน์สัญชาติสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบสิทธิเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้

 

คำวินิจฉัยที่ 7 ส.ว. ระวี รุ่งเรือง สิ้นสภาพ เซ่นประวัติทุจริต เรียกรับสินบน

10 มิถุนายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและระวี รุ่งเรือง สมาชิกวุฒิสภา ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (4) หรือไม่ จากเหตุการณ์ที่ระวี เคยมีประวัติถูกสั่งให้พ้นจากราชการ เนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ เรียกรับสินบนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าเคยถูกศาลจังหวัดเพชรบุรีพิพากษาให้มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จจากการยื่นสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาน โดยรับรองว่า ตนไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการมาก่อน

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า แม้ผู้ถูกร้องจะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชครองสิริราชสมบัติครบ 80 ปี พ.ศ. 2550 แต่การล้างมลทินนั้นมีผลเพียงแค่ล้างมลทินให้ผู้ที่เคยโดนลงโทษทางวินัยให้เป็นผู้ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยในกรณีนั้นๆ ไป แต่ไม่มีผลลบล้างการกระทำความผิดที่ได้กระทำลงไปแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบกับคุณสมบัติของวุฒิสภาซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำหน้าที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมและความผาสุกของประเทศชาติ ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลมีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) ประกอบมาตรา 98 (8) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาของนายระวี รุ่งเรือง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 (4)

 

คำวินิจฉัยที่ 8 จ่ายบำนาญไม่เกินเงินเดือนสุดท้าย ไม่จำกัดสิทธิเกินควร

10 มิถุนายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลปกครองกลางยื่นคำโต้แย้งของพันเอกอัครวิชญ์ หรือสุทธิพงษ์ เจริญพร ให้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 9 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากมีข้อพิพาทกับทางกรมบัญชีกลางที่ไม่สั่งจ่ายบำนาญปกติเกินกว่าจำนวนเงินเดือนก้อนสุดท้าย เนื่องจากพันเอกอัครวิชญ์คำนวณเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 32 ซึ่งกำหนดให้นำเงินเดือนสุดท้ายตั้ง หารด้วยห้าสิบและคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการ ได้มากกว่าเงินเดือนสุดท้ายที่ตนเคยได้รับ โดยทางกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า การคำนวณเงินบำนาญตาม มาตรา 9 จำกัดจำนวนอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับ พันเอกอัครวิชญ์จึงโต้แย้งว่า มาตรา 9 นั้น จำกัดสิทธิในการรับบำนาญของข้าราชการที่มีเวลาราชการมากกว่า 50 ปีโดยเฉพาะเจาะจง และเป็นกฎหมายที่มิได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป แต่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ในปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายบำเหน็จบำนาญมากมายหลายฉบับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำนวนเงินบำนาญขึ้นสูงอย่างมากจนอาจกระทบต่อวินัยทางการคลัง จึงต้องมีการกำหนดเพดานขั้นสูงเอาไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ที่บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2502 มาตรา 9 แม้จะจำกัดสิทธิของบุคคลแต่เป็นการจำกัดสิทธิอย่างเหมาะสมแก่กรณีและสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะและสิทธิของข้าราชการที่เคยปฏิบัติราชการให้บ้านเมือง ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงบำนาญปกติ เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนแก่กรณี ไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรม ทั้งยังเป็นกฎหมายที่มุ่งใช้บังคับเป็นการทั่วไป

 

คำวินิจฉัยที่ 9 สิระ เจนจาคะ ไม่สิ้นสภาพ ส.ส. ยันทำงานได้ทั่วประเทศ

1 กรกฎาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ที่สิระลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารชุดแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต โดยสิระได้ใช้คำพูดจาตำหนิติเตียน พันตำรวจโทประเทือง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ กรณีพบเห็นการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมายและไม่เข้าจับกุม และไม่จัดกำลังพลมาดูแล ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 สิระและคณะได้เดินทางไปยังสำนักเทศบาลตำบลกระรนและเรียกนายกเทศมนตรีและผู้บริหารเทศบาลตำบลมาชี้แจงข้อเท็จจริง โดยสิระได้สวมใส่ชุดข้าราชการรัฐสภา และพยายามชี้นำว่า เจ้าของอาคารชุดกระทำความผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการของรัฐสภาให้ดำเนินการ พฤติกรรมของนายสิระเป็นการกระทำที่เข้าข่ายใช้สถานะหรือตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก้าวก่ายแทรกแซงผลประโยชน์ของตนเอง

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การกระทำของสิระเป็นเพียงการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น ส่วนการแสดงพฤติกรรมและใช้ถ้อยคำเป็นเพียงการไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการพูดจาต่อนายกเทศมนตรีและผู้บริหาร ก็เป็นเพียงการสอบถามข้อมูลและรับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ยังไม่ปรากฏว่าสิระใช้สถานะหรือตำแหน่งของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ทั้งประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ของสิระในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจึงไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สิ้นสุดลง

 

คำวินิจฉัยที่ 10 ผู้ฟ้องคดีปกครองต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง

29 กรกฎาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลปกครองกลางยื่นคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีรวม 2 คำร้อง ให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ได้ก่อสร้างอาคารบริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ทับกับบริเวณอาคารเก่าที่ปลูกสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ทางสาธารณะที่อยู่ในชุมชนได้ และมีผลกระทบทำให้ถังบำบัดน้ำเสียและระบบไฟฟ้าส่วนกลางเสียหาย ทั้งนี้ ผู้ร้องที่ 1 และ 2 ไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าว เพียงแต่เห็นว่าเป็นหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องอนุรักษ์และพิทักษ์สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงได้แจ้งเรื่องร้องเรียนต่อกรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้นำความมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีของผู้ฟ้องคดีออกจากระบบ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายของการใช้อำนาจทางปกครองและการดำเนินการทางปกครอง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ วิธีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. 2542 ให้ผู้ที่มีสิทธิจะฟ้องคดีได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การใช้สิทธิทางศาลเป็นไปด้วยความเหมาะสม หากผู้ใดไม่ได้รับความเดือดร้อนย่อมไม่สมควรได้รับสิทธิทางศาล หากผู้นั้นไม่ถูกละเมิด ย่อมไม่สามารถใช้สิทธิหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีการกำหนดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (1) (2) และ (10) ตามที่ผู้ร้องอ้าง แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคนละกรณีกับการใช้สิทธิทางศาล และกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็มิได้ขัดต่อเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 ส่วนการใช้สิทธิในการติดตามและฟ้องคดีแก่หน่วยงานรัฐที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประชาชนสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ดังนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 46 จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 มาตรา 50 (1) (2) และ (10) มาตรา 51 และมาตรา 53

 

คำวินิจฉัยที่ 11 พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ฯ กำหนดคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้านเคร่งครัดเกินไป ขัดรัฐธรรมนูญ

2 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลปกครองนครราชสีมา ยื่นคำโต้แย้งของไชยมงคล รักษ์มณี ให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 12 (11) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ไชยมงคล ถูกนายอำเภอเกษตรสมบูรณ์ออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากไชยมงคลเคยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า ไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ไชยมงคลขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 (11) ซึ่งระบุว่า ผู้ใหญ่บ้านต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ไชยมงคลเห็นว่ามาตราดังกล่าวนั้นได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามโดยมิได้กำหนดระยะเวลาจำกัดสิทธิไว้ ส่งผลให้ถูกตัดสิทธิในการมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นตลอดชีวิต ทั้งการกระทำผิดของไชยมงคงเป็นการกระทำผิดเพียงเล็กน้อย มิใช่การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือเกิดผลกระทบต่อรัฐ การกำหนดลักษณะต้องห้ามเช่นนี้เป็นการจำกัดสิทธิอันเกินสมควร

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องเป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ แม้ว่าการกำหนดคุณสมบัติในการเลือกตั้งไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศจะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งมีความน่าเชื่อถือและปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต แต่การกำหนดลักษณะต้องห้ามโดยมิได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นความผิดฐานใด มีระยะเวลาเท่าใด ย่อมทำให้บุคคลซึ่งเคยถูกตัดสินพิพากษา แม้เป็นคดีเล็กน้อยหมดสิ้นสิทธิในการรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ทั้งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดลักษณะต้องห้ามที่เคร่งคัดหรือเท่ากับการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน เช่น กำหนดเฉพาะเพียงความผิดฐานการกระทำอันเป็นทุจริตในการเลือกตั้งเท่านั้น และมีระยะเวลาการเพิกถอนการตัดสิทธิอย่างชัดเจนในแต่ละการกระทำที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 12 (11) จึงเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิโดยเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกัน จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

 

คำวินิจฉัยที่ 12 โทษปรับ 4 ล้านบาท เรือประมงไม่ติดเครื่องติดตาม สมควรแก่เหตุ

9 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลจังหวัดนราธิวาส ยื่นคำโต้แย้งของดีน หมุดแหล๊ะ ให้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 151 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากดีน เจ้าของเรือ ส.เด่นนาวี 15 ขนาด 178.94 ตันกรอส ใช้เรือออกไปทำการประมงพาณิชย์โดยไม่ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง ไม่ดูแลรักษาให้ระบบดังกล่าวใช้งานได้ตลอดเวลา รวมทั้งนำระบบติดตามเรือประมงของเรือ ส.เด่นนาวี ไปติดตั้งไว้ที่เรือลำอื่น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 82 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 151 วรรคสี่ ปรับเป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาทสำหรับเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป ดีนจึงได้โต้แย้งว่าการกำหนดโทษดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน นอกจากนี้การกำหนดฐานความผิดโดยข้อเท็จจริงเพียงสองประการ คือ ขนาดของเรือ และการไม่ติดตั้งหรือรักษาระบบติดตามเรือ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 มีขึ้นเพื่อปฏิรูปการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ การกำหนดโทษตามมาตรา 151 วรรคสี่นั้นเป็นมาตรการป้องกันตามอนุสัญญา มีวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์เพื่อตัดแรงจูงใจในการกระทำผิด เพราะผู้กระทำความผิดจะไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำ อัตราค่าปรับได้กำหนดสัดส่วนจากขนาดของเรือซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศักยภาพในการทำการประมง แม้เป็นการกำหนดในอัตราเดียว ไม่มีเพดานต่ำสูง แต่ถือได้ว่าสมควรแก่เหตุ อีกทั้งศาลยังสามารถใช้ดุลยพินิจลดโทษได้เมื่อมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพไปบ้าง แต่เป็นการจำกัดเพื่อรักษาความมั่นคงทางทรัพยากรสัตว์น้ำอันเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 151 วรรคสี่ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

 

คำวินิจฉัยที่ 13 ปารีณา และศรีนวลไม่สิ้นสภาพ ส.ส. ทั้งสองแค่ดูแลปัญหาร้องเรียน

23 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) ว่าสมาชิกภาพของปารีณา ไกรคุปต์ สิ้นสุดลงหรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ปารีณาได้เข้าร่วมประชุมกับข้าราชการกรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมที่ดิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนระหว่างที่ดินของสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และที่ดินที่จะจัดตั้งเป็นป่าชุมชนของประชาชนหมู่บ้านหนองน้ำใส โดยปารีณาได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะกำชับ ประสาน เร่งรัดการตรวจสอบดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (2) ว่าสมาชิกภาพของศรีนวล บุญลือ สิ้นสุดลงหรือไม่ สืบเรื่องจากเหตุการณ์ที่ศรีนวลได้เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่บ่อยครั้ง โดยศรีนวลเปิดเผยว่า ตนนำผู้บริหารโรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่มาเข้าพบกับรองนายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างที่พักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจอมทองที่ถูกไฟไหม้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า สองเหตุการณ์ข้างต้นเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส. กระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง โดยกรณีของศรีนวลได้ถูกยื่นให้วินิจฉัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐอีกด้วย

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า การกระทำของปารีณา เป็นเพียงการติดตามเรื่องราวร้องเรียนของประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอจอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเลือกตั้งของปารีณาเท่านั้น ส่วนการกระทำของศรีนวลเองก็เป็นเพียงการแจ้งปัญหาในเขตจอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเลือกตั้งของตนต่อรองนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน ทั้งสองกรณีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นใดที่ฟังได้ว่า ทั้งสองใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง หรือกระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ สมาชิกภาพของสมาชิกผู้แทนราษฎรของทั้งสองจึงไม่สิ้นสุดลง

 

คำวินิจฉัยที่ 14 ป.วิ.อาญา ให้รับฟังพยานบอกเล่า เป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

30 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลแขวงพระนครใต้ ยื่นคำโต้แย้งของจิรพันธ์ ศรีปัญจากุล จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาที่ถูกฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 มาตรา 227 และมาตรา 277/1 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 และมาตรา 29 วรรคสอง หรือไม่ โดยในวันไต่สวนมูลฟ้อง โจกท์ไม่มาศาล มีเพียงแต่ทนายโจทก์อ้างตนเป็นพยานเข้าเบิกความต่อศาล ศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตราข้างต้นซึ่งกำหนดให้ศาลห้ามรับฟังพยานบอกเล่า (พยานที่ไม่ได้รู้เห็นข้อเท็จจริงเองโดยตรง แต่ฟังมาจากคนอื่นอีกทอดหนึ่ง) แต่ไม่ได้ห้ามเป็นเด็ดขาด ให้ศาลใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักหลักฐานทั้งปวงแล้วนำพยานบอกเล่ามาประกอบสำนวนคดีก็ได้นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อหลักนิติธรรม หลักความเสมอภาคและเสรีภาพของบุคคล และหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยไม่มีความผิดในคดีอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีการเน้นย้ำให้ผู้พิพากษาต้องห้ามในการรับฟังพยานบอกเล่า หากแต่มีข้อยกเว้นในกรณีที่พฤติการณ์ หลักฐาน หรือข้อเท็จจริงของสภาพแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นเชื่อว่า จะพิสูจน์ได้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการพิจารณาคดี อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้พิพากษาต้องระมัดระวัง ใช้ดุลยพินิจอันสมควร และเปิดโอกาสให้คู่ความฝ่ายตรงข้ามได้คัดค้านในการรับฟังพยานบอกเล่าได้ มาตราข้างต้นจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการค้นหาความจริงทางอาญา เป็นไปตามหลักนิติธรรม ใช้บังคับแก่ทุกฝ่าย แก่ทุกคู่ความอย่างเท่าเทียมกัน คุ้มครองคู่ความในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ หรือความเสมอภาค ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 มาตรา 227 และมาตรา 277/1 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 4 และมาตรา 29 วรรคสอง

 

คำวินิจฉัยที่ 15 ลดอำนาจรัฐสภา กรรมาธิการออกคำสั่งเรียกบุคคลและเอกสารไม่ได้ ให้รัฐมนตรีสั่งแทน

7 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยคำร้องขอของไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ในประเด็น พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากไพบูลย์เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาสามารถออกคำสั่งเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาสามารถเรียกเอาเอกสารจากบุคคลหรือใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น แต่ไม่สามารถออกคำสั่งซึ่งมีสภาพบังคับได้ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนคำจาก “สอบสวนข้อเท็จจริง” เป็น “สอบหาความเท็จจริง

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยเฉพาะอำนาจในการสอบสวนข้อเท็จจริงให้เป็นตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะการทำงานของกรรมาธิการไม่ใช่การสอบสวน เสมือนการสอบสวนของเจ้าพนักงานในคดีอาญา แต่เป็นการสอบหาข้อเท็จจริงอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ การสอบข้อเท็จจริงจึงไม่สมควรให้มีสภาพบังคับเป็นโทษทางอาญาเช่นเดียวกับการสอบสวน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังโอนย้ายอำนาจเชิงบังคับไปยังรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในกิจการของคณะกรรมาธิการให้มีหน้าที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดหรือกำกับให้ข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารแทน ดังนั้น เมื่อพิจารณาสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ซึ่งมีการกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน ย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 129

 

คำวินิจฉัยที่ 16 คดีถือหุ้นสื่อ สส. ฝ่ายรัฐบาล ไม่สิ้นสภาพ ส่วน 3 คนจำหน่ายคดี

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎร ร้องขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 41 คน ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) หรือไม่ สืบเนื่องจากทั้ง 41 คนเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องเพียง 32 คน เนื่องจากอีก 9 คน ได้แก่ ศาสตรา ศรีปาน, สุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์, ภริม พูลเจริญ, ปารีณา ไกรคุปต์, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, จักรพันธ์ พรนิมิตร, กรณ์ จาติกวณิช, ประมวล พงศ์ถาวราเดช และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ได้มีหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของผู้ถูกร้องว่า เป็นกิจการที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ สำหรับอีก 32 คน มี 3 คนที่ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้ว คือ พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เนื่องจากต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ส่วนของ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล และสมเกียรติ ศรลัมพ์ ได้ลาออก ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากระบบ จึงเหลือการพิจารณาเพียง 29 คน

ศาลได้พิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ เช่น หนังสือรับรองกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หนังสือบริคณห์สนธิ แบบ บอจ. 2 สำเนาแบบแสดงรายละเอียด บัญชีของผู้ถือหุ้น (บอจ.5) แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช. 1) แบบนำส่งงบการเงิน สบช. 3 งบการเงินและหมายเหตุงบการเงิน รายการยื่นภาษีเงินได้ หลักฐานการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่า ทั้ง 29 คนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) โดยทั้ง 29 คนมีรายชื่อดังนี้ จากพรรคพลังประชารัฐ 20 คน ได้แก่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ, อรรถกร ศิริลัทธยากร, กษิดิ์เดช ชุติมันต์, กุลวลี นพอมรบดี, ชาญวิทย์ วิภูศิริ, ฐานิสร์ เทียนทอง, ฐาปกรณ์ กุลเจริญ, ตรีนุช เทียนทอง, ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ, บุญยิ่ง นิติกาญจนา, ปฐมพงศ์ สูญจันทร์, ภิญโญ นิโรจน์, วีระกร คำประกอบ, สมเกียรติ วอนเพียร, สัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ, สิระ เจนจาคะ, สุชาติ ชมกลิ่น, อนุชา น้อยวงศ์, ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ได้แก่ จิตภัสร์ กฤดากร, อัศวิน วิภูศิริ, กันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์, ภานุ ศรีบุศยกาญจน์, วชิราภรณ์ กาญจนะ, สมชาติ ประดิษฐพร, สาธิต ปิตุเตชะ พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร และพรรคชาติพัฒนา 1 คน ได้แก่ เทวัญ ลิปตพัลลภ

 

คำวินิจฉัยที่ 17 คดีถือหุ้นสื่อ สส. ฝ่ายค้าน ธัญญ์วารินสิ้นสภาพ รอด 28 จำหน่าย 4

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้มีการวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 33 คน ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องเพียง 29 คน เนื่องจากอีก 4 คน ได้แก่ วุฒินันท์ บุญชู ได้มีหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของผู้ถูกร้องดังกล่าวว่า เป็นกิจการที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ส่วนพลโทพงศกร รอดชมภู, สุรชัย ศรีสารคาม, ชำนาญ จันทร์เรือง ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากระบบ จึงเหลือการพิจารณาเพียง 29 คน

ศาลได้พิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หนังสือบริคณห์สนธิ แบบ บอจ. 2 สำเนาแบบแสดงรายละเอียด บัญชีของผู้ถือหุ้น (บอจ.5) แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช. 1) แบบนำส่งงบการเงิน สบช. 3 งบการเงินและหมายเหตุงบการเงิน รายการยื่นภาษีเงินได้ หลักฐานการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่า ทั้ง 28 คนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) มีเพียงแต่ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก เห็นว่า มีหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยมีเอกสารรายได้ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการผลิตสื่อโทรทัศน์ สารคดี ละคร ขณะที่เอกสารประชุมสามัญมีพิรุธ แม้ปรากฏหนังสือโอนหุ้นไปแล้วก็ตาม แต่เป็นการจัดทำขึ้น เพื่อให้คนนอกเข้าใจว่า ตนเองไม่ได้ถือหุ้น ธัญญ์วารินไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานว่า มีการประชุมสามัญจริงและไม่มาให้ศาลไต่สวน สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

 

คำวินิจฉัยที่ 18 เวนคืนที่ดินทำบริการสาธารณะหรือทางด่วน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ก่อสร้างแค่บางส่วน

18 พฤศจิกายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องรวม 8 เรื่อง ให้วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มาตรา 51 มาตรา 53 มาตรา 54 และมาตรา 67 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มาตรา 37 หรือไม่ สืบเนื่องจากผู้ร้องทั้งแปดคำร้องล้วนเป็นเจ้าของที่ดิน ตั้งอยู่ในเขตที่ดินที่จะเวนคืนใน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 และเห็นว่าทางการพิเศษแห่งประเทศไทย มิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน โดยนำที่ดินที่เหลือจากการใช้ก่อสร้างทางด่วนไปให้เอกชนเช่าเพื่อประกอบธุรกิจ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า ทั้ง 8 คำร้องมีเนื้อหาพิจารณาในประเด็นเดียวกัน จึงรวมเข้าในการพิจารณาเดียว โดยศาลเห็นว่า การกำหนดให้การเข้าไปใช้ประโยชน์เพียงบางส่วนในกรณีเกิดเหตุติดขัดไม่สามารถทำให้การดำเนินโครงการสำเร็จจนลุล่วงได้ หรือกรณีการก่อสร้างกิจการสาธารณะที่มีความยาวเกินสิบกิโลเมตร ให้ถือว่า ได้ดำเนินการและใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วนั้น เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่มีลักษณะพิเศษ มีระยะเวลานาน อาจดำเนินการไม่ได้ภายใต้เวลาจำกัด มีปัจจัยที่ทั้งควบคุมได้และไม่ได้หลายประการ และหากไม่สามารถดำเนินโครงการจนเสร็จสิ้นได้แม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทั้งโครงการจนไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม มุ่งบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่ขัดต่อหรือแย้งต่อหลักการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลและหลักความเสมอภาค

 

คำวินิจฉัยที่ 19 คดีพลเอกประยุทธ์พักบ้านทหาร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ระเบียบกองทัพฯ ให้ทำได้

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีสภาผู้แทนราษฎรร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงหรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ ได้พักอาศัยในบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของข้าราชการทหาร ตั้งแต่สมัยยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพิจารณาระเบียบของกองทัพบกและหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องประกอบ แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่จะเข้าพักอาศัยในบ้านพักของกองทัพบกได้ต้องเป็นบุคคลที่รับราชการอยู่เท่านั้น พลเอกประยุทธ์จะเกษียณราชการออกจากกองทัพบกแล้ว แต่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพักต่อเรื่อยมา โดยไม่เสียค่าเช่า ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาให้แก่ทางราชการทหาร จึงเป็นการอยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการรับประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจงานปรกติ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า มีระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบก มีสิทธิในการเข้าพักบ้านพักของกองทัพบกได้ ส่วนการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เป็นอำนาจพิจารณาของกองทัพบกในการสนับสนุนงบประมาณในบ้านพักรับรองดังกล่าว การให้สิทธิดังกล่าวของกองทัพบกยังเป็นการให้สิทธิแก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่เข้าเงื่อนไขทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติแก่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว เห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติในธุรกิจงานปกติของกองทัพบก ส่วนการพิจารณาว่าการเข้าพักบ้านรับรองของกองทัพบกเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การเข้าพักบ้านรับรองกองทัพบกเป็นการรับที่มีระเบียบให้รับได้ ไม่ถือเป็นการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวมทั้งในทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุดลง

 

คำวินิจฉัยที่ 20 คดีไม่มารายงานตัว ศาลชี้ ประกาศ คสช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีศาลแขวงดุสิตส่งโต้แย้งของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2557 และ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่งหรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่วรเจตน์ ถูกจับกุมในข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า แม้ประกาศของ คสช. ตลอดจนคำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. จะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาที่มีการตราและบังคับใช้กฎหมายประกอบด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองได้เข้าสู่สภาวะสงบสุขปกติแตกต่างจากช่วง คสช. ได้เข้าทำการรัฐประหาร ความจำเป็นและจุดมุ่งหมายของการมีอยู่ของประกาศดังกล่าวจึงสิ้นสุดลง ทั้งประกาศดังกล่าวยังเป็นการเรียกตัวบุคคลซึ่งยังมิได้กระทำความผิด เพียงแต่มีเหตุอันน่าสงสัยว่าจะกระทำความผิด การกำหนดโทษอาญาในความผิดดังกล่าวจึงเกินสมควรแก่เหตุ และยังเป็นกำหนดโทษย้อนหลังให้แก่ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง ซึ่งได้ออกคำสั่งไปก่อนแล้วจึงจะมีประกาศตามมาในภายหลัง ขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” ดังนั้น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2557 เฉพาะในส่วนของโทษทางอาญา และ 41/2557 จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน