เปิดร่างแก้กฎหมายอาญา #ทำแท้งปลอดภัย ครม. ให้ 12 สัปดาห์ ก้าวไกลเสนอ 24 สัปดาห์

การแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งเป็นประเด็นทางสังคมที่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นการปะทะกันของหลักการหลายประการ ทั้งสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของหญิง กับชีวิตของทารกในครรภ์ที่จะคลอดออกมาเป็นมนุษย์ คุณค่าทางศีลธรรม ความเชื่อ วิธีคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังพัวพันไปถึงประเด็นเรื่องประชากรในรัฐด้วย

ประเด็นสิทธิในการทำแท้งเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมา สืบเนื่องมาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดว่า หญิงทำให้ตนแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง และผู้ที่ทำแท้งให้แก่หญิงมีความผิดตามกฎหมายอาญานั้น เป็นการเขียนกฎหมายที่สร้างปัญหาตามมามากมาย เช่น ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่หญิงต้องแบกรับภาระจากการเลี้ยงดูบุตรที่เกิดมา ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย ประเด็นด้านสุขภาวะของทารกในครรภ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของมารดา

 

ความผิดฐานทำแท้ง ใช้มาตั้งแต่ 2499 ยังไม่เคยแก้ไข

ประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2499 และไม่เคยแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพียงแต่แก้ไขอัตราโทษครั้งล่าสุด พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 301 ให้หญิงที่ทำแท้งมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนผู้ที่ทำแท้งให้กรณีที่หญิงยินยอม มาตรา 302 กำหนดให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่ตัวหญิงเองทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก และผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ถ้าเป็นการกระทำของนายแพทย์ และเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะหญิงหรือผู้ที่ทำให้หญิงแท้ง ก็ไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น โดยการตีความคำว่าสุขภาพนี้ ข้อบังคับแพทยสภากำหนดให้หมายความทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เช่น หญิงมีความตึงเครียดอย่างรุนแรง

(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเพศ ได้แก่ ความผิดฐานข่มขืน ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานค้าประเวณี อาจอธิบายได้ว่า การตั้งครรภ์นั้นเกิดเพราะมีผู้กระทำต่อหญิง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย หญิงจึงสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด อย่างไรก็ดี เหตุยกเว้นความผิดข้อนี้ก็มีประเด็นปัญหา เพราะกลายเป็นการบังคับให้หญิงต้องเปิดเผยพฤติกรรมที่ตนถูกกระทำทางเพศโดยไม่จำเป็น

ในอดีตเคยมีความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่กำหนด “เหตุยกเว้นความผิด” ตามข้อเสนอของแพทยสภา มีสาระสำคัญ คือ ให้หญิงตัดสินใจทำแท้งในกรณีทารกในครรภ์อาจคลอดออกมาพิการหรือเป็นพาหะโรคร้าย และเปิดโอกาสให้การทำแท้งสามารถทำได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสคัดค้านก็ส่งผลให้ในปี 2541 ข้อเสนอนี้ถูกถอนออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แต่ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมี “ข้อเสนอแนะ” ว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ต่อมาคณะรัฐมนตรีชุด คสช.2 ก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้แก้มาตรา 301 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางด้านเนื้อหาของการแก้ไขอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขบทบัญญัติเรื่องการทำแท้ง เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป

ถึงกระนั้นแนวทางการแก้ไขกฎหมายอาญาก็มิได้ขึ้นอยู่กับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ส.ส. พรรคก้าวไกลก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งตอนนี้ จึงมีถึงสองแนวทาง ตามร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และตามร่างที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอ

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความผิดของหญิงทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้ปรับปรุงใน 360 วัน

จุดเริ่มต้นของการแก้ไขกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งนั้น เริ่มต้นที่ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์ในเครือข่ายแพทย์อาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา ให้กับผู้ที่ท้องไม่พร้อม และเป็นคณะกรรมการจัดระบบส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามคำสั่งกรมอนามัย ถูกตำรวจจับกุมในฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยที่หญิงยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 อีกทั้งยังมีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ที่เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วย ศรีสมัย เชื้อชาติจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสามประเด็นด้วยกัน ดังนี้

ประเด็นแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้ง มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่รับรองหลักความเสมอภาคและความเท่าเทียม และมาตรา 28 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ที่กำหนดเหตุยกเว้นความผิดแก่ผู้ที่ทำแท้งนั้น มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่มีสาระสำคัญว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน”

ประเด็นที่สาม ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับในอีก 540 วันหลังอ่านคำวินิจฉัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและรายงานผลการปฏิบัติหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 360 วันและ 500 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไล่เรียงประเด็นไว้ เป็นสามประเด็น

ประเด็นแรก ศาลวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 โดยให้เหตุผลว่า หากมุ่งจะคุ้มครองสิทธิทารกในครรภ์แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงผู้ตั้งครรภ์ซึ่งเป็นสิทธิที่มีก่อนสิทธิของทารกในครรภ์ ก็อาจส่งผลกระทบให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายก็เป็นสิทธิตามธรรมชาติ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้ในเนื้อตัวร่างกายของตนหากไม่กระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น และการคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์กับสิทธิของหญิงต้อง “สมดุล” กัน อาจต้องนำ “ช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์” มากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยไม่คำนึงเรื่องหลักเกณฑ์ระยะเวลาการตั้งครรภ์จึงกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 301 ไม่ขัดต่อมาตรา 27 โดยอธิบายถึงหลักความเสมอภาคว่า คือ การปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน และสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกันต้องปฏิบัติแตกต่างกัน ในขณะที่ชายและหญิงมีสภาพร่างกายอันเป็นสาระสำคัญแตกต่างกัน การกระทำความผิดฐานทำแท้งนั้นจะเกิดขึ้นได้เฉพาะบุคคลผู้มีเพศหญิง การจะให้ชายที่มีความสัมพันธ์กับหญิงต้องรับโทษด้วยจึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อชาย

ประเด็นที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา 305 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่ามาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับยกเว้นความผิดนั้น เป็นบทบัญญัติที่คุณธรรมในทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์อย่างเป็นธรรม มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ส่วนมาตรา 77 ที่อยู่ในหมวดแนวนโยบายของรัฐนั้น เป็นแนวทางในการตรา ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ประเด็นที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับมานานถึง 60 ปี ในขณะที่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก ประกอบกับไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานการแพทย์อย่างเหมาะสม จึงมี “ข้อเสนอแนะ” ว่าสมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

 

ร่าง ครม. ทำแท้งได้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ครม. ก็ได้ออกมารับลูก มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้แก้มาตรา 301 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับผิดชอบกระบวนการร่าง รวมไปถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็น และมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมดำเนินการด้วย ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่เสนอโดย ครม. ได้แก้ไขสองมาตรา คือมาตรา 301 และมาตรา 305

โดยในมาตรา 305 ได้กำหนดเงื่อนไขที่ทำให้สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดเพิ่มขึ้นจากเดิม และมีการขยายความเพื่อให้มีกรณีที่สามารถทำแท้งโดยไม่ผิดกฎหมายได้มากขึ้น โดยกำหนดไว้ว่า กรณีที่หญิงทำแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง และผู้ที่ทำแท้งโดยหญิงยินยอม ถ้าได้ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ จะไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิง

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายภาพหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

กรณีตามเงื่อนไข (1)-(3) สามารถทำได้โดยไม่จำกัดอายุครรภ์ ส่วนกรณีตาม (4) เป็นกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขตาม (1)-(3) เลย หากหญิงจะทำแท้งได้ไม่ผิดกฎหมายต้องทำภายในอายุครรภ์ที่กำหนด

มีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอนี้ได้กำหนดให้ผู้ทำแท้งได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ผู้ที่สามารถให้บริการในการยุติการตั้งครรภ์ได้จึงมีขอบเขตที่กว้างกว่าตามที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนด

ผศ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ด้านกฎหมายอาญาประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อร่างนี้ไว้ในงานสัมมนาออนไลน์งานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 25 ว่า การนับอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ นั้นจะเริ่มนับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายหรือเมื่อไข่มีการปฏิสนธิและฝังตัวลงในมดลูก โดยยกตัวอย่างของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและนิวซีแลนด์ไว้ว่า เริ่มนับตั้งแต่ไข่ฝังตัวในมดลูก รณกรณ์ชี้ว่า หากใช้วิธีนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย อาจส่งผลต่อระยะเวลาที่หญิงจะต้องรู้ตัวว่า ตนตั้งครรภ์ และระยะเวลาที่แท้จริงจะเหลือ 10 สัปดาห์

สำหรับมาตรา 301 ร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ได้กำหนดว่าหญิงที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราโทษไว้ต่ำกว่าเดิมมาก

 

ร่างก้าวไกลเปลี่ยนจาก “หญิง” เป็น “บุคคล” ทำแท้งได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับพรรคก้าวไกล เสนอให้แก้ไขบทบัญญัติความผิดฐานทำแท้งทุกมาตราที่มีการบัญญัติคำว่า “หญิง” เป็น “บุคคล” โดยในบันทึกหลักการและเหตุผลได้ระบุเหตุผลว่า “เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมตามเพศสภาพและมิให้เกิดการตีตราเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น” ซึ่งการเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าวส่งผลให้ผู้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไม่จำกัดแค่หญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงบุคคลผู้มีสภาวะเพศกำกวม (Intersex) ด้วย และหากผู้ชายข้ามเพศ (Trans man) ตั้งครรภ์และประสงค์จะทำแท้ง ก็จะอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายโดยที่ไม่ต้องโดนแปะป้ายว่าเป็นหญิง

ร่างที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเสนอ กำหนดในมาตรา 305 ว่า กรณีที่บุคคลทำแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง และผู้ที่ทำแท้งโดยบุคคลนั้นยินยอม ถ้ากระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากเข้าเงื่อนไขกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่มีความผิด

(1) บุคคลซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตใจของบุคคลนั้น

(3) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากทารกในครรภ์มีความพิการหรือเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง

(4) บุคคลมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

ในส่วนของมาตรานี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ตามกรณี (2)-(4) ไม่จำกัดอายุครรภ์ และหากบุคคลประสงค์จะทำแท้งโดยไม่มีเงื่อนไขในสามข้อนั้น ก็ต้องทำภายใน 24 สัปดาห์ ทั้งนี้การกำหนดอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ตามร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล สอดคล้องกับข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 59 องค์กร และบุคคลที่ร่วมลงชื่อ 37,297 คน ในวันที่ 10 ธันวาคม 2563

ในส่วนของมาตรา 301 กำหนดให้บุคคลใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินยี่สิบสี่สัปดาห์ มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอัตราโทษนั้นไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเดิม

 

อาจารย์กฎหมายอาญาแนะควรกำหนด 24 สัปดาห์หากแพทย์บอกว่าปลอดภัย

ในเอกสารประกอบท้ายร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ได้อธิบายหลักการของกฎหมายที่กำหนดเรื่องทำแท้งของต่างประเทศด้วย โดยเยอรมนีกำหนดให้ทำแท้งได้ไม่มีความผิดภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และหากทำภายใน 22 สัปดาห์ แม้มีความผิดแต่ก็ไม่ต้องรับโทษ ฝรั่งเศสได้กำหนดให้กระทำภายใน 10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ด้าน ผศ.รณกรณ์ บุญมี ได้อธิบายในงานสัมมนาออนไลน์งานวิชาการรำลึกศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่ 25 ว่า เนเธอร์แลนด์อนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์ แต่ทางปฏิบัติอยู่ที่ 22 สัปดาห์ อังกฤษไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่การตั้งครรภ์กระทบต่อร่างกายของหญิงหรือเด็กมีโอกาสพิการ ไอซ์แลนด์และไอร์แลนด์เหนืออนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สิงคโปร์อนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์

รณกรณ์เสนอความเห็นว่า ควรกำหนดทำแท้งได้ภายใน 24 สัปดาห์ตราบใดที่แพทย์บอกว่าระยะเวลาเท่านี้ปลอดภัย เพราะเด็กที่ยังไม่เกิดไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิที่เหนือกว่าแม่ ซึ่งเป็นการให้เหตุผลทำนองเดียวกันกับศาลรัฐธรรมนูญ