เครือข่ายประชาชนแถลง ตั้ง สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100%

8 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมอลิซาเบธ ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดประชุมสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญต้องสร้างสมดุลอำนาจใหม่ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม” โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนจำนวนกว่า 123 องค์กรเข้าร่วม พร้อมกับแถลงข่าวการจัดตั้งเครือข่ายขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม” เพื่อขับเคลื่อนการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทางเครือข่ายฯ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของรัฐบาลว่า อาจไม่ชอบธรรม ด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งถึง 1 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมดและในกรรมาธิการการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในปัจจุบันเองก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านเพียง 13 คนจากทั้งหมด 45 คน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามฝ่ายรัฐบาลต้องการ ดังนั้น ภาคประชาชนจึงต้องเรียกร้องไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนทุกคนให้ช่วยกันจับตาดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

“ในรัฐสภา ยังมีการพิจารณากันอยู่ว่า จะให้ สสร. บางส่วนมาจากการเลือกตั้งและบางส่วนมาจากการแต่งตั้ง เรากำลังพูดคุยกันอยู่ว่าภาคประชาชนจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หากตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาจากการแต่งตั้งและอาจก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเราชัดเจนว่า จะไม่รับ หากที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม และประชาชนทุกคนต้องช่วยกันกดดันให้กระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด” เอกชัย อิสระทะ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าว

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ CALL ยังระบุเพิ่มเติมว่า จากการพูดคุยกันของเครือข่ายต่างๆ เห็นตรงกันว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับที่สั้น เข้าใจง่าย ไม่ต้องลงรายะเอียดให้มากความ แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมและแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตราทั้งฉบับ

“เราได้คุยกันถึงการเขียนธรรมนูญใหม่และมีการจินตนาการว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่จำเป็นต้องลงในรายละเอียดมากนัก แต่เป็นกรอบกว้างๆ ที่ประชาชนทุกคนเข้าใจและวางกรอบนี้ร่วมกัน เราอาจไม่ได้เน้นว่าต้องแก้มาตรานั้นมาตรานี้ แต่เป็นการเขียนทั้งฉบับ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกคนเข้าใจได้”

ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น สมบูรณ์ คำแหง นักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สตูล ได้ชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเป็นคนล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ หากแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการถกเถียงพูดคุยกัน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีพื้นที่ปลอดภัย ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่

“เราเองยังกังวลไปถึงความพยายามของรัฐในการจำกัดการแก้ไขบางหมวดบางมาตรา ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นและเป็นเรื่องผิดปรกติ ถ้าเราพูดถึงกลุ่มคนที่อยากให้แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 กลายเป็นพวกล้มเจ้า เรื่องพวกนี้เราว่ามันไม่ชอบธรรมและสร้างความสับสนให้กับสังคม เราเองชัดเจนว่าไม่มีใครล้มใครได้ แต่สมดุลอำนาจเป็นเรื่องที่เราต้องมีพื้นที่ในการถกเถียง รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงทางออกเดียวของสถานการณ์ในขณะนี้”

แสงสิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า หลักการที่เราต้องการ คือ รัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นใหม่ ที่มาของ สสร. ต้องเลือกตั้ง 100% เพื่อมาร่างใหม่ทุกมาตรา ถ้าเป็นฉบับที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเราก็จะยืนยันว่า ประชาชนต้องไม่รับ เราเป็นประชาชนที่มาจากหลายเครือข่าย ในดาวแต่ละดวงที่ทุกคนถืออยู่ คือสิ่งที่แต่ละเครือข่ายอยากจะเห็น คือ ความฝันถึงรัฐธรรมนูญที่กินได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ คาดว่าองค์กรที่เข้าร่วมจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แถลงการณ์เรื่อง รัฐธรรมนูญที่เท่าเทียมและเป็นธรรม คือทางออกของสังคมไทย

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับ มีความชอบธรรม และสร้างสมดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นทางออกของประเทศภายใต้สภาวะวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้

การรวมตัวของเครือข่ายประชาชนขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญจากทุกภูมิภาคกว่า 121 องค์กรในวันนี้ เรามีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่า บนหลักการที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง โดยต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียมทุกเพศสภาพ ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเองทุกมิติ ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมตั้งแต่เกิดจนตาย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ทบทวนองค์ประกอบ การได้มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมถึงต้องจำกัดบทบาทของกองทัพกับการเมืองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ทั้งนี้ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว และต้องมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ

วิธีการที่จะให้เกิดรูปธรรมดังกล่าว จะต้องเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชนทั่วทุกภูมิภาค และทุกภาคส่วน ที่จะต้องร่วมมือกับฝ่ายการเมือง และกลไกของการยกร่างที่มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน พวกเราจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์

2. บทบาทของ สสร. คือผู้อำนวยการเพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อนำสาระสำคัญหรือข้อเสนอของประชาชนมาประมวลเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

3. ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลอำนาจอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

4. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างให้กับทุกคนในการแสดงความคิดเห็น และไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย

หากไม่มีการดำเนินการตามหลักการที่ภาคประชาชนได้เสนอไว้ เราจะเรียกร้องให้มีการลงมติไม่เห็นชอบกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

พวกเราในฐานะองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนมีความเห็นร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มกำลัง ซึ่งหลังจากนี้จะมีปฏิบัติการด้วยภารกิจสำคัญ 3 ประการ คือ

1. จะร่วมกันจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็นของประชาชนในทุกภูมิภาค ครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็น เพื่อออกแบบเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชนได้จริง และสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่า

2. ติดตามกระบวนการดำเนินงานของฝ่ายการเมือง และของ สสร. และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดำเนินไปแบบมีส่วนร่วมและเป็นไปตามความต้องการแท้จริงของประชาชน

3. ดำเนินการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแบบคู่ขนานไปตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โอกาสเดียวกันนี้ เราขอเชิญชวนไปยังองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชนทั่วประเทศ ให้ออกมาสนับสนุนและมีส่วนร่วมสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่ทางออกของสังคมไทยอย่างแท้จริง

แถลงวันที่ 8 ธันวาคม 2563

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่