“รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีรัฐสวัสดิการ เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน”

บทความโดย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

“รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) เป็นโครงสร้างทางสังคมที่หลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการ “สร้างความมั่นคง” และการันตีคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดสวัสดิการเริ่มมีการพูดถึงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ที่นำไปสู่การปิดประเทศ ส่งผลต่อความชะงักงันทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับบุคคลไปถึงธุรกิจขนาดเล็กไปถึงใหญ่ (บางแห่ง)

จำนวนคนตกงานและธุรกิจปิดตัวต่อเนื่องที่เห็นชัดขึ้นกว่าเท่าตัว สถานการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยได้กระโจนเข้าไปสู่โลกเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่เอกชนใหญ่กินรวบเศรษฐกิจหลักของประเทศ ในขณะที่ “รัฐ” ไทยกลับไม่มีแนวทางชัดเจนที่จะการันตีความมั่นคงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

แม้รัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมา แต่ทำได้เพียงการแก้ไขเฉพาะหน้าครั้งคราว ไม่ถ้วนหน้า และไม่ครอบคลุม

เมื่อเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ในสามด้าน คือ การศึกษา สุขภาพ และผู้สูงอายุ จะพบว่า ทั้งสามฉบับมีการกำหนดโครงสร้างด้าน “สวัสดิการ” ไว้บ้าง แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด “การสงเคราะห์ ช่วยเหลือ” มากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นสิทธิของประชาชน

เมื่อวิเคราะห์ในหมวด “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” พบว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 ได้ระบุเรื่องสิทธิด้านการศึกษา การสาธารณสุข และผู้สูงอายุไว้ แต่ถ้อยความยังคงไว้ถึงแนวคิดหลักการที่เน้นการสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า รัฐจะเลือกให้ หรือไม่ให้ ด้วยการพิสูจน์ความจำเป็นตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้

ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เขียนเรื่องผู้สูงอายุไว้ว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้ด้วยถ้อยความเดียวกัน

ส่วนรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ปี 2560 ได้ระบุเพิ่มเติม นอกจาก “ไม่มีรายได้เพียงพอ” แล้ว ยังได้เพิ่มคำว่า “บุคคลยากไร้” เข้ามาด้วย เท่ากับว่าจะจัดให้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ความยากไร้แล้ว

ส่วนด้านสาธารณสุขพบว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ล้วนระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุข” โดยทั้งสองฉบับระบุเรื่องมาตรฐานและความเหมาะสมด้านสาธารณสุขไว้ ขณะที่ฉบับปี 60 กลับตัดคำว่า “สิทธิเสมอกัน” ออกไป เหลือเพียง “สิทธิ” และระบุเพิ่มว่า “เป็นบุคคลผู้ยากไร้” ดังนี้

“บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”

หากแปลความก็จะเข้าใจได้ว่า “สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข” จากที่เคยได้รับกันโดยเสมอหน้า ต่อไปอาจเปลี่ยนไปให้เฉพาะผู้ยากไร้ ส่วนคนที่เหลือ (หากมีระบบการคัดกรองความยากไร้) ก็อาจต้องจ่ายเงินรักษาเอง

ด้านการศึกษา แม้ทุกฉบับจะระบุว่า การศึกษาเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนต้องได้รับจากรัฐ แต่กลับพบว่าทั้ง 3 ฉบับมีความแตกต่างที่จะกำหนดสิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน

แม้จะระบุว่าไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่การเริ่มต้นนับต่างกัน เช่น ปี 2540 ระบุเพียงว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี” ขณะที่ฉบับปี 2550 ตัดคำว่า “พื้นฐาน” ออกไป แต่กำหนด 12 ปีเช่นกัน ส่วนฉบับปี 2560 ไม่ได้ระบุเรื่องการศึกษาไว้เป็นสิทธิแต่กลับไประบุไว้ในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” แทน โดยระบุว่า “เด็กต้องได้รับการศึกษา 12 ปีนับแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษา”

หมายความว่า หากเราใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เรายังตีความได้ว่า “รัฐต้องให้การศึกษาพื้นฐาน ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2555 ระบุว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา” ซึ่งหมายรวมถึงระดับมัธยมปลาย หรืออาชีวะได้ด้วย ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่าให้ตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล เมื่อนับไป 12 ปี ก็จะครบที่ชั้น ม.3 เท่านั้น

เมื่อมองภาพรวมของรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับจะพบว่า “รัฐ ยังมองเรื่องการจัดสวัสดิการแบบแยกกลุ่ม เน้นการสงเคราะห์ ด้วยการสร้างเกณฑ์ที่ต้องใช้ระบบคัดกรองที่ต้องลงทุน และมักจะทำเป็นมาตรการชั่วคราวแก้ปัญหาเฉพาะคน เฉพาะหน้า” ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการแก้ปัญหาของรัฐบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่รัฐใช้วิธีออกมาตรการช่วยเหลือทีละกลุ่ม มีการคัดกรอง และมีคนจำนวนมากตกหล่น นำไปสู่การตั้งคำถามต่อการจัดการของรัฐ ซึ่งยังไม่นับมูลค่าการจัดการคัดกรองของรัฐว่า ต้องใช้เงินเพื่อคัดกรองมากเพียงใด

หากเรามองว่า “รัฐสวัสดิการ” เป็นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ การออกแบบให้มีโครงสร้างด้านรัฐสวัสดิการไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่รัฐบาลต้องใช้เป็นกรอบการบริหารประเทศ ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจาก “รัฐสงเคราะห์” เป็น “รัฐสวัสดิการที่เป็นสิทธิเสมอกัน” จึงเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะสร้างหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เป็นรูปธรรมที่สุด

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่