เลือกตั้งท้องถิ่น: ตอบข้อสงสัย สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

20 ธันวาคม 2563 นี้ คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะได้ออกไปเลือกตั้ง อบจ. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบหลายปีนับตั้งแต่มีรัฐประหารโดยคณะ คสช. การเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งในนัดหมายสำคัญ เพราะเป็นโอกาสที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ออกไปใช้สิทธิออกเสียงอีกครั้ง หลังจากที่ถูกจำกัดมานาน และจะเป็นอีกช่องทางที่ประชาชนจะได้แสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการอยากจะเห็นผ่านระบบเลือกตั้งและนโยบายของผู้สมัคร

การไปเลือกตั้งนอกจากจะเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมีและพึงใช้ แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็เป็น “หน้าที่” ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งหมายความว่า การไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เมื่อถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ จึงมีผลกระทบที่ตามมาในทางกฎหมายอยู่บ้าง

Q: ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง จะเสียสิทธิอะไรบ้าง?

A: พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 42 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้

1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

การจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แม้มีการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้สิทธิต่างๆ กลับมา

Q: ถ้าไปเลือกตั้งไม่ได้ ต้องทำยังไง

A: เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่คู่มือสำหรับการเลือกตั้ง อบจ. โดยชี้แจงวิธีการสำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควรไว้ว่า ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้องไปแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้งโดยสามารถไปแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ มีดังนี้

1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล

2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

6. ได้รับคำสั่งจากทางการราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

7. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นตามที่ กกต.กำหนด

Q: ทำยังไง? ถ้าเพิ่งย้ายทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี

A: ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ว่าต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี หมายความว่า บุคคลจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งก่อนวันที่ 21 ธันวาคม 2562

ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในจังหวัดเดียวกัน ไม่ถึง 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเดิม

โดยจะต้องไปยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อในเขตเลือกตั้งเดิมที่ย้ายออกไป ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน

แต่ถ้าหากเป็นการย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดเป็นเวลาติดต่อกันน้อยกว่า 1 ปี กรณีนี้จะถือว่าไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งเนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดเดิมและจังหวัดใหม่ที่ย้ายไป อย่างไรก็ตาม การไม่ได้ไปเลือกตั้งด้วยเหตุนี้จะไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ เพราะถือว่าไม่มีสิทธิมาแต่แรกอยู่แล้ว

ย้ำอีกครั้งว่า การเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขต ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนต้องกลับไปเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านของตนเท่านั้น