คนเคย “โหวตเยส” 94% ได้ข้อมูลไม่พอ คิดใหม่แล้ว 83% ไปร่วมชุมนุม

นับแต่วันลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติแล้วกลายเป็นที่มาของระบอบการเมืองที่ไม่ปกติ และเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ มิติ ทั้งประเด็นการรับรองสิทธิเสรีภาพในรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การรับรองให้การกระทำใดๆ และคำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จัดทำโดย คสช.

การบังคับใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เห็นปัญหาความไม่ปกติทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องในการ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ และข้อเรียกร้องดังกล่าวยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จนเป็นที่รับรู้ของคนวงกว้าง เห็นได้จากการรวบรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถึง 100,732 คน ภายในเวลาเพียง 43 วัน

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายคนที่ยังโต้แย้งการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยการหยิบยกเสียงของผู้ที่ลงประชามติรับร่างฉบับนี้ขึ้นมาอ้างอิง ไอลอว์จึงเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการทำแบบสอบถามทางออนไลน์และออฟไลน์ขึ้นมา เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เคยลงประชามติ “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นว่า เมื่อเวลาผ่านมา 4 ปีแล้ว มีใครบ้างที่ความคิดของพวกเขาเปลี่ยนไป และเป็นไปเนื่องจากปัจจัยใด

94% โหวตเยส เพราะได้รับข้อมูล “ไม่เพียงพอ” 87% ไม่รู้ว่า ส.ว. 250 คน มาจาก คสช.

จากการเปิดให้คนที่เคยลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ และหรือคำถามพ่วง หรือกลุ่มที่ “โหวตเยส” มาให้ข้อมูล มีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,070 คน แยกเป็นเพศชาย 53.64% และเพศหญิง 42.90% จำนวนที่เหลือ 3.46% ไม่ระบุเพศ โดยเป็นผู้มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านใน 71 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ในจำนวนทั้งหมด ผู้ตอบแบบสอบถาม 94.21% ระบุว่า ก่อนวันทำประชามติ คิดว่าได้รับข้อมูล “ไม่เพียงพอ” สำหรับการตัดสินใจ ในขณะที่ 5.79% ตอบว่าได้รับข้อมูล “เพียงพอ”

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงข้อมูลที่ผู้ตอบแบบสอบถาม “ไม่รู้” ก่อนวันประชามติ โดยหนึ่งคนสามารถตอบสิ่งที่ไม่รู้ได้หลายข้อ ข้อมูลที่มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้ก่อนวันประชามติมากที่สุด คือ เรื่อง ส.ว. ชุดแรก 250 คน จะมาจากกระบวนการคัดเลือกของ คสช. มีผู้ไม่รู้ข้อมูลถึง 87.29% ลำดับที่สอง มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 85.33% ไม่รู้ว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ต้องใช้เสียง ส.ว. อย่างน้อย 84 คน และพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ลำดับที่สาม 79.81% ไม่รู้ว่า คสช. ยังอยู่จนหลังเลือกตั้ง และการกระทำ การออกคำสั่งใดๆ ก็ไม่มีความผิด

ในขณะที่เรื่องระบบเลือกตั้งจะใช้บัตรใบเดียว เลือกทั้งคนทั้งพรรค มีผู้ไม่รู้ข้อมูลก่อนวันประชามติน้อยที่สุด คิดเป็น 56.07%

ทั้งนี้ ในแบบสอบถามไอลอว์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระว่า มีข้อมูลใดบ้างที่ไม่รู้มาก่อนและมารู้ในภายหลัง โดยส่วนใหญ่ระบุว่า มารู้ภายหลังว่า ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล 250 คนมีสิทธิเลือกนายกฯ ในขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่รู้เรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวมไปถึงเรื่องกติกาการเลือกตั้ง บางส่วนระบุว่า มารู้ภายหลังว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ และบางส่วนไม่รู้ถึงเนื้อหาบทบัญญัติหมวดพระมหากษัตริย์มาก่อน

เมื่อสำรวจถึงช่องทางที่ได้รับข้อมูลก่อนวันลงประชามติ โดยผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายคำตอบเช่นกัน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 49.91% ได้รับข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ 37.10%  ได้รับข้อมูลจากสื่ออินเทอร์เน็ต ในขณะที่ 37.01% ได้รับข้อมูลจากการพูดคุยกับเพื่อน ญาติ คนรู้จัก ผู้ตอบแบบสอบถาม 18.97% ได้รับข้อมูลจากเอกสารสรุป จาก กกต./กรธ. จำนวน 9.91% ได้รับข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ บางส่วนรับข้อมูลจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม คิดเป็นจำนวน 8.13% อีก 6.36% ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ส่วนผู้รับข้อมูลจากงานเสวนา และกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น มีจำนวนน้อยสุด อยู่ที่ 2.06%

จะเห็นได้ว่า สื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ และวิทยุ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ยังมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงข้อมูลในการลงประชามติ และสื่ออินเทอร์เน็ตเองก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนระบุมาว่า ได้รับข้อมูลประชามติจากกลุ่มบุคคลในสังคมรอบตัว เช่น คุณครู หัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ แผ่นพับตามบ้านที่แจกโดยนิติบุคคล และมีรายหนึ่งระบุว่า “ผู้ใหญ่บ้านบอกให้เลือกรับทั้ง 2 ช่อง”

75% รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะอยากให้มีเลือกตั้ง 49% รับคำถามพ่วงโดยไม่เข้าใจ

ในคำถามว่าเมื่อปี 2559 ผู้ตอบแบบสอบถามได้ลงประชามติกาช่อง “เห็นชอบ” เรื่องใดบ้าง เมื่อย้อนดูในบัตรลงประชามติ จะมีอยู่สองประเด็นที่ประชาชนจะต้องกาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำถามแรก ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คำถามที่สอง (คำถามพ่วง) ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ให้ ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล สามารถเลือกนายกฯ ได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อย 1.78% ที่กาเห็นชอบในคำถามที่สองเพียงข้อเดียว อีก 23.83% กาเห็นชอบในคำถามแรกเพียงข้อเดียว 28.32% กาเห็นชอบทั้งสองคำถาม ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 46.07% ระบุว่าจำไม่ได้ ไม่แน่ใจว่ากาเห็นชอบข้อเดียวหรือทั้งสองข้อ แต่จำได้ว่ากาเห็นชอบ

จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากจะได้รับข้อมูลไม่เพียงพอก่อนไปทำประชามติ แต่หากวัดจากผู้ที่จำได้ว่า กาข้อไหนอย่างไรบ้าง จะพบว่าส่วนใหญ่กาเห็นชอบทั้งสองคำถาม

สำหรับปัจจัยในการลงคะแนนเห็นชอบกับคำถามข้อที่สอง (คำถามพ่วง) มีผู้ตอบข้อนี้ทั้งหมด 330 คน 49.70% ตอบว่า ไม่เข้าใจ ไม่ได้ใส่ใจ ลงเหมือนกันทั้งสองช่อง 34.24% ตอบว่า อ่านคำถามแล้ว เห็นข้อดี ไม่ทราบว่าเป็นการให้ ส.ว. ชุดพิเศษเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนอีก 4.55% ตอบว่า เห็นด้วยกับการให้ ส.ว. ชุดพิเศษเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ผู้ตอบแบบสอบถามคนอื่นๆ ที่เหลือได้อธิบายถึงเหตุผลนอกเหนือจากข้างต้นไว้ เช่น อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่เข้าใจว่าอำนาจ ส.ว. จะมีผลขนาดที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อ่านคำถามแล้ว เห็นข้อดี แต่ไม่คิดว่าคนเลือก ส.ว. จะลงสมัครเป็นนายกเสียเอง บางส่วนตอบว่า รับไปก่อน แล้วค่อยแก้ในภายหลัง และมีหลายคนที่พ่อแม่บอกให้กาเห็นชอบ หรือลงประชามติตามคนในครอบครัว

สำหรับสาเหตุที่ลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายสาเหตุ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 75.70% ต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด 33.83% ต้องการให้ประเทศสงบ ไม่วุ่นวาย 28.60% ไม่แน่ใจในเหตุผล ลงคะแนนไปตามคำบอกกล่าว 19.07% ระบุว่า ไม่มีทางเลือก กลัวจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้

15.89% เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกง 7.38% เชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของ คสช. 1.12% ต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และจำนวนน้อยที่สุด 0.93% คือ พอใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายยังระบุว่าครอบครัวก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการลงคะแนนเห็นชอบ เช่น “ลงตามคำบอกกล่าวของคนในครอบครัว ครอบครัวกลัวว่าหากลงไม่เห็นชอบอาจจะมีผลต่ออนาคต”

และเมื่อให้เลือกสาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยหนึ่งคนสามารถเลือกได้เพียงหนึ่งข้อเท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 61.59% เลือกเหตุผลว่าต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด 11.21% เลือกเหตุผลว่าไม่แน่ใจในเหตุผล ลงคะแนนไปตามคำบอกกล่าว 5.23% เลือกเหตุผลว่าไม่มีทางเลือก กลัวจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้ 3.93% เลือกเหตุผลว่าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกง 1.31% เลือกเหตุผลว่าเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของ คสช. 0.47% เลือกเหตุผลว่าต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และอีก 0.47% เลือกเหตุผลว่า พอใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เหลือตอบว่าสาเหตุที่มีน้ำหนักมากที่สุดเป็นเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตัวเลือกข้างต้น เช่น เหตุผลจากทางครอบครัว

การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เปลี่ยนความคิด และแสดงออกต่อสาธารณะ

ไอลอว์ยังได้ทำการสอบถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมื่อถึงปี 2563 แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามได้เปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ โดยหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายปัจจัย ผู้ตอบแบบสอบถาม 93.08% ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้คิดใหม่ คือ เห็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมคุกคามประชาชน จำนวน 92.15% เห็นการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ปกติ 90.65% เห็นการสั่งยุบพรรคการเมืองที่ไม่เป็นธรรม 90.00% เห็นการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของ คสช. อีก 85.33% ระบุว่า ติดตามข่าวสาร ได้ฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลมากขึ้น

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายยังได้ระบุถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เช่น 

“การสืบทอดอำนาจผ่านการแต่งตั้ง สว. และความไม่เป็นธรรมของระบบยุติธรรม”

“ทุกอย่างมันผิดปกติไปหมดไม่มีอะไรดีขึ้นเลยตั้งแต่เลือกตั้งเหมือนโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า” 

“พรรคการเมืองทำผิดกฎหมายแล้วไม่ยอมรับ”

ไอลอว์ได้ตั้งคำถามว่าเมื่อคิดใหม่ในปี 2563 แล้ว ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดบ้าง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามหนึ่งคนสามารถเลือกตอบได้หลายๆ กิจกรรม ผู้ตอบแบบสอบถาม 83.93% แสดงออกต่อสาธารณะ ต่อคนรอบตัว ว่าคิดใหม่ได้แล้ว 53.64% เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 38.13% เป็นหนึ่งใน 100,732 ที่เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตอบแบบสอบถามอีกหลายรายระบุว่าได้บริจาคเงินให้แก่กิจกรรมการชุมนุมต่างๆ บางส่วนศึกษาข้อมูลในอดีตให้มากขึ้น ติดตามข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย

ถ้อยคำที่คน “เคยรับ” อยากบอกกับคนที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ

ในแบบสอบถาม ได้เปิดโอกาสให้คนเคยรับร่างรัฐธรรมนูญส่งความในใจไปยังผู้ที่ยังไม่แน่ใจ หรือไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ โดยหลายคนได้ยกประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทางสังคมขึ้นมา เช่น 

“เวลาผ่านไปหลายปี ทำให้รับรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เคยทราบในตอนนั้นมากขึ้น จนหลายคนมีความคิดที่เปลี่ยนไป รวมถึงควรมีการแก้ไขให้รัฐธรรมนูญมีความทันกับเหตุการณ์และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด” 

“ทุกอย่างมีพลวัตของมัน ถ้าหากรัฐธรรมนูญดีจริง ลองเปิดประชามติอีกครั้งอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่าให้ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นชอบจากประชาชน” 

“ก่อนทำประชามติคิดว่ามีหลายคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เพราะตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า คสช. ออกมาทำให้การประท้วงหายไป บ้านเมืองสงบสุข ไม่คิดว่า ทุกอย่างมันเป็นการวางแผนของเหล่าอำมาตย์และศักดินามาก่อน”

บางรายได้หยิบยกประเด็นการรับข้อมูลข่าวสาร และการดำเนินคดีกับผู้รณรงค์โหวตโน โดยคนเคยโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญรายหนึ่งบอกว่า 

“ผ่านแล้วก็แก้ไขได้ ถ้าการใช้งานจริงมันไม่ได้เรื่องและมีแต่ปัญหา และการที่บอกว่าผ่านประชามตินั้น ก็เกิดจากการที่ประชาชนได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยสื่อกระแสหลักเท่านั้น ถ้าไม่ลงลึกหาข้อมูลจริงๆ จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีผลกระทบใดๆ ตามมาบ้างในการรับร่างครั้งนั้น”

และอีกรายกล่าวว่า 

“ประชามติในครั้งนั้นไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่สนับสนุนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การให้ข่าวสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียสำคัญของรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในขณะนั้นที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจก่อนไปลงคะแนนเสียง”

คนเคยโหวตรับบางคน ได้หยิบยกถึงอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพื่อที่จะบอกไปยังคนที่ยังไม่แน่ใจหรือไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญว่า 

“ระบอบประชาธิปไตยให้สิทธิและเสียงของประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ และเลือกผู้นำประเทศ หากรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ชอบธรรม ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะคัดค้านและเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณรัฐธรรมนูญ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และยุคสมัย”

ผู้เคยโหวตรับอีกรายได้กล่าวว่า

“เราประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ การมีส่วนร่วมในบ้านเมืองตลอดเวลาเป็นหน้าที่ของตนเอง ไม่สามารถไว้ใจข้าราชการ นักการเมือง หรือคนของพระราชาได้ อย่านิ่งเฉย บ้านเมืองย่ำแย่เพราะถูกแอบอ้างคำว่าคนของพระราชามามากถึง 88 ปีแล้ว ประชาชนต้องดูแลอำนาจตนเองด้วยตนเอง” 

You May Also Like
อ่าน

พร้อมสมัคร เพื่อ โหวต สว. 2567 แล้ว! ต้องเตรียมตัวยังไง ทำอะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความสนใจสมัคร สว. หากอยากรู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง มาดูเลย
อ่าน

ดูการเลือก สว. ชุดใหม่! กระทรวงมหาดไทยดูแลเลือกระดับอำเภอ-จังหวัด

สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันทั้ง 250 คนกำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคมปี 2567 พร้อมอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไรก็ตาม สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คนที่จะมาจากระบบ “เลือกกันเอง” ยังมีอำนาจอื่นๆ ครบ เช่น ให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเห็นชอบหรือให้คำแนะเพื่อแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตรวจสอบฝ่ายบริหาร…