รวมบทสัมภาษณ์ “เสียงที่คิดใหม่กับรัฐธรรมนูญที่ไร้ทางเลือก”

อย่าปล่อยให้เขาอ้าง 16 ล้านเสียงอีกต่อไป! 

มีประชาชนจำนวนมากที่กำลังเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไข แม้แต่ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐก็ยังเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของรัฐบาลด้วย แต่ยังมี “บางคน” ที่ไม่ยอมให้แก้ไขโดยเด็ดขาด เมื่อไม่มีเหตุผลอะไรมาคัดค้าน จึงได้แต่อ้างลอยๆ เพียงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการทำประชามติมาแล้ว เมื่อปี 2559 โดยพูดวนไปวนมาเพียงว่า ต้องทำตาม “16 ล้านเสียง”

ทั้งที่ประชามติ ในปี 2559 เป็นประชามติภายใต้ยุคสมัยของ คสช. ที่ใช้อำนาจปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเป็นประชามติที่ไม่มีทางเลือก สำหรับคนที่ลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจมองเห็นอนาคตของประเทศได้ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป

และที่สำคัญ คนทั้ง 16 ล้านคนที่ “เคยรับ” ในการทำประชามติก็ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยทุกคน

บางคนอาจชอบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ และยังไม่ต้องการให้แก้ไข 

บางคนอาจ “รับ” ตอนทำประชามติ เพราะต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็ว หรือต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง 

บางคนอาจ “รับ” เพราะได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ เมื่อได้เห็นการใช้งานกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญมากขึ้นก็เห็นควรแก้ไข

บางคนอาจ “รับ” ตอนทำประชามติ ภายหลังก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าชื่อเสนอให้รัฐธรรมนูญนี้ถูกแก้ไข รวมทั้งร่วมกิจกรรมบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า คน 16 ล้านคน เห็นด้วยกับเนื้อหา จึงต้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จึงไม่ถูกต้องและหากคน 16 ล้านคนที่ลงประชามติ “รับ” ในวันก่อน ไม่แสดงออก ไม่แสดงตัวตน ก็จะถูกเอาเจตนารมณ์เมื่อสี่ปีก่อนไปอ้างซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ

ไอลอว์จึงได้จัดกิจกรรมชวนคนที่เคย ‘Vote Yes’ ทั้งกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เมื่อปี 2559 แล้ว ‘คิดใหม่’ ในปี 2563 เห็นว่า #รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. ต้องแก้ไข มาร่วมให้ข้อมูล เพื่อส่งเสียงใหม่ ไม่ให้เขาเอาเสียงไปอ้างใช้ได้อีกต่อไป 

และนี่คือ ความเห็นบางส่วนของคนที่เคย ‘รับ’ ตอนประชามติปี 2559 แต่ ‘คิดใหม่’ แล้วในปี 2563

โหวตรับเพราะอยากให้ประเทศเดินหน้า ผ่านมาวันนี้ไม่เป็นอย่างที่หวัง

“เมื่อก่อนเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาชีพผมมันก็จะพอไปได้ พอจะเลี้ยงตัวได้ ทุกวันนี้งานหดเกินครึ่ง เปลี่ยนอาชีพไปรับจ้างทำทุกอย่าง รับจ้างก่อสร้างต่อเติม อะไรก็ต้องทำจะยึดอาชีพเดิมไปต่อไม่ได้ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ตอนนี้หลายๆ คนก็ต้องปิดตัวต้องเปลี่ยนอาชีพ”

“ตอนปี ’59 ทำงานบริษัท ไม่ได้รับข่าวสาร ไม่ได้รับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรามีอะไรบ้างรายละเอียดอะไรบ้าง รู้แต่ว่า อยากให้มันเป็นประชาธิปไตยเลยต้องไปลงยอมรับรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีความรู้ ไม่รู้มาตราอะไรสำคัญยังไงเลย แค่อยากให้มีเลือกตั้งเร็วๆ แค่นั้นเอง เรื่องคำถามพ่วงอะไรนี่ก็ ไม่รู้ว่าจะมีคำถามพ่วง และไม่รู้ด้วยว่าคำถามพ่วงคืออะไร ที่ไปลงเห็นชอบเพื่ออยากให้ประเทศเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย”

“ตอนแรกคิดว่าจะไปร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญที่ธรรมศาสตร์สนามหลวง แต่ว่าไปไม่ทัน และหาเต็นท์เข้าชื่อไม่เจอ เลยจะส่งทางไปรษณีย์ พอเค้าไปส่งรายชื่อแล้วในวันที่ 22 กันยา เลยไม่ทันได้ส่งไป”

“ตอนนี้มีการเปิดเผยขึ้นมาเยอะๆ เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เยอะมาก ยังไงก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เดินหน้าไปยังไงก็ไม่ได้ ประเทศชาติเดินหน้าไปไม่ได้แน่ๆ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบังคับใช้อยู่”

“อย่างผมเป็นคนนึงที่รับร่าง ลงมติเห็นชอบไปแล้ว มารู้ภายหลังว่า หลายมาตรามันขัดแย้งกันเองแล้วประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้ ผมก็อยากจะฝากถามคนที่เห็นชอบคนอื่นๆ ด้วยว่า ถ้าได้ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ ยังจะเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่อีกไหม”

“รัฐบาลชุดนี้ยอมรับเถอะว่า บริหารผิดพลาดมาห้าปีถึงหกปีแล้ว อยากให้ยอมปล่อยวางอำนาจปล่อยวางตำแหน่ง ให้คนที่เค้าเก่งจริงๆ มาบริหารดีกว่า ผมไม่ติดว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี และอยากให้มีรัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นสากล เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศจริงๆ อย่าเอา 16 ล้านเสียงที่เคยเห็นชอบแบบไม่รู้เรื่องมาเป็นข้ออ้าง”

โสภา อดีตช่างอิเล็กทรอนิกส์ อายุ 44 ปี
เดินทางจากจังหวัดบุรีรัมย์มาร่วมชุมนุมในกิจกรรม #จั๊กอ่ายเหว่ยเฮยนู๋ละงึด โดยกลุ่มเยาวชนโคราชเพื่อประชาธิปไตย ที่ลานย่าโม จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563
หนึ่งในผู้ที่เคยไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านมา 4 ปี วันนี้ความคิดของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว 

_____________________

โหวตรับเพราะอยากให้รีบมีรัฐบาล ขอเปลี่ยนข้าง ย้ำวันนั้นได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ

“ได้ไปโหวต ‘Yes’ รับร่างรัฐธรรมนูญมาเมื่อประชามติปี 59 เนื้อในผมไม่ได้ดู รู้แค่ว่าเค้าบอกว่าถ้ารีบกาจะได้รัฐบาลเร็ว ผมก็เลยกาๆ ไปเลยเอาให้ได้รัฐบาลก่อนเดี๋ยวค่อยว่ากัน ที่บ้านก็บอกให้ไปกาก็กา”

“บอกตัวเองว่าทำไมไม่หัดรอบคอบกว่านี้ ทำไมไม่ยอมไปศึกษาก่อนว่าเนื้อในมันเป็นยังไงบ้าง แล้วก็มีคนเอาเสียงของเราไปใช้ในทางที่ผิดด้วย เสียงของเราเสียงนึง”

“ที่ผมรู้หลักๆ เลยคือ หนึ่งผมไม่รู้เลยว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เค้าไม่ได้บอกผมเลย สองคือ ผมไม่รู้เลยว่าถ้าจะอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชนจะมีสิทธิยังไง แต่ในนั้นบอกว่าต้องมี ส.ว.ถึง 84 คน ถึงจะแก้ไขแต่ละวาระๆ ได้อันนี้ผมก็ไม่รู้ สามคือไม่เห็นมีบอกเลยว่าจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่จะ force พวกเราในปัจจุบันแบบนี้ แก้ไขอะไรก็ไม่ได้ เค้าไม่ได้บอกผมเลย เค้าแค่บอกว่ากาไปเถอะเดี๋ยวก็ได้รัฐบาลจะได้มีรัฐบาลเร็วๆ”

“เราได้รับสื่อเรื่องรัฐธรรมนูญน้อยมากๆ จริงๆ รู้แค่ว่าจะมีลงประชามติแค่นั้น”

“ผมดูข่าวว่ามีบุคคลบุคคลนึงที่อ้างว่านี่คือประชามติ 16 ล้านเสียงที่ได้มาอย่างเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ผมคือหนึ่งคนที่จะบอกว่า ผมกา ‘Yes’ ก็จริงแต่ผมไม่รู้เลยว่าเนื้อในคุณไม่ได้บอกผมเลยว่ามันเป็นยังไง ถ้าคุณมาแจงรายละเอียด 1 2 3 4 5 ผมก็คงไม่กา แล้วผมก็คงไม่อยู่บนถนนในวันนี้”

“หลังจากที่เราเปลี่ยนใจแล้วอย่างแรกผมก็ออกมาร่วมชุมนุมบ่อยๆ ผมไม่ได้เห็นชอบกับระบอบของประยุทธ์ในปัจจุบัน เรารู้สึกว่ากฎหมายมันบังคับใช้อย่างสองมาตรฐานอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเลย เพราะว่าคุณได้เสียงจาก ส.ว. มาเป็นนายกรัฐมนตรี แค่นี้มันก็บ่งบอกแล้วว่านี่คือรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย”

“หลังจากรัฐธรรมนูญ 60 บังคับใช้แล้วก็อย่างที่เห็น พอจะแก้ไขอะไร ส.ว.ก็บอกว่า ‘ไม่’ ตัวเองแต่งตั้ง ส.ว. แล้วก็เอาตัวเองไปเป็น ส.ว. ด้วย มันมีที่ไหนที่เขียนกฎหมายเองแล้วเอาตัวเองไปเป็นผู้ร่วมในกฎหมาย มันไม่มีในโลกใบนี้ นี่คือสิ่งที่มันขัดโดยสิ้นเชิงในระบบประชาธิปไตย”

“สำหรับผมตอนนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผมอยากเห็นสภาเดี่ยว ในอดีตที่ผ่านมาเรามี ส.ว.ที่ทั้งจากการแต่งตั้ง และเลือกกันเอง ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะคานอำนาจอะไรได้ซักเท่าไหร่ แต่เรายังไม่เคยลองสภาเดี่ยวเลย ในมุมนี้ประเทศไทยก็ควรจะลองใช้มันบ้างมั้ย ถ้ามันไม่ดีเราก็ว่ากันใหม่อีกครั้งนึง แต่ผมยังเชียร์ว่าเราควรเป็นแบบสภาเดี่ยว”

“ฝากไว้ด้วยว่ามนุษย์ทุกคนมีค่าเท่าเทียมกันอย่าใช้อำนาจอย่าใช้ทัศนคติตัวเองทำลายเพื่อนมนุษย์โดยมีคนสั่งการจากเบื้องบน จงใช้ดุลยพินิจความเป็นมนุษย์ ว่าคุณควรจะทำอย่างไร ครอบครัวคุณก็คือเพื่อนมนุษย์อคนที่อยู่บนท้องถนนก็คือเพื่อนมนุษย์”

ปูอัด อายุ 26 ปี พนักงานบริษัท EdTech (Education Technology) แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ออกมาร่วมชุมนุมในคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณทำเนียบรัฐบาล ที่จัดโดยกลุ่มคณะราษฎร
เพื่อเป็นหนึ่งเสียงที่ต้องการบอกว่าเขาต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

_____________________

โหวตรับตามเพื่อน เราต้องขอโทษที่เป็นส่วนนึงที่ทำให้ประเทศเป็นแบบนี้

“ตอนปี 59 อายุ 21 ปี ยังเป็นนักศึกษา เราไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่าเขาให้ไปโหวตเอาหรือไม่เอา ถามเพื่อนก็รู้แค่ว่า เค้าให้ไปโหวต คนรอบตัวบอกให้ไป”

“ก็น่าจะมีคนแบบเดียวกับเราเยอะ ไปถามเพื่อนที่เรียนรัฐศาสตร์ว่า ต้องโหวตเยสมั้ย เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยเราไม่ได้เรียนมา แล้วก็ไว้ใจเพื่อนที่เรียนรัฐศาสตร์มา คิดว่ามันต้องรู้ เพื่อนบอกให้โหวตเยส เราก็โหวตตามมัน เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก คนรอบตัว ที่บ้าน พ่อแม่ เพื่อนสนิท ก็บอกให้โหวตเยส”

“เอาจริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามันเลวร้ายยังไง แต่รู้ว่าอำนาจภายหลังที่ คสช. ใช้ มันเยอะเกินไปมาก มันน่ากลัวมากๆ ตอนแรกไม่รู้เลยว่าอำนาจนั้นมาจาก คสช. ตอนหลังคือมารู้จากไอลอว์ จากพวกสื่อต่างๆ”

“พอรู้แล้วว่า คสช. มีอำนาจมากเกินไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ก็ไปทุกม็อบ มีส่วนร่วมทางการเมืองมาตลอด เหมือนว่าเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำไป เหมือนเป็นการไถ่บาป”

“รู้สึกผิดมากที่ตอนนั้นเราเป็นคนโหวตรับ เหมือนมีตราบาปติดตัว สิ่งที่ทำอยู่เหมือนมาสารภาพบาป อยากจะขอโทษทุกคน ต้องยอมรับเลยว่าครั้งหนึ่งเราเคยทำผิดด้วยความไม่รู้หรืออะไรก็ตาม มันเป็นบาปของความโง่”

“สิ่งที่อยากฝากคนที่เคยโหวตเยสเหมือนเรา ต่อให้มันจะน่าอาย หรือรู้สึกแย่ ต้องยอมรับว่าเราคือส่วนนึงที่ทำให้ประเทศเป็นแบบนี้ ต่อให้ความไม่รู้เราย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว ต่อให้ไม่ได้ตั้งใจ เราจำเป็นต้องแบกความรู้สึกแบบนี้ไว้ เพื่อที่ครั้งหน้าเราจะได้ไม่ต้องรู้สึกแบบนี้อีก และเราต้องขอโทษด้วย”

“ถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ก็อยากให้เป็นธรรมที่สุด อยากให้คำในรัฐธรรมนูญเข้าใจง่าย ภาษาในรัฐธรรมนูญเข้าใจง่าย ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจภาษากฎหมาย รายละเอียดมันเยอะมาก”

ผู้ชุมนุม อายุ 25 ปี
ร่วมเป็นหนึ่งเสียงที่จะบอกว่าเธอคิดใหม่ ยอมรับผิดต่อการกระทำในอดีต เธอได้ออกมาร่วมชุมนุมในคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณทำเนียบรัฐบาล ที่จัดโดยกลุ่มคณะราษฎร และได้มาร่วมกิจกรรมในฐานะ “คนคิดใหม่”

_____________________

โหวตรับเพราะเขาบอกว่า ‘แก้ทีหลัง’ ใช้แล้วมีปัญหา รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้

“ยอมรับว่า ได้ข้อมูลไม่พอจริงๆ เพราะว่าตอนนั้นคนที่ออกมารณรงค์โหวตโนก็โดนจับไปหมด เราได้อ่านรัฐธรรมนูญด้วยนะแต่ว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่ได้พ้อยท์ที่ว่ามี ส.ว.250 คน หรือประเด็นว่ามันแก้ยากมาก เราแค่รู้ว่าถ้าไม่รับก็ไม่มีทางเลือก เพราะว่าถ้าไม่รับเดี๋ยวก็ต้องร่างใหม่แล้วก็ต้องใช้เวลาอีก แล้วกว่าจะได้เลือกตั้งล่ะ”

“ตัวที่เค้าส่งเป็นเอกสารให้เหมือนจะเป็นจุลสารที่สรุปแค่ข้อดี ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ ได้อ่านไฟล์ตัวเต็มทุกคนก็ส่งมาแหละแต่คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมันไม่มีทางอ่านรัฐธรรมนูญรู้เรื่องถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ที่ออก”

“เรารู้ว่า มันมีการปฏิวัติรัฐประหารปี 2557 แล้วก็มาลงมติ 2559 เราก็คิดว่า มันต้องใช้เวลาสองปีเลยเนอะในการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดว่าเราโหวตโนครั้งนี้อีกสองปีถึงจะได้เลือกตั้งนะ ด้วยเหตุนี้ก็เลยคิดว่า ‘รับก่อนแล้วแก้ทีหลัง’ อย่างที่เค้าหลอกกันมา จริงๆ มันมีคำพูดนี้เลยนะตอนนั้น มั่นใจ”

“เพราะเราไม่รู้ว่ามันแก้ยาก ระหว่างเราเลือกไปก่อนเอาไปแก้ในอนาคต กับถ้าวันนี้ไม่รับแล้วรอ กว่าจะร่างใหม่ กว่าจะได้เลือกตั้งอาจจะใช้เวลาใกล้เคียงกันถ้าเราแก้ไขมันน่าจะง่ายกว่าร่างใหม่ ด้วยหลายๆ เหตุผลที่มันถูกปกปิดมันถูกหมกเม็ด แล้วคนที่เค้าเข้าใจ เค้าก็ไม่มีสิทธิจะมาบอกเรา”

“ช่วงที่ใกล้ๆ จะเลือกตั้งมีคนเริ่มออกมาพูดว่า รู้รึเปล่าว่ามันเป็นแบบนี้ ไม่รู้จริงๆ ตอนที่รับอะไม่รู้จริงๆ เรื่อง ส.ว. ไม่รู้ กระทั่งคำถามพ่วง เค้าใช้คำถามว่า ‘เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้เห็นสมควรหรือไม่ว่าควรจะให้สภาร่วมมีส่วนร่วมในการเลือกนายก’ คือไม่พูดหนิว่า ส.ว. สามารถเลือกนายกได้ แล้วคนที่เลือก ส.ว. ก็คือนายก เค้าไม่ได้พูดแบบนี้ คือใช้คำที่อ้อมแล้วก็ชี้นำมากๆ”

“เราก็รู้สึกว่า เราเป็นคนเลือกรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเพราะเราไม่เข้าใจ คือ พยายามไปเวิร์คชอป พยายามจะอ่านหนังสือ ฟังพอตแคสต์ ฟังเสวนา พยายามทำความเข้าใจ เราไม่มีความรู้โดยตรงก็ต้องไปรับฟังจากคนที่เค้าเข้าใจ”

“สำหรับคนที่อ้าง 16 ล้านเสียง ถ้าเค้าจะอ้างแบบนั้นเราก็ต้องอธิบายว่า หนึ่ง คือเราไม่ได้มีทางเลือกอะไรนะในขณะที่เราลงคะแนนเสียง คุณบอกว่าถ้าลงจะได้เลือกตั้ง ถ้าไม่ลงจะต้องรอต่อไป อันนี้มันไม่ฟรีไม่แฟร์ตั้งแต่แรกเริ่ม สอง คือคนที่เค้าจะมารณรงค์เพื่อให้โหวตโน คุณก็ไม่ให้พื้นที่เค้าพูดคุณจับเค้าดำเนินคดีสี่สิบกว่าคน ดังนั้น คุณต้องยอมรับว่าการลงมติที่ผ่านมาในปี 59 มันไม่ฟรีและแฟร์พอ และตอนนั้นคนก็ยังไม่เห็นภาพของ ส.ว. 250 คนที่มาเลือกประยุทธ์พร้อมกันทั้ง 250 คน ถ้าเห็นภาพนี้แล้วคุณยังยืนยันแบบเดิมมั้ย”

“รัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะอำนาจอธิปไตยมันเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมันควรจะแก้ไขง่ายด้วยนะ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งฉีกมันทิ้ง มีอะไรที่เรารู้สึกว่าผิดแล้วเราก็เข้าชื่อกันลองมานั่งคุยกันว่ามันสามารถแก้ไขได้มั้ย รัฐธรรมนูญมันคือช่องทางในการใช้อำนาจของประชาชน”

‘แป้ง’ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ อายุ 31 ปี
1 ใน 16 ล้านเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญวันนั้น สู่ 1 ในแสนชื่อแก้รัฐธรรมนูญวันนี้

_____________________

“ผู้ใหญ่บ้านบอกให้ไปโหวต แล้วติ๊กถูกด้วย” เสียงจากแรงงานอยุธยา ทำไมโหวตรับรัฐธรรมนูญ 2560

การทำประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แม้จะมีคนกว่า 16 ล้านคนลงคะแนนรับร่าง แต่ถ้าย้อนกลับไปช่วงนั้นจะพบข้อกำจัดมากมายที่ทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นการจัดกิจกรรม จับกุมคนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ขาดการประชาสัมพันธ์ถกเถียงที่เพียงพอในรายประเด็น รวมถึงคำขู่จากฝั่งรัฐบาลประเภทที่ว่าหากฉบับนี้ไม่ผ่านไม่รู้จะเจอกับฉบับไหน ฯลฯ

คนอีกกว่า 20 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ไม่ออกมาลงคะแนนเสียง ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะต้องการ “บอยคอต” การทำประชามติครั้งนี้ เนื่องจากไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้นและกระบวนการก็ไม่มีความเป็นธรรมแต่อย่างใด

จากวันนั้นเวลาเดินมาไกลจนเรากำลังจะเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหน ไอลอว์ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่เคยลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก และพบว่าความไม่รู้ของประชาชนรวมถึงกลไกของรัฐในระดับหมู่บ้านเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ผ่าน” ประชามติ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘ลอยกระทงส่งเผด็จการ’ คนหนึ่งที่จังหวัดอยุธยา เขาเป็นพนักงานโรงงานในอยุธยามาตั้งแต่ปี 2559 ในช่วงลงประชามติ เขาไม่ทราบข้อมูลใดๆ แต่ไปใช้สิทธิเพราะผู้ใหญ่บ้านบอกให้ไป โดยคิดว่ามันก็คงเหมือนกับการเลือกตั้ง

ถาม: ทำไมถึงไปลงประชามติในครั้งนั้น?
ตอบ: มีผู้ใหญ่บ้านมาบอก เขาเรียกเราไปประชุมก่อน บอกว่าต้องไปโหวตนะ แล้วต้องติ๊กถูกด้วย ตอนแรกก็เข้าใจว่า เขามาหาเสียง

ถาม: รู้ชัดเจนไหมว่าไปโหวตเป็นเรื่องอะไร?
ตอบ: ไม่รู้เลย เขาบอกให้ไป ก็ไป วันลงคะแนนเสียงพอเราลงจากรถก็มีคนมาเรียกเราไปคุยก่อนเข้าคูหา แล้วก็บอกว่า ต้องกาอย่างงี้นะ ติ๊กถูกให้หมด

ถาม: มีใครทักท้วงบ้างไหมว่าอย่าไปลง
ตอบ: ไม่มี ที่บ้านไปกันหมด ก็ตาสีตาสาทั้งนั้น เราไม่มีความรู้เลยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร

ถาม: หลังจากที่โหวตรับไปแล้ว ทราบไหมว่าผลของรัฐธรรมนูญเป็นยังไง เช่น เรื่องการให้อำนาจ ส.ว. 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรี
ตอบ: ก็เพิ่งจะมารู้ปีนี้นี่แหละ รู้จากโซเชียล เพจต่างๆ

ถาม: ตอนนี้คิดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มันส่งผลกับเรายังไง?
ตอบ: มันไปเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะที่ให้อำนาจ ส.ว.จากการแต่งตั้งมาก รู้สึกว่าเขาทำไม่ถูกต้อง เขาโกงประชาชน ต้องแก้ประเด็นนี้ก่อน ต้องเอา ส.ว. 250 คนออกไปก่อน แล้วแก้รัฐธรรมนูญใหม่

ถาม: อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นไหนบ้าง?
ตอบ: อยากให้แก้ไขให้การเมืองทั้งหมดมันดีขึ้น เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น พวกคนทำงานในโรงงานจะได้ไม่ตกงานเยอะขนาดนี้ เหมือนรัฐบาลชุดนี้เขาอวยกันเอง สนใจแต่พวกคนรวย ไม่เห็นหัวประชาชน ผู้ยากไร้จริงๆ สิ่งที่อยากแก้มากที่สุดคือเรื่องการเลือกตั้ง อยากให้มีการเลือกตั้งที่มาจากประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ที่เขาเลือก

_____________________

“ตอนช่วงลงประชามติ ปี 2559 จำได้เลยว่า คนที่มารณรงค์ เขาจะพูดว่า รับๆ ไปก่อน จะได้เลือกตั้งเร็วๆ แล้วก็มีแจกโบรชัวร์เล็กๆ สามหน้า รายละเอียดในนั้นจำได้ว่า มีแต่ข้อดี ส่วนคนที่มาแจกก็จะพูดถึงแต่ว่า รัฐธรรมนูญนี้ จะให้ประโยชน์กับเรานะ ทำนองว่า ชี้นำเรา แต่จำไม่ได้ว่ามันเป็นประโยชน์ยังไง และก็จะย้ำว่า ให้รับนะถ้าอยากเลือกตั้งเร็วๆ ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า คสช. เข้ามาสองปีแล้วยังไม่ได้เลือกตั้งสักที เขาก็โน้มน้าวให้รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน”

“ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจการเมืองเท่าไร รู้แค่ว่าอยากเลือกตั้งเร็วๆ ก็ไม่ได้หาข้อมูลว่า ความจริงแล้วมันเป็นยังไง ได้มาแต่โบรชัวร์อันนั้นซึ่งมันชี้นำมาก ช่วงหลังจากที่รับร่างไปแล้วจำได้ว่า ปีนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองมีไรเกิดขึ้นเยอะแยะ ในหลวง ร.9 สวรรคตอีก เศรษฐกิจก็เริ่มแย่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะจะยังไง จะให้เลือกตั้งเมื่อไร”

“วันที่รู้ว่ากติกาเลือกตั้งมันไม่เหมือนเดิม คือ วันที่เรารู้แล้วว่า เราทำผิดพลาด ที่ลงประชามติไปมันไม่ถูกต้อง เงิบมาก ตอนที่รู้ว่า การเลือกตั้งมันเปลี่ยนระบบ จากเดิม พรรคเดียวเบอร์เดียว ทุกเขต พอมาอันนี้ มันไม่ใช่ ก็งงกับกติกา แต่ที่ตกใจที่สุดคือ ส.ว.250 คน ตอนเด็กๆ จำได้ว่า เคยมีเลือกตั้ง ส.ว. แต่อันนี้ คือ แต่งตั้งหมดเลย แล้วเห็นนามสกุลแต่ละคน คือ รู้สึกแย่มากๆ”

“รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องย่อยยาก สำหรับคนหาเช้ากินค่ำแบบพวกพี่ ข้อมูลมันเยอะ อย่างตอนเลือกตั้งที่บอกเรื่องการคิดคะแนน ส.ส. งงมาก ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าเขาใช้ประเด็นนี้แหละ ใช้ความเข้าใจยากของข้อมูลมาเป็นจุดอ่อน ที่นายกรัฐมนตรีเขาถามว่า เขาทำอะไรผิด ทำไมต้องลาออก ก็อยากบอกกับเขานะว่า ผิดตั้งแต่ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วก็ทำรัฐธรรมนูญยาพิษนี้ขึ้นมา และก็ยังมาชี้นำพวกเราให้รับร่างไปก่อนโดยอ้างว่าจะได้เลือกนายกฯ คนใหม่เร็วๆ”

“รู้ตัวว่าเป็นคนหนึ่งที่สร้างกรรมให้เยาวชน เพราะเขาไม่มีสิทธิเลือกอะไรเลย โตมายังไม่ทันจะได้เลือกอะไรก็ต้องมารับกรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พอเขาเห็นความไม่ยุติธรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาก็ต้องมีสิทธิโต้แย้ง ต้องมีสิทธิแก้ไขได้ และพวกเราก็ทำตามวิธีในรัฐธรรมนูญที่คุณเขียนไว้เองด้วย”

“ตอนที่มีให้ลงชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มีคนลงชื่อตั้งเป็นแสนคน ถ้าเราสื่อสารได้ว่ามันสำคัญกับชีวิตเรายังไง เชื่อว่า ล้านชื่อก็ทำได้ เราพยายามสู้ในระบบก็แล้ว ประท้วงก็แล้ว เขาก็ยังเมินเรา ถ้าแฟร์จริง มาเลือกอีกที ให้เยาวชนได้มีสิทธิเลือก”

“สำหรับคนที่ชอบอ้าง 16 ล้านเสียงที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาจะชอบบอกว่า คุณเป็นประชาธิปไตยแต่ทำไมไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ก็อยากจะค้านว่า การประท้วงก็เป็นสิ่งหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่ทำได้ เมื่อมันมีอะไรผิดปกติ เราก็ต้องสามารถโต้แย้งได้ ผู้แทนราษฎรของเราก็พูดแล้วแต่มันยังไม่พอ เราเป็นประชาชนก็ต้องช่วยกัน คิดว่าทางออกประเทศตอนนี้คือเราต้องผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ได้ ทำให้คนรู้ว่าปัญหามันติดอยู่ตรงนี้”

“ปัญหาของการลงประชามติจริงๆ เลยคิดว่าอยู่ที่การสื่อสารกับข้อมูลที่ย่อยยาก พอพูดถึงคำว่ารัฐธรรมนูญมันเหมือนเป็นอะไรที่ไกลตัว เป็นศัพท์วิชาการ ไม่รู้ว่ามันสำคัญกับตัวเรายังไง เลยรู้สึกว่า เราจะทำยังไงดี ให้ชาวบ้านได้รู้ว่า ข้อมูลพวกนี้มันสำคัญยังไง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเข้าถึงคนมากกว่านี้ ชาวบ้านทำมาหากินอย่างพวกพี่ แค่ทำงานหาเงินแต่ละวันก็หมดวันแล้ว ไม่มีเวลามาสนใจเรื่องพวกนี้มากหรอก”

“หลายคนที่เคยโหวตรับไป ก็รู้สึกแย่เหมือนกัน เพื่อนที่เป็นพนักงานออฟฟิศก็โหวตรับ เพราะอยากให้มันจบๆ ไป อย่างพ่อเราที่เป็นคนสนใจการเมือง เขาไม่ไปลงเพราะรู้สึกทหารเป็นคนร่าง ไม่เอาเลย”

“ทุกวันนี้ ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนม็อบ มีรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไป ชวนพ่อชวนเพื่อนไปลงชื่อด้วยกัน เพื่อนคนไหนไม่ว่างไป ก็เอาเอกสารไปให้เซ็น นี่คือวิธีล้างบาปของเรา รู้สึกผิดจริงๆ กับคำว่ารับๆ ไปก่อน จะได้เลือกตั้งเร็วๆ คำนี้มันยังติดอยู่ในความรู้สึกเรา เราคิดน้อยไป”

แม่ค้าขายน้ำจับเลี้ยง อายุ 31 ปี
หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม “จากคนเคยรับแล้วคิดใหม่” ของไอลอว์ที่ชวนคนที่เคย ‘Vote Yes’ ให้กับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในการลงประชามติ ปี 2559 แล้วคิดใหม่ในปี 2563 ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ต้องแก้ไข

_____________________

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”