[อัพเดท!] สำหรับผู้ที่ร่วมลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ

[อัพเดท!] สำหรับผู้ที่ร่วมลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบเอกสารหลักฐานการลงชื่อและตรวจสอบความถูกต้องของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 98,824 คน เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในระหว่างนี้ หลายคนอาจจะได้รับจดหมายจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จดหมายความยาวหนึ่งหน้านั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้ลงชื่อด้วย แต่ถูกคนอื่นแอบอ้างชื่อมาไปถอนชื่อตัวเองได้ โดยการส่งคำคัดค้านกลับไปตามระบบ 

สำหรับผู้ที่ได้ลงชื่อไปจริงๆ และต้องการ “รื้อ-สร้าง-ร่าง” รัฐธรรรมนูญด้วยกัน เมื่อได้รับจดหมายแล้ว 

“ไม่ต้องทำอะไรเลย”

Submission a Petition for Constitution Amendment

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่กังวลใจว่า รายชื่อของตัวเองมาถึงและผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยหรือไม่ ยังมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ร่วมกันเสนอกฎหมายไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และมีอีกช่องทางหนึ่งที่เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คลิกที่นี่

ผู้ที่เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญด้วยกัน สามารถเข้าไปหารายชื่อของตัวเองได้ โดยต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเพื่อทำการตรวจสอบว่ามีชื่อของตัวเองเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่

สำหรับผู้ที่ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ แล้วไม่ได้รับจดหมายไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร และตรวจสอบรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์แล้วไม่พบ อาจเป็นไปได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

– ลงชื่อโดยไม่ได้เป็นผู้มีสัญชาติไทย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสิทธิเลือกตั้งยังเป็นสิทธิเฉพาะประชาชนชาวไทยเท่านั้น

อายุยังไม่ถึง 18 ปีในวันที่ยื่นรายชื่อต่อสภา เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปี) ในวันที่ยื่นรายชื่อต่อสภา และวันที่รายชื่อถูกนำไปตรวจสอบ เท่านั้น

เอกสารมีความบกพร่อง เช่น เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่ชัดเจน อ่านตัวเลขไม่ออก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปตรวจสอบในฐานข้อมูลได้ ลายมือชื่อในเอกสารหมายเลข 7 สำหรับลงชื่อกับในสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรอื่นๆ ไม่ตรงกัน ใช้สำเนาบัตรอื่นที่ไม่ใช่ทางราชการออกให้ ไม่ได้ส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย (กรณีที่ส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์) ฯลฯ

– กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายชื่อที่ส่งมา เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่อำนาจและหน้าที่ของไอลอว์ ทางไอลอว์ได้รวบรวมเอกสารรายชื่อทั้งหมดที่ได้รับมายื่นเสนอไปแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกลับมาว่า มีจำนวนเอกสารเท่าไรที่ถูกคัดออกด้วยเหตุผลใด

ทางไอลอว์ขอย้ำว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และสำหรับผู้ที่ได้รับจดหมาย “ไม่ต้องทำอะไร” กับจดหมายดังกล่าว สามารถทำลายจดหมายนั้นทิ้งได้ หากมีข้อกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล

แต่หากมีผู้เจตนาไม่ดี ชักจูง หลอกลวง กดดัน หรือข่มขู่ เพื่อให้ผู้ที่ลงชื่อไว้ไปแสดงเจตนาคัดค้านและถอนรายชื่อของตัวเองออก ไม่จำเป็นต้องเชื่อ และผู้นั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 

และหากมีผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในจดหมายคำร้องคัดค้านที่ส่งไปยังที่อยู่ของผู้เข้าชื่อ ผู้นั้นก็มีความผิดตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

แม้ว่ากิจกรรมการลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ จะจบลงไปแล้ว แต่หนทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญยังไม่จบ ไอลอว์ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมกันจับตาดูกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่