สรุปปม กกต. แจก “ใบส้ม” ตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ลงเลือกตั้ง

หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง “ยกคำร้อง” ขอเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ‘สุรพล เกียรติไชยากร’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ร้องขอ สิ่งที่ตามมาคือ คำถามถึงความเป็นธรรมต่อผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ที่ถูกเขี่ยออกจากสนามเลือกตั้ง และนำไปสู่คำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของการเลือกตั้งในปี 2562 ที่อยู่ภายใต้กติกาและผู้บังคับใช้กติกาที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้กำหนด

Artboard 1

เพื่อให้เข้าใจประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราขอสรุปสิ่งที่คุณควรรู้อย่างน้อย 11 ข้อ ดังนี้

1. หลังการรัฐประหาร ปี 2557 คสช. ประกาศโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งว่าจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อนจะไปสู่การเลือกตั้ง โดย คสช. ได้ตั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาถึง 2 ชุด แต่ชุดที่ทำภารกิจให้ คสช. ได้อย่างลุล่วง คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’

2. ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ กรธ. ต้องไปจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้นจึงส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. เป็นผู้เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 

3. ภายใต้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) ได้กำหนดให้มีการสรรหาคัดเลือก กกต. ชุดใหม่ และผู้ที่ให้การเห็นชอบ กกต. ทั้งชุดก็คือ สนช. และในขณะเดียวกัน พ.ร.ป.กกต. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.) ก็ให้อำนาจใหม่ที่เรียกว่า “ใบส้ม” หรืออำนาจระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว ไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง

4. การใช้อำนาจตาม “ใบส้ม” จะส่งผลต่อทั้งพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง กล่าวคือ ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดทุจริตการเลือกตั้งและเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ให้ กกต. สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ถูกแจกใบส้มจะถูกตัดสิทธิไม่สามารถลงเลือกตั้งใหม่ได้  อีกทั้ง ถ้าผู้สมัครที่ก่อเหตุทุจริตการเลือกตั้งไม่ชนะการเลือกตั้ง ให้คะแนนที่ผู้สมัครผู้นั้นได้ไม่ถูกนำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคการเมือง 

5. 24 เมษายน 2562 ที่ประชุม กกต. มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิสมัคร ‘สุรพล’ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อไทยไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์ของ ‘สุรพล’ เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด และเนื่องจากสุรพลชนะการเลือกตั้ง จึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ ซึ่งผลการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ “ศรีนวล บุญลือ” ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าสู่สภา

6. สุรพล’ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า ตนได้เดินทางนำเงินจำนวน 2,000 บาท และนาฬิกา 1 เรือนไปถวายพระ ซึ่งท่านอยู่ในงานผ้าป่า ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว กกต.จังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกสอบเรื่องนี้ ตนก็ได้พาพยาน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ไปยืนยันว่า วันดังกล่าวตนไม่ได้ไปหาเสียงแต่ไปถวายปัจจัยส่วนตัวให้กับพระครูบาสาม เพราะทำเทียนให้ตน เราบริสุทธิ์ใจไม่ได้คิดอะไร

7. 29 กันยายน 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของ กกต. กรณีขอเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ‘สุรพล’ และให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง โดยระบุว่า สุรพลไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จากข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านถวายเงินจำนวน 2,000 บาท แก่พระครู เพื่อเป็นการสื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าผู้คัดค้านได้บริจาคเงินสมทบให้แก่กองผ้าป่าสามัคคีของหมู่บ้าน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการให้เงิน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน

8. หลังคำพิพากษา เกิดกระแสว่า กกต. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย ที่ชนะการเลือกตั้งซ่อม จะยังมีสถานะหรือไม่ หรือจะให้สุรพลกลับมาเป็น ส.ส.ตามคะแนนที่ได้รับโดยชอบ

9. 30 กันยายน 2563 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ‘สุรพล’ ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดให้การวินิจฉัยของ กกต. ก่อนการประกาศผลให้ถือเป็นที่สุด ดังนั้น ในส่วนของ กกต. ถือว่าสิ้นสุดแล้ว สถานะ ส.ส. ก็คงจะไม่ได้คืน เพราะกฎหมายเขียนให้คำวินิจฉัยของ กกต. ถือเป็นที่สุด

10. คำถามที่ตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือ ความชอบธรรมของการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ให้ คสช. เป็นทั้งผู้เขียนกติกา และเป็นผู้สรรหาผู้บังคับใช้กติกา ซึ่งสุดท้ายกลายเป็น “ความไม่ชอบธรรมคู่ขนาน” และส่งผลต่อความเป็นธรรมสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

11. อย่างไรก็ดี การป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ จำเป็นจะต้องแก้ไข พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.กกต. ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดเงื่อนไขว่า การจะแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.ป. จำเป็นจะต้องใช้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา หมายความว่า การจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดย คสช. อีกทั้งกระบวนการแก้ไข พ.ร.ป. ทั้งสองฉบับจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องก่อน