ถ้าร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านปีนี้ ปลายปีหน้าได้รัฐธรรมนูญใหม่

ในเดือนกันยายน 2563 รัฐสภามีนัดพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ อย่างน้อยสองฉบับ ได้แก่ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ร่างแก้รัฐธรรมนูญของภาคประชาชนก็จะถูกยื่นต่อรัฐสภาในเดือนกันยายนด้วยเช่นกัน

โดยสาระสำคัญของร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับมีจุดร่วมกัน คือ การเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งถึงสองปี หรือหมายความว่า หากรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญในปี 2563 ประชาชนจะได้รัฐธรรมนูญใหม่อย่างเร็วที่สุดคือ ปลายปี 2564

n20200910150835_468916

ร่างแก้รัฐธรรมนูญของเพื่อไทย ใช้เวลา 352 วัน ได้รัฐธรรมนูญใหม่

ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย ได้วางกรอบการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ดังนี้

(1) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้ง สสร.

(2) ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. (มาตรา 256/4)

(3) ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (มาตรา 256/4 วรรคเจ็ด)

(4) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งให้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก (มาตรา 256/9)

(5) ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ประชุม สสร. ครั้งแรก สสร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ (มาตรา 256/9)

(6) ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. เพื่อดำเนินการจัดออกเสียงประชามติ (มาตรา 256/11 วรรคหนึ่ง)

(7) ภายใน 45-60 วัน นับตั้งแต่ กกต. ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา ให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติ (มาตรา 256/11 วรรคสาม)

(8) ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่การออกเสียงประชามติ ให้ กกต. ประกาศผลการออกเสียงประชามติ (มาตรา 256/11 วรรคห้า)

(9) เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน สสร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย (มาตรา 256/12)

(10) ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้คณะรัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภาให้มีมติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้

ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ใช้เวลา 462 วัน ได้รัฐธรรมนูญใหม่  

ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ได้วางกรอบการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ดังนี้

(1) ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. 150 คน และจัดให้มีการคัดเลือก สสร. จากกลุ่มต่างๆ อีก 50 คน

(2) ภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้งและการคัดเลือก สสร. ให้ กกต. ส่งรายชื่อ สสร. ให้ประธานรัฐสภา

(3) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มี สสร. ครบทุกประเภทไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบให้มีการประชุม สสร. ครั้งแรก

(4) ภายใน 240 วัน นับตั้งแต่ประชุม สสร. ครั้งแรก สสร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ

(5) เมื่อ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

(6) ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่รัฐสภาไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. เพื่อดำเนินการจัดออกเสียงประชามติ 

(7) ภายใน 45-60 วัน นับตั้งแต่ กกต. ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติ 

(8) ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่การออกเสียงประชามติ ให้ กกต. ประกาศผลการออกเสียงประชามติ 

(9) เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน สสร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย (มาตรา 256/12)

(10) ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้คณะรัฐมนตรี ส.ส. หรือ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า มีสิทธิเสนอต่อรัฐสภาให้มีมติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้

ร่างแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน ใช้เวลา 450 วัน ได้รัฐธรรมนูญใหม่

ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้วางกรอบการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้ดังนี้

(1) ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มี กกต. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ให้มีการเลือกตั้ง สสร. (มาตรา 261/5 วรรคหนึ่ง)

(2) ภายใน 360 วัน นับตั้งแต่มี สสร. ครบจำนวนตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 261/5 วรรคสอง)

(3) เมื่อ สสร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 261/5 วรรคสาม)

(4) หากรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต. เพื่อดำเนินการจัดออกเสียงประชามติ (มาตรา 261/5 วรรคสี่)

(5) เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน สสร. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”