กับดักเงื่อนไข “การชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาต”

อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากเหตุการณ์ที่สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศ เรื่อง ไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมในวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 (#เสาหลักจะหักเผด็จการ) นั้น ผู้เขียนเห็นว่าประกาศดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่น่าสนใจ มาวิเคราะห์กันครับ 

ตามประกาศที่อ้างว่า “การชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี และเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาต” สามารถพบเห็นเงื่อนไขเช่นนี้ โดยเฉพาะจากฟากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยที่ออกมากำชับการชุมนุมเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาว่าจะต้อง (1) อยู่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย และ (2) ต้องมีการขออนุญาตชุมนุมสาธารณะ  

ประการแรก ผมขอวิเคราะห์เรื่องการขออนุญาตก่อน 

ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ การใช้เสรีภาพในการชุมนุม ไม่จำเป็นต้องขอ กฎหมายกำหนดเพียงให้แจ้งล่วงหน้าก่อน 24 ชม. เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมตัวอำนวยความสะดวกได้ทัน กระนั้นการชุมนุมในสถานที่บางแห่ง เช่น ในสถานศึกษา ผู้จัดอาจจะต้องไปขอใช้สถานที่กับเจ้าของ แต่ถ้าเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยที่คนเข้า-ออก ได้ตามปรกติ มิได้มีการห่วงกัน การไปตีความว่าจะต้องไปขออนุญาตกับผู้บริหารก่อนการชุมนุมถึงจะเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย ผมคิดว่าเป็นการตีความที่ไม่ตรงเจตนารมณ์นัก อีกทั้งยังขัดกับหลักสากล (Human Rights Committee, General Comment No.37 Article 21: Right to Peaceful Assembly, 12 July 2020, UN Doc CCPR/C/GC/37, para 77) คงด้วยเหตุนี้กระมัง รัฐบาลจึงเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เพราะภายใต้ พ.ร.ก.ฯ ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะต้องขออนุญาตในทุกกรณี 

ปัญหาที่น่าคิดประการที่สอง คือ ถ้าตัวกฎหมายนั้นเองเล่ากลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การชุมนุมสาธารณะ อาทิ กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เช่นนี้แล้วประชาชนจะใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายภายใต้กรอบกฎหมายนั้นอย่างไร (ก็ผู้ชุมนุมเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงมีการออกมาเรียกร้องนอกกรอบที่กฎหมายกำหนด) 

ตามหลักสากล การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้นทำได้ แต่จะต้องเป็นการจำกัดผ่านกฎหมาย (ระดับพระราชบัญญัติ) และเป็นข้อจำกัดที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย (necessary in a democratic society) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติอธิบายหลักนี้ว่า ข้อจำกัดที่ว่านี้จะต้องจำเป็นและสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน (necessary and proportionate) ในบริบทของสังคมที่จะต้องรักษาประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ หลักพหุนิยมทางการเมือง หรือพิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee, General Comment No.37 Article 21: Right to Peaceful Assembly, 12 July 2020, UN Doc CCPR/C/GC/37, para 40)

น่าเสียดายยิ่งที่ภายใต้กฎหมายไทย เงื่อนไขและหลักการเหล่านี้ไม่มีปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หลักเหล่านี้เป็นเพียงหลักสากลที่ศาลอาจนำมาปรับใช้ได้ในฐานะหลักสิทธิมนุษยชนทั่วไป (ซึ่งมีศักดิ์ด้อยกว่ากฎหมายภายใน) 

ปัญหาต่อเนื่อง คือ ศาลไทย ก็มีแนวโน้มที่จะมองข้ามการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย (judicial review) มาตรการต่างๆ ของรัฐว่าต้องตามหลักความจำเป็นหรือความได้สัดส่วนหรือไม่ เราจึงเห็นกระบวนการที่กฎหมายมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจอย่างกว้างในการวางข้อกำหนดจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม รวมถึงการตั้งข้อหาเพื่อขัดขวาง หรือปรามแกนนำและผู้ชุมนุม และเมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นแล้ว ศาลท่านก็มักจะพิจารณาความผิดตามคำฟ้องแต่ไม่ได้เห็นว่าการจับกุม การตั้งข้อหา แม้กระทั่งการตั้งเงื่อนไขในการให้ประกันตัว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอยู่ในตัวของมันเอง 

เมื่อโครงสร้างกฎหมายเปิดช่อง ผู้บังคับใช้กฎหมายมีดุลยพินิจมาก ในขณะที่กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายด้อยประสิทธิภาพ ท่านผู้อ่านคงพอจะเดาได้ว่าถ้าสามปัจจัยนี้รวมกัน ผลลัพธ์คืออะไร นี่แหละครับคือสาเหตุที่ผมเห็นว่า “เสรีภาพในการชุมนุมของคนไทยนั้นมีไม่เท่ากัน” 

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม