นักการเมืองชูแก้รัฐธรรมนูญ “ลดอำนาจ ส.ว.-ตั้ง สสร.”

นับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของภาคประชาชนและกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ พร้อมชูประเด็นให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และขานรับโดยฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานชุดเล็กไปจนถึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แม้แต่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางคนก็เริ่มออกมาขานรับการแก้รัฐธรรมนูญ 

โดยจุดร่วมใหญ่ที่สุดในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้คือ การแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเพิ่มมาตราที่ว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้ลดอำนาจของ ส.ว.ชุดพิเศษ ที่มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาทิ อำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

20200810-ilaw

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เสนอตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง

31 กรกฎาคม 2563 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  หรือ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้แถลงข่าวถึงแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นควรให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยให้ สสร. มีจำนวน 200 คน โดยป็นผู้แทนจากจังหวัดต่างๆ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน

โดย กมธ.ชุดดังกล่าว เป็นการขานรับตามนโยบายของทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะต้องมีการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งในสัดส่วนของ ครม. ก็มีตัวแทนของ ส.ว. เข้ามาร่วมด้วยเช่นกัน

ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย เห็นพ้องตั้ง สสร.-แก้ ม. 256

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธาน ส.ส.พรรค ได้แถลงว่า ที่ประชุมพรรคได้รับทราบและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 รวมถึงให้มี สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามที่ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ ได้มีมติไปแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่พรรคคู่ปรับเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย ก็ได้แถลงข่าวในวันเดียวกัน นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ว่า พรรคมีมติให้ดำเนินการยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และจะเพิ่มเติมประเด็นให้มีการตั้ง สสร. ให้เร็วที่สุด พร้อมผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี 

ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 พรรคเพื่อไทยได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคจะเหมือนกับของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ โดยเสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี สสร.

ก้าวไกล-ส.ว.วันชัย มีจุดร่วม เสนอลดอำนาจ ส.ว.

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ได้แถลงข่าวถึงข้อเสนอในการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคว่า มีข้อเรียกร้องอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง เปิดให้มีสมาชิก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยไม่กำหนดวุฒิการศึกษาและมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

สอง ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ถึงมาตรา 272 ซึ่งเป็นเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 5 ปี

สาม ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว มีจุดร่วมคล้ายกับ ส.ว. อย่าง “วันชัย สอนศิริ” ที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีแนวทางตรงกันในการแก้รัฐธรรมนูญต่างเพียงเงื่อนไขและเวลา พร้อมกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่พอจะแก้ได้คือ อำนาจของ ส.ว.ชุดพิเศษของ คสช. ในร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว 

นอกจากนี้ ส.ว.วันชัยยังเสนอให้ยกเลิกตำแหน่ง ส.ว. ของผู้นำเหล่าทัพ 6 คน เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง เพราะมองว่าเป็นการสร้างภาระและสร้างปัญหาให้กับผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงประเด็นองค์กรอิสระ เช่น เรื่องคุณสมบัติและกระบวนการสรรหา เนื่องจากความยากลำบากในการหาคน ในบางองค์กร จนทำให้เกิดกรณีจำเป็นต้องเลือกคนมาดำรงตำแหน่ง เพราะหาตัวเลือกอื่นไม่ได้ 

ภท.-ชทพ.-พปชร. ยังแทงกั๊กแก้รัฐธรรมนูญ

24 กรกฎาคม 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญหลังการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่มีข้อเรียกร้องในการแก้รัฐธรรมนูญว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นไปตามที่กำหนด มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติ พร้อมย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญ

ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พรรคพลังประชารัฐยังไม่มีมติใดๆ ออกมาเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น ในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรองประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เปิดเผยว่า กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ จะยื่นรายงานของ กมธ. สู่ที่ประชุมที่สภาผู้แทนฯ ประมาณวันที่ 9 กันยายน 2563 และหลังจากนั้นพรรคพลังประชารัฐจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 9 สิงหาคม 2563 กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวในที่ประชุมสามัญประจำปี 2563 ว่า พรรคเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และสมควรได้รับการแก้ไข แต่ต้องรอฟังผลการศึกษาของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ จากนั้นพรรคจึงค่อยประชุมพิจารณาหาแนวทางกันอีกครั้ง และพร้อมจะรับฟังความเห็นของประชาชน

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย