ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ ล่ารายชื่อออนไลน์ได้

สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นแนวคิดที่ถูกริเริ่มในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงโดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็ยังคงให้การรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 รับรองสิทธิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 10,000 คน ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภาได้

แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามยุคสมัย ดังนั้น จึงมีความพยายามจากภาครัฐให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน มีร่างกฎหมายอยู่อย่างน้อยสองฉบับที่ปรากฏต่อสาธารณะ ได้แก่ ฉบับที่ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และฉบับคณะรัฐมนตรี โดยจุดร่วมของร่างกฎหมายสองฉบับนี้ คือ การส่งเสริมระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ 

กฎหมายใหม่ เข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์ได้

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ฉบับแรก หรือในปี 2542 จนถึงฉบับปี 2556 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายยังต้องทำผ่านการลงลายมือชื่อบน “กระดาษ” ตามแบบฟอร์มที่รัฐกำหนดพร้อมกับต้องแนบหลักฐานยืนยันตัวบุคคล อาทิ สำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายมือชื่อประกอบ ซึ่งค่อนข้างเป็นภาระและสิ้นเปลืองในยุคสมัยที่ประชาชนสามารถทำธุรกรรมบนระบบอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ของ ครม. และพรรคก้าวไกล จึงต่างก็เปิดช่องทางให้สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนี้

ร่าง พ.ร.บ. ของ ครม. ระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคหก ว่า “ในกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวให้กระทำได้โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อ”

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล ระบุไว้ในมาตรา 13 ที่กำหนดว่า “การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถจัดทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยอย่างน้อยต้องเป็นระบบที่สามารถยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิเข้าชื่อได้”

ทั้งนี้ ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างร่างกฎหมายของ ครม. กับพรรคก้าวไกล คือ “กรอบระยะเวลา” ที่ต้องดำเนินการให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากกฎหมายของ ครม. แค่เปิดช่องทางไว้ว่า ถ้ามีระบบก็สามารถดำเนินการได้ แต่ในร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ได้ระบุไว้ในมาตรา 17 เลยว่า ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมการปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดให้มีระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน ‘สองปี’ นับตั้งแต่วันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ให้ สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนฯ มีหน้าที่อำนวยสิทธิประชาชน

พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ปี 2556 กำหนดหน้าที่ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสามารถช่วยเหลือผู้ริเริ่มเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติได้ แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดทำไว้ แต่ในกฎหมายของ ครม. และพรรคก้าวไกล มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มกรอบระยะเวลาการทำงานเข้ามา ซึ่งอยู่ในมาตรา 7 ของกฎหมายทั้งสองฉบับที่ระบุว่า ให้สำนักงานเลขาธิการฯ ต้องจัดทำร่างให้แก่ผู้ร้องขอภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับคำร้อง และหากไม่เสร็จก็สามารถขยายไปได้รวมไม่เกิน 90 วัน 

แต่อย่างไรก็ดี ในฉบับของพรรคก้าวไกลมีการเพิ่มหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการฯ ขึ้นมาอีก ซึ่งอยู่ในมาตรา 8 โดยระบุให้สำนักงานเลขาธิการฯ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อคนอื่นมาร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และจัดรับฟังความคิดเห็นและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

 

กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ถ้านายกฯ ไม่รับรองใน 90 วัน เป็นอันตกไป

พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 มาตรา 11 กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงิน ประธานสภาผู้แทนราษฏรต้องส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อน แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่นายกฯ จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ แต่ในร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของพรรคก้าวไกล มาตรา 12 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องตอบผลการพิจารณาให้คำรับรองกลับภายใน 180 วัน ส่วนร่างกฎหมายของ ครม. มาตรา 12 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้คำรับรองภายใน 90 วัน แต่ถ้าพ้นเวลาหลังจากนั้นให้ร่างนั้นเป็นอันต้องตกไป

 

หากให้ สนง.รวบรวมรายชื่อแทน ต้องครบหนึ่งหมื่นในหนึ่งปี

ตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 ไม่ได้มีการกำหนดเวลาให้ผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าไร เพียงแต่หากได้รายชื่อตามจำนวนแล้วแต่เมื่อประธานสภาผู้แทนตรวจสอบกลับพบว่าไม่ครบ จะต้องรวบรวมมาเพิ่มให้ครบภายใน 90 วัน

ในขณะที่ร่างกฎหมายของ ครม. กำหนดไว้ในมาตรา 10 ว่า หากให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ รับเป็นผู้รวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถ้าพ้นหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ยังมีจำนวนผู้เข้าชื่อไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน ให้ผู้ที่ยื่นคำร้องดำเนินการให้มีผู้ร่วมเข้าชื่อให้ครบตามจำนวนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง

ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 11 ว่า ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องแจ้งว่าไม่ครบ แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ

 

ร่างของ ครม. ไม่ให้แก้ไขร่างกฎหมายระหว่างล่ารายชื่อ

พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 กำหนดว่า การแก้ไขร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่สามารถแก้ไขได้ เช่นเดียวกับร่างกฎหมายของ ครม. ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 9 ว่า ในระหว่างการเชิญชวนให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายห้ามมิให้มีการแก้ไขหลักการและข้อความในร่างพระราชบัญญัติ

ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับพรรคก้าวไกล ระบุไว้ในมาตรา 9 ว่า ระหว่างเชิญชวนให้เข้าชื่อสามารถที่จะแก้ไขร่างได้ เพียงแต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการเดิมและผู้ที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายรับรองการแก้ไข และรับรองโดยประธานสภาผู้แทนฯ

 

ยุบสภาแล้ว ก็สามารถเสนอร่างกฎหมายอีกครั้งได้

ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของ ครม. ในมาตรา 14 กำหนดว่า ในกรณีที่ร่างกฎหมายต้องตกไปเพราะสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือเกิดการยุบสภา ผู้ร่วมเข้าชื่อยังสามารถเรียกให้มีการพิจารณาร่างต่อไปได้ ภายใน 120 วัน นับแต่มีการประชุมสภาครั้งแรก ในขณะที่ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล กำหนดให้ผู้เสนอกฎหมายเสนอต่อสภาใหม่ได้ ภายใน 90 วัน หลังประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งแรก (หลังการเลือกตั้งทั่วไป)

 

การตรวจสอบหลักการและเอกสารหลักฐานต้องทำภายใน 45 วัน

ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2556 กำหนดให้การตรวจสอบความถูกต้องของร่างนั้น แบ่งเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง การตรวจสอบในหลักการและเนื้อหาของกฎหมายว่าอยู่ในหมวดที่ประชาชนสามารถเสนอได้หรือไม่ ถ้าหากหลักการในร่างไม่ถูกต้องประธานรัฐสภาจะแจ้งให้ผู้ริเริ่มทราบภายใน 15 วันนับแต่ได้รับร่างกฎหมาย และส่วนที่สอง คือ การตรวจสอบหลักฐานและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องทำให้แล้วเสร็จใน 45 วันนับตั้งแต่ยื่นกฎหมายต่อประธานสภา

ในร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ยังคงแบ่งขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องไว้สองส่วน แยกขั้นตอนการตรวจสอบหลักการของกฎหมายกับการตรวจสอบเอกสารหลักฐานออกจากกัน โดยให้ตรวจสอบหลักการของกฎหมายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีผู้ยื่นริเริ่มก่อนรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย โดยจะขยายกรอบเวลาการพิจารณาออกไปได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน ส่วนการตรวจสอบหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยังคงกำหนดกรอบเวลาเหมือนเดิม คือ 45 วัน

แต่ในร่างกฎหมายที่ ครม.บัญญัติให้การตรวจสอบทั้งหลักการของร่างกฎหมายและหลักฐานความถูกต้องของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในคราวเดียว โดยกำหนดเวลาในการตรวจสอบไว้ที่ 45 วันนับตั้งแต่มีการเสนอร่างต่อประธานสภา

 

กฎหมายที่ค้างอยู่หรือตกไปในยุค สนช. หยิบมาพิจารณาใหม่ได้

ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของ ครม. ในมาตรา 18 กำหนดให้ร่างกฎหมายที่ดำเนินการไปแล้วตาม พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ปี 2556 ยังคงดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และในมาตรา 19 ยังระบุด้วยว่า ร่างที่ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้แล้ว หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลง ก็ยังให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา