ส.ว.เห็นชอบ ‘บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์’ เป็นศาลรัฐธรรมนูญ

13 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ทำให้ขณะนี้ตุลากาลศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีครบองค์คณะ 9 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว

ในวาระการพิจารณา พลเอก อู้ด เบื้องบน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.ได้ทำการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและจริยธรรมของบรรจงศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตำแหน่งที่ว่างลง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้วและได้เสนอรายงานเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาได้พิจารณาเป็นการล่วงหน้า อีกทั้งได้ขอให้มีการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานลับของ กมธ.ที่เสนอต่อที่ประชุม

หลังการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวและออกเสียงด้วยวิธีลงคะแนนลับ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้บรรจงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 206 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง

ดังนั้น จึงถือว่าบรรจงศักดิ์ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือไม่น้อยกว่า 125 คะแนน เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

ขั้นตอนต่อไปประธานวุฒิสภา จะนำชื่อของบรรจงศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

ภูมิหลัง

ก่อนหน้านี้ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว. ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน ดังนี้

1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง

2. วิรุฬห์ เสียงเทียน ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง

3. จิรนิติ หะวานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง

4. นภดล เทพพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

นอกจากนี้ที่ประชุมวุฒิสภายังมีการลงมติไม่เห็นชอบให้ ชั่งทอง โอภาสศิรวิทย์ ตัวแทนจากศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ด้วยคะแนนเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง

หลังจากนั้น วันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเอกฉันท์เลือก บรรจงศักดิ์ เพื่อส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่ชั่งทอง โอภาสศิรวิทย์  

สำหรับในการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนทั้งสิ้น 11 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้ให้ความยินยอมที่จะไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 คนเท่านั้น คือ บรรจงศักดิ์

ทั้งนี้ ประวัติการศึกษา บรรจงศักดิ์ จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ในส่วนของประวัติการทำงาน เริ่มต้นชีวิตในสายตุลาการศาลปกครองเมื่อปี 2544 โดยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น และได้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ในปี 2552 ก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในปี 2555 จนกระทั่งในปี 2561 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด

You May Also Like
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ
อ่าน

เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการ สว. 67 อย่างน้อย 67 คน โหวตเห็นชอบ 

ช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 จะเริ่มมีการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนที่ สว. ชุดพิเศษ แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ อย่างไรก็ดี สว. 2567 ที่มีที่มาจากการเลือกกันเอง ก็ยังคงมีอำนาจอื่นๆ อยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะอำนาจในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)