นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ – สามัญชนผู้ใฝ่ฝันถึงรัฐสวัสดิการ เพื่อลบล้างมรดกความจนให้หายไป

ในภาวะวิกฤติจากสถานการณ์โควิดที่ทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แต่การช่วยเหลือจากภาครัฐกลับไม่สามารถเข้าถึงผู้เดือดร้อนได้ครอบคลุมทั้งหมด เสียงเพรียกหาสวัสดิการถ้วนหน้าจึงยิ่งดังขึ้น และ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ wefair คืออีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่มุ่งขับเคลื่อนผลักดันแนวคิดรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ในวัยดรุณ นิติรัตน์ลงสนามต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนและเขื่อนปากมูล เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาเบนเข็มเข้าทำงานสายภาคประชาสังคมเต็มตัว กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทำงานเคียงข้างสมัชชาคนจนและกลุ่มอื่นๆ ก่อนที่ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขาไม่รีรอที่จะกระโดดเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานเบื้องหลังเวที คอยจัดคิวให้วิทยากร ปราชญ์ชาวบ้านจากเครือข่ายภาคประชาชนขึ้นพูด

กระทั่งปี 2551 เขาเป็นหนึ่งในผู้นำที่พาผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ บุกเข้าไปในพื้นที่สถานีโทรทัศน์ NBT เพื่อหวังให้แสงสปอตไลท์ฉายมาที่ขบวนการเพื่อกดดันรัฐบาล ไม่นาน เขาเดินออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือน เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 

83849351_2901817313171989_3713295103394054144_o

ในวันนี้ ไผ่ – นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ไม่ได้หายไปไหน เขายังคงอ่านเขียน รับเป็นวิทยากร รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น เขายังกระโดดลงมาเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนแนวคิดรัฐสวัสดิการให้กับ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและความเป็นธรรม หรือ wefair เพื่อผลักดันให้แนวคิดรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเป็นจริงในสังคมไทย 

เบื้องล่างนี้คือบางส่วนของหยาดเหงื่อ ความฝัน และศรัทธาต่อพัฒนาการทางสังคมที่เขาอาจอยู่ไม่ทันเห็น แต่นั่นอาจไม่สำคัญกับตัวเขาเลย เพราะบางช่วงตอนในจดหมายที่เขาเขียนถึงรุ่นน้อง ไผ่-ดาวดิน บ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า “…ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาปลดปล่อย ไม่มีพระเจ้าองค์ใดมาโปรดสัตว์ให้พ้นจากบ่วงทุกข์ มีเพียงการต่อสู้ของสามัญชนเท่านั้น จะสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” 

เริ่มสนใจประเด็นรัฐสวัสดิการตั้งแต่เมื่อไร

ช่วงเรียน ปวช. ช่างไฟฟ้าที่เทคโนฯ พระจอมเกล้า ตอนนั้นประมาณปี 2530 รุ่นพี่ใน สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนทท.) ก็มาเกณฑ์รุ่นน้องไปประท้วงช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เคลื่อนไหวและทำงานมาตั้งแต่สมัยนักศึกษา 

ช่วงปี 2 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 5) ผมก็ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร และรองเลขาของ สนทท. เริ่มมีการพูดถึงกันเรื่องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐสวัสดิการก็เป็นเรื่องหนึ่งในนั้น ที่มีความสำคัญและมีการพูดถึง แต่เหตุผลที่ทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างจริงจัง มีสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองของไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและอำนาจที่อยู่กับชนชั้นนำ บวกกับระบบการเมืองที่ล้มเหลว จึงนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

ดังนั้น สิ่งที่น่าจะคลี่คลายความขัดแย้งนี้ได้คือการสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะมันจะทำให้การปะทะกันของความขัดแย้งในสังคมลดลง แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่แค่การถกเถียงเชิงประเด็น แต่เป็นเรื่องของการออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมเสียใหม่ ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ไปพร้อมกัน และยังรวมถึงการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน ที่คอยมาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ 

ประเด็นที่สอง แนวคิดรัฐสวัสดิการจะทำให้ขบวนการภาคประชาชนหลอมหลวมกันเป็นหนึ่งเดียว ขบวนการทางสังคมเติบโตขึ้นมากหลังยุค พล.อ.เปรม ไม่ว่าจะเป็นขบวนการชาวนา ขบวนการนักศึกษา หรือกลุ่มแรงงาน แต่การขับเคลื่อนที่แตกเป็นรายประเด็น ทำให้ขาดจินตนาการทางสังคมร่วมกัน ผมจึงคิดว่าแนวคิดรัฐสวัสดิการน่าจะทำให้ขบวนการภาคประชาชนขับเคลื่อนร่วมกันได้ 

ผมเลยพยายามเข้าไปขายความคิดนี้กับขบวนการต่างๆ ทำให้เห็นได้ว่าในช่วง 4-5 ปีมานี้มีการพูดคุยในเรื่องนี้กันเยอะขึ้น กระทั่ง เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและความเป็นธรรม หรือ wefair เกิดขึ้นในที่สุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ส่วนเบื้องหลังมากกว่านั้นคือ ช่วงที่ผมอยู่ในเรือนจำ (กรณีบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBT กับกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551) แดน 8 นักโทษส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ผิดเรื่องลักทรัพย์แบบผิดแล้วผิดอีก เข้า-ออกเป็นสิบยี่สิบครั้ง บางคนยังวัยรุ่นอยู่เลย ผมเคยถามพวกเขาว่า “ทำไมมึงถึงเข้า-ออกอยู่แบบนี้ ?” เขาก็ตอบกลับมาว่า “พี่ คนเราต้นทุนไม่เหมือนกัน” ผมก็ “เออ จริงเว้ย” 

ทำให้ผมคิดว่าลำพังถ้าคนเรามีหลังให้พิง มีกันชนทางเศรษฐกิจ ครอบครัวมีสวัสดิการที่รัฐพอจะตอบสนองให้เขาได้บ้าง เรื่องอย่างการลักทรัพย์น่าจะลดลง ดังนั้น พอออกมาแล้วจึงตั้งใจว่าจะผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ 

มองว่าสังคมไทยมีพัฒนาการความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการ อย่างไรบ้าง

เอาเป็นว่า 5 ปีที่แล้ว รัฐสวัสดิการยังถูกมองว่าเป็นเรื่องซ้ายจัดอยู่เลยนะ ยิ่ง 10 ปีที่แล้ว คนยิ่งมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เขามองว่ารัฐสวัสดิการเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ไม่น่าจะมีอยู่ในสังคมไทยด้วยซ้ำ

แต่ประมาณเดือนธันวาคม (2562 – ผู้เขียน) ช่วงใกล้ๆ การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (24 มีนาคม 2563 – ผู้เขียน) มีการค้นหาคำว่า รัฐสวัสดิการ ในกูเกิล เทรนด์เยอะมาก นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าการที่พรรคอนาคตใหม่และพรรคสามัญชนประสานเสียงกันพูดเรื่องรัฐสวัสดิการ กดดันให้พรรคใหญ่ต้องหันมาพูดเรื่องนี้ เพราะกลัวจะตกขบวน

อย่างไรก็ตาม ถ้าระยะเวลาบริหารที่ผ่านมา 1 ปี พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เราจะไม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 ที่วิกฤตถึงขนาดนี้ เพราะประชาชนจะมีหลังผิง มีกันชน ถึงล้มก็เหมือนมีตาข่ายรองรับอยู่ พรรครัฐบาลเขาชัดเจนมาตลอดอยู่แล้วว่าอยู่ฝั่งไหน แต่น่าเสียดายที่แม้แต่พรรคอนาคตใหม่เองก็ไม่ขยับเรื่องรัฐสวัสดิการให้มากกว่านี้ 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้เป็นพัฒนาการในการขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการและมันเป็นดัชนีที่อาจบ่งบอกได้ว่า เรากำลังต้องการสวัสดิการสังคมเพื่อที่จะทำให้ผลลัพธ์ของระบบทุนนิยมอย่าง ภาวะรวยกระจุกจนกระจาย หรือมรดกความยากจน มันเปลี่ยนไป รัฐสวัสดิการมันจะทำให้ระบบทุนนิยมที่มีอยู่ มันเดินหน้าไปได้ต่อ 

ช่วงหลังมานี้ ประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงเพิ่มขึ้นมากในสังคมไทย โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้สะท้อนปัญหาของสังคมเราอย่างไรบ้าง 

ผมคิดว่าโควิด 19 ทำให้มายาคติที่เคยมีในสังคมไทยจางบางลง เรื่องแรกคือ งบประมาณ ถ้าเราไม่มีเงินพอ รัฐบาลจะกู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาจากไหน โควิด 19 ก็ทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ประเทศเรามีทรัพยากรเพียงพอไหม มีเงินไหม แต่คำถามต่อมาคือ ประเทศนี้ให้ความสำคัญกับอะไรลำดับแรก ลองคิดดูว่าการมัวไปโฟกัสว่าใครควรได้หรือไม่ได้รับเงินเยียวยา ทำให้ต้องเสียงบประมาณในการสำรวจ คัดกรองคนเข้าสู่ระบบไปเท่าไรต่อเท่าไร

อีกประเด็นหนึ่ง โควิด 19 ส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศเลือกนำแนวคิด เงินเดือนให้เปล่า (Universal Basic Income) มาใช้ เพียงแต่อาจจะมีวิธีการจ่ายแตกต่างกันไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลทุกประเทศก็ต้องการเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทำให้ผมคิดว่าหลังวิกฤตโควิด 19 ฐานคิดนโยบายแบบเสรีนิยมและระบบทุนนิยมจะถูกท้าทายมากขึ้นแน่นอน และเมื่อมันถูกตั้งคำถาม มันจึงเป็นเวลาที่เราต้องเบียดแทรกความคิดรัฐสวัสดิการเข้าไปในสังคมให้ได้ 

สำหรับประเทศไทย วิกฤตโควิด 19 เหมือนเป็นวิกฤตที่ซ้อนอยู่ในวิกฤตอีกทีหนึ่ง แต่เดิมเรามีวิกฤตความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แรงงานรายได้ต่ำแต่ทำงานหนัก สหภาพแรงงานไม่ได้รับการสนับสนุน การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมเกิดได้ยาก ดังนั้น พอโควิด 19 เข้ามา มันจึงเหมือนฝีแตกที่ทำให้วิกฤตชัดเจนมากขึ้น และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะดีกว่าระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้หรือไม่อย่างไร 

wefair มีข้อเสนอถึงแนวคิดรัฐสวัสดิการอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 8 ข้อเสนอ ดังนี้ 

  1. เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า เด็กแรกเกิดจนถึง 0-6 ขวบ ต้องได้เบี้ยเด็ก 600 บาทครบทุกคน ปัจจุบันเด็กที่มีช่วงอายุเท่านี้มีอยู่ประมาณ 4.2 ล้านคน แต่มีผู้ที่ได้รับเพียง 1.4 ล้านคน หายไป 2.8 ล้านคน เพราะว่าตัวระบบมีข้อแม้ว่าจะให้แต่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี นอกจากนี้ ยังมีคนที่ควรจะได้แต่ไม่ได้อีกราว 6 แสนคน เพราะข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์
  2. การศึกษาถ้วนหน้า เรียนฟรีมีคุณภาพ ถึงแม้ว่าการเรียนฟรีได้ถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ตอนนี้มันก็ยังเรียนฟรีไม่จริง เราอยากผลักดันให้เด็กไทยเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาตรี รวมถึงต้องมีเงินสนับสนุนการพัฒนาทักษะตามช่วงวัย และต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปด้วย 
  3. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีคุณภาพเท่าเทียม เรามีข้อเสนอให้ยุบรวมกองทุนประกันสังคม กองทุนบัตรทอง และกองทุนข้าราชการเพื่อพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ
  4. ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เราเสนอว่ารัฐบาลควรจะจัดบ้านให้เช่าในราคาถูก ลดดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยไม่เกินร้อยละ 2 จัดหาที่ดินให้เกษตรกร ดทำภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน ฉโนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน
  5. งานและหลักประกันรายได้ ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำตามระดับเงินเฟ้อ และอายุการทำงาน เราเสนอให้ปรับค่าจ้างเป็นรายปี มีโครงสร้างค่าจ้างเหมือนโครงสร้างของข้าราชการ รวมถึงสิทธิลาคลอด 180 วัน
  6. ประกันสังคมถ้วนหน้า เราเสนอให้แรงงานทุกคนมีประกันสังคม ตอนนี้แรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน เข้าสู่ประกันสังคมแค่ราว 3 ล้านคน เราเสนอให้รัฐออกค่าประกันสังคมให้แรงงานนอกระบบเดือนละ 100 บาท 3 เดือนจะตกอยู่ราว 6 พันล้านบาท ไม่ใช่จำนวนเงินที่มาก และทำให้พวกเขาจะมีสิทธิประกันสังคมและมีหลักประกันในชีวิต 
  7. บำนาญถ้วนหน้า ตอนนี้ไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน ปัจจุบันได้ตามสิทธิที่ 600-1,000 บาท ตามขั้นบันไดอายุ เราเสนอให้ทุกคนได้ตามสิทธิ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
  8. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ
    – เบี้ยคนพิการถ้วนหน้า ตอนนี้ไทยมีคนพิการราว 2 ล้านคน รัฐมีเบี้ยให้คนละ 800 บาท แต่สำหรับคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมีอายุต่ำกว่า 18 ปี กำลังจะได้เพิ่มเป็น 1,000 บาท เราเสนอว่าทุกคนควรได้อย่างเท่าเทียมกัน
    – เราสนับสนุนว่า ให้การข้ามเพศต้องถือเป็นสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
    – พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ
    – ชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ต้องได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และบริการสาธารณะอื่นๆ
    – ยกเลิกหลักสูตรที่สร้างอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น กายภาพของบุคคล
    – พัฒนาการศึกษาที่ส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตย
    – ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชน

ข้อเสนอข้างต้นจะใช้เงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และ wefair มีข้อเสนอในเรื่องการปฏิรูประบบภาษีซึ่งจะหาเงินมาได้พอดี ดังนี้
          – ลดสิทธิประโยชน์ภาษีการลงทุน หรือ BOI ประมาณ 240,000 ล้านบาท ในปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินล่อให้คนมาลงทุนแล้ว นอกจากนี้ประเทศเรายังพยายามใช้วิธีการพัฒนาทุนในแบบเดิม เช่น สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเชิญชวนให้คนลงทุนด้วยการแจกเงิน
          – ปรับปรุงการลดหย่อนและยกเว้นภาษี ประมาณ 100,000 แสนล้านบาท คนส่วนมากที่เข้าถึงสิทธิการลดหย่อนภาษีเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยระดับร้อยละ 10 ของประเทศ ดังนั้น ถ้าเราลดส่วนนี้ก็จะได้เงินส่วนนี้กลับมา
          – ภาษีผลได้จากทุนเป็นจากกำไรการซื้อ-ขายหุ้น ภาษีส่วนนี้บ้านเรายังไม่มี เราขอร้อยละ 30 จะได้มาประมาณ 150,000 ล้านบาท
          – ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  ประมาณ 150,000 ล้านบาท กฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วแต่ถูกเว้นการบังคับใช้ เราเสนอให้ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเก็บจากส่วนเกิน 10 ไร่ ถ้าเป็นเพื่อการเกษตรกร 20 ไร่ เริ่มต้นไร่ละ 2000 บาท/ปี
          – ภาษีมรดก ลดการยกเว้นภาษี ปรับอัตราภาษีขั้นต่ำ และจัดเก็บในอัตราสูงขึ้น 10,000-50,000 ล้านบาท
          – ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 35 ประมาณการราว 50,000 ล้านบาท
          – ปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม ประมาณการราว 180,000 ล้านบาท
          – ระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการราว 220,000 ล้านบาท
          – ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการราว 63,000 ล้านบาท
          – บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณการราว 40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เรายังเสนอให้ประชาชนทุกคนต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลทางรายได้ของประชาชน เพื่อให้รัฐจัดทำ BIG DATA เพื่อดูแลสวัสดิการประชาชน

จริงๆ แล้ว wefair วาดภาพรัฐสวัสดิการในประเทศไทยไว้ว่าอย่างไร

จริงๆ แล้ว รัฐสวัสดิการมี 3 รูปแบบ 

รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม เช่น สหรัฐอเมริกา โดยรัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดต่ำมาก เน้นให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง ซื้อประกันชีวิตกับบริษัทเอกชนเอาเอง รัฐบาลจะดูแลผ่านรูปแบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม 

รูปแบบประกันสังคม หรือรัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยม เช่น เยอรมนีและญี่ปุ่น รัฐจะเข้าแทรกแซงกลไกตลาดในระดับปานกลาง ก็จะคล้ายๆ ระบบประกันสังคมของไทยที่มีการสมทบจ่ายจากทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐร่วมกัน ซึ่งคนที่จะตกหล่นส่วนมากคือ แรงงานนอกระบบ

รัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า หรือสังคมประชาธิปไตย อาทิ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย กลุ่มนี้จะมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสิทธิ รัฐจะเข้าแทรกแซงกลไกตลาดมากและข้อมูลของประชาชนมากพอสมควร แต่เมื่อเข้ามาแทรกแซงระดับนี้ก็จำเป็นต้องมีภาคแรงงาน ภาคประชาสังคมที่คอยถ่วงดุลรัฐ รัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่การจัดหาให้ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐใหม่ด้วย 

ในประเทศไทยตอนนี้ใช้ทั้ง 3 รูปแบบ แต่ wefair อยากให้เน้นหนักไปในรูปแบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างไรก็ตาม หลายคนเถียงว่ารัฐสวัสดิการในยุโรปมีบริบทและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มานานกว่าจะเป็นเหมือนทุกวันนี้ ไม่ใช่จู่ๆ มันจะเกิดก็เกิดเลย แต่ผมคิดว่าเขามองจังหวะในการขับเคลื่อนคนละมุม เพราะสิ่งที่เราอยากเห็นและอยากเป็น ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น มันก็ต้องปรับตามบริบทต่างๆ แต่แกนหลักที่เราอยากเห็นคือ หลักการถ้วนหน้า ที่มองให้สวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิ 

มองว่าอะไรคือความท้าทายที่ทำให้สังคมไทยไปไม่ถึงรัฐสวัสดิการเสียที

ผมมองว่าเป็นเรื่องมายาคติ ข้อแรกคือมายาคติที่ว่ารัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ ซึ่งผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับการมองความยากจนว่าเกิดขึ้นจากความขี้เกียจด้วย สังคมไทยมองคนจนว่าขี้เกียจ ใช้เงินไม่เป็น และมองว่าความยากจนเกิดจากตัวบุคคล

อย่างตอนที่ผมไปเป็นวิทยากรอบรมเคยถามผู้เข้าร่วมว่า “ความจนเกิดจากอะไร?” และให้เลือกระหว่าง กรรมเก่า ความขี้เกียจ และไม่มีการศึกษา พวกเขาบอกว่าไม่ใช่กรรมเก่าหรอก แต่ขี้เกียจกับไม่มีการศึกษาอาจมีส่วน 

ทีนี้ผมถามต่อว่า “แล้วความจนเริ่มขึ้นเมื่อไร” เขาก็พูดกันว่าตั้งแต่เกิด แสดงว่าความจนเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และที่เขาพูดว่าไม่มีความจนในหมู่คนขยัน ลองดูชาวนาภาคกลางสิ ระยะเวลา 2 ปี ลงนากัน 5 ครั้ง แต่ทำไมหนี้ยังเยอะอยู่เลย เพราะฉะนั้น ความจนมันส่งต่อกันเป็นมรดกและระบบที่เราอยู่มันเอื้อให้คนด้านบนรักษาระดับของตัวเอง ขณะที่คนข้างล่างก็รักษาระดับตัวเองเช่นกัน 

รัฐสวัสดิการมันไม่ใช่ว่าเอาเงินแจกคนแล้วจะทำให้คนขี้เกียจ แต่มันเป็นการแก้ปัญหาการส่งต่อความยากจนมากกว่า และการที่รัฐจัดสวัสดิการสังคมให้ประชาชน มันก็ช่วยลดความพะวงในความมั่นคงของชีวิตเขา ซึ่งอาจช่วยให้การทำงานสร้างสรรค์ขึ้นด้วยซ้ำ 

มายาคติที่สอง รัฐสวัสดิการต้องสร้างในประเทศที่ร่ำรวย แต่อย่างรัฐสวัสดิการในยุโรปก็เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และรายได้ประชาชาติตอนนั้นต่ำกว่าประเทศไทยในตอนนี้มาก นอกจากนี้ อันที่จริงรัฐสวัสดิการในประเทศไทยก็เกิดขึ้นแล้วอย่าง หลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง

เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญคือ มายาคติที่บอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นซ้ายบ้าง ทำไม่ได้ในประเทศไม่ร่ำรวยบ้าง ตรงนี้มากกว่าที่เป็นตัวสกัดไม่ให้แนวคิดนี้เกิดขึ้น

จำเป็นแค่ไหนว่าแนวคิดเรื่อง รัฐสวัสดิการ ต้องถูกใส่ลงไปในรัฐธรรมนูญ 

จำเป็นมาก ผมกำลังนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 มาเปรียบเทียบกันในเรื่องเนื้อหาสวัสดิการสังคม ตอนนี้ยังทำไม่เสร็จดีแต่พอเห็นเค้าโครงว่า ในมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าถูกทำให้ถดถอยและหันไปเน้นเชิงสงเคราะห์มากขึ้น อาทิ มีการใช้คำว่า ผู้ยากไร้ กำกับไว้ในเกือบทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม

อย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้มีการระบุเรื่องเรียนฟรีเอาไว้ ทำให้การศึกษากลายเป็นสวัสดิการที่ทุกคนเข้าถึงได้ และถ้าหากเรามาดูสถิติจะเห็นว่า เมื่อมีการระบุให้เป็นสิทธิแบบนี้แล้ว จำนวนเด็กที่เข้าเรียนต่อจนถึงมัธยมปลายเพิ่มขึ้นมาก ชัดเจนว่าคนจนที่เข้าถึงการศึกษาได้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญและนโยบายสวัสดิการสังคม เช่นเดียวกับการระบุให้มีสวัสดิการสาธารณสุข ที่ทำให้จำนวนคนจนที่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน 

เพราะฉะนั้น เมื่อเราต้องการให้รัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงช่วยในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐ มันจึงยิ่งมีความสำคัญที่จะต้องระบุเรื่องของเนื้อหาสวัสดิการสังคมเอาไว้ให้เป็นสิทธิ และมีคำว่าถ้วนหน้ากำกับไว้ 

ทำไมสังคมเราถึงสนับสนุนการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ มากกว่าถ้วนหน้า 

ผมคิดว่ามันเกิดจากสังคมเราที่มองว่าต้นตอของความจนเป็นความผิดของบุคคล ทำให้มีการแก้ปัญหาแบบเป็นคนๆ แก้เฉพาะส่วนไป ซึ่งเรา (wefair – ผู้เขียน) ก็ไม่ปฎิเสธการช่วยเหลือประชากรกลุ่มเฉพาะแบบนี้ คนพิการ ผู้สูงอายุเราก็ต้องช่วย 

แต่ฐานคิดสงเคราะห์มันมาพร้อมการช่วยเหลือแบบคนดีมีศีลธรรม เปรียบให้เห็นภาพเหมือนเวลาคนจมน้ำก็โยนห่วงยางให้ แต่ว่าหลังจากนั้นเขาจะว่ายน้ำเป็นไหม มันก็ไม่เป็นไง มันแก้แค่ปัญหาเฉพาะหน้าของปัจเจก เพราะฉะนั้น การทำสังคมสงเคราะห์จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้เลย

รัฐสวัสดิการมีขอบเขตตรงไหนบ้างไหม

ถ้าถามแบบนี้ ผมคงต้องขอคำถามกลับไปละกันว่า การพัฒนาประเทศแบบเน้นหลักการเสรีนิยมแบบที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มทุนได้กำไรโดยไม่มีขอบเขตเหมือนกันไหม เราเคยคุยกันไหมว่า ตรงไหนเราควรพอ และตรงไหนที่เราควรแบ่งปัน

รัฐสวัสดิการคือการสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกื้อหนุนให้ประชาธิปไตยในประเทศเราสมบูรณ์มากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ 

ดังนั้น เวลาเราพูดถึงรัฐสวัสดิการจะเห็นว่าเราไม่ได้พูดเรื่องขอเงินอย่างเดียว แต่เราพูดถึงกระบวนการ ที่มาของเงิน และการต่อรองต่างๆ ทั้งจากภาคประชาสังคม ภาคแรงงาน พรรคการเมือง เพื่อทำให้ตรงนี้มันเกิดขึ้น 

คิดว่าก่อนตัวเองจากโลกนี้ไป จะได้เห็นพัฒนาการของรัฐสวัสดิการในไทยในด้านไหนอีกบ้างไหม

หลังสถานการณ์โควิด ถือเป็นโอกาสสำคัญของการสร้างแนวคิดรัฐสวัสดิการให้ลงหลักปักฐาน กล่าวคือ สถานการณ์โควิดทำให้แนวทางเสรีนิยมใหม่ถูกท้าทายอย่างสำคัญ ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะกลับมาดูแลสวัสดิการของประชาชน การพัฒนาระบบสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึง การพัฒนาระบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า UBI

พัฒนาการรัฐสวัสดิการในประเทศไทยก็เช่นกัน เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรายนโยบายสวัสดิการในแต่ละด้านอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในแง่การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมเช่นในกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการก็เป็นเรื่องท้าทาย เราคงต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม การพัฒนาระบบสหภาพแรงงานเพื่อสังคม และการสร้างสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย

ผมเชื่อว่า สังคมไทยไม่สิ้นหวัง คนรุ่นใหม่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ทั้งในแง่การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งโครงสร้างอำนาจนิยมทางวัฒนธรรม ทุกวันนี้เวลาผมเข้าไปดูในทวิตเตอร์จะรู้สึกราวกับเป็นอีกประเทศหนึ่งเลย