‘ปิติพงษ์’ ยื่นสามเรื่อง ขอถอดถอนอดีต สนช. ที่นั่งยาวเป็น ส.ว.

ปิติพงษ์ เต็มเจริญ อดีตโฆษกพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นหนังสือต่อองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบสามองค์กร ได้แก่ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และประธานรัฐสภา ให้ทั้งสามองค์กรส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายและให้สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ 

Pitipong submitted three requests for removal the ex-NIA.

ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคุณสมบัติ ส.ว. 90 คน

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ปิติพงษ์ยื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้จำนวน 90 คนที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข. (1) (3) และ (9) หรือไม่ เนื่องจากถือว่า สมาชิก สนช. ก็เท่ากับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน และยังไม่เคยเว้นวรรคห้าปี

     “มาตรา 108 สมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
     
      ข. ลักษณะต้องห้าม
          (1) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (15) (16) (17) หรือ (18) 
          
          (3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
          
          (9) เคยดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้”

โดยในวันที่ 19 มิถุนายน 2563  รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกมาชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยและมีความเห็นว่า คำร้องดังกล่าวของปิติพงษ์ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ทั้งนี้ เนื่องจากคำร้องเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว. มิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 กำหนดให้ประธานรัฐสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. มีอำนาจในการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาประเด็นสมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ ส.ว. ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจรับคำร้องเรียนนี้ไว้พิจารณาได้ 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ปิติพงษ์ก็ได้ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. อีกองค์กรหนึ่งเพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจากทาง กกต. แต่อย่างใด 

สถานะของ สนช. ตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 มาตรา 6 ได้กำหนดว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560  ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 ก็กำหนดว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ยังคงทําหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทําหน้าที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ตามลําดับ  

นายปิติพงษ์ระบุไว้ในวันที่นำหนังสือไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า เมื่อนำรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมาพิจารณาประกอบกันด้วยแล้ว ปรากฏว่า มี ส.ว. จำนวน 90  คน ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ที่ได้กำหนดไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภาจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ข. คือ (1) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 98 (17)  (3) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น ส.ส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก (9) เคยดํารงตําแหน่ง ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญนี้ 

จึงเห็นได้ชัดว่า เมื่อ สนช. มีสถานะเช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ของอดีต สมาชิก สนช.ก็ต้องถูกนำมาใช้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การแต่งตั้ง ส.ว. จำนวน 90 คนที่เป็นเคยเป็นสมาชิก สนช. และเพิ่งพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปีเศษ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน

คัดค้านการดำรงตำแหน่งของ ‘สุชาติ’ อดีต สนช. นั่งเก้าอี้ ป.ป.ช.

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ปิติพงษ์ได้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีต สนช. ที่ได้รับการเลือกมาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งสมาชิก สนช. มาเพียง 1 ปีเศษ 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุม ส.ว. ลงมติเห็นชอบให้ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า กรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” 

และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสอง ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 263 ก็ได้บัญญัติถึงสถานะของ สนช. ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้น การที่ที่ประชุม ส.ว. ลงมติแต่งตั้งให้สุชาติมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย

ทำงานให้ คสช. เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนตำแหน่งจาก สนช. มาเป็น ส.ว.

เมื่อพิจารณา ส.ว. จำนวน 90 คนที่พ้นจากตำแหน่งใน สนช. แล้วก็ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ล้วนแต่เป็นคนที่  ‘ใกล้ชิด’ กับรัฐบาล คสช. มาแต่เริ่มแรก เช่น ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยตำแหน่ง อันได้แก่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจ หรือ อดีตประธาน สนช. อย่าง พรเพชร วิชิตชลชัย ก็เปลี่ยนมานั่งเป็นประธาน ส.ว. แทน

ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจเพียงแค่การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดอำนาจที่สำคัญของ ส.ว. ไว้มากกว่านั้น รวมทั้งอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรืออำนาจพิเศษที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมรดกของ คสช. อย่างการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. และการกำกับดูแลยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อวุฒิสภา คือ องค์กรที่มีหน้าที่สำคัญมากในการบริหารประเทศ และมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร กลับเต็มไปด้วยบุคคลที่เป็นพวกพ้องของ ‘คสช.’ ย่อมสร้างความไม่พอใจหรือความเคลือบแคลงสงสัยในการบริหารงานให้แก่ประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งสิทธิประการหนึ่งที่ประชาชนอย่างเราจะทำได้คือการยื่นคำร้องเรียนต่อองค์กรที่มีอำนาจขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์