18 วันไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมดหน้าที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ให้มีผลตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างเหตุว่า มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จึงจำเป็นต้องใช้ มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้มาเรื่อยๆ จนขยายไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยอ้างว่า สถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด 

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ รวมทั้งการปิดสถานที่ ปิดกิจการ ปิดการบริการ และการสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ การให้ผู้ใช้บริการเว้นระยะห่าง การให้บริการเจลล้างมือ เป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง จึงเป็นมาตรการที่ต้องใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานการณ์ที่ “จำเป็นจริงๆ” เท่านั้น เมื่อความจำเป็นหมดลงก็ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อ “การดำรงชีวิตโดยปกติสุข” โดยเร็วที่สุด

จากข้อมูลจำนวนการพบผู้ป่วยรายใหม่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) พบว่า ในรอบ 30 วัน นับตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2563 ประเทศไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 111 คน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 101 คน และเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 10 คน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลของ ศบค. ระบุว่า วันสุดท้ายที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ คือ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเมื่อนับถึง 13 มิถุนายน 2563 ก็พบว่า ผ่านไปแล้ว 18 วันเต็ม ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเลย

จากคำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั้งของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างก็ระบุตรงกัน ให้ผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อแยกตัวเองออกจากสังคมเป็นเวลา “14 วัน” ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของเชื้อโรค ดังนั้น เมื่อประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเลยเป็นเวลา 18 วันเต็ม จึงนับได้ว่า ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว

ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้นจำนวน 84 คน เป็นรายงานผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งสิ้น 

ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่จำกัดการใช้ชีวิตของประชาชนภายในประเทศ เช่น การห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว การปิดโรงเรียนและสถานศึกษา การจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการในร้านอาหาร การเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับผู้ใช้บริการต่างๆ จึงเป็นมาตรการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อการควบคุมโรคอีกต่อไป และสมควรที่จะต้องยกเลิก เพื่อคืน “การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน” โดยเร็วที่สุด อันเป็นวัตถุประสงค์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันแรก 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ว่า ประเทศไทยแทบไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมแล้ว ส่วนใหญ่ที่พบก็มาจากต่างประเทศซึ่งภาครัฐมีมาตรการดูแลที่ชัดเจน การกักกันก็มีมาตรฐาน ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามสภาวะปกติใหม่ (new normal) เราจึงไม่จำเป็นต้องทำอย่างเข้มข้นเหมือนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นสังคมก็จะเดินหน้าไม่ได้ 

“แทบจะเรียกได้ว่า หนึ่งเดือนแล้วที่เราปลอดการแพร่ระบาดภายในประเทศ จะมีแต่ผู้ที่กลับมาจากเมืองนอกซึ่งเป็นคนไทย เพราะเรายังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นอยู่ในสภาวะที่มีความสุข โรงพยาบาลมีความสุข เอาอยู่ จริงๆ ชีวิตต้องผันตัวเองไปสู่วิถีเดิมเพียงแต่เว้นระยะห่างเพิ่มขึ้น ชีวิตต้องเดินได้ งานเดินได้ เศรษฐกิจเดินได้”

สำหรับความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยนั้น สามารถป้องกันได้โดยมาตรการที่ทำอยู่แล้ว คือ การตรวจโรคอย่างเข้มข้นจริงจังที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และการแยกกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งมาตรการเหล่านี้สามารถทำได้อยู่แล้วและก่อนหน้านี้ก็ใช้มาตลอดโดยอาศัย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 39-42 โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

             มาตรา 39 ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุสงสัยว่าพาหนะนั้นมาจากท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรที่มีโรคระบาด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
             (1) ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะนั้นๆ จะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             (2) ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             (3) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และห้ามผู้ใดนำพาหนะอื่นใดเข้าเทียบพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             (4) เข้าไปในพาหนะและตรวจผู้เดินทาง สิ่งของ หรือสัตว์ที่มากับพาหนะ ตรวจตราและควบคุมให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะแก้ไขการสุขาภิบาลของพาหนะให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ  ในการนี้ ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะอำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             (5) ห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางซึ่งไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเข้ามาในราชอาณาจักร
             การแจ้งและการยื่นเอกสารของเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะตาม (1) และ (2) และการห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะตาม (5) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
             มาตรา 40  เมื่อรัฐมนตรีประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรคตามมาตรา 8 ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอำนาจดำเนินการเอง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรจากท้องที่หรือเมืองท่านั้น ดำเนินการดังต่อไปนี้
             (1) กำจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค
             (2) จัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้
             (3) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกันคุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กำหนด
             (4) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น หรือที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             (5) ห้ามผู้ใดนำวัตถุ สิ่งของ หรือเครื่องใช้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นสิ่งติดโรคเข้าไปในหรือออกจากพาหนะนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
             มาตรา 41 ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 40 และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
             การกำหนดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
             มาตรา 42 ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายโรคระบาด หรือพาหะนำโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวถูกแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
             ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เดินทางผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

สถิติการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30 วันที่ผ่านมา โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.)

16 พฤษภาคม 2563 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

17 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน เดินทางกลับจากอียิปต์ 2 คน ปากีสถาน 1 คน

18 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน ติดเชื้อในประเทศ

19 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 คน ติดเชื้อในประเทศ

20 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากบาห์เรน

21 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน เดินทางกลับจากฟิลิปปินส์ 1 คน ติดเชื้อในประเทศ 2 คน

22 พฤษภาคม 2563 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

23 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน เดินทางกลับจากอียิปต์ 1 คน อินเดีย 1 คน ติดเชื้อในประเทศ 1 คน

24 พฤษภาคม 2563 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

25 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 คน เดินทางกลับจากรัสเซีย 1 คน ติดเชื้อในประเทศ 1 คน

26 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 คน เดินทางกลับจากคูเวต 2 คน รัสเซีย 1 คน

27 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 คน เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา 2 คน กาตาร์ 1 คน ซาอุดิอาระเบีย 6 คน

28 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 11 คน เดินทางกลับจากกาตาร์ 6 คน คูเวต 4 คน อินเดีย 1 คน

29 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 11 คน เดินทางกลับจากคูเวต 11 คน

30 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย

31 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย

1 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากรัสเซีย

2 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย

3 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย

4 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 17 คน เดินทางกลับจากคูเวต 13 คน กาตาร์ 2 คน ซาอุดิอาเบีย 2 คน

5 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เดินทางกลับจากคูเวต 

6 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่  2 คน เดินทางกลับจากคูเวต 1 คน รัสเซีย 1 คน

7 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 คน เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 คน คูเวต 2 คน อินเดีย 1 คน

8 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 คน เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 คน ปากีสถาน 2 คน สหรัฐอเมริกา 1 คน

9 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 2 คน เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย 1 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน

10 มิถุนายน 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 4 คน เดินทางกลับจากอินเดีย 2 คน มาดากัสการ์ 1 คน ปากีสถาน 1 คน

11 มิถุนายน 2563 ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

12 มิถุนายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 คน เดินทางกลับจากอินเดีย