ขอปลดล็อกการแต่งกายทนายความ ข้ามผ่านข้อจำกัดเรื่องเพศ

10 มิถุนายน 2563 เวลา 11.00 น. ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เข้าพบตัวแทนสภาทนายความ เพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อทนายความ 126 คน เสนอให้แก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มาตรา 20 ซึ่งกำหนดมรรยาทในการแต่งกายของทนายความ

lawyers' dressing

โดย สนส. ได้ให้เหตุผลในการหารือเพื่อพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ กับตัวแทนสภาทนายความ ดังนี้

หนึ่ง ข้อบังคับฯ ได้กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรง อีกทั้งการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวโดยการใส่กางเกงนั้นจะเป็นการแต่งกายที่ผิดข้อบังคับฯ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มีโทษสามสถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ อันเป็นบทลงโทษที่ร้ายแรงเกินสมควร และยังมีช่องโหว่ในทางปฏิบัติที่เปิดให้ทนายความฝ่ายตรงข้ามอ้างอิงข้อบังคับฯ ไปใช้เพื่อโจมตีทนายความหญิง

สอง ข้อบังคับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน การกำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรง เป็นข้อจำกัดในการแต่งกายที่สร้างภาระให้กับทนายความที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง ทั้งในแง่ความปลอดภัย ในแง่ของลักษณะการทำงานของทนายความที่ต้องมีการเดินทาง ในแง่ของข้อกำหนดทางศาสนา และในประเด็นของสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งการสวมกางเกงตามแบบสากลนิยมนั้นก็เป็นการแต่งกายด้วยชุดสุภาพ มิได้ส่งผลกระทบใดต่อการปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความในศาล อีกทั้งยังเป็นปัจจัยลำดับท้ายๆ ที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือเพราะลูกความมักพิจารณาที่ความสามารถของทนายความมากกว่าการแต่งกาย

สาม เมื่อพิจารณาถึงอาชีพอื่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างข้าราชการอัยการ ก็ได้มีระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการอัยการหญิงไว้ในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ก็ยังให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้

สี่ การกำหนดข้อบังคับฯ การแต่งกายโดยยึดจากชุดความคิดที่อิงจากเพศกำเนิด ทนายความเพศชายสวมใส่กางเกงและทนายความเพศหญิงสวมใส่กระโปรงนั้น ไม่สอดคล้องต่อบริบททางสังคมในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี และเป็นการไม่ให้พื้นที่ในการแต่งกายแก่ทนายความที่เป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงได้รวบรวมรายชื่อทนายความ 126 คน มายื่นเพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับฯ เป็นการใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ ได้ โดย สนส. เสนอให้แก้ไขข้อบังคับใช้ถ้อยคำที่มีเนื้อความดังต่อไปนี้

“ทนายความ แต่งกายตามแบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเข่าหรือกางเกงขายาวสีดำหรือสีกรมท่าเข้ม หรือสีสุภาพไม่พับปลายขา รองเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด”

โดย สนส. มองว่า เพียงเท่านี้ก็เป็นการแต่งกายที่สุภาพ เรียบร้อย และเคารพต่อสถานที่แล้ว อีกทั้งยังไม่ขัดต่อสิทธิส่วนบุคคล และยังเป็นการก้าวข้ามผ่านกรอบเพศกำเนิดแบบทวิลักษณ์ (Binary) ที่กำหนดกรอบแก่มนุษย์โดยยึดโยงกับเพศกำเนิดด้วย