ลุ้น! ‘สิระ เจนจาคะ’ พ้นตำแหน่ง ฐานก้าวก่ายข้าราชการ

การไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือไม่กระทำการในลักษณะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ถือเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องปฏิบัติ แต่หลักการดังกล่าวก็ถูกท้าทายอยู่บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณี ‘สิระ เจนจาคะ’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ที่มีปากเสียงกับตำรวจเรื่องการอารักขาดูแลความปลอดภัยระหว่างการลงพื้นที่ว่า จะเข้าข่ายเป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการหรือไม่ ซึ่งจะเป็นผลให้สิระต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีคดีที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำความผิด

ย้อนเหตุการณ์ คลิปวิดีโอ ‘ส.ส.กร่าง’ ตะคอกใส่ตำรวจ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ‘สิระ เจนจาคะ’ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างคอนโดหรูในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งระบุว่า ตนถูก ‘ขู่ฆ่า’ จากการติดตามปัญหาของโครงการดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ‘สิระ เจนจาคะ’ พร้อมคณะเดินทางไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่มีปัญหาในจังหวัดภูเก็ต แต่ทว่ากลับมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เนื่องจากตนมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแต่กลับไม่มีตำรวจคอยดูแล พร้อมทั้งปรากฏเป็นคลิปวิดีโอการโต้เถียงระหว่างทั้งสองฝ่าย

หลังเกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงคลิปวิดีโอการโต้เถียงดังกล่าว สิระให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ขณะที่ไปตรวจสอบการก่อสร้าง พบตำรวจนั่งรับประทานกาแฟอยู่ในสำนักงานก่อสร้างที่มีปัญหา ซึ่งรู้สึกว่า เรามาทำงาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนั่งดื่มกาแฟในที่ดินพิพาทแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว

ต่อมา 19 สิงหาคม 2562 พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม ออกมาตอบโต้ประเด็นตำรวจดื่มกาแฟไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่า เรื่องที่นายสิระให้สัมภาษณ์นั้น ไม่เป็นความจริง ตนเข้าไปนั่งในร้าน เพื่อไปสอบถามสถานการณ์กับตำรวจ 4 นาย ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งเหตุการณ์เป็นไปตามปกติ ส่วนที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดูแล จริงๆ แล้วได้มีการส่งชุดสายตรวจคอยลาดตระเวนและสังเกตการณ์อยู่ ซึ่งสถานการณ์ก็ปกติดี

พรรคฝ่ายค้านยื่นตรวจสอบ “ส.ส.ก้าวก่ายข้าราชการ”

หลังมีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ‘สิระ เจนจาคะ’ ทำให้พรรคฝ่ายค้านจำนวน 57 คน นำโดย ‘การุณ โหสกุล’ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เข้าชื่อผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ‘สิระ เจนจาคะ’ กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 (1) ที่กำหนดว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ” หรือไม่ หากกระทำผิดจริงจะมีผลให้ ‘สิระ’ พ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 101 โดยศาลได้มีการนัดอ่านคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 10 มิถุนายน 2563

“ยังไม่เคยมีคนผิด” ย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีก้าวก่ายข้าราชการ

ถ้าย้อนดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา จะพบว่า คดีเกี่ยวกับการใช้สถานะหรือตำแหน่งตนเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง มีเพียงสองคดี และยังไม่มีคดีไหนที่ศาลวินิจฉัยให้ใครพ้นจากตำแหน่งหรือมีความผิดตามที่กล่าวหา โดยมีรายละเอียดคดีดังนี้

หนึ่ง คดีไพบูลย์ นิติตะวัน ทำความเห็นทางกฎหมายให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเสนอชื่อจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและเคยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ทำความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน อันอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (1) ที่กำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้สถานะหรือตำแหน่งตนเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในการปฏิบัติราชการของข้าราชการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266

ในคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2554 ว่า การกระทำของนายไพบูลย์นั้นทำในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ไม่ใช่ให้ความเห็นส่วนตัว ความเป็นสมาชิกวุฒิสภาของนายไพบูลย์ นิติตะวันจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 119 (5) ประกอบมาตรา 266

สอง คดีกษิต ภิรมย์ ขอให้เร่งรัดดำเนินคดีกับ ทักษิณ ชินวัตร

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ยื่นหนังสือ ‘ลับมาก’ และ ‘ด่วนที่สุด’ ต่อนายกรัฐมนตรีโดยมีใจความให้เร่งดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อันมีข้อสงสัยว่าอาจเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ ทำให้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นฟ้องกษิต ฐานฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (1) ที่กำหนดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งตนเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในการปฏิบัติราชการของข้าราชการ ประกอบมาตรา 268 ที่ให้นำมาตรา 266 มาบังคับใช้กับรัฐมนตรีด้วย อันอาจจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของกษิตสิ้นสุดลงตามมาตรา 182(7)

ในคดีนี้ศาลได้มีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2553 ว่าการเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินตามนโยบายระหว่างประเทศของไทยต่อกัมพูชา เป็นการทำหน้าที่ปฏิบัติราชการต่างประเทศของฝ่ายบริหารแล้ว ไม่เป็นการแทรกแซงการปฏิบัติราชการของฝ่ายตุลาการ ความเป็นรัฐมนตรีของกษิตจึงไม่สิ้นสุดลง

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย