กลไกร้องเรียนทุจริตที่บิดเบี้ยว สู่เส้นทางการปฏิรูปกองทัพ

5 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีการจัดแถลงข่าวกรณี “หมู่อาร์ม” ทหารที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตภายในกองทัพ โดยผู้แถลง คือ วีระ สมความคิด และ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม” และการเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางการปฏิรูปกองทัพ” 

ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม” ได้เล่าถึงกระบวนการทุจริตภายในกองทัพ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ปี 2555 ปี 2560 และปี 2562 โดยลักษณะการทุจริตคือนำชื่อของ ส.อ.ณรงค์ชัยไปลงชื่อเพื่อใช้ในการรับเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ส.อ.ณรงค์ชัยจึงได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อไม่ให้นำชื่อตนไปใช้ในทางที่มิชอบอีก ผลที่ตามมาคือ โดนกลั่นแกล้งเพื่อให้โดน ‘โทษวินัยทหาร’ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 (พ.ร.บ.วินัยทหาร) แม้จะได้พยายามร้องเรียนจนสุดสายบังคับบัญชา ไปถึงผู้บัญชาการทหารบกแล้ว แต่ก็ไร้ความคืบหน้า ต่อมากองทัพได้จัดให้มีระบบเรียกว่า “สายตรง ผบ.ทบ.” ส.อ.ณรงค์ชัยจึงได้ใช้ช่องทางนี้ในการร้องเรียนในประเด็นทุจริตไปยัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ โดยตรง ทว่าการร้องเรียนนั้นไม่ได้ ‘ตรง’ อย่างที่คิด เพราะท้ายที่สุดข้อความที่ร้องเรียนไปยังสายตรง ผบ.ทบ. นั้น ได้ถูกส่งกลับมาให้หน่วย ‘ตรวจสอบกันเอง’

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ส.อ.ณรงค์ชัยได้ตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.วินัยทหารและการปฏิรูปกองทัพ และเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองพยานและให้โยกย้ายตนเองไปสังกัดยังหน่วยงานอื่น ตามขั้นตอนที่กฎหมายระบุไว้สำหรับผู้ชี้เบาะแสการทุจริต

โครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยวและ ‘ช่องโหว่’ ของกระบวนการร้องเรียนทุจริตในกองทัพ

ในวงเสวนา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมไทยที่ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็ง ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้มีอำนาจและผลประโยชน์ร่วมกัน สภาวะดังกล่าวบีบให้คนที่พบการทุจริตนิ่งเฉยไม่ร้องเรียนเรื่องราวทุจริตเพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับความไม่โปร่งใสก็ตาม ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการทุจริตโดยหน่วยงานภายนอกหรือการตรวจสอบจากบุคคลภายในองค์กร

วิโรจน์ชวนตั้งคำถามถึงภาพใหญ่ของการร้องเรียนในประเทศไทยว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการร้องเรียน คือ การพิทักษ์ความซื่อสัตย์สุจริต หรือเป็นการใช้กระบวนการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นเครื่องมือกำจัดบุคคลที่ไม่ต้องการให้อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์อีกต่อไป และหากเป็นกรณีหลัง ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นฝ่ายร้องเรียนไม่ว่าจะร้องเรียนถูกคนหรือผิดคน ท้ายที่สุดแล้วก็จะถูกบีบให้หลุดไปจากองค์กรเช่นกัน โดยการใช้กฎเรื่องวินัยที่ดูเหมือนจะมีความชอบธรรม 

วิโรจน์มองว่า การแก้ปัญหาเรื่องการร้องเรียน ผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต้องเปิดเผยการทุจริตนั้น ต้องมีกระบวนการของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ที่ออกมาร้องเรียนหรือเปิดโปงการทุจริตอย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ และยังเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.วินัยทหาร ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2476 เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่มีข้อความคิดทางสิทธิมนุษยชน ใช้ถ้อยคำที่เปิดกว้างให้ตีความ เอื้อประโยชน์ให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ กำหนดกระบวนการร้องทุกข์ต้องให้ต้องผ่านเวลาไปแล้ว 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจส่งผลต่อหลักฐานได้ ไม่มีกระบวนการคุ้มครองผู้ใต้บังคับบัญชาที่ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา และหากมีการร้องเรียนที่ผิดระเบียบก็อาจถูกลงโทษทางวินัยซ้ำ

การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต้องไม่จำกัดแค่การร้องเรียน ‘สายตรง’

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ได้เสริมว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 278 ได้กำหนดให้ต้องมีการออกกฎหมายที่กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริต ต่อมาได้มีความพยายามที่จะร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตแต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดต่อ และเนื้อหาการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตได้ไปปรากฏในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทั้งการกำหนดให้ย้ายผู้ชี้เบาะแสการทุจริตไปยังหน่วยงานอื่น และการกำหนดให้มีช่องทางการร้องเรียนที่ไม่จำกัดเพียงแต่การร้องเรียนไปยังผู้บังคับบัญชาของตัวเอง

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Oxford ได้ยกตัวอย่างถึงระบบในสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยประสบปัญหาเรื่องการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นกัน จึงได้มีการบัญญัติกฎหมาย military whistleblower protection act เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสในกองทัพไม่ว่าจะเป็นบุคคลในภาครัฐหรือประชาชน โดยผู้ที่ร้องเรียนกองทัพสามารถร้องเรียนได้กับ ส.ส. ส.ว. และผู้ตรวจการแผ่นดินโดยตรง ไม่ต้องร้องเรียนตามสายไปยังผู้บังคับบัญชา และมีการห้ามไม่ให้มีการกลั่นแกล้งผู้ร้องเรียนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ว่าจะอาศัยกระบวนการภายในหรือวินัยตามกฎหมาย

ต้องปฏิรูปกองทัพให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ฟูอาดี้ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณของกองทัพเพื่อปรับตัวไปตามบริบทโลก ภายในระยะเวลา 9 ปี งบประมาณของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาลดลง มีการเพิ่มงบประมาณแก่กองทัพอากาศและกองทัพเรือ ลดของกองทัพบก สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวไปตามรูปแบบของภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่งบประมาณกองทัพบกไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลก กองทัพบกได้รับงบประมาณถึง 50% และกองทัพเรือได้รับงบประมาณในสัดส่วนที่น้อยกว่า อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงสัดส่วนของการจัดงบประมาณว่า เหตุที่กองทัพเรือได้งบประมาณในสัดส่วนที่น้อยกว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่เคยมีเหตุการณ์กบฏนำโดยทหารเรือ และเหตุที่กองทัพบกได้รับงบประมาณในสัดส่วนราวครึ่งเพราะอำนาจของกองทัพบกที่ขยายมากขึ้นจากช่วงเหตุการณ์ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์

ฟูอาดี้กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันรูปแบบของภัยคุกคามได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลก โดยภัยคุกคามสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิม (traditional security threats) ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางทหาร การบุกรุกจากรัฐอื่น ซึ่งกองทัพไทยค่อนข้างเน้นและมีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการสู้รบกันทางโลกไซเบอร์ (Cyber Warfare) การสู้รบโดยอากาศยานไร้คนขับ และภัยคุกคามแบบใหม่ (non-traditional security threats) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ เช่น ปัญหาผู้อพยพ ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ซึ่งฟูอาดี้มองว่า กองทัพไทยต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน จัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และจ้างบุคลากรให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องสามารถรับมือทั้งภัยคุกคามทั้งสองรูปแบบ และต้องจัดสรรงบประมาณกองทัพเรือและกองทัพอากาศให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว เพราะบางปัญหากองทัพอากาศและกองทัพเรือมีความถนัดในการจัดการมากกว่ากองทัพบก