เลือกตั้งซ่อม ลำปาง เขต 4 เดินหน้าภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินทางข้ามจังหวัดไปเลือกตั้งได้

ตามที่ อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส. ลำปาง สังกัดพรรคเพื่อไทย เสียชีวิตลง ทำให้ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนในตำแหน่งที่ว่าง หรือ “เลือกตั้งซ่อม” ภายใน 45 วัน และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2563 เวลา 08.00 – 17.00 นาฬิกา และเปิดรับสมัครผู้สมัครวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม – วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563

โดยมีผู้สมัครทั้งหมด 5 คน ได้แก่

  1. วัฒนา สิทธิวัง จากพรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 1
  2. ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ จากพรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 2
  3. อำพล คำศรีวรรณ จากพรรคพลังท้องถิ่นไท หมายเลข 3
  4. องอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ จากพรรคไทรักธรรม หมายเลข 4
  5. ปทิตตา ชัยมูลชื่น จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ หมายเลข 5         

ส่วนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ตอนแรกวางตัวพินิจ จันทรสุรินทร์ บิดาของอิทธิรัตน์ ให้ลงสมัคร แต่พินิจถอนตัวในช่วงเวลาใกล้ปิดรับสมัคร ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่น่าจับตามองจึงเป็นผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทยแทน

เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกประกาศขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งมีข้อกำหนดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เช่น ข้อจำกัดในการเดินทางข้ามจังหวัด ข้อจำกัดในการรวมตัวและทำกิจกรรมเพื่อหาเสียง รวมทั้งข้อจำกัดในการใช้สถานที่ต่างๆ 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกข้อกำหนดเพิ่มตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นฉบับที่ 8 เพื่อยกเว้นหรือผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ที่มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ กกต. สามารถเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ โดยออกข้อยกเว้นดังนี้

1. ให้ กกต. ใช้อาคารสถานที่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามใช้สถานที่ได้ เช่น โรงเรียน ศูนย์ประชุม เพื่อการรับสมัครเลือกตั้ง การอบรมเจ้าพนักงาน การจัดหน่วยเลือกตั้งและสถานที่นับคะแนน หรือเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งได้

2. ให้ กกต. จัดอบรมเจ้าพนักงาน จัดให้มีการออกเสียงลงคะแนน นับคะแนน และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งโดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ห้ามมั่วสุมประชุมกัน แต่ต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรค เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 เมตร กวดขันให้ผู้ร่วมกิจกรรมใช้หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดสถานที่และล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

3. สำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัดเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้แสดงบัตรประชาชน หรือหลักฐานแสดงสิทธิเลือกตั้งต่อเจ้าหน้าที่ และให้ กกต. มีหน้าที่ออกเอกสารรับรองให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

4. สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งผู้แทนพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ให้เดินทางไปกลับในระหว่างเวลาเคอร์ฟิวได้ด้วย

อย่างไรก็ดี อำนาจพิเศษอื่นๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด เช่น อำนาจในการห้ามการเสนอข่าว ที่อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจโดยสุจริต ก็ยังคงบังคับใช้ไประหว่างการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วย

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย