เปิดรายชื่อ ส.ว. กลุ่มอาชีพ 50 คน ที่เลือกโดย คสช. ตุลาการศาลทหารอยู่กลุ่มสิ่งแวดล้อม!

วุฒิสภาชุดพิเศษทำงานครบรอบการทำงานหนึ่งปีนับแต่ที่เปิดสภาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ซึ่งในจำนวน ส.ว. 250 คนนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มีที่มาแบบพิเศษ โดยหกคนมาจากผู้นำเหล่าทัพต่างๆ และปลัดกระทรวงกลาโหม อีก 194 คนมาจากกระบวนการที่ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นชุดหนึ่ง ไปหยิบเลือกรายชื่อมาจำนวนหนึ่งและส่งให้ คสช. เลือกขั้นตอนสุดท้าย ส่วนอีก 50 คน เรียกว่าเป็น ส.ว. “สายอาชีพ”

ส.ว. สายอาชีพมีที่มาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพหรือทำงานในด้านต่างๆ 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน จากนั้นส่งให้ คสช. คัดเหลือ 50 คน ซึ่งในขั้นตอนแรกคนที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้มีทั้งการสมัครเข้ามาเองหรือโดยคำแนะนำขององค์กรวิชาชีพก็ได้ แต่เมื่อดูจากประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในราชกิจจานุเบกษา ก็ไม่ได้มีการแบ่งประเภทว่า บุคคลใดเป็น ส.ว. กลุ่มอาชีพและประกอบอาชีพใดมา หรือแบ่งแยกว่า ใครเป็น ส.ว. ที่มาจากคณะกรรมการสรรหา

ไอลอว์จึงได้ทำการสืบค้นและแบ่งประเภทตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ ส.ว.ในครั้งนี้ ดังนี้

1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ จำนวนเก้าคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

ขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ เคยเป็นรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา, รองโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา

ปัญญา งานเลิศ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การท่องเที่ยว วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา

พันตำรวจเอก ยุทธกร วงเวียน เคยเป็นผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา

สุชัย บุตรสาระ เคยเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

พลเอก สำเริง ศิวาดำรงค์ เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 3

พลอากาศเอก สุจินต์ แช่มช้อย เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2557 กรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

เฉลิมชัย เฟื่องคอน เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา

ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา เคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การพลังงาน วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

วีระศักดิ์ ภูครองหิน เคยเป็นประธาน กกต. จังหวัดกาฬสินธุ์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ สามคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

เบญจรัตน์ จริยธาราสิทธิ์ เคยเป็นผู้พิพากษาสมทบ

ศุภชัย สมเจริญ เคยเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่างปี 2556 – 2561 ปัจจุบันเป็น รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง, รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญกิจการวุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

ชยุต สืบตระกูล เคยเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดินตาบอดของ กทม. จึงขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ว.) 

3. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ เจ็ดคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

เฉลา พวงมาลัย เคยเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ปัจจุบันเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ทรงเดช เสมอคำ เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การกีฬา วุฒิสภา

หม่อมหลวง สกุล มาลากุล เคยเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านกายอุปกรณ์ (Prosthetic and Orthotic) ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, รองโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา

ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร เคยเป็นอาจารย์หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปัจจุบันเป็นรองโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การศึกษา วุฒิสภา

ออน กาจกระโทก เคยเป็นข้าราชการครู และเป็นประธานคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา, เลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

กำพล เลิศเกียรติดำรงค์ เคยทำธุรกิจส่วนตัว (ประธานกรรมการบริหารบริษัทดีดีบิ้วตี้เฮ้าส์ จำกัด) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

สมเดช นิลพันธุ์  เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัจจุบันเป็น กรรมาธิการ กมธ. ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, รองโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ หกคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

บุญมี สุระโคตร กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

ประมาณ สว่างญาติ กรรมาธิการ กมธ. การแรงงาน วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา

รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน ปัจจุบันเป็นรองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, เลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

ไพโรจน์ พ่วงทอง กรรมาธิการ กมธ. การท่องเที่ยว วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา

อุดม วรัญญูรัฐ กรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา

สำราญ ครรชิต เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การพลังงาน วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา

5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ สี่คน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

ถาวร เทพวิมลเพชรกุล อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองขีดขิน จ.สระบุรี ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การสาธารณสุข วุฒิสภา

บุญส่ง ไข่เกษ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตราด ในปี 2549 และปี 2557 ปัจจุบันเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การสาธารณสุข วุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

วิไลลักษณ์ อรินทมะพงษ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน เคยเป็นนายกสภาสถาปนิก ปัจจุบันเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา

6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว.ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ สามคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

เกียว แก้วสุทอ เคยเป็นอดีตนายก อบต.อินทร์แปลง ตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา

พลเอก สราวุฒิ ชลออยู่ เคยเป็นตุลาการศาลทหารสูงสุดและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ปัจจุบันเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การพลังงาน วุฒิสภา

สุรเดช จิรัฐิติเจริญ เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ปัจจุบันเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา

7. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและผู้ประกอบกิจการอื่นๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว.ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ ห้าคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

เฉลียว เกาะแก้ว กรรมาธิการ กมธ. การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา

ภัทรา วรามิตร เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การพลังงาน วุฒิสภา, รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

ชลิต แก้วจินดา เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาจากภาควิชาชีพ เมื่อปี 2551 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การท่องเที่ยว วุฒิสภา

สาธิต เหล่าสุวรรณ เคยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

อนุศักดิ์ คงมาลัย เคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลทันตแพทย์ ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา, โฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. การท่องเที่ยว วุฒิสภา

8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ หกคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

ทัศนา ยุวานนท์ เคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล จังหวัดนครราชสีมา และยังมีฐานะเป็นแม่ยายผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การสาธารณสุข วุฒิสภา

นิอาแซ ซีอุเซ็ง เคยเป็นนายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กมธ. การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การกีฬา วุฒิสภา

ประภาศรี สุฉันทบุตร เคยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดยโสธรและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

ประยูร เหล่าสายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

เพ็ญพักตร์ ศรีทอง เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการเลือกตั้งในปี 2549 และได้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหา จากภาคเอกชน อีกครั้ง ในปี 2554 – 2557 ปัจจุบันเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส

พลตรี โอสถ ภาวิไล เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การกีฬา วุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

9. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่ง ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ หนึ่งคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

สุรสิทธิ์ ตรีทอง เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน กลุ่ม 1 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา, รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา

10. กลุ่มอื่นๆ ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพนี้ หกคน ได้แก่

กรณีสมัครเอง

จิรดา สงฆ์ประชา เคยเป็นที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา, เลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา

ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา, กรรมาธิการ กมธ. การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา

ศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล เคยเป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วุฒิสภา, รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ กมธ. การกีฬา วุฒิสภา

สุนี จึงวิโรจน์ เคยเป็นทันตแพทย์ ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา วุฒิสภา , กรรมาธิการ กมธ. การสาธารณสุข วุฒิสภา

อมร นิลเปรม เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้ง จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2543 กรรมาธิการ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา, ที่ปรึกษาและกรรมาธิการ กมธ. การคมนาคม วุฒิสภา

กรณีแนะนำจากองค์กร

พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช เคยเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาตอนปี 2551 ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา, กรรมาธิการวิสามัญ กมธ. วิสามัญกิจการวุฒิสภา

 

เคยนั่งในสภาของ คสช. แต่รอบนี้มาเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ

จะเห็นได้ว่า มี ส.ว. ที่ได้รับคัดเลือกจากการแบ่งกลุ่มอาชีพที่เคยทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 3 คน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 4 คน และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 2 คน ซึ่งคนที่เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ในสภาแต่งตั้งของ คสช. ส่วนใหญ่ที่ได้กลับมาเป็น ส.ว. ต่อจะมาจากระบบการสรรหาโดยคณะกรรมการของ คสช. เอง แต่ก็ปรากฏว่า มีส่วนหนึ่งต้องมาเข้ากระบวนคัดเลือกโดยการแบ่งกลุ่มอาชีพ

โดยกลุ่มคนเหล่านี้ใช้ชีวิตในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ทำงานในสภาแต่งตั้ง เช่น คนที่เคยเป็นสมาชิก สนช. ก็ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 เรื่อยมา จึงไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นมาระยหนึ่ง แต่กลับมีคุณสมบัติและได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. ตัวแทนของกลุ่มอาชีพนั้นๆ ตัวอย่างเช่น วีระศักดิ์ ภูครองหิน อดีต สนช. ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ชลิต แก้วจินดา อดีต ส.ว. สรรหาปี 2551 และสมาชิก สนช. ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

คนที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด กลับไม่ได้รับเลือกจาก คสช. ส่วนที่ได้รับเลือกก็ไม่ได้มาจากสายอาชีพนั้นโดยตรง

เมื่อดูจากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพบว่า คนที่ได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละกลุ่มจากระบบการคัดเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพทั้งสิบกลุ่ม เมื่อเข้ารอบสุดท้ายแล้วกลับไม่ได้รับการคัดเลือกจาก คสช.ให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. เลยแม้แต่คนเดียว

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการของ ส.ว.สายอาชีพนี้คือ เมื่อดูจากอาชีพเดิมหรือสายงานที่เคยทำพบว่า มีหลายคนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ เช่น กลุ่ม 6 ที่เป็นกลุ่มของผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ฯลฯ แต่รายชื่อของ ส.ว. ที่ได้รับเลือกจากกลุ่มนี้ คือ พลเอก สราวุฒิ ชลออยู่ กลับเคยเป็นตุลาการศาลทหารสูงสุด หรือกรณีของ ทรงเดช เสมอคำ ที่เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย แต่กลับได้รับเลือกจากกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับการศึกษาและการสาธารณสุข ส่วนสุนี จึงวิโรจน์ ที่เคยเป็นทันตแพทย์ กลับอยู่ในกลุ่มอาชีพอื่นๆ

หรือในกลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งคาดหมายว่า ส.ว. จากกลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่กลับได้อดีตนายก อบต. อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาด้วย ส่วนในกลุ่มที่แปด ซึ่งคาดหมายให้เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ก็มีสตรีเข้ามาเป็น ส.ว. แต่เป็นสตรีที่มีสถานะทางสังคมทั้งอดีตประธานหอการค้าจังหวัดยโสธร และอดีตสมาชิกวุฒิสภาหลายสมัย

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย