เปิดโครงการ “ส.ว.พบประชาชน” งบ 7 ล้าน เดินทางแล้ว 44 ครั้ง

แม้ว่าวุฒิสภาชุดที่ทำงานอยู่ในปี 2563 จะมีที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เมื่อเริ่มเข้ารับตำแหน่งแล้วก็พบว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ได้เพียงทำงานอยู่ในห้องประชุมเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมจำนวนมากที่สมาชิกทั้ง 250 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินทางไปพบปะประชาชนและทำกิจกรรมในระดับพื้นที่ โดยกิจกรรมเหล่านี้ทำไปภายใต้โครงการ “สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน” ที่ใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน

หลังจากที่ไอลอว์ติดตามการทำงานของ ส.ว.ชุดนี้ และพบเห็นกิจกรรมจำนวนมาก จึงได้ยื่นหนังสือเพื่อขอข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน และงบประมาณที่ใช้จ่ายไป ซึ่งได้รับข้อมูลตอบกลับเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับหนังสือคู่มือ “สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน” เล่มเล็ก ฉบับปรับปรุงเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่มีเนื้อหาเป็นคำแนะนำวิธีการจัดทำโครงการนี้สำหรับ ส.ว. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

โครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 ตั้งงบไว้ 7 ล้าน ใช้ไปแล้ว 2.6 ล้าน

จากเอกสารลงวันที่ 30 เมษายน 2563 ลงนามโดยนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ที่ส่งข้อมูลกลับมาให้ไอลอว์ ชี้แจงว่า โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ส.ว.ได้พบกับประชาชนอย่างใกล้ชิดอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ตลอดจนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเป็นสื่อกลางสะท้อนปัญหาไปสู่ฝ่ายบริหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเผยแพร่ผลงานของวุฒิสภาให้ประชาชนได้รับทราบอันจะก่อให้เกิดความศรัทธา เชื่อมั่น ในสถาบันวุฒิสภา

โครงการ ส.ว. พบประชาชนนั้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 รวมทั้งสิ้น 7,000,000 บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 ลงพื้นที่รวม 44 ครั้ง 49 จังหวัด ใช้งบประมาณไป 2,644,629.58 บาท คงเหลือเงิน 4,354,370.42 บาท และได้รับการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้จ่ายเงินจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว

ในหนังสือคู่มือ ระบุวิธีการดำเนินงานของโครงการ ส.ว. พบประชาชนว่า ให้ไปพบกลุ่มเป้าหมายเพื่อเยี่ยมเยือน รับฟังความคิดเห็น จัดกลุ่มย่อยตามประเด็นเฉพาะด้านที่กำหนด ต้องนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และรายงานผลต่อประธานวุฒิสภา โดยกำหนดให้ทำโครงการในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ

สำหรับประเด็นเนื้อหาในการไปพบประชาชน หนังสือคู่มือระบุว่า “ประเด็นพบประชาชน” เริ่มจากความรู้เรื่องของ ส.ว. และบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ที่คู่มือไม่ได้กำหนดว่าต้องทำอย่างไร ตามด้วยความรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจติดตาม กำกับดูแลของ ส.ว. ชุดพิเศษนี้ด้วย

 

จัดโครงสร้างเป็นคณะกรรมการเจ็ดชุด พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธานเองทุกชุด

โครงการ ส.ว. พบประชาชนแบ่งโครงสร้างการทำงานเป็นคณะกรรมการ 8 คณะ ดังนี้

  1. คณะกรรมการอำนวยการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน
  2. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง (ครอบคลุม 17 จังหวัด)
  3. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ (ครอบคลุม 14 จังหวัด)
  4. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก (ครอบคลุม 8 จังหวัด) 
  5. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงหนือ (ตอนบน) (ครอบคลุม 12 จังหวัด)
  6. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) (ครอบคลุม 8 จังหวัด)
  7. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) (ครอบคลุม 8 จังหวัด)
  8. คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนล่าง) (ครอบคลุม 9 จังหวัด)

ข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า คณะกรรมการอำนวยการมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่งเป็นประธาน โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สาม เรียกได้ว่ามีทหารเป็นใหญ่ในโครงการนี้ และยังมี คำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งไม่ได้เป็นทหาร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สี่ โดยมี ส.ว. อีก 31 คน และเจ้าหน้าที่ 11 คน เป็นกรรมการ ขณะที่พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง และพีระศักดิ์ พอจิต เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

ส่วนคณะกรรมการที่ดูแลพื้นที่ต่างๆ อีกเจ็ดชุดก็ล้วนประกอบไปด้วย ส.ว. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มาเป็นกรรมการรวมแล้ว 20 – 30 คนต่อชุด โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง นั่งเป็นประธานกรรมการในโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนทุกชุด จากการสืบค้นรายงานการประชุมบนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีรายงานเผยแพร่ไม่ครบทุกครั้งที่ประชุม พบว่า พล.อ.สิงห์ศึกไม่ได้เข้าประชุมคณะกรรมการทุกชุดทุกครั้ง โดยหลายครั้งก็เป็นรองประธานกรรมการของแต่ละชุดทำหน้าที่แทน และการเดินทางลงพื้นที่ส่วนใหญ่ พล.อ.สิงห์ศึก ก็ไม่ได้ไปด้วยตัวเอง

 

วัตถุประสงค์เพื่อรับฟังประกอบการออกกฎหมาย แต่ความจริงมีกิจกรรมหลายแบบ

ในหนังสือคู่มืออธิบายวัตถุประสงค์ของโครงการ ส.ว. พบประชาชนไว้ว่า เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากลั่นกรองในการตรากฎหมาย ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เป็นข้อมูลพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ สะท้อนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปสู่การแก้ไข โดยอาศัยกลไกของวุฒิสภา

ทั้งนี้เมื่อดูผลงานของวุฒิสภาหลังทำงานได้ครบหนึ่งปีเต็ม พบว่า พิจารณาผ่านกฎหมายไปเพียงหกฉบับ ได้แก่

  • 19 สิงหาคม 2562 ผ่านร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และร่าง พ.ร.บ.ราชรุจิ รัชกาลที่ 10
  • 20 ตุลาคม 2562 ผ่าน พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
  • 2 ธันวาคม 2562 ลงมติอนุมัติ พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ
  • 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

สาเหตุที่ ส.ว. ผ่านกฎหมายได้น้อยไม่ใช่เพราะความล่าช้าของ ส.ว. เอง แต่เป็นเพราะ ส.ว. ต้องพิจารณากฎหมายที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และในสภาของ ส.ส. ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันมาก ทำให้ใช้เวลาประชุมนานทุกประเด็นจึงผ่านกฎหมายได้น้อยมาก

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นั้นเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านให้ได้เป็นประจำทุกปีอยู่แล้วเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าไปได้ พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ ก็เป็นการอนุมัติพระราชกำหนดที่ไม่ได้ลงรายละเอียดเนื้อหา ส่วนอีกสามฉบับ ก็เป็นกฎหมายเกี่ยวกับกิจการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาที่ ส.ว. ต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการลงมติ ดังนั้น ในการทำงานหนึ่งปีแรกของ ส.ว. จึงยังไม่ได้นำความเห็นของประชาชนที่ได้จากโครงการ ส.ว. พบประชาชน มาเพื่อพิจารณาออกกฎหมายตามวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ กิจกรรมที่ ส.ว. ใช้งบประมาณเดินทางไปเข้าร่วมและพบปะประชาชนจำนวนหนึ่ง ก็ดูเหมือนไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น

วันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2563 หลังเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา วัลลภ ตังคณานุรักษ์ รองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) พร้อมด้วยทัศนา ยุวานนท์ และออน กาจกระโทก เดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์และเยี่ยมเยียนตำรวจและทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมจำนวนทั้งสิ้น 20 ราย เดินทางไปพูดคุยกับครูโรงเรียนกวดวิชาภายในห้างเทอร์มินอล 21 ที่มีไหวพริบดีและช่วยดูแลเด็กเป็นอย่างดี และยังเดินทางไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมศพผู้เสียชีวิตที่วัดสุทธจินดาวรวิหาร 

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 05.30 น. ศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) เข้าร่วมกิจกรรมงานเดิน-วิ่งการกุศล มูลนิธิ นาวาตรีสมาน กุนัน (จ่าแซม) 2020 ณ กุดแคน แลนด์มาร์ค อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ยังมีกิจกรรมอื่นต่อเนื่องด้วย เช่น เวลา 9.00 น. ก็ไปพบปะพี่น้องประชาชน ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อำเภอเชียงขวัญ เป็นต้น

วันที่ 25 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง นำโดยวิทยา ผิวผ่อง รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภา เดินทางศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดปทุมธานี ณ ตลาดระแหง 100 ปี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นตลาดเรือนไม้เก่า ลักษณะบ้านเรือนของตลาดทั้งสองฝั่งคลองปลูกสร้างด้วยไม้ เป็นห้องแถวติดต่อเรียงรายกันเปิดเป็นร้านค้าขายทั้งสองฝั่ง โดยมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งในช่วงเช้าของวันเดียวกัน ส.ว. ได้พบปะกับหน่วยงานภาครัฐ ในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อแนะนำเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไปก่อนแล้ว

 

ข้อเสนอแนะที่ได้จากประชาชน ไม่ตรงกับหน้าที่ของ ส.ว.

อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. โดยหลักแล้ว คือ การกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้เพิ่มอำนาจใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นพิเศษไว้ด้วย เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนโดย คสช. เป็นต้น

ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของโครงการ ส.ว. พบประชาชน ก็สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่ ส.ว. มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เมื่อดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น และประชาชนสะท้อนปัญหาต่างๆ มายัง ส.ว. พร้อมกับข้อเสนอแนะ กลับพบว่า หลายครั้งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่ ส.ว. ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจเกิดจากการออกแบบกระบวนการพูดคุยและการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ ส.ว. เดินทางไปพูดคุยด้วย ไม่ตรงกับอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ตัวอย่างเช่น

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) นำโดยสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานกรรมการ คนที่สาม พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ พบปะเยาวชนจากสถาบันอาชีวศึกษา 4 สถาบันในจังหวัดร้อยเอ็ด ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มให้เยาวชนแสดงความคิดเห็นในหัวข้ออาชีวะช่วยพัฒนาประเทศด้านการเมืองและด้านสังคมได้อย่างไร เยาวชนได้นำเสนอข้อคิดเห็น ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับด้านสังคม ดังนี้ 

    – พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
    – พัฒนาด้านการเกษตร ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
    – พัฒนาระบบการศึกษาให้ทันสมัย จัดอบรมให้ความรู้ด้านการศึกษา
    – ช่วยสอดส่องดูแลคนในครอบครัว ป้องกันปัญหายาเสพติด
    – ทำให้ไทยเป็นครัวโลก 

31 ตุลาคม 2562 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ (ตอนล่าง) นำโดย พล.อ.อ. อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เพื่อพบปะรับฟังความคิดเห็นของผู้นำส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน จำนวน 500 คน และร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ สรุปได้ ดังนี้

  1. ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ (ข้าวโพด) เนื่องจากการลักลอบนำข้าวโพดจากพม่าเข้ามาในประเทศไทย
  2. พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน พ.ศ. 2491 และ พ.ศ. 2492 ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอขาณุวรลักษบุรี
  3. ปัญหาเรื่องแนวเขตระหว่างตำบลบ่อถ้ำกับอำเภอลาดยาว ส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การเก็บภาษี การออกโฉนดที่ดิน
  4. ขอให้ช่วยติดตามโครงการก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งพัง บ้านโรงสูบ หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะตาล ระยะทาง 1,500 เมตร งบประมาณ 97 ล้านบาท
  5. ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กควบรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินส่งลูกหลานเรียนหนังสือ 

วันที่ 3 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พล.ร.อ. ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร กรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) และคณะร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับทิ้งมูลดินทรายจากการขุดเปิดหน้าดินของบ่อเหมือง โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของประชาชน จึงต้องมีการอพยพคนจำนวนหลายหมู่บ้านออกจากพื้นที่ และยังเกิดผลกระทบด้านมลภาวะ ฝุ่น กลิ่น และเสียง กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ โดยมีตัวแทนชาวบ้าน หมู่ที่ 7 บ้านสวนป่าแม่เมาะ ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กล่าวถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในการอพยพชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงสถานที่สำหรับทิ้งมูลทรายจากการขุดเปิดหน้าดินของบ่อเหมือง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตำบลบ้านดง ออกจากพื้นที่ พร้อมได้ระบุว่าที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องค่าประเมินราคาทรัพย์สินที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย

จากนั้น คณะสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมการโครงการฯ ได้เดินทางไปยังบริเวณสถานที่สำหรับทิ้งมูลทรายจากการขุดเปิดหน้าดินของบ่อเหมือง บริเวณตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังลำปาง เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่จริงตามที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา

ทิ้งท้ายก่อนหมดอายุ 25 มีนาคม 2567 สว. ชุดพิเศษเปิดอภิปรายทั่วไป ซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา เป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่ สว. ชุดพิเศษใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบรัฐบาล