พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: หนึ่งเดือนหลังใช้ “ยาแรง” เราเห็นอะไรบ้าง

นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนเศษที่รัฐบาล ‘คสช.2’ เลือกใช้ “ยาแรง” อย่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด 19” ด้วยการรวบอำนาจการสั่งการมาไว้ที่มือนายกรัฐมนตรี รวมถึงการสั่งปิดเมือง ปิดสถานที่ การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านหรือเดินทางในเวลากลางคืน เป็นต้น 

แม้หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาร่วมหนึ่งเดือนดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค “จะดูดีขึ้น” จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่น้อยลง แต่คำถามถึงความจำเป็นในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังของการใช้ยังไม่จางหายไป อีกทั้งผลร้ายของการใช้ยาแรงเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น เพราะหลายคนต้องขาดรายได้ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้น ในขณะที่การตอบสนองต่อผลกระทบของภาครัฐก็ดูเหมือนจะช้าไปก้าวหนึ่งเสมอ จนประชาชนจะต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเองตามมีตามเกิด และบางคนเลือกจบชีวิตก่อนวิกฤติจะผ่านพ้นไป อีกทั้งยังมีปัญหาในการออกมาตรการและการบังคับใช้มาตรการโดยขาดความรู้ความเข้าใจและสร้างภาระใหม่ให้กับประชาชน

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงและผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็รักษาหายแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ยังมีมติเห็นชอบขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับคงระยะเวลาเคอร์ฟิวต่อไปอีก 1 เดือน ตามข้อเสนอของศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ศบค.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 จึงขอสรุปสิ่งที่สะท้อนออกมาในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ดังนี้

One month

 

หนึ่ง รัฐบาลป่วยไข้-นายกฯ ใช้ “ยาแรง” รวบอำนาจ

ถ้าพิจารณาความสำเร็จของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับการระบาดของโควิด 19 จะพบว่า มาตรการสำคัญที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อของบางประเทศน้อย เช่น ไต้หวัน หรือเวียดนาม คือ การจำกัดการเดินทางเข้าประเทศจากประเทศที่เสี่ยงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และมีมาตรการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อหรือการติดตามผู้ติดเชื้อที่ทำให้จำกัดการแพร่ระบาดได้ดี รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้

สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการรับมือมาตั้งแต่มกราคม 2563 เริ่มต้นจากการใช้มาตรการ “คัดกรองผู้ป่วย” จากสนามบินซึ่งตอนแรกคัดกรองเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบาดของโลกในขณะนั้น แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้ว่าจะทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย แต่ทว่าก็ยังพบผู้ติดเชื้อที่หลุดจากการคัดกรองอยู่ และมีการส่งต่อเชื้อจากคนนอกประเทศสู่คนในประเทศ เช่น กรณีคนขับแท็กซี่ติดเชื้อจากการสัมผัสกับนักท่องเที่ยว

ในวันที่ 31 มกราคม 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พยายามเสนอให้ยกเลิก Visa on arrival เพื่อจำกัดนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่คณะรัฐมนตรียังไม่เห็นชอบโดยอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในเดือนกุมภาพันธ์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 42 ราย และพบผู้ติดเชื้อซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศจีนเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ ครม. เพิ่งตัดสินใจยกเลิกฟรีวีซ่า 3 ประเทศ และยกเลิก Visa on Arrival (VOA) 18 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ ในวันที่ 11 มีนาคม 2563

ในด้านการป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ พบความผิดพลาดจากกรณีการจัดแข่งขันมวยที่ ‘สนามมวยเวทีลุมพินี’ ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพบก โดยมี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นประธาน ที่นำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ จนมีผู้ติดเชื้อจากกรณีดังกล่าวอย่างน้อย 84 ราย ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมฯ ได้มีข้อสั่งการเป็นมติ ครม. ให้ส่วนราชการต่างๆ หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 

ในด้านการบริหารจัดการดูแลสินค้าจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ก็มีความผิดพลาด เพราะเกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดซึ่งไม่ได้กระทบแค่ประชาชนธรรมดาแต่รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ และยังมีกรณีการส่งออกหน้ากากไปยังต่างประเทศอย่างผิดปกติ รวมถึงปัญหาการกักตุนสินค้าและการจำหน่ายสินค้าในราคาสูงกว่าปกติ และมีการโยนความรับผิดชอบกันไปมาระหว่างกระทรวงและรัฐมนตรี

ปัญเหล่านี้สะท้อนอาการป่วยไข้ของรัฐบาลในการดำเนินการป้องกันและรับมือกับปัญหาการระบาดของโควิด 19 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มีเอกภาพในการทำงานของรัฐบาลผสมที่มีรัฐมนตรีมาจากหลายพรรคการเมือง ต่างคนต่างทำงานจากหน้างานของตัวเอง ไม่ได้ยึดเอาปัญหาเป็นภารกิจร่วม 

เมื่อเกิดการระบาดในวงกว้าง มาตรการที่รัฐบาลหยิบมาใช้คือ การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น การห้ามชุมนุมหรือรวมกลุ่มกัน หรืออำนาจในการประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น แต่ทว่าอำนาจบางอย่างก็อาจจะไม่จำเป็นกับการป้องกันโรคระบาด เช่น การละเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ หรือมาตรการกำกับควบคุมสื่อ 

ในขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักก็ยังทำงานได้ และให้อำนาจรัฐสั่งปิดสถานที่เสี่ยง สั่งห้ามทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เหตุผลที่แท้จริงในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจไม่ได้เพื่อต้องการอำนาจออกคำสั่งต่างๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อ ‘รวบอำนาจ’ ให้กลับมารวมศูนย์อยู่ที่นายกฯ อีกครั้ง อันจะเห็นได้จากโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ และให้ปลัดกระทรวงและผู้นำเหล่าทัพขึ้นมาเป็นผู้ปฏิบัติงานหลักภายใต้การสั่งการโดยตรงจากนายกฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างการทำงานแบบยุค คสช. ในอดีต รวมถึงสามารถแบ่งงานให้คนที่ไว้วางใจไปทำงานแทนได้ เช่น การให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยฯ และอดีตรองหัวหน้า คสช. มาดูแลปัญหาการกักตุนสินค้าแทน จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า การเกิดขึ้นของรัฐบาลผสม หรือการจัดสรรกระทรวงที่ทำให้นายกฯ ไม่มีเอกภาพและเสถียรภาพในการทำงาน ก็เป็นผลมาจากการออกแบบระบบเลือกตั้งและการได้มาซึ่งนายกฯ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกออกแบบมาโดย คสช. 

 

สอง รัฐบาลใช้ “ยาแรง” แต่เยียวยาไม่ทั่วถึง ประชาชนตกที่นั่งลำบาก

ทันทีที่ยาแรงเริ่มประกาศใช้ การปิดสถานที่ต่างๆ การงดเว้นกิจกรรมการรวมตัว การจำกัดการเดินทางให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ส่งผลสำเร็จในการควบคุมและจัดการโรคในระดับหนึ่ง อันจะเห็นได้จากยอดผู้ป่วยรายวันที่ลดปริมาณลง แต่ทว่าภายใต้การปิดเมือง ก็ได้นำมาสู่ปัญหาใหม่เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนอย่างฉับพลัน และการค้าขายที่หยุดชะงัก ทำให้ผู้คนขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกำลังจะเข้าไม่ถึงปัจจัยสี่ เช่น อาหาร ที่พักอาศัย และประชาชนทั่วไปมีต้นทุนในชีวิตเพิ่มขึ้นจากการต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน

จากงานวิจัยของคณาจารย์จาก 6 มหาวิทยาลัย ที่รวมตัวกันในนามคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 ต่อคนจนเมือง ทำให้เราพอมองเห็นภาพคร่าวๆ ของผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เช่น แรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย กลุ่มประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีระบบสวัสดิการมารองรับในยามที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดเป็นบางส่วนและกินระยะเวลานาน

จากการสำรวจวิจัยพบว่า สาเหตุที่ขาดรายได้มาจากนายจ้างให้หยุดงานหรือให้ลดเวลาทำงาน ส่วนกลุ่มผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอยไม่สามารถค้าขายได้ เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระก็มีเงื่อนไขในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น มีผู้ว่าจ้างน้อยลง โดย 60.24 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด และอีก 31.21 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง ในขณะที่พวกเขาต้องยังคงมีรายจ่ายอยู่ ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค การชำระหนี้สิ้น และบางคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาอีกด้วย

อีกทั้งมาตรการเยียวยาจากรัฐก็ประสบปัญหา เช่น การลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันของรัฐบาล มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้เพราะไม่ทราบวิธีการ บางคนลงทะเบียนแล้วแต่ไม่สำเร็จ และบางคนก็ถูกคัดออกจากการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอย่างไม่เป็นธรรม จนเกิดเป็นการรวมตัวประท้วงที่กระทรวงการคลังขึ้น และยังมีประชาชนหลายร้อยเดินทางมาร้องทุกข์เพราะไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของคณาจารย์สอดคล้องกับข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า จากการสำรวจข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาและความต้องการของภาคธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด 19 จากกลุ่มเป้าหมาย 8,929 คน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า คนส่วนใหญ่ ถึง 88% ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ และมาตรการช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ หากสถานการณ์ยาวนานกว่า 3 เดือน โดยมีเพียง 12% ที่ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือ  

นอกจากนี้ ในภาวะวิกฤติที่รัฐดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง พบว่า ยอดผู้คนที่ตัดสินใจ ‘ฆ่าตัวตาย’ เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากประชาไทระบุว่า ในระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2563 – 25 เมษายน 2563 มีข่าวการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 22 กรณี มียอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อยจำนวน 24 คน โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ ฆ่าตัวตายเนื่องจากเครียดและกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด 4 กรณี และฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐ 18 กรณี

 

สาม กฎระเบียบจากรัฐราชการรวมศูนย์ เพิ่มปัญหาให้ชาวบ้าน  

หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการออกข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเข้มข้น ทำให้พบว่า กลไกการทำงานของรัฐบาลที่มีลักษณะเป็น ‘รัฐราชการ’ หรือมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ทำงานโดยยึดกฎระเบียบเป็นเครื่องมือ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่

ปัญหาจากการกำหนดมาตรการ

ปัญหาประการแรกคือ การออกมาตรการโดยไม่เข้าใจความจำเพาะของพื้นที่ ออกนโยบายแบบเสื้อโหลทุกจังหวัดใช้แบบเดียวกัน ซึ่งสะท้อนผ่านการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 2 ข้อที่ 1 ที่กำหนดห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานช่วง 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 แต่มีข้อยกเว้นให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ การเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็น หรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่ทว่าเมื่อบังคับใช้แล้วปรากฏว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพบางกลุ่ม อาทิ ชาวสวนยาง หรือชาวประมง จนสุดท้ายต้องมีการออกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 3 ยกเลิกข้อยกเว้นในฉบับที่สอง และเขียนใหม่ทั้งหมด ระบุให้กลุ่มที่ประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ ได้แก่ ผู้เข้าออกเวรยามที่กำหนดไว้ตามปกติของทางราชการ เอกชนหรือโรงงาน หรือการดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ทำการประมง กรีดยาง และตรวจรักษาสัตว์ ได้รับการยกเว้นด้วย ซึ่งตัวอย่างนี้สะท้อนปัญหาของรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ผู้มีอำนาจในการร่างและออกกฎหมายและนโยบายไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความซับซ้อนของแต่ละพื้นที่ 

ปัญหาจากการบังคับใช้มาตรการ

ปัญหาจากการบังคับใช้กฎระเบียบหรือมาตรการของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พบว่า บางครั้งผู้บังคับใช้โดยไม่รู้ตัวบทกฎหมาย อาทิ กรณีการจับชายชาวประมงฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เพราะขับรถผ่านมาที่ด่านตรวจโดยแจ้งว่าจะไปยังท่าเรือเพื่อวางอวนในทะเล ทั้งๆ ที่ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 3 มีข้อยกเว้นไว้ให้สำหรับชาวประมงไม่ต้องปฏิบัติตามเคอร์ฟิว 

หรือบางครั้งเป็นการบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงบริบทแต่ยึดเอากฎระเบียบเป็นที่ตั้ง เช่น การจับกุมกลุ่มบุคคลเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเนื่องจากเดินทางกลับไปที่นอนของตัวเอง กับกำลังเดินออกมาหาที่ปัสสาวะริมคลอง หรือการขู่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มารวมตัวกันยื่นหนังสือต่อมหาวิทยาลัยให้ลดค่าเทอม

หรือกรณีการยึดอาหารบริจาคเพราะเห็นว่า การแจกจ่ายทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากจะแจกจ่ายต้องไปดำเนินการตามที่รัฐกำหนด เช่น มีการเว้นระยะ มีจุดล้างมือ ไม่ทำให้คนยืนรอแออัด หรือกรณีจับกุมผู้รับเหมาและคนงานก่อสร้างโดยอ้างว่า เอกสารที่ขออนุญาตไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามระเบียบ เป็นต้น

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสามข้อนี้ เชื่อว่าสังคมไทยจะมีข้อมูลอ้างอิงเพียงพอต่อการออกมาตรการรับมือสถานการณ์วิกฤติในอนาคต โดยหวังว่า รัฐไทยจะมีความพร้อมและความเข้าใจต่อการรับมือปัญหาเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างและวิธีการทำงาน รวมถึงการตระหนักว่า หัวใจสำคัญในการรับมือโรคระบาดคือ การ “รักษาคน” ไม่ใช่การ “รักษาโรค” การใช้อำนาจของรัฐจึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย