ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้าในหกครั้ง ยกเลิกทันทีเมื่อเหตุจำเป็นสิ้นสุดแล้ว

ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 827 คน และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 4 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563   

หลังจากนั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ก็ถูกขยายเวลาเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.ชุดใหญ่) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 17) ออกไปอีก 2 เดือน จากวันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. 2565 โดยอ้างเหตุผลเพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข รวมถึงการบริหารจัดการการเดินทางสัญจรข้ามจังหวัด และการรวมกลุ่มของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากนับจากวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศจนถึงวันที่ 31 มีนาคม ที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 16 ครบกำหนด ประเทศจะอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 736 วัน และหากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกขยายออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ประเทศจะอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 797 วัน หรือ สองปี สองเดือน กับหกวัน 

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารและละเว้นความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ จึงควรจะใช้ในระยะเวลาที่ “สั้นที่สุด” เพียงเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์วิกฤติเฉพาะหน้าและเมื่อสถานการณ์บรรเทาเบาบางลงแล้วก็ควรจะยุติการใช้กฎหมายนี้แล้วกลับมาใช้กฎหมายปกติเพื่อรับมือกับสถานการณ์แทน ทบทวนประวัติศาสตร์การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครรวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ว่า ในการประกาศใช้แต่ละครั้งกินระยะเวลานานเท่าใดและในขณะที่ยกเลิกเหตุแห่งการประกาศใช้คลี่คลายหมดไปแล้วเพียงใด 

ทั้งนี้ งานชิ้นนี้จะไม่รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังการประกาศใช้กฎหมายในพื้นที่เมื่อปี 2548 ก็ถูกขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน (มีนาคม 2565)

 

ครั้งที่ 1 รัฐบาลสมัครใช้คุมม็อบ หลัง นปช.ปะทะพันธมิตรฯ ยกเลิกเพื่อไม่ให้เสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปี 2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในวันที่ 2 กันยายน 2551 การประกาศใช้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณถนนราชดำเนินนอก จนมีผู้เสียชีวิต 

กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มชุมนุมยืดเยื้อเพื่อต่อต้านรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรจะเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและชุมนุมยึดพื้นที่ แต่รัฐบาลของสมัครก็ยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ จนกระทั่งเช้าวันที่ 2 กันยายน 2551 ในเวลา 7.00 น. สมัครจึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างเหตุว่า มีกลุ่มบุคคลดำเนินการให้เกิดความวุ่นวาย กระทบความเรียบร้อยต่อประชาชนและความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตย 

ในวันเดียวกันสมัครก็ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 194/2551 แต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สมัครยังอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดข้อห้ามขึ้นมาใหม่ห้าข้อ เช่น ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนในท้องที่กรุงเทพมหานคร ห้ามใช้เส้นทางหรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมบางเส้นทาง และห้ามเสนอข่าวในลักษณะสร้างความหวาดกลัวหรือเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น   

แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมือง แต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงดำเนินต่อไปรวมทั้งการชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งในวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีจัดรายการโทรทัศน์ จากนั้นในวันที่ 14 กันยายน 2551 หลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ 12 วัน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สมชายแถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายนนั้น เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ปัจจุบันประเมินแล้วเห็นว่า เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ลดลงถึงระดับที่ไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน หากมี พ.ร.ก.ดังกล่าวอยู่จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงขอยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลจึงให้มีกองอำนวยการควบคุม ติดตามสถานการณ์ ให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ ประสานงานกับฝ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่พลเรือน เพื่อประเมินสถานการณ์  

ทั้งนี้ สมควรบันทึกไว้ด้วยว่าในขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกยกเลิก การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลและบริเวณโดยรอบยังคงดำเนินต่อไป

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 13 วัน

 

ครั้งที่ 2 ใช้เฉพาะพื้นที่หลังพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน ยกเลิกหลังยุติชุมนุม 7 วัน

ในเดือนพฤศจิกายน 2551 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู โดยมีกำหนดเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เวลา 12.30 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งกำลังชุมนุมยืดเยื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครรวมทั้งในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล จึงประกาศเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อขับไล่สมชายออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยแถลงการณ์ฉบับที่ 26/2551 ของกลุ่มพันธมิตรระบุเกี่ยวกับการยึดสนามบินตอนหนึ่งว่า

“พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศระดมพลใหญ่เพื่อหยุดอำนาจรัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิด และหยุดสภาทาสระบอบทักษิณ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ชั่วโมงแล้ว ที่พี่น้องประชาชนได้เข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อหยุดอำนาจรัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิดอย่าง สงบ สันติ อหิงสาโดยเคร่งครัด การเคลื่อนไหวโดยมวลชนสองมือเปล่าไปตามสถานที่ต่างๆ อันได้แก่ บริเวณรอบรัฐสภา กระทรวงการคลัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล และทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวที่สนามบินดอนเมือง แต่ทว่ารัฐบาลทรราชฆาตกรหุ่นเชิดยังไม่แสดงความสำนึกยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น ดึงดันจะอยู่ในอำนาจบริหารต่อไป และยังดื้อรั้นที่จะหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพรรคพวกของตัวเองต่อไป

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการชุมนุม และเพิ่มมาตรการอารยะขัดขืนโดยการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อยื่นคำขาดผ่านพี่น้องประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกไปยัง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะรัฐบาลให้ลาออกจากตำแหน่งโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข”

แม้สมชายจะเข้าประเทศได้อย่างเรียบร้อยโดยเครื่องบินไปลงจอดที่จังหวัดเชียงใหม่แทนสนามบินสุวรรณภูมิ แต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามบินยังคงดำเนินต่อไป ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตที่ตั้งของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ  

สมชายมอบหมายให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ในภาพรวม พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้ดูแลสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ สนามบินดอนเมืองมอบหมายให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้ดูแล และให้กองทัพอากาศเป็นผู้สนับสนุน ส่วนพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมอบหมายให้ พล.ต.ท.ฉลอง สมใจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นผู้ดูแล ร่วมกับกองทัพเรือ โดยให้กองทัพบกเป็นผู้สนับสนุน หากได้รับการร้องขอจากตำรวจเมื่อเกิดกรณีจำเป็น แม้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้จะมีผลสืบเนื่องมาจากการยึดสนามบินนานาชาติ แต่กองทัพบกกลับมีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น 

หลังจากนั้นสองวันจึงออกข้อกำหนดตามมา โดยกรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ฉลอง ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 ได้แก่ ห้ามชุมนุมมั่วสุมท้องที่เขตลาดกระบัง กทม. และท้องที่อำเภอบางพลีกับบางเสาธง สมุทรปราการ ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานในสนามบินสุวรรณภูมิใช้เส้นทางคมนาคมบางเส้นทางในบริเวณใกล้เคียงสนามบินและห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่ได้รับอนุญาต  

จากนั้นจึงมีการออกคำสั่งที่ 2/2551 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม เรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์มารายงานตัว รวมถึงมีอำนาจยึดสิ่งของที่มีเหตุให้สงสัยว่า ใช้เพื่อกระทำหรือสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 จึงมีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมโดยกำหนดระยะเวลาการอพยพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สนามบินระหว่างวันที่ 1 ถึง 2 ธันวาคม 2561 และห้ามผู้ที่ถูกอพยพออกไปกลับเข้าในเขตพื้นที่อีก แต่การชุมนุมก็ดำเนินต่อไป

จนกระทั่งในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้สมชายซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะขาดคุณสมบัติ  วันรุ่งขึ้นกลุ่มผู้ชุมนุมจึงประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุม

ในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในท้องที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งท้องที่ใกล้เคียง เท่ากับว่า การเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกิดขึ้นหลังสถานการณ์การชุมนุมที่สนามบินทั้งสองแห่งคลี่คลายไปแล้ว 7 วัน นับจากวันที่ 3 ธันวาคมซึ่งพันธมิตรประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุม    

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 13 วัน

 

ครั้งที่ 3 รับมือผู้ชุมนุม นปช.ในพัทยา ยกเลิกในค่ำวันเดียวกัน

ในเดือนเมษายน ปี 2552 ประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 10 – 11 เมษายน การจัดประชุมครั้งนี้ดำเนินไปภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะที่ประเทศกำลังคุกรุ่นหลังกลุ่ม นปช. เริ่มชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552

ในวันที่ 10 เมษายน 2552 อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หนึ่งในแกนนำ นปช. นำผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯ จำนวนหลักพันเดินทางไปที่พัทยา การมาครั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องการยื่นหนังสือให้ผู้นำประเทศอาเซียนยกเลิกการเข้าร่วมประชุมเนื่องจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างชอบธรรม โดยพวกเขาเห็นว่า อภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบ จากนั้นอดีต ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับเนวิน ชิดชอบ ย้ายขั้วไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เลือกอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 

ผู้ชุมนุมนัดรวมพลที่ห้างบิ๊กซี พัทยาเหนือ จากนั้นจึงเดินผ่านแนวรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่มาจนถึงทางขึ้นเขาพระตำหนัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท โดยที่ระหว่างทางไม่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ แต่มีเหตุชุลมุนเกิดขึ้นเมื่อมีกลุ่มคนสวมเสื้อสีน้ำเงินชูป้ายเรียกร้องความสงบ ประกาศให้ชาวชลบุรีทุกคนออกมาปกป้องแผ่นดินเกิดจนมีการเผชิญหน้าปะทะคารมระหว่างสองฝ่าย แต่สุดท้ายสถานการณ์ในวันที่ 10 เมษายนก็คลี่คลายลงไปด้วยดีเมื่อผู้นำชาติอาเซียนแต่ละชาติส่งตัวแทนมารับหนังสือ ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. จึงสลายตัวกลับจุดรวมพล คือ ที่หน้าห้างบิ๊กซี พัทยาเหนือ และนัดกันว่าในวันรุ่งขึ้นจะมาติดตามผล 

ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน เมื่อผู้ชุมนุมกลับไปที่สถานที่จัดการประชุมก็พบว่า มีชายฉกรรจ์สวมเสื้อสีน้ำเเงินถือไม้เป็นอาวุธตรึงกำลังรอพวกเขาอยู่ก่อนแล้ว เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ตะโกนด่าทอกัน แต่ในเวลาประมาณ 9.00 น. ก็เริ่มมีการปะทะกันและมีเสียงปืนกับเสียงระเบิดปิงปอง ทางกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลจับตัวผู้ที่ทำร้ายคนเสื้อแดงมาดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นจะยกระดับมาตรการการตอบโต้ ในช่วงบ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงได้บุกเข้าไปในโรงแรมซึ่งเป็นพื้นที่จัดการประชุม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปณิธาน วัฒนายากร แถลงเลื่อนการประชุมอาเซียนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี และแต่งตั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ทั้งนี้ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ครั้งนี้มีการออกข้อกำหนดใดออกบังคับบ้าง แต่อภิสิทธิ์แถลงในเวลาประมาณ 19.30 น. วันเดียวกัน ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี โดยระบุว่า วัตถุประสงค์หลักในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ การดูแลผู้นำที่มาร่วมประชุมในการเดินทางกลับ เมื่อภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องคงสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ 

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 วัน

 

ครั้งที่ 4 สลายเสื้อแดง “สงกรานต์เลือด” ปี 52 ยกเลิกถัดมา 10 วัน

หลังผู้ชุมนุมเสื้อแดงเข้าไปในพื้นที่สถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนพัทยาจนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนดและต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา ขณะเดียวกันการชุมนุมในพื้นที่เมืองหลวงก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ในวันรุ่งขึ้น 12 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี บางอำเภอของจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับมือสถานการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 โดยอ้างเหตุในการประกาศหลายประการ เช่น มีกลุ่มบุคคลยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียน รวมถึงกรณีที่มีกลุ่มบุคคลกระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์และบุคคลสำคัญของประเทศ  

ในวันเดียวกับที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อภิสิทธิ์ยังแต่งตั้งให้สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นหัวหน้าในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งออกข้อกำหนดที่สำคัญ ได้แก่ ห้ามชุมนุมมั่วสุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ห้าคน หรือกระทำการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามเสนอข่าวในลักษณะบิดเบือนหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ห้ามใช้เส้นทาง อาคารสถานที่ รวมทั้งให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด จากนั้นในวันที่ 13 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบูรณาการปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ทหารก็ดำเนินการสลายการชุมนุม 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบันทึกเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 13 – 14  เมษายน 2552 ไว้ตอนหนึ่งว่า

“เช้าวันที่ 13 เมษายน เกิดความรุนแรงที่บริเวณแยกดินแดง เมื่อกำลังทหารและตำรวจบุกเข้ามาสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงและมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต กองทัพแถลงว่าแค่ยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนยืนยันว่า กองทัพยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุม กรณีนี้ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตชัดเจน ขณะที่มีผู้นำรถแก๊สไปจอดที่แฟลตดินแดงโดยโจมตีว่าคนเสื้อแดงเตรียมก่อการร้าย กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้โดยยึดรถโดยสารประจำทางขวางถนนหลายสาย จนเวลากลางคืนได้เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับชาวบ้านบริเวณตลาดนางเลิ้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

วันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00 น. แกนนำ นปช. โดยนายวีระประกาศยุติการชุมนุมเพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นและเข้ามอบตัวต่อรัฐบาล ทำให้มีการโจมตีว่า นายวีระ “หักดิบ” ประกาศยุติการชุมนุมโดยพลการ แกนนำ นปช. หลายคนแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะนายจักรภพได้ลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ…”

หลังมีการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมและแกนนำ นปช.ตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 24 เมษายน 2552 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งในวันที่ 25 เมษายน 2552 สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ นปช.รุ่นสองก็จัดการชุมนุมคนเสื้อแดงที่สนามหลวงทันที

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 13 วัน

 

ครั้งที่ 5 สลายชุมนุมคอกวัว – ราชประสงค์ ปี 53 

กลุ่ม นปช.นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ ให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยผู้ชุมนุมเริ่มยึดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและถนนราชดำเนินกลางเป็นพื้นที่ในการชุมนุม ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2553 จะเปิดเวทีการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์อีกเวทีหนึ่ง 

อภิสิทธิ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อรับมือกับสถานการณ์การชุมนุมในปี 2553 ครั้งแรกในวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยพื้นที่ที่ประกาศใช้ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและบางอำเภอของจังหวัดปริมณฑลซึ่งอยู่ในเส้นทางที่คนต่างจังหวัดจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เช่น บางอำเภอของจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถจากภาคเหนือและอีสาน 

นอกจากจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว เขายังประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทับซ้อนไปในบางพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย  โดยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีการกำหนดวันสิ้นสุดการบังคับไว้ แต่การประกาศพื้นที่ความมั่นคงตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กำหนดไว้ระหว่างวันที่ 8 ถึง 20 เมษายน 2553

ในวันเดียวกัน อภิสิทธิ์ยังใช้อำนาจตามมาตรา 9 ออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด ห้ามการนำเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดหรือห้ามผู้ใดเข้าพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังออกประกาศตามมาตรา 11 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำการหรือผู้สนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งเรียกตัวบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉินและให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งตรวจสอบสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นหรือยับยั้งการสื่อสารเพื่อป้องกันระงับเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นต้น  

อภิสิทธิ์ยังโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นอภิสิทธิ์ก็ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยให้สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการ คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ยังโอนอำนาจที่นายกรัฐมนตรีดึงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ให้เป็นอำนาจของ ศอฉ. อีกต่อหนึ่งด้วย  

หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เพียง 3 วัน ในวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารก็ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินและสี่แยกคอกวัว ซึ่งอดีตผู้ร่วมการชุมนุมคนหนึ่งเคยให้ข้อมูลว่า ระหว่างการสลายการชุมนุมเจ้าหน้าที่โยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย ท้ายที่สุดในวันนี้มีผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตระหว่างการชุมนุมรวมอย่างน้อย 20 คน 

หลังจากนั้นเมื่อใกล้ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตัดสินใจสลายการชุมนุม ก็มีการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในลักษณะที่เข้มข้นขึ้น ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 มีการขยายพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา จากเดิมที่ประกาศใช้บางอำเภอเป็นครอบคลุมทั้งจังหวัด และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมที่เชียงราย เชียงใหม่ และอุดรธานี เป็นต้น ซึ่งสังเกตได้ว่าจังหวัดเหล่านี้คือจังหวัดที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็น “ฐานที่มั่น” ของคนเสื้อแดง  และในวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดภาคอีสานเพิ่มเติมได้แก่ที่อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู มหาสารคาม และสกลนคร 

ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์สลายตัวไปแล้ว อภิสิทธิ์ก็ยังใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  เป็นเวลาหนึ่งคืนตั้งแต่ 20.00 น. ของวันที่ 19 ถึงเวลา 6.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม จากนั้นจึงมีการขยายอายุของการห้ามออกนอกเคหสถานออกไป แต่ทุกครั้งที่ออกจะมีการลดจำนวนชั่วโมงการห้ามลงตามลำดับ จนข้อกำหนดฉบับสุดท้ายซึ่งบังคับใช้ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ถึง 29 พฤษภาคม 2553 ห้ามออกนอกบ้านเพียงสี่ชั่วโมงคือระหว่างเวลา 24.00 น. ถึงเวลา 4.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 

แม้การสลายการชุมนุมจะดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แล้ว และแกนนำ นปช.จะเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว โดยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 คน จากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ทั้งเหตุการณ์ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2553 แต่เนื่องจากยังมีการชุมนุมต่อเนื่องในหลายพื้นที่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงยังถูกคงไว้หลังจากนั้นอีกหลายเดือน บางจังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ น่าน และศรีสะเกษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกยกเลิกในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 และในวันเดียวกันนี้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางพื้นที่ก็ถูกขยายออกไปอีกด้วย เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอุดรธานี 

ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 จึงยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ลำปาง และสกลนคร จากนั้นอภิสิทธิ์ก็ทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศในพื้นที่ต่างๆ โดยพื้นที่สุดท้าย คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ถูกยกเลิกในวันที่ 21 ธันวาคม 2553

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า แม้ท้ายที่สุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกคงไว้ถึงเดือนธันวาคม 2553 และข้อกำหนดห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองจะยังคงบังคับใช้อยู่ แต่ระหว่างนั้นก็มีการชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คือ ในวันที่ 19 กันยายน 2559 ประชาชนราว 4,000 คนรวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งแม้วันนั้นผู้ชุมนุมจะมีจำนวนมากจนการจราจรถูกปิดไปโดยปริยายแต่การชุมนุมก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและโดยไม่มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม  

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 259 วัน

 

ครั้งที่ 6 รัฐบาล “ปู” ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมผู้ชุมนุม กปปส.ก่อน “เลือกตั้ง57”

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.พรรครัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ผ่านวาระสามในช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งกรณีดังกล่าวได้จุดชนวนกระแสต่อต้าน ประชาชนส่วนหนึ่งมีข้อห่วงกังวลกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ทั้งในส่วนของเนื้อหาที่อาจไปนิรโทษกรรมให้แกนนำในการชุมนุม ประชาชนอีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองก็แสดงความไม่สบายใจว่า หากกฎหมายดังกล่าวผ่านออกมาบังคับใช้ ทหารและผู้สั่งการให้ปราบปรามประชาชนก็จะพ้นผิด 

ความไม่พอใจต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นำไปสู่การชุมนุมต่อต้าน และยกระดับจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไปเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและให้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศอฉ.ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งลาออกจาก ส.ส. มาจัดการชุมนุมอย่างเต็มตัวประกาศจัดตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นองค์กรนำในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตามแนวทางปฏิรูปก่อนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ   

ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ระหว่างที่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม กปปส.ดำเนินไป ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจแถลงยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต่อมากำหนดเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้ในวันที่ 13 มกราคม 2557 กลุ่ม กปปส.จะประกาศชุมนุมชัทดาวน์กรุงเทพฯ และเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น สี่แยกอโศก หน้าศูนย์ราชการ และที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นต้น แต่ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 2 มกราคม 2557 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้ข้อมูลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คิดว่าการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพียงพอแล้วแต่อาจจะต้องจัดวางกำลังกันใหม่    

ในวันที่ 21 มกราคม 2557 ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากจะพูดถึงสถานการณ์ที่มีกลุ่มคนปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือละเมิดกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังพูดถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย

ในวันเดียวกันยิ่งลักษณ์ยังออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ด้วย โดยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้อำนวยการ และมี ผบ.ตร.กับปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นรองผู้อำนวยการ จากนั้นในวันที่ 23 มกราคม 2557 ยิ่งลักษณ์ยังออกข้อกำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 9 ห้ามชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคน ห้ามเสนอข่าวในลักษณะบิดเบือนหรือทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือห้ามใช้เส้นทางคมนาคม เป็นต้น ซึ่งหากนับจากวันประกาศใช้จนถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นเวลา 13 วัน

แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีข้อกำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน แต่กลุ่ม กปปส. ก็สามารถทำการชุมนุมต่อไปได้ และเมื่อถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ชุมนุม กปปส.ก็ยังชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้งด้วย เช่น ที่โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ 4 เขตราชเทวี

ขณะที่บรรจง สุขดี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ก็ระบุว่า มีพื้นที่ที่ต้องงดการลงคะแนนรวมสามเขต ได้แก่ เขตหลักสี่ ราชเทวี ดินแดง เนื่องจากไม่สามารถนำหีบบัตร บัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์ จากสำนักงานเขตมายังหน่วยเลือกตั้งได้ 

ระหว่างที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการใช้กำลังสลายการชุมนุมครั้งสำคัญ ได้แก่ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ตำรวจใช้กำลัง “ขอคืนพื้นที่” ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพธรรมปักหลักชุมนุมอยู่ ตำรวจยังคุมตัวสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปด้วย

เถกิง สมทรัพย์ ผอ.สถานีโทรทัศน์บลูสกายแชนแนล ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุให้ข้อมูลว่า ทางตำรวจหลายร้อยนายเข้ามาประชิดเวทีกองทัพธรรมและมีเสียงคล้ายเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางด้วย โดยมีรายงานด้วยว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 6 คน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกบังคับใช้จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2557 ยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยกเลิก โดยระบุเหตุผลว่า สถานการณ์คลี่คลายลงและสามารถใช้กฎหมายอื่นในการบริหารจัดการแทนได้แล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป  

หลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกยกเลิก กลุ่ม กปปส.ยังคงชุมนุมต่อไปในเขตเมือง หลังจากนั้นในวันที่ 5 เมษายน 2557 กลุ่ม นปช. ก็จัดการชุมนุมในทางตรงกันข้ามที่ถนนอักษะ จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ก็ทำรัฐประหารและบริหารประเทศด้วยอำนาจพิเศษทั้งโดยกฎอัยการศึกต่อเนื่องมา

รวมระยะเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 58 วัน 

 

ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปี 2548 สี่ครั้งแรกได้มีการบังคับใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกินสองสัปดาห์ มาจนถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วงการชุมนุมในปี 2553 ระยะเวลาการบังคับใช้กินระยะเวลายาวนานถึง 259 วันซึ่งนานที่สุดหากเทียบกับทุกครั้ง (ไม่นับรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการบังคับใช้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กกปส. รวม 58 วัน 

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาลสมัครและยิ่งลักษณ์ยกเลิกในขณะที่การชุมนุมทางการเมืองที่เป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงดำเนินต่อไป ส่วนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ การประกาศสองครั้งในปี 2552 ยกเลิกเมื่อการชุมนุมที่เป็นเหตุแห่งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยุติลงแล้ว ซึ่งทันทีที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถูกยกเลิก กลุ่ม นปช.ก็มีการจัดการชุมนุมอีกแทบจะในทันที ส่วนครั้งปี 2553 การชุมนุมยุติลงด้วยการใช้กำลังสลายการชุมนุม ขณะที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเดินต่อไปอีกหลายเดือน

สำหรับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปี 2563 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่แตกต่างจากการใช้ครั้งก่อนๆ เพราะเป็นการประกาศใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ ไม่ใช่สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยเบื้องต้นมีการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 แต่ก็มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปรวม 17 ครั้ง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 อย่างไรตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่กฎหมายที่จำเป็นต้องใช้ให้ครบกำหนด สามารถยกเลิกได้ทันทีที่ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” คลี่คลายและสามารถใช้กฎหมายอื่นในการบริหารจัดการได้แล้ว 

ทั้งนี้ มาตรา 5 วรรค 3 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามกรณี คือ เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ประกาศใช้ในแต่ละครั้ง (การประกาศแต่ละครั้งมีกำหนดไม่เกินสามเดือน) ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่ได้ร้ายแรงเกินกว่าที่จะใช้กฎหมายปกติในการบริหารจัดการได้แล้วนายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศยกเลิกได้ หรือหากนายกรัฐมนตรียืนยันจะใช้กฎหมายต่อไปหรือจะขอขยายเวลาการบังคับใช้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็สามารถมีมติไม่เห็นชอบการบังคับใช้หรือการให้ขยายเวลาได้