รับมือโควิดในกรีซ: เยียวยา 800 ยูโร แม้ยังไม่ฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง

เรื่องโดย
ศิริขวัญ เอกบุตร
แอดมินเพจสมาคมคนไทยในกรีซ

กรีซ เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่บนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรป หลายคนรู้จักดีว่ากรีซเป็นต้นแบบของอารยธรรมตะวันตกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี เป็นดินแดนแห่งปรัชญาและความรู้ต่างๆ ผ่านการต่อสู้ สงคราม และวิกฤติมาแล้วหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะวิกฤติทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2009 กรีซเป็นประเทศที่น่าติดตามว่าเขาจัดการ “วิกฤติในวิกฤต” ได้อย่างไร ทั้งในเรื่องวิกฤติโควิด 19 วิกฤติผู้ลี้ภัย วิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง รวมทั้งการจัดการปัญหาในเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักของกรีซ 

Image by Nimrod Oren from Pixabay

 

ติดตามสถานการณ์และออกตัวก่อนประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในยุโรปโดยเฉพาะที่อิตาลีเริ่มมีการแพร่กระจายของผู้ติดเชื้อ วิกฤติโควิด 19 และเข้ามาถึงกรีซเช่นเดียวกัน กรีซติดตามสถานการณ์อย่างเคร่งครัด มาตรการแรกที่ออกมา คือ ห้ามนักเรียนเดินทางไปทัศนศึกษาที่อิตาลี จนกระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในเมือง Thessaloniki เมืองใหญ่อันดับสองอยู่ทางตอนเหนือของกรีซ พบผู้หญิงชาวกรีกติดเชื้อเป็นคนแรกหลังจากเดินทางกลับมาจากอิตาลี มีการปิดโรงเรียนของลูกผู้ติดเชื้อ มีการพ่นฆ่าเชื้อในสถานที่ที่ผู้หญิงคนนี้เคยไปในช่วงที่ผ่านมา ยังมีการติดตามผู้ที่อยู่ใกล้ตัวเธออีก 14 วัน

ต่อมา กรีซเพิ่มมาตรการการต่างๆ ขึ้นเรื่อยๆ มีการประกาศมาตรการใหม่ๆ เกือบทุกวัน เริ่มจากการป้องกันทั้งสนามบินและท่าเรือที่มีการเดินเรือเชื่อมกับอิตาลี ให้คนที่เพิ่งเดินทางกลับจากอิตาลีตอนเหนือหรือพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้ออยู่บ้านและเฝ้าดูอาการ มีการติดตามประวัติผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ให้ผู้คนติดต่อเบอร์โทรของกระทรวงสาธารณสุขหากสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายในเบื้องต้น ต่อมาเมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตรการของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นตามขนาดของการติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการ “กันไว้ดีกว่าแก้” โดยออกมาตรการที่เข้มข้นและเร็วกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ  

หนังสือพิมพ์ต่างๆ เขียนบทความยกย่องประเทศกรีซ ที่สามารถป้องกันและจัดการวิกฤติโรคระบาดนี้ได้ดี ข้อดีของมาตรการที่รัฐบาลกรีกออกมานั้น ถือว่า เร็วและเข้มข้น คือ ออกมาป้องกันและตั้งรับ ก่อนที่จะเกิดการแพร่เชื้อได้ค่อนข้างทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเราทำได้ช้าเกินไป การปิดร้านค้าสถานที่ต่างๆ และออกมาตรการเคอร์ฟิวนั้นช่วยให้ควบคุมแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการค่อยๆ ขยายเวลาประกาศปิด เพื่อให้ผู้คนยังมีความหวังและไม่อึดอัดจนเกินไป 

 

สังคมกรีกชอบออกไปนอกบ้าน พบปะพูดคุย

ในตอนแรกนั้น ชาวกรีกก็มักจะพูดกันว่า มันก็คงเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอยู่แล้วและไกลตัว โชคดีหรือโชคร้ายที่เพื่อนบ้านอย่างอิตาลีได้กลายมาเป็นตัวอย่างให้กรีซเห็นเสียก่อน ทำให้ผู้คนลดความประมาทไปได้ 

ชาวกรีกชอบออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทานกาแฟหรือทานอาหารนอกบ้านนั้นไม่เคยลดน้อยลง แม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ความสนุกสนานการพูดคุยนอกบ้านเป็นเรื่องที่ไม่เคยหายไปจากสังคมชาวกรีก จนกระทั่งเมื่อต้องประกาศปิดร้าน ปิดชายหาด ปิดสถานที่ออกกำลังกายทั้งหมด ชาวกรีกหลายคนก็ยังหาเรื่องออกไปเดินเล่นแถวบ้าน ไปออกกำลังกาย โดยเฉพาะในวันที่อากาศดี 

ชาวกรีกจะมีความเป็นครอบครัวใหญ่มากกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หลายครั้งผู้เขียนพบว่า มีผู้สูงอายุหลายท่านอยู่คนเดียว และต้องออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเองในเวลาเช่นนี้ เป็นเรื่องที่น่าห่วงเช่นกัน

เรื่องที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม คือ การไปโบสถ์ หรือการที่ไม่ได้ฉลองอีสเตอร์ตามพิธีทางศาสนาในโบสถ์ การขาดที่พึ่งทางใจของกลุ่มที่มีความศรัทธา เพราะคำสั่งปิดโบสถ์ และการร่วมพิธีทางศาสนา 

 

เศรษฐกิจพังซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเคยชิน

ชาวกรีกที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การว่างงานสูง ภาระในการเสียภาษีต่างๆ อยู่แล้วนั้น มาเจอวิกฤติครั้งนี้ จะถือว่าเป็นการซ้ำเติมก็ว่าได้ ส่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงินนั้น รัฐบาลเองก็พยายามช่วยสุดกำลัง โดยการให้เงินกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดของรัฐบาล 800 ยูโรสำหรับระยะเวลาสองเดือน 

สำหรับห้างร้านกิจการที่ไม่ได้โดนคำสั่งปิดโดยตรง ไม่มีใครช่วยเหลืออะไรเลย และหากการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ ตามรายงานของ IMF กรีซจะได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดในประเทศยุโรป แต่ดูเหมือนชาวกรีกจะคุ้นชินกับวิกฤติทางเศรษฐกิจมาแล้วระดับนึง ผู้เขียนยังไม่ได้รับข่าวสารการฆ่าตัวตาย จะมีก็แต่การออกปล้น หรือการปล้นทางออนไลน์ที่มีเพิ่มมากขึ้น (แต่ก็มีอยู่แล้ว)

สำหรับคนไทยไกลบ้านในต่างแดนนั้น ช่วงวิกฤติเช่นนี้ ก็ย่อมรู้สึกยากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะห่วงทั้งทางนี้ และห่วงทั้งที่ไทย การตัดขาดของสายการบินต่างๆ การปิดสนามบิน ทำให้เหมือนไกลกันขึ้นไปอีก โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนติดต่อกันง่ายขึ้น และการรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนไทยในต่างแดนเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการได้รับข้อมูลจากสถานทูตไทยในต่างแดนทำให้คนไทยอุ่นใจว่า มีคนพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเขา มาตรการหรือข่าวส่วนใหญ่นั้นออกมาเป็นภาษากรีกทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาไม่เข้าใจและปฏิบัติตามมารตรการไม่ถูก

ผู้เขียนเป็นคนภูเก็ต คาดการณ์สถานการณ์ไว้ตั้งแต่ตอนเดือนมกราคมแล้ว ว่าจะต้องมีการระบาดในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตแน่นอน น่าเสียดาย ในประเทศกรีซไม่มีการแจกอาหารหรือถุงยังชีพ หรือช่วยกันบริจาคผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้ากาก แบบคนไทยเรา นี่คือข้อดีและน้ำใจของคนไทยเราที่ไม่เหมือนใคร 

 

มาตรการด้านต่างๆ ในประเทศกรีซ 

ด้านการสาธารณสุข 

มีเบอร์โทรใหม่สายด่วน 1135 ของกระทรวงสาธารณสุข 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ต้องการปรึกษาหรือแจ้งเหตุหากคิดว่าตัวเองเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาเพิ่มพนักงานรับสายโทรศัพท์ 1135 ของกระทรวงสาธารณสุข อีก 70 คน มีการเตรียมพร้อม 13 โรงพยาบาลที่จะรองรับรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุขของกรีซห้ามคนที่ทำงานในหน่วยการแพทย์ลาหยุด เพิ่มหมอและพยาบาล 2,000 คน และเตียงรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,900 เตียงเพื่อเป็นการเตรียมพร้อม

หน้ากากหรือเจลในประเทศกรีซนั้นหาได้ยาก ทางการสาธารณสุขกรีกทราบเรื่องนี้ แล้วสั่งการผลิตพิเศษเพื่อใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น นอกจากนี้ทางการสาธารณสุขกรีกยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่ต้องสวมใส่หน้ากาก คือ ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล และผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานที่ที่มีผู้ป่วย และผู้ที่มีอาการป่วยหวัด ไอ จาม เพื่อป้องกันการกระจายของโรค สำหรับผู้ที่แข็งแรงดีนั้นไม่จำเป็นต้องใส่ เน้นล้างมือ ไม่เอามือสัมผัสตาหน้าจมูกปาก เว้นระยะห่างทางสังคม 

การปิดทางเข้าออก พรมแดน ชายแดน การขนส่งและการเดินทางภายในประเทศ

กรีซยกเลิกเที่ยวบินการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เริ่มจากอิตาลีทางตอนเหนือ ต่อมายกเลิกเที่ยวบินไปกลับทั้งหมดจากอิตาลี ยกเลิกเที่ยวบินไปกลับ สเปน อังกฤษ ตุรกี เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ ประกาศปิดไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ปิดชายแดนระหว่าง กรีซ-อัลบาเนีย และ กรีซ-มาเซโดเนีย ยกเลิกเรือ ferry ไปและกลับจากอิตาลี ยกเว้นเรือบรรทุกสินค้า ห้ามเรือสำราญและเรือใบเทียบท่า 

หนึ่งเดือนต่อมา สายการบินกรีก AEGEAN ยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมดจนถึง 30 เมษายน กรีซนำคนกรีกที่ติดค้างในยุโรปกลับประเทศ โดยให้มีการติดตามและกักตัวอย่างจริงจังในโรงแรมในเอเธนส์ที่รัฐจัดให้ 14 วัน 

ประกาศห้ามคนนอกอียูเข้าประเทศโดยไม่มีกิจจำเป็น ก่อนที่สหภาพยุโรปจะประกาศปิดพรมแดนเสียอีก ยกเว้นจำเป็นและเร่งด่วนจริง เช่น งานหรือครอบครัว คนในสหภาพยุโรปและคนกรีกสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ต้องกักตัวเอง 14 วัน 

มีผู้คนออกจากเมืองหลวงกลับไปตามหมู่บ้านและตามเกาะเพิ่มขึ้น หลายพื้นที่ขอให้ผู้คนเหล่านี้กักตัวเองในบ้านก่อนเช่นกัน การเดินสายทางเรือ ให้เฉพาะผู้ที่อาศัยประจำเกาะและมีเหตุจำเป็นเท่านั้น ต้องแสดงเอกสาร เช่น ใบเสียภาษี ใบรับรองว่ามีที่อยู่ประจำบนเกาะออกโดยทางการหรือเอกสารแสดงถึงความจำเป็นในการเดินทางอื่นๆ เป็นต้น ผู้เดินทางเข้าเกาะต้องกักตัวในบ้าน 14 วัน เรือเล็กเรือใหญ่ส่วนตัว งดออกจากฝั่ง แท็กซี่ให้ผู้โดยสารขึ้นได้คนเดียว ยกเว้นกรณีที่มีคนต้องการความช่วยเหลือหรือป่วย รถยนต์ส่วนตัว นั่งได้สองคน คนขับและคนนั่งข้าง การขนส่งสินค้าต่างๆ ยังเป็นไปตามปรกติ แต่มีความล่าช้ามากขึ้น 

บทบาทของผู้นำ 

รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่รับช่วงบริหารประเทศมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2562 นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเป็นระยะๆ “สงครามกับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ใช่ว่าเราจะชนะศัตรูไม่ได้” สร้างความมั่นใจว่า ชาวกรีกจะต้อง “ผ่าน” เรื่องนี้ไปได้ และเป็น “ผู้ชนะ” ในที่สุด

ประธานาธิบดีคนใหม่ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีหญิงคนใหม่ ยกเลิกงานเลี้ยงฉลองการแต่งตั้งของตน และต่อมาประกาศขอรับเงินเดือนครึ่งนึงเป็นเวลาสองเดือน เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือให้ ส.ส. ในพรรครับเงินเดือนครึ่งนึงเช่นกัน มีรัฐมนตรีและหน่วยงานแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์การติดเชื้อและมาตรการทุกเที่ยงและหกโมงเย็น

นายกรัฐมนตรีโทรศัพท์ติดต่อกับหัวหน้าบาทหลวง และขอให้เปิดบริการเฉพาะสำหรับการนมัสการส่วนตัว หลังจากที่ทางโบสถ์ยังยืนยันว่ายังจะเปิดโบสถ์นั้น นายกรัฐมนตรีกรีกออกมาประกาศห้ามคนไปโบสถ์เอง และห้ามการรวมตัวหรือประกอบพิธีกรรมของทุกศาสนา แม้แต่ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่เป็นประเพณีสำคัญทั้งทางศาสนาและการรวมตัวของครอบครัว ทางการประกาศให้ผู้คนฉลองอยู่บ้าน ไม่มีการออกไปนอกเมืองหรือนอกบ้าน ห้ามแม้แต่ไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนตามบ้าน 

ความสำคัญ คือ ไม่มีการปกปิดข้อมูล เพราะกลัวการสูญเสียหรือขาดรายได้ ผู้นำของประเทศกรีซมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด มองการณ์ไกล เห็นความสำคัญของสุขภาพและความปลอดภัยของผู้คนมาก่อน แม้จะเป็นประเทศที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก็ยังกล้าสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โรงแรม หรือเที่ยวบิน ซึ่งเป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศ แม้แต่แคมเปญการท่องเที่ยว ก็หันไปบอกผู้คนว่า stay safe, stay home ก่อน 

หน่วยงานราชการ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเกี่ยวกับติดต่อราชการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมากขึ้น 

ใครจะติดต่อราชการ หรือสถานีตำรวจ ต้องนัดก่อนเท่านั้น ให้ข้าราชการลางานเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วย หรือต้องเลี้ยงดูลูก

มีการเริ่มทดลองใช้เว็บไซต์สำหรับติดต่อกับราชการออนไลน์ สามารถขอใบสั่งยาจากแพทย์แบบออนไลน์ สามารถนำรหัสบาร์โค้ดจากมือถือหรือปรินท์ไปใช้ที่ร้านขายยาได้เลย แต่ละเขต/หมู่บ้าน เริ่มมีบริการให้ความช่วยเหลือถึงบ้านให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เริ่มมีการสอนให้กับนักเรียนผ่านทางทีวีช่อง ert 2 มีสายด่วนปรึกษาด้านจิตแพทย์ เปิดเว็บไซต์ให้ความรู้และรายงานสถานการณ์  

ความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนและต่างประเทศ 

จีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ส่งอุปกรณ์การแพทย์มาให้ และรับตัวยาบางตัวจากอินเดียเข้ามาเพิ่มเติมโดยนักธุรกิจกรีกเป็นผู้สนับสนุน เครือข่ายโทรศัพท์แจกอินเทอร์เน็ตฟรี และแน่นอนว่า หัวใจสำคัญในการใช้เงินบริหารจัดการวิกฤติครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียู 

มาตราการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวอื่นๆ

11 มีนาคม เป็นครั้งแรกที่มี sms เตือนภัยในโทรศัพท์ ซึ่งแจ้งว่า สถานการณ์อยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้าน อย่าออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น ถ้ามีปัญหาสุขภาพให้โทรศัพท์ไปหาหมอ อย่าไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาลเอง เพื่อป้องกันผู้อื่นด้วย 

17 มีนาคม มีข้อความเตือนภัยเข้าอีกครั้ง “ขอให้ทุกคนอยู่บ้าน ออกจากบ้านเวลาจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงที่ที่มีคนเยอะ ยิ่งเราเก็บตัวในบ้านเราก็จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อได้มากขึ้น”

ต่อมาเริ่มมีคำสั่งปิดร้านและกิจการต่างๆ โดยเดิมทีประกาศมีกำหนดเวลา 14 วัน แต่ต่อมาขยายออกไป โดยขั้นแรก มีการปิดโรงเรียน ห้างร้านกิจการต่างๆ ห้ามจัดงานต่างๆ ยังไม่มีมาตราการ “ห้าม” คนออกนอกบ้าน แต่เป็นขอความร่วมมือ รัฐออกมาขอร้องให้ความร่วมมือให้อยู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่ให้เดินทางไปเที่ยวเหมือนวันหยุดหรือออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น จนกระทั่งถึงวันที่ 23 มีนาคม ถึงยกระดับมาตรการ ตำรวจจะเริ่มตรวจตามสถานที่สาธารณะ โดยเป้าหมายหลักคือ ความปลอดภัยและสุขภาพของทุกคน มีการกักตัวคนในหมู่บ้านที่มีการแพร่เชื้อเป็นพิเศษ ควบคุมทางเข้าออกหมู่บ้าน 14 วัน

กิจการร้านค้าที่ยังเปิด ได้แก่ ร้านขายยา ซูเปอร์มาร์เก็ต เบเกอรี่ ตลาดนัดแบบเปิด ร้านขายของชำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหาร ยังเปิดเหมือนเดิม ร้านขายยา ไปรษณีย์ ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เข้าร้านขายยาได้ทีละสองคน ส่วนในร้านทั่วไป เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ขอความร่วมมือไม่ให้ต่อแถวเกิน 5 คน ซูเปอร์มาร์เก็ตจะจำกัดจำนวนคนเข้าร้านตามขนาดของร้าน 10-15 ตารางเมตรต่อหนึ่งคน ตลาดนัดให้คนขายและคนซื้อใส่ถุงมือ โดยผู้ขายควรเตรียมถุงมือให้ผู้ซื้อด้วย

จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2020 นายกรัฐมนตรีกรีซ Kyriakos Mitsotakis ประกาศมาตรการเคอร์ฟิว คุมเข้ม ควบคุมการเคลื่อนย้ายคน หรือ Lockdown ห้ามออกจากบ้านโดยไม่มีกิจจำเป็น (เน้นคำว่า ห้าม แล้วครั้งนี้) โดยทีแรกประกาศใช้ 2 อาทิตย์ แต่ต่อมาประกาศไปถึง 27 เมษายน ยกเว้นสำหรับเหตุจำเป็น ได้แก่ ไปกลับทำงาน ถ้าไม่สามารถทำงานทางไกลหรือแบบอินเทอร์เน็ตได้ ต้องมีใบรับรองว่าทำงาน สัญญาว่าจ้างงาน สำหรับผู้ทำงานอิสระ รับรองเองว่าทำงานอะไรที่ไหน ไปโรงพยาบาล หาหมอ ตรวจรักษาโรค ไปซื้อยา ไปซื้ออาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต สิ่งของจำเป็น หนึ่งครั้งต่อวัน ออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยหรือเด็กในครอบครัว เดินออกกำลังกายแถวบ้าน 1-2 คนได้ พาสุนัขออกไปทำกิจข้างนอกได้ ต้องเว้นระยะห่าง ไปธนาคารได้ ไปงานศพ งานแต่ง หรืองานพิธีอื่นๆ ที่กฎหมายในช่วงนี้อนุญาตได้

สำหรับผู้ที่จะออกจากบ้าน ต้องมี ต้องพก/แสดง พาสปอร์ต และใบรับรองวัตถุประสงค์ในการออกจากบ้าน แบบเขียนหรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ sms ที่ส่ง

มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ใครฝ่าฝืนมาตรการปิดร้านของรัฐ จะถูกจับและปรับ 5,000 ยูโร ใครฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมคนเกิน 10 คน ปรับ 1,000 ยูโร จับและปรับ 150 ยูโรต่อครั้ง สำหรับผู้ที่ออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุจำเป็นและไม่ได้แจ้งตามวิธีดังกล่าว 

มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน 

รัฐบาลอนุมัติเงิน 15 ล้านยูโร ให้ผู้ปกครองสามารถหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ มีเบี้ยเลี้ยงให้สำหรับผู้ที่ไม่มีงานและรายได้เนื่องจากคำสั่งปิดของรัฐบาล ลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 6% สำหรับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ, สบู่, ถุงมือ หน้ากาก จนถึงสิ้นปี ให้เงินชดเชยกับผู้ที่ตกงานเพราะคำสั่งของรัฐบาล 800 ยูโรต่อคน (400 ต่อเดือน) รับเงินตอนต้นเดือนเมษายน ห้ามนายจ้างไล่พนักงานออก 

มีมาตรการลดหย่อนภาษี 4 เดือนสำหรับกิจการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผู้ทำงานอิสระ Freelance ลดหย่อนการจ่ายค่าประกันสังคมสำหรับผู้ทำงานอิสระ และกิจการที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ นับไปสามเดือน ลดค่าเช่าเหลือ 60% สำหรับเดือนมีนาคม-เมษายนสำหรับห้างร้านกิจการ และคนงานที่ได้รับผลกระทบ คุ้มครองประกันสังคมในช่วงเวลาว่างงานสำหรับคนงานที่ได้รับผลกระทบ เป็นไปตามเวลางานและเงินเดือน ธนาคารพักชำระหนี้จากกิจการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบ 6 เดือน

 

คลายล็อกแบบค่อยเป็นค่อยไป วางลำดับล่วงหน้ากว่าหนึ่งเดือน

28 เมษายน 2563 นายกรัฐมนตรี Kyriakos Mitsotakis ออกประกาศเวลาหกโมงเย็นว่า กรีซได้เข้าสู่ช่วงที่สอง จากมาตรการที่ผ่านมาทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตลดลง ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันรับผิดชอบ รักษามาตรการและเสียสละ มาตรการปลดล็อกหลังจากนี้เปรียบเหมือน “สะพานแห่งความปลอดภัยที่เชื่อมถึงชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่” จะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบส่วนบุคคล โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคนเป็นหลัก

หลังจากนั้นตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ออกมาบอกรายละเอียด
มาตรการปลดล็อกทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแบ่งเป็นหลายช่วง ดังนี้

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป รัฐบาลจะหยุดการส่ง sms ใบอนุญาตที่ต้องเขียนก่อนออกจากบ้าน เปลี่ยนเป็นการใช้มาตรการป้องกันส่วนตัว ความรับผิดชอบส่วนบุคคล ให้ประชาชนใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือ เว้นระยะห่างทางสังคม 1.5 เมตร ส่วนผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านต่อไปจนถึง 30 พฤษภาคม

วันที่ 4 พฤษภาคม
โบสถ์ให้สวดมนต์ส่วนบุคคลได้ไม่เกิน 10 คน และต้องเว้นระยะห่าง ร้านค้าที่จะเปิดก่อน ได้แก่ ร้านหนังสือ ร้านขายแว่นตา ร้านขายอุปกรณ์ออกกำลังกาย ร้านตัดผม (ต้องนัดก่อน) ร้านขายดอกไม้ต้นไม้ สถานเสริมความงาม และ KTEO (ศูนย์เช็คสภาพรถ)

การเปิดร้านยังอยู่ใต้มาตรการจำกัดจำนวนคนตามขนาดของร้าน 20 ตารางเมตร เข้าได้ 4 คน, 20-100 ตารางเมตร เข้าได้ 4+1 คน, 100 ตารางเมตร เข้าได้ 12 คน, 130 ตารางเมตร เข้าได้ 14 คน ให้เว้นระยะห่างระหว่างคนทำงานและลูกค้า สำหรับห้างร้านที่ไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 5,000 ยูโร

อย่างไรก็ดี ยังคงไว้ซึ่งข้อห้ามรวมตัวกันมากกว่า 10 คน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000 ยูโร

11 พฤษภาคม จะให้ร้านอื่นๆ เปิดทำการได้ โดยต้องเว้นระยะห่าง และจำกัดจำนวนคนเข้าร้าน โรงเรียนสอนขับรถให้ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากาก


18 พฤษภาคม
โรงเรียนมัธยมปลาย โรงเรียนสอนพิเศษ สวนสัตว์และสวนพฤกษชาติ โบราณสถาน จะกลับมาเปิดได้ และอาจจะเปิดให้เดินทางระหว่างเมือง/ข้ามเขต ข้ามแคว้นได้

1 มิถุนายน
โรงเรียนระดับประถมและอนุบาล คาดว่าจะเปิด ห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะเปิด โดยให้ลูกค้าใส่หน้ากาก ถุงมือ ยกเว้นร้านอาหารในห้างยังไม่เปิด ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดให้นั่งข้างนอกได้ โดยรักษาระยะห่าง เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ โต๊ะนึงนั่งได้สี่คน


ในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สถานบันเทิงต่างๆ โรงแรมที่มีใบอนุญาตให้เปิดตามฤดู ชายหาดแบบที่มีร้านบริการ รวมถึงสายการบินในประเทศ และหลังจากนั้นสายการบินระหว่างประเทศ คาดว่าจะเปิดได้ในช่วงนี้

หน่วยงานราชการให้เข้าทำงาน แบ่งเป็นกะ 07.00, 08.00 และ 09.00 เพื่อลดความหนาแน่นระหว่างเดินทางโดยการขนส่งสาธารณะ 


อ้างอิง

ข้อมูลจากทางการกรีก