รับมือโควิดในเนเธอร์แลนด์: ควบคุมโรคแบบ “ชิลๆ” ที่ร็อตเตอร์ดัม

เรื่องโดย
ฮันนี่ ไกรวีร์ ศิลปินอิสระ

 

เราเป็นคิวเรเตอร์และไกด์นำทัวร์นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ในเมืองร็อตเตอร์ดัม เรามาที่เนเธอร์แลนด์โดยมาเรียนปริญญาโทก่อน ระหว่างที่อยู่ก็รู้สึกชอบชีวิตที่นี่ เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงและไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเพราะเป็นประเทศที่กระจายความเจริญและงานไปทั่ว เราจึงไม่ต้องฝ่าการจราจรเพียงเพราะต้องเข้าไปทำงานในเมืองหลวง 

หลังเรียนจบเราก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ร็อตเตอร์ดัมต่ออีกหนึ่งปี หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจตั้งบริษัทเพิ่อทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากวีซ่าที่เราได้รับเป็นวีซ่าที่ทำงานฟรีแลนซ์ได้เท่านั้น เราจึงต้องทำงานเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว และเราก็เจ็บเต็มตัวจาก COVID-19 เช่นกัน 

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ

เนเธอร์แลนด์พบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่เมืองทิลเบอร์ก (Tillburg) สันนิษฐานว่าผู้ติดเชื้อไปเที่ยวงานคานิวัลซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ มีคนเข้าร่วมจากทั่วสารทิศ ซึ่งงานเทศกาลดังกล่าวเข้าเงื่อนไขความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อเพราะมีประชาชนจำนวนมากมาเข้าร่วมและผู้คนเบียดเสียดกันในงาน 

ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมมีการตรวจยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ โดยตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมเป็นต้นไป ยอดผู้ป่วยสะสมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลักร้อยก่อนที่ประมาณวันที่ 15 มีนาคมยอดผู้ติดเชื้อสะสมก็สูงขึ้นถึงหลักพัน ในส่วนของผู้เสียชีวิต มีการยืนยันผู้เสียชีวิตรายแรกในวันที่ 8 มีนาคม จากนั้นจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้น 434 รายในวันที่ 26 มีนาคม

ในวันที่ 12 มีนาคม มาร์ค รุธ (Mark Rutt) นายกรัฐมนตรีตัดสินใจประกาศห้ามการชุมนุมที่มีคนจำนวนตั้งแต่ 100 คน เน้นให้ประชาชนทำงานจากบ้าน และรักษาระยะห่างทางสังคม โดยเว้นระยะห่างกับบุคคลอื่น 1.5 เมตร ในที่สาธารณะ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 การประกาศนี้ส่งผลให้โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต ฟิตเนสถูกปิด ขณะที่กิจกรรมที่มีประชาชนมารวมตัวกันจำนวนมากทั้งหมดถูกยกเลิก

จากนั้นในวันที่ 31 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการนี้ออกไปถึงวันที่ 1 มิถุนายน และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศว่าโรงเรียนประถมจะเริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ยังคงงดการจัดงานที่เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ไปจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2563

สถานีรถไฟร็อตเตอร์ดัมที่เคยพลุกพล่านไปด้วยผู้คนกลับเงียบสงัด ถ่ายเมื่อ 18 เมษายน 2563 (ภาพโดย ฮันนี่ ไกรวีร์

 

สถานการณ์เลวร้ายแต่ยังใช้มาตรการแบบชิลๆ 

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคช้า ไม่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นเหมือนจีนหรือเกาหลีใต้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสะสมในอัตราสูง และจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 รัฐบาลก็ไม่บังคับให้ประชาชนทั่วไปใส่หน้ากากบนท้องถนนหรือที่สาธารณะ ทั้งที่ประเทศในทวีปยุโรปอย่างเยอรมนีและอังกฤษนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดแบบเข้มข้นมาใช้

ในความเห็นของเรา เหตุผลอยู่สองประการที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 แบบผ่อนคลาย คือเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนอีกข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลบริหารภายใต้แนวคิดแบบยุโรปเหนือที่ยึดมั่นในหลักเสรีภาพส่วนบุคคลและเชื่อว่าพลเมืองของตัวเองมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมโดยไม่ต้องออกคำสั่ง

ในแง่เศรษฐกิจ อินเทเลเจนท์ ล็อคดาวน์ (intelligent lockdown) หรือการล็อคดาวน์แบบผ่อนคลาย ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ หรือที่คนดัชต์เรียกจิกกัดรัฐบาลว่า “business as usual” ซึ่งในทางปฏิบัติ การใช้ชีวิตหรือประกอบธุรกิจก็ไม่ได้เหมือนเดิมเสียทีเดียว ร้านอาหารเปลี่ยนมาให้บริการแบบซื้อกลับบ้านหรือนำมาส่งที่หน้าประตูบ้าน ประชาชนสามารถออกจากบ้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐโดยต้องทิ้งระยะห่างจากคนแปลกหน้า 1.5 เมตร ซึ่งในทางปฏิบัติก็ทำได้ยากโดยเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือบนถนนในช่วงเย็นที่คนนิยมออกกำลังนอกบ้าน

นโยบายล็อคดาวน์แบบผ่อนคลายถูกนำมาใช้ควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันร่วม (herd community) ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ผู้มีร่างกายแข็งแรงมีโอกาสติดเชื้อ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเมื่อหายจากการติดเชื้อ เพื่อให้เป็นเกราะกำบังต่อต้านเชื้อให้กับผู้สูงอายุและผู้มีประวัติป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ

ในแง่การให้ความเคารพต่อเสรีภาพ แม้ชาวเนเธอร์แลนด์จะนิยมทำธุรกรรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตแต่พวกเขาก็มีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวสูง เมื่อรัฐบาลประกาศว่ามีแนวคิดจะนำแอปพลิเคชั่นมาใช้ตรวจสอบว่ามีประชาชนคนใดเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อดังที่รัฐบาลจีนและเกาหลีนำมาใช้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันทีเพราะประชาชนบางส่วนกังวลเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะมีความเป็นไปที่รัฐบาลจะบังคับให้ทุกคนใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวเพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง

ไม่ว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกจะรับมือ COVID-19 อย่างผ่อนคลายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลด้านค่านิยมเป็นหลัก สิ่งที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นในสังคมเนเธอร์แลนด์คือคนมีจิตสำนึกร่วมกันมากขึ้น เมืองร็อตเตอร์ดัมที่เราอาศัยอยู่เป็นเมืองท่า ประชาชนที่นี่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความเชื่อ และวัฒนธรรม และแม้ว่าร็อตเตอร์ดัมจะมีบริษัทใหญ่ๆ มาตั้งสำนักงานอยู่มาก แต่ยังถูกมองว่าเป็นเมืองที่จนที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศ ความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกช่วงชั้นทางสังคมระหว่างชาวดัชต์กับผู้อพยพ (ทั้งผู้อพยพที่เพิ่งเข้ามาใหม่และชาวดัชต์ที่เป็นลูกหลานผู้อพยพรุ่นก่อนๆ) เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

แม้ว่าเนเธอร์แลนด์จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ COVID-19 ก็แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วปัญหาการเหยียดเชื้อชาติก็ยังคงอยู่ทั้งในประเทศและในเมืองของเรา ช่วงที่มีข่าวการแพร่ระบาดไวรัสในจีนแต่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อนคนไทย จีน และเกาหลีถูกเหยียดเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งถูกตะโกนใส่ว่าโคโรน่าบ้าง ถูกแกล้งไอใส่ หรือถูกมองด้วยสายตารังเกียจจนทำให้คนเอเชียหลายคนไม่กล้าใส่หน้ากาก แต่เมื่อมียอดผู้ติดเชื้อในประเทศสูงขึ้นประกอบกับมีการรณรงค์ทางสื่อโฆษณาต่างๆ ว่าคนในเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดจะผ่านวิกฤติไปด้วยกัน ความรู้สึกแบ่งแยกว่า COVID-19 เป็นโรคของคนเอเชียหรือเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดจึงลดลง

 

ล็อคดาวน์ในร็อตเตอร์ดัม ที่เห็นและเป็นไป

ช่วงแรกที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ ประชาชนในเมืองร็อตเตอร์ดัมก็แตกตื่นกันไปกักตุนอาหารตามซูเปอร์มาเก็ต เราเห็นภาพคนแย่งกันซื้อสินค้า กระดาษชำระ พาสต้า อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง แป้ง ยีสต์ หายไปจากชั้นวางของในห้างและร้านค้าหลายๆ แห่ง 

เช้าวันที่ 13 มีนาคม หนึ่งวันหลังนายกรัฐมนตรีประกาศงดกิจกรรมและร้องขอให้ประชาชนทำงานจากบ้าน ประชาชนพากันไปซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อกักตุน ซูเปอร์มาร์เก็ตมีมาตรการจำกัดจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ ด้วยการบังคับให้ทุกคนหยิบตระกร้าหรือใช้รถเข็น เพื่อให้พนักงานสามารถนับจำนวนลูกค้าที่อยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้

ซูเปอร์มาร์เก็ตลิเดิลในเมืองร็อตเตอร์ดัม ช่วงสายของวันที่ 13 มีนาคม หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศงดกิจกรรม ปิดโรงเรียน และให้ประชาชนทำงานจากบ้าน (ภาพโดย ฮันนี่ ไกรวีร์)

ยิ่งซูเปอร์มาร์เก็ตขายของราคาถูกลง ชั้นวางอาหารก็จะยิ่งว่างมากขึ้นตามไปด้วย เราไปซื้อของทั้งที่ ลิเดิล (Lidl) และ อัลเบิร์ต ไฮน์ (Albert Heijn) เราจำได้ว่าคนที่ซื้อของที่ลิเดิลตื่นตระหนกมากกว่า คนซื้อของที่อัลเบิร์ต ไฮน์ที่ขายของแพงกว่า สถานการณ์ที่ลิเดิลชั้นวางสินค้าว่างเหลือเพียงลังเปล่า และข้าวของหล่นระเกะระกะ ซึ่งอาจเป็นเพราะพนักงานมีไม่พออำนวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือลูกค้า ส่วนที่อัลเบิร์ต ไฮน์ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติดัชต์ที่ขายของในราคาสูงกว่า และกลุ่มลูกค้ามีรายได้สูงกว่าที่ลิเดิล ชั้นวางอาหารแห้ง เช่น เส้นพาสต้า และแป้งชนิดต่างๆ ก็แทบจะว่างเปล่าเพราะคนหันมาอบขนมปังเองที่บ้าน

เราเองรีบไปไปซื้อข้าวสารและเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ร้านขายของจากเอเชีย ซึ่งกลายเป็นว่าไม่ค่อยมีคนมาซื้อของ พอสอบถามพนักงานขายก็ได้ความว่าอาจเป็นเพราะสำหรับชาวดัชต์ สินค้าเอเชียไม่ใช่ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เราก็เลยแอบได้แง่คิดว่า เอาเข้าจริงโลกาภิวัตน์หรือการเข้าถึงสินค้าจากอีกซีกโลกมันก็เป็นแค่ความฟุ้งเฟ้อเพราะเราก็น่าจะสามารถอยู่รอดได้ด้วยของกินในท้องถิ่น

ชั้นวางอาหารแห้ง เช่น เส้นพาสต้า ในห้างอัลเบิร์ต ไฮน์ ที่โล่ง แม้แต่ผลิตภัณฑ์วีแกน (ภาพโดย ฮันนี่ ไกรวีร์)

จริงๆ แล้วการกักตุนอาหารแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีดัชต์” เพราะในภาษาดัชต์ก็มีการบัญญัติคำไว้ใช้เรียกเป็นการเฉพาะว่า แฮมสเตอร์เรน (hamsteren) ที่แปลว่าการซื้อเพื่อกักตุน เหมือนแฮมสเตอร์ที่กักตุนอาหารไว้ข้างแก้ม ในสถานการณ์ปกติซูเปอร์มาร์เก็ตมักใช้คำนี้เพื่อใช้เป็นโปรโมชันหรือหรือโฆษณาทำนองว่าซื้อมากลดมาก

แต่เมื่อมี COVID-19 นายกรัฐมนตรีก็ออกมาปรามประชาชนแบบติดตลกว่าไม่ต้อง “แฮมสเตอร์เรน” เพราะเราจะมีทิชชู่ไว้ให้เช็ดก้นกันไปอีกสิบปี! ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่าแม้ในยามยาก คนดัชต์ก็ยังมีอารมณ์ขัน

ล่าสุดวันที่ 29 เมษายน ซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการในแต่ละครั้งด้วยการบังคับใช้ตะกร้า หรือรถเข็น แต่สินค้าไม่ขาดเหมือนช่วงแรกๆ ของการล็อคดาวน์ เรามองว่าเป็นเพราะการซื้อของกักตุนจำนวนมากเป็นการกระทำไปตามสัญชาติญาณด้วยความตื่นตระหนก เมื่อสถานการณ์เริ่มมีความแน่นอนและสื่อก็รายงานข่าวอย่างต่อเนื่องว่าไม่จำเป็นต้องกักตุนของใช้ ประกอบกับการรณรงค์ของฝ่ายห้างร้านเอง ประชาชนจึงเลิกกักตุนสินค้าและซื้อของตามความจำเป็นเหมือนในสภาวะปกติ

 

ผลกระทบ มาตรการเยียวยา และการปรับตัว

การสั่งปิดพิพิธภัณฑ์และการงดกิจกรรมการท่องเที่ยวทำให้เราขาดรายได้ และเราก็ยังมีรายจ่ายประจำทั้งค่าเช่าบ้านและอาหาร ตกเดือนละประมาณหนึ่งพันยูโร แต่โชคยังดีที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในหลายรูปแบบ ทั้งเงินแบบให้เปล่า ให้กู้ การยืดเวลาการจ่ายภาษี ให้ผู้ที่ถูกบริษัทเลิกจ้าง พนักงาน part-time ที่จำนวนชั่วโมงทำงานลดลงซึ่งรวมถึงฟรีแลนซ์ที่มีสัญชาติไทยอย่างเราก็ได้รับ เพราะรัฐบาลถือว่าเราจ่ายภาษีให้ประเทศเขา เราเลยรู้สึกว่าแม้เราจะไม่ได้มีชีวิตแบบชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ รายได้เราไม่เยอะมากและต้องเสียภาษีอัตราสูงกว่าที่เมืองไทย แต่เราก็เห็นผลของเงินภาษีของเรา

แม้เราจะไม่ได้มีสัญชาติดัชต์แต่รัฐบาลที่นี่ก็มีมาตรการช่วยเหลือเราอย่างเท่าเทียมกับพลเมืองของเขา เช่น มาตรการโทโซ (Tozo) ช่วยเหลือคนทำงานอิสระและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตรการช่วยเหลือนี้เดิมมีอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กไม่ให้ล้มละลาย แต่ปัจจุบันได้ผ่อนคลายเงื่อนไขและการตรวจสอบเพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับเงินเยียวยาเร็วขึ้น การให้เงินนี้รัฐบาลกลางให้แต่ละเมืองไปจัดการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ขอรับการช่วยเหลือกันเองโดยใช้เงื่อนไขในการให้เงินช่วยเหลือ และเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนเงินที่จะได้รับเหมือนกันทั่วประเทศ

เลโก้ต่อเป็นคำดัชต์ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดีเอง ตั้งไว้ที่ขอบหน้าต่างบ้านพักอาศัยเพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาอ่านแล้วมีกำลังใจ (ภาพโดย ฮันนี่ ไกรวีร์)

การคำนวณเงินช่วยเหลือขึ้นอยู่กับสถานะทางครอบครัวและอายุ หลักๆ คือ ผู้เป็นโสดหรือเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อายุ 21 ปีขึ้นไป สามารถรับเงินช่วยเหลือได้สูงสุด 1,052.32 ยูโรต่อเดือน เป็นเวลาสามเดือน และหากมีครอบครัวจะมีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสถานะทางครอบครัวว่ามีบุตรหรือไม่ 

เงื่อนไขหลักของนโยบายนี้คือ เราต้องทำงานให้กับบริษัทของเราเป็นเวลาอย่างต่ำ 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 1,225 ชั่วโมงต่อหนึ่งปี ผู้ร้องขออาศัยอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทก่อน 18.45 น. ของวันที่ 17 มีนาคม  2563 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งข้อนี้หมายถึง เราทำงานและเสียภาษีให้กับประเทศเนเธอร์แลนด์ และด้วยข้อนี้เองทำให้เราซึ่งเป็นคนไทย แต่ทำงานและเสียภาษีในประเทศเนเธอร์แลนด์มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือจากเมืองร็อตเตอร์ดัมเฉกเช่นพลเมืองดัชต์

ในฐานะคนทำงานด้านศิลปะ เราเห็นการปรับตัวของเพื่อนร่วมวงการที่นี่ ศิลปิน นักดนตรี และพิพิธภัณฑ์ปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยให้คนเข้าถึงงานแม้จะไม่ได้มารับชมด้วยตัวเอง เช่น พิพิธภัณฑ์จัด virtual tour และ live steam นิทรรศการ ขณะที่ศิลปินบางกลุ่มก็จัดการพูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รวมทั้งจัดการแสดงออนไลน์ จนกลายเป็นกระแสว่าศิลปินต้องทำ live เพื่อให้ตัวเองมีตัวตนบนโลกดิจิตอล หรือได้ทำอะไรบางอย่าง แม้การแสดงของศิลปินหรือการจัดงานแสดงของพิพิธภัณฑ์ที่หลายครั้งไม่ได้ปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ กระบวนการคิด การผลิตและการนำเสนอบนโลกออนไลน์จะทำให้เรารู้สึกเอียนงานศิลปะบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือไปบ้าง แต่เราก็เชื่อว่าอย่างน้อยมันก็คงพอจะช่วยสร้างรอยยิ้มและบรรเทาความเครียดให้ผู้คนท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ได้บ้าง


อ้างอิง