รัฐบาลไทยได้ละเลยการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้นำเสนอรายงานเงาฉบับที่สองต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นรายงานการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อันเนื่องมาจากการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2560

รายงานเงาระบุว่ารัฐบาลไทยยังคงละเลยการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ในประเด็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1. ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ในฐานะแม่บทกฎหมายของประเทศ 2. ปัญหาการฆ่านอกระบบ การบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมาน 3. สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ โดยก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม 2561 FIDH สสส. และไอลอว์ ได้เคยนำเสนอรายงานเงาติดตามความคืบหน้าฉบับที่หนึ่งไปแล้ว    

วิลสันพาเลซ ที่ทำการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา

 

ในการนำเสนอรายงานดังกล่าว Guissou Jahangiri รองประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งถึงความไม่พร้อมที่จะตอบสนองต่อประเด็นข้อห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ดังนั้นสหประชาชาติควรยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พร้อมทั้งควรให้คำแนะต่อรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป” 

ในส่วนของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทกฎหมายไทย รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ในเดือนเมษายนปี 2560 มีบทบัญญัติรับรองให้ประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ยังไม่ถูกยกเลิกยังมีผลบังคับใช้อยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปโดยยังคงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ คสช.จะสิ้นสภาพไปแล้วก็ตาม นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังมีบทบัญญัติบางประการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและรับรองให้ทหารยังคงมีบทบาทและอำนาจในการเมืองไทยต่อไปอีกยาวนาน  

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า

“เมื่อมรดกทางกฎหมายของ คสช.ที่มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงอยู่ องค์การสหประชาชาติจึงควรตักเตือนรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อคืนระบอบการปกครองตามหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน พร้อมกับให้เริ่มมีการเคารพในสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างแท้จริง”

รายงานยังระบุว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯ ในประเด็นด้านการซ้อมทรมาน การฆ่านอกระบบ และการบังคับสูญหาย โดยปรากฏว่ายังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้กระทำการยังคงลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนที่ไม่ได้กระทำอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นการละเลยพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในส่วนของการปรับปรุงสภาพเรือนจำและทัณฑสถาน รัฐบาลไทยขาดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังที่แออัด รวมทั้งในการรับประกันการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการสร้างหลักประกันสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลดังที่คณะกรรมการฯ ได้แนะนำ 

“เรือนจำของไทยมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น 30% นับจากการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไกไอซีซีพีอาร์รอบที่แล้วในเดือนมีนาคม 2560 สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นเสมือนระเบิดเวลา รัฐบาลไทยจึงต้องดำเนินมาตรการปฏิรูปเรือนจำเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างเร่งด่วน”

เป็นคำกล่าวของกวิน ชุติมา รองประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้ คณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมีกำหนดที่จะทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยในการประชุมรอบที่ 129 ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ถึง 24 กรกฎาคม 2563 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

แถลงการณ์แปลจาก Government fails to address UN concerns in follow-up human rights review

You May Also Like
อ่าน

ผ่านฉลุย! สส. เห็นชอบร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสาม ส่งไม้ต่อให้ สว.

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระ
อ่าน

จับตาประชุมสภา ลุ้น สส. ผ่านร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม วาระสอง-สาม

27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนวาระสอง-สาม หากสภามีมติเห็นชอบในวาระสาม ร่างกฎหมายก็จะได้พิจารณาต่อชั้นวุฒิสภา