ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เลือก บรรจงศักดิ์ วงปราชญ์ ส่งให้ ส.ว. ลงมติเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเอกฉันท์เลือก บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีมติเอกฉันท์เลือก บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เพื่อส่งให้วุฒิสภาลงมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนที่ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ผู้ได้รับคัดเลือกจากศาลปกครองสูงสุดคนก่อน ที่วุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  

ประวัติการศึกษา บรรจงศักดิ์ จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์)

ในส่วนของประวัติการทำงาน เริ่มต้นชีวิตในสายตุลาการศาลปกครองเมื่อปี 2544 โดยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น และได้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ในปี 2552 ก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในปี 2555 จนกระทั่งในปี 2561 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 

ประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ในการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 มีผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนทั้งสิ้น 11 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้ให้ความยินยอมที่จะไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 คนเท่านั้น คือ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 

ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ไม่มีตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่มีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ความยินยอมที่จะไปทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย ทำให้ไม่สามารถคัดเลือกผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีมติให้ลดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่จะได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มจากเดิมที่มีจำนวน 14 คน เป็น 25 คน

 

ส.ว. เคยลงมติไม่เห็นชอบตุลาการสายศาลปกครองเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมครั้งที่ 18 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ส.ว. ได้มีมติเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 จาก 5 คน ดังนี้ 

  1. อุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง
  2. วิรุฬห์ เสียงเทียน ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 216 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 3 เสียง
  3. จิรนิติ หะวานนท์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 217 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 เสียง
  4. นภดล เทพพิทักษ์ ที่ประชุมลงคะแนนเห็นชอบ 203 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

และลงมติไม่เห็นชอบให้ ชั่งทอง โอภาสศิรวิทย์ ดำรงตำแหน่ง ด้วยคะแนนเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง   

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสี่คนแล้ว ทำให้ยังขาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากสายศาลปกครองอีกเพียงคนเดียวเท่านั้น   

ในกรณีของชั่งทอง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เคยมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด คัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และส่งให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบ แต่เมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจึงต้องดำเนินการคัดเลือกคนใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ 

เมื่อคัดเลือกบรรจงศักดิ์แล้ว กระบวนการต่อไปสำนักงานศาลปกครองต้องส่งชื่อของผู้ที่ได้รับคัดเลือกไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ ส.ว.ลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ตามมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 12 วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ซึ่งกระบวนการในส่วนของที่ประชุมวุฒิสภานั้นต้องรอเปิดสมัยประชุมในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ 

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

จะ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” ทำไมต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน? 

ย้อนดูเกมการเมืองที่ทำให้ยังไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ได้ทำประชามติเสียที โดยจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการทำประชามติ เป็นครั้งที่สอง