รับมือโควิดในเยอรมนี: เริ่มช้าแต่เอาอยู่ ให้นายจ้างลงทะเบียนจ่ายเงินเยียวยา

เรื่องโดย 
ศุจินทรา อนันต์

 

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สถิติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 เวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการจำนวน 144,387 ราย มีผู้รักษาหายแล้ว 88,000 ราย ผู้เสียชีวิต 4,547 ราย ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ 

ก่อนการแพร่ระบาด เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการเข้าออกของคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน และยุโรป จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าคู่ลงทุนรายใหญ่รายใหม่ของเยอรมนีที่มีนโยบายเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไปในทางแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ประชากรของสหภาพยุโรป (European Union) ก็ถ่ายโอนแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นประจำอยู่แล้ว 

ประชากรจากเอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกา และจากหลายประเทศทั่วโลกยังเข้ามาประกอบอาชีพ ศึกษาเล่าเรียน ทำธุรกิจ หรือโยกย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น เยอรมนียังมีนโยบายรองรับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงที่ลี้ภัยทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกา และซีเรีย จึงทำให้เยอรมนีเป็นเสมือนจุดพักและจุดไหลผ่านของประชากรโลกและกลายเป็นแหล่งรับเชื้อแหล่งใหญ่ในเวลาต่อมา

ภาพถ่ายโดย Tantai Kulthani

 

ปลายเดือนมกราคม ประชาชนยังไม่ตื่นตัว ใช้ชีวิตปกติ

เยอรมนีตรวจพบคนไข้รายแรกในวันที่ 27 มกราคม 2563 ในเมืองสตาร์นเบิร์ก (Starnberg) เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งติดเชื้อมาจากชาวจีนที่เข้ามาสัมมนาในบริษัทดังกล่าว ในช่วงนั้นประชาชนและรัฐบาลยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ มากนัก รัฐบาลมองว่า โอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างยังคงต่ำ ก่อนหน้านั้นราวหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลได้ระบุว่าโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าตัวนี้ยังไม่อันตรายเท่ากับโรคซาร์ส (SARS) ประชาชนจึงยังดำเนินชีวิตตามปกติ มีการพบปะสังสรรค์ จัดงานอีเว้นท์ เดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่ใส่หน้ากากป้องกันหรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ ออกมา อย่างไรก็ตาม มีการติดตามสืบหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและให้มีการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอยู่เช่นกัน 

เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบ ผู้เขียนได้สอบถามชาวเยอรมันที่รู้จักจำนวนหนึ่ง เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ ได้คำตอบว่า พวกเขาไม่รู้สึกกลัวโรคดังกล่าว เพราะตามปกติจะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ทุกปี บ้างก็เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงฉากหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ซึ่งไม่ได้รุนแรงจริงๆ เหมือนอย่างที่ปรากฏในสื่อ พวกเขายังเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะจัดการกับโรคระบาดใหม่นี้ได้ จึงยังใช้ชีวิตปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

แม้แต่ในสนามบินก็ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า… 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการตรวจพบคนไข้เพิ่มเติม และมีผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อในเที่ยวบินหนึ่งของสายการบิน Lufthansa ทางสายการบินจึงยกเลิกทุกเที่ยวบินที่จะเดินทางไปจีน ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม รัฐบาลได้แจ้งให้นักบินต้องรายงานสถานะสุขภาพของผู้โดยสารทุกคนและขอให้ผู้โดยสารทิ้งข้อมูลติดต่อเอาไว้ เพื่อให้ง่ายในการสืบหาตามตัวเมื่อพบผู้ติดเชื้อ จากนั้นได้มีการร้องขอให้ผู้ที่กำลังจะเดินทางออกจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน เกาหลีใต้ ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทางเข้าเยอรมนี

 

เดือนกุมภาพันธ์ ไม่มีมาตรการบังคับ เน้นรณรงค์ให้ประชาชนระวังตัวเอง

ในเดือนกุมภาพันธ์ เยอรมนีเริ่มจัดการวิกฤติการณ์ในระดับต้น (Containment Stage) คือ พยายามลดการแพร่ระบาดผ่านความร่วมมือของประชาชนในการใส่ใจดูแลตัวเองเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าประเทศมีความสามารถในการรับมือได้ดีจึงไม่ได้มีมาตรการจำกัดเสรีภาพใดๆ ออกมา มีแต่การรณรงค์ให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยของตัวเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการล้างมือบ่อยๆ การไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า การใช้ข้อพับแขนปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม การงดทักทายด้วยการกอด จูบ หรือจับมือ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังให้ประชาชนสำรวจตัวเอง หากกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง มีความเสี่ยงต่อโรค หรือมีอาการเข้าข่าย ให้รายงานตัวกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจคัดกรองต่อไป โดยสามารถเข้าไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจที่บ้านก็ได้ เมื่อมีการตรวจพบเชื้อก็จะให้กักตัว 14 วัน อาจเป็นในโรงพยาบาลหรือในที่พักอาศัยก็แล้วแต่ความสมัครใจ โดยระหว่างนั้นจะมีทีมแพทย์คอยติดตามความคืบหน้าของอาการอย่างใกล้ชิด 

เท่าที่ผู้เขียนได้พบเห็น จากความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีแนวโน้มจะเชื่อฟังรัฐบาลและพร้อมปฏิบัติตามทุกคำร้องขอหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลดึงออกมาใช้

ปลายกุมภาพันธ์ เมื่อรัฐนอร์ทไรน์ เวสฟาเลีย (North Rhine-Westphalia) เริ่มมีการระบาดมากขึ้น ทางรัฐจึงเริ่มทยอยปิดโรงเรียน สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และสถานที่ต่างๆ ที่มีการรวมตัวของประชาชน ไปจนถึงวันที่ 2 มีนาคม กิจกรรมสาธารณะต่างๆ จำเป็นต้องยกเลิกไปก่อน เช่น การแข่งขันฟุตบอล FC Wegberg-Beeck เป็นต้น 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เยอรมนีติดอันดับที่ 9 ประเทศที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก แทนประเทศไทย และอยู่ในอันดับ 2 ของยุโรป รองจากอิตาลี ส่งผลให้เยอรมนีเริ่มสั่งอย่างเคร่งครัดและอย่างเป็นทางการให้ประชาชนที่มีการติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วันด้วย มีการลดเที่ยวบินในสายการบินต่างๆ เหลือ 25% มีการออกกฎร้องขอให้ผู้โดยสารจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี และอิหร่าน ต้องรายงานสถานะสุขภาพก่อนเข้าเยอรมนี เจ้าหน้าที่ในขบวนรถไฟต่างๆ มีหน้าที่ต้องรายงานเมื่อพบผู้มีอาการเข้าข่าย 

ซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มหนาแน่น เนื่องจากประชาชนแห่ซื้อสินค้าเพื่อกักตุน กระดาษชำระกลายเป็นสินค้าขาดตลาดในช่วงนั้น โดยมีการซื้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 700% ซึ่งพบว่าหลายที่มีการเขียนป้ายไว้ให้ 1 คน ซื้อได้เพียง 1 แพค นอกจากนั้นยังมีการรณรงค์ให้ลดการซื้อเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ถุงมือ หรืออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เพื่อเก็บไว้ให้เฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้ได้เข้าถึง เช่น ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล หรือผู้ดูแลคนชราเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการรณรงค์ให้ใส่หน้ากาก กล่าวได้ว่าการใส่หน้ากากในช่วงนั้นถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวเยอรมันเลยทีเดียว  

 

ต้นมีนาคม เสียชีวิตรายแรก ใช้มาตรการเข้มข้น

เมื่อถึงต้นเดือนมีนาคม ยังคงมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้จำกัดการใช้หน้ากากอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น มีการประกาศงดจัดงานที่มีการรวมตัวตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตรายแรก ทำให้สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นในหมู่ประชาชน ผู้เขียนเริ่มพบว่าประชาชนใส่ใจมากขึ้นที่จะเดินห่างๆ กัน ปิดปากหรือจมูกอย่างถูกต้องเวลาไอหรือจาม มีการพูดคุยถึงโรคโควิด-19 มากขึ้น กระทั่งดูระแวดระวังมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 

วันที่ 13 มีนาคม เยอรมนียกระดับสู่การป้องกันที่เข้มข้นขึ้น (Protection Stage) คือ เริ่มออกมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดขยายวงกว้าง มีการสั่งปิดสถานศึกษาต่างๆ โดย 14 รัฐจาก 16 รัฐในเยอรมนี สั่งปิดโรงเรียนอนุบาล สถานเลี้ยงเด็กเล็ก ต่อไปอีกหลายสัปดาห์ วันที่ 14 มีนาคม พบจำนวนผู้ติดเชื้อ 4,585 ราย ผู้เสียชีวิต 9 ราย หลายรัฐจึงเริ่มวางแผนเพิ่มมาตรการจำกัดกิจกรรมสาธารณะ 

ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม จึงประกาศให้ปิดพรมแดนระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก และ ลักเซมเบิร์ก โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคม อย่างไรก็ตาม ยังอนุโลมให้มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้อยู่ 

เช่นเดียวกับที่เมืองไทย เยอรมนีเองก็มีสายด่วน Hotline สำหรับพูดคุยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เรียกว่า Der Patientenservice แปลตรงตัว คือ บริการสำหรับคนไข้ โดยผู้ที่มีอาการเข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 116117 โดยเบื้องต้นจะมีทีมงานที่มีความรู้ด้านการแพทย์คอยรับสาย หากพิจารณาว่า ใครจำเป็นต้องติดต่อแพทย์ จะทำการเชื่อมสายไปยังแพทย์ที่อยู่ใกล้ มีบริการทำนัดหมายกับแพทย์ให้ หรือหากจำเป็น จะมีการส่งทีมแพทย์ไปถึงบ้าน โดยประชาชนสามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นแล้ว ยังมีนโยบายว่า หากบุคคลใดมีอาการ ให้สามารถโทรไปที่คลินิกเพื่อพูดคุยกับแพทย์ได้เลยเช่นกัน หากแพทย์มองว่าบุคคลดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อ แพทย์ก็สามารถออกใบรับรองให้กักตัวได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่คลินิกเลย

 

16 มีนาคม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

16 มีนาคม รัฐบาวาเรีย หรือบาเยิร์น (Bavaria) ซึ่งมีเมืองเอก คือ มิวนิค ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 14 วัน และมีมาตรการให้จำกัดความเคลื่อนไหวสาธารณะ สั่งปิดสนามกีฬา ฟิตเนส และสถานที่ต่างๆ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม เป็นต้นไป นอกจากนั้นยังมีการจำกัดเวลาเปิดปิดร้านอาหาร จำกัดจำนวนผู้เข้านั่งในร้านไม่เกิน 30 คน และสั่งให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร และต้องจัดโต๊ะห่างกัน 1.5 เมตรด้วย 

โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ธนาคาร ไปรษณีย์ คลินิก หรือร้านค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ยังคงเปิดทำการได้ต่อไป มีการขยายเวลาเปิดปิดซูเปอร์มาร์เก็ตให้นานขึ้น และสามารถเปิดในวันอาทิตย์ได้ด้วย ส่วนร้านค้าที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ร้านนวด ร้านทำผมหรือร้านเสริมสวย สถานบริการและสถานบันเทิงต่างๆ ต้องปิดทำการจนกว่าจะมีประกาศให้เปิดได้ ต่อมาในช่วงเย็น นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐเยอรมนี ได้ประกาศให้ทั้งประเทศใช้มาตรการเดียวกันกับรัฐบาวาเรีย  

วันที่ 17 มีนาคม สถาบันโรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch Institution) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลเยอรมนีในการจับตาดูสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ ได้ประกาศยกระดับความเสี่ยงเป็นระดับสูง ทางการเบอร์ลินได้วางแผนร่วมกับกองทัพ ในการเพิ่มเตียงผู้ป่วยอีก 1,000 เตียงเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติการณ์ ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลย่อยของแต่ละรัฐต่างลงความเห็นร่วมกันในการเพิ่มเตียง ICU ขึ้นเป็น 2 เท่า มีการประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนนอก EU ที่ไม่มีถิ่นพำนักถาวรใน EU เข้าพรมแดนเยอรมนีเป็นเวลา 30 วัน

วันที่ 18 มีนาคม เยอรมนีเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าเยอรมนีของชาวอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก และสเปน ทั้งทางน้ำและอากาศ แต่ยังคงรับเที่ยวบินจากจีนและอิหร่านเนื่องจากข้อตกลงทวิภาคี รัฐบาลเริ่มส่งเครื่องบินไปรับชาวเยอรมันซึ่งตกค้างในต่างประเทศ

20 มีนาคม รัฐบาวาเรียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุดและมีประชากรหนาแน่นประกาศเคอร์ฟิวเป็นรัฐแรก โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป มีการเพิ่มโทษหากมีผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 25,000 ยูโร อย่างไรก็ตาม ยังอนุญาตให้ผู้ที่จำเป็นต้องออกนอกเคหสถานสามารถกระทำได้ เช่น ไปซื้อของกินของใช้ ร้านขายยา พบแพทย์ หรือพนักงานที่ต้องไปทำงาน เป็นต้น มีการห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 2 คนขึ้นไป เว้นแต่ว่าจะเป็นผู้ร่วมอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้ ประชาชนสามารถออกไปทำกิจกรรมที่จำเป็นสำหรับชีวิต เช่น ออกกำลังกาย พาสุนัขไปเดินเล่น ไปเยี่ยมคู่รัก หรือให้ความช่วยเหลือคนชราหรือผู้ป่วยได้ ส่วนร้านอาหารยังคงเปิดอยู่แต่ไม่อนุญาตให้นั่งทานในร้าน  

ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม ทางรัฐบาลได้มีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการระดับสูงสุด (Mitigation Stage) ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดในการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยอนุญาตให้แต่ละเมืองย่อย ในแต่ละรัฐ สามารถสร้างกฎที่จำกัดมากกว่านี้ได้ วันที่ 1 เมษายน อังเกลา แมร์เคิล ได้ขยายระยะเวลามาตรการขั้นสูงนี้ไปจนถึงวันที่ 19 เมษายน 

ต่อมารัฐบาวาเรียจะประกาศให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากเวลาออกไปข้างนอกแล้ว โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนเป็นต้นไป วันที่ 21 เมษายน หลายรัฐประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากเวลาออกไปที่สาธารณะที่มีคนรวมตัวกันมากๆ ยกเว้นบรันเดนบวร์ก (Brandenburg) นอร์ทไรน์ เวสฟาเลน (Nordrhein-Westfalen) และนีเดอร์ซัคเซน (Niedersachsen) ซึ่งยังไม่บังคับใช้เป็นมาตรการ แต่มีการรณรงค์ให้ใส่ตามความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม เมืองย่อยบางเมืองในรัฐที่ไม่ได้บังคับให้ใส่ ก็มีการประกาศบังคับให้ใส่เช่นกัน เช่น พอทสดัม (Potsdam) ใน Brandenburg โวฟสบวก (Wolfsburg) ใน Niedersachsen เป็นต้น

ล่าสุด วันที่ 22 เมษายน ทั่วทุกรัฐในเยอรมนีได้ประกาศให้สวมหน้ากากแล้ว โดยได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหน้ากากประเภทใด มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในแต่ละรัฐไล่เลี่ยกัน โดยหลายรัฐพยายามจะไม่ลงโทษในกรณีไม่สวมหน้ากาก แต่จะพยายามพูดคุยปรับความเข้าใจกับคนที่ไม่สวมมากกว่า โดยมีบางเมืองที่ปรับ 50 ยูโร เช่น Jena

 

ต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผ่อนปรนร้านค้าเปิดได้

สถานการณ์ช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นไปด้วยดี อัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อเริ่มคงตัวหรือขยับลดลง (โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยเพียงวันละราว 3,000 รายต่อจำนวนผู้เข้ารับการตรวจราว 650,000 รายต่อสัปดาห์) อัตราการเสียชีวิตก็เริ่มชะลอตัว ผู้เขียนพบว่าประชาชนเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นและมีการออกนอกเคหสถานมากขึ้น ผิดกับช่วงสัปดาห์แรกหลังเคอร์ฟิว ทำให้รัฐบาลอาจยังไม่วางใจที่จะยกเลิกหรือลดมาตรการลง ฉะนั้นในวันที่ 15 เมษายน หลังการประชุมผู้นำรัฐทั้ง 16 รัฐสิ้นสุดลง อังเกลา แมร์เคิล จึงประกาศขยายระยะเวลามาตรการต่อไปอีกจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม เนื่องจากเล็งเห็นว่า มาตรการดังกล่าวทำให้เยอรมนีสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี จึงอยากดำเนินมาตรการต่อเพื่อดูผลในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป 

มาตรการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือ จะอนุญาตให้ร้านค้าบางชนิดเปิดทำการได้ เช่น ร้านค้าที่มีพื้นที่ไม่เกิน 800 ตร.ม. ร้านหนังสือ ร้านจักรยานและอุปกรณ์กีฬา ร้านขายรถยนต์ เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ทั่วทุกรัฐในวันที่ 20 เมษายนนี้ ยกเว้นรัฐบาวาเรียที่จะให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 เมษายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขให้ลูกค้าต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันดังเดิมและจะต้องมีการดูแลเรื่องสุขอนามัยเป็นอย่างดี 

นอกจากนั้น โรงเรียนต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นไป รวมทั้งร้านตัดผมด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้ต้องรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม งานอีเว้นท์ต่างๆ จะต้องงดจัดไปจนถึง 31 สิงหาคม เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ มีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศสวมใส่หน้ากากเวลาไปซื้อของหรือไปในที่สาธารณะด้วยแล้ว

 

ให้นายจ้างลงทะเบียนจ่ายเงินช่วยเหลือ อุดหนุนศิลปินที่ขาดอีเว้นต์

ด้านเศรษฐกิจ เป็นที่แน่นอนว่า ทุกประเทศย่อมประสบปัญหาเดียวกัน คาดการณ์กันว่า GDP ของเยอรมนีจะลดลงถึง 5.4% ในปีนี้ โดยจะมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนหลายกลุ่ม เช่น การออกระบบอุดหนุนผู้ประกอบการหรือบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานถูกเลิกจ้าง ที่เรียกว่า Kurzarbeit หรือระบบการทำงานระยะสั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือบริษัทต่างๆ ในช่วงที่มีเหตุให้พนักงานต้องลดระยะเวลาหรือจำนวนชั่วโมงทำงานลง อันมีผลต่อผลกำไรของบริษัท โดยรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนค่าประกันต่างๆ หรือกระทั่งเงินเดือนพนักงานแทนบริษัทที่ได้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือ สถิติวันที่ 1 เมษายน มีผู้ประกอบการเกือบครึ่งล้านลงทะเบียนใน Kurzarbeit 

มีการจ่ายเงินอุดหนุนศิลปิน สถาบันด้านวัฒนธรรมเอกชนต่างๆ และบริษัทจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ที่ต้องงดจัดในช่วงวิกฤติ มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เช่าที่พักให้สามารถขอยกเว้นการจ่ายค่าเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือนได้ ในกรณีที่ผู้เช่ามีปัญหาทางด้านการเงิน ระหว่างเมษายนถึงมิถุนายน โดยเจ้าของที่พักต้องไม่ไล่ผู้เช่าออกหากผู้เช่าไม่ได้จ่ายค่าเช่าในเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้เช่ายังมีข้อผูกพันที่จะต้องทยอยจ่ายคืนไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนในปี 2565 

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายยกเว้นการจ่ายภาษีแก่พนักงานที่จำเป็นต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่บริการประชาชนในช่วงวิกฤติการณ์ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานบริการสาธารณะต่างๆ เป็นต้น ในด้านสวัสดิการสุขภาพ บริษัทประกันยังประกาศให้กรมธรรม์ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 อย่างไม่มีข้อจำกัดอีกด้วย 

ด้านอื่นๆ พบว่า เยอรมนีมีการจัดระบบป้องกันพนักงานบริการต่างๆ ที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เช่น การติดตั้งแผงพลาสติกบนโต๊ะแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต การแปะสติ๊กเกอร์บนพื้นเป็นจุดๆ เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ให้ประชาชนยืนรอคิวในร้านที่จำเป็นต้องเปิด การยกเว้นการตรวจตั๋วเดินทางบนรถไฟ การคาดแผ่นพลาสติกบนรถเมล์กั้นระหว่างที่นั่งคนขับและที่นั่งผู้โดยสาร ตลอดจนแปะป้ายห้ามไม่ให้ผู้โดยสารพูดคุยกับคนขับ เป็นต้น มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่เพื่อตามรอยผู้ติดเชื้อ เรียกว่า Coronavirus App ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ โดยนักการเมืองจากหลายฝ่ายมีความเห็นว่าจะต้องให้ผู้ใช้เลือกดาวน์โหลดได้ตามความสมัครใจเท่านั้น 

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เยอรมนีประสบ คือ การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะหน้ากาก เนื่องจากมีการบริจาคครั้งใหญ่ให้แก่จีนในช่วงที่จีนอยู่ในขั้นวิกฤติ แพทย์กว่า 80% รายงานว่าขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมในการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ หลังจากที่มีการผลิตหน้ากาก และมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ในวันที่ 31 มีนาคม เมืองเยนา (Jena) เป็นเมืองแรกที่ได้ประกาศให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องสวมใส่หน้ากาก หากต้องออกไปซื้อของ ขนส่งสาธารณะ หรือเข้าอาคารที่มีผู้คนจำนวนมาก 

ผู้เขียนมองว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการจัดการในเรื่องต่างๆ อย่างครอบคลุมในวิกฤติการณ์โรคระบาดนี้ แม้ในช่วงแรกๆ จะยังไม่ตื่นตัวมากนัก และดูเหมือนว่าจะมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ ค่อนข้างช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป หรือในทวีปอื่นๆ แต่ผลที่ออกมากลับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมีการเยียวยาภาคส่วนต่างๆ หรือการสนับสนุนหน่วยงานที่จำเป็นต่างๆ เป็นอย่างดี ควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ให้มีอัตราสูง และควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสื่อสารกับประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรงไปตรงมา มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน จึงลดภาวะตึงเครียดให้ประชาชนได้มากในช่วงเคอร์ฟิวนี้ ในส่วนนี้ผู้เขียนคาดหวังให้ประเทศไทยถือเป็นแบบอย่าง

อย่างไรก็ตาม มาตรการเคอร์ฟิวก็ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นการปิดกั้นการทำกิจกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยของประชาชน เนื่องจากการรวมตัวต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายก็ถูกห้ามด้วย ซึ่งผู้เขียนยังไม่สามารถยืนยันว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในเยอรมนี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับตาดูต่อไป 


อ้างอิง