บริบทสังคมไทยไม่เหมาะกับกฎหมายชุมนุมสาธารณะ

สังคมไทยผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากความรุนแรงอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองมาครั้งแล้วครั้งเล่า และบนพื้นฐานความขัดแย้งที่นับวันจะแตกร้าวมากกว่าหันหน้าปรองดองเช่นทุกวันนี้ จึงมีเสียงเรียกร้องหากฎหมายมาควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะจากหลายฝ่าย คณะรัฐมนตรีก็ได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะที่เสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว

นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ นักกิจกรรมรุ่นหนุ่ม ซึ่งปัจจุบันเป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประจำคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว คุยกับไอลอว์ทั้งในแง่มุมกฎหมาย และแง่มุมต่างๆ
 
 
             
 
 
โดยรวมมีความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฉบับนี้อย่างไร
ถ้าโดยหลักการ ณ บริบทสังคมไทยทุกวันนี้ ผมไม่เห็นด้วยเลย กับการที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะนี้ออกมาเพื่อควบคุม จัดการดูแลการชุมนุมในประเทศไทยตอนนี้ครับ
 
บริบทสังคมไทยที่ว่าไม่เหมาะกับการชุมนุมสาธารณะนี่เป็นอย่างไร
การชุมนุมที่เกิดในท้องที่ต่างๆ เช่น ที่บ้านกรูด บ่อนอก ท่อก๊าซไทยมาเลเซีย เหมืองแร่โปแตซ ฯลฯ รากฐานของการที่ออกมาชุมนุมก็เกิดจากความไม่เป็นธรรมทางสังคม กลไกหรือนโยบายรัฐที่บิดเบี้ยว เป็นโครงสร้างนโยบายเชิงอำนาจแบบรัฐรวมศูนย์จากส่วนกลาง นโยบายสาธารณะไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ประชาชนต้องการ อันนี้คือรากฐานสังคมไทยทุกวันนี้
แล้วกลไกปกติที่จะ ระงับยังยั้งหรือเสนอข้อเสนอใหม่ไปยังรัฐบาล มันได้รับการตอบสนองขนาดไหน มันก็ไม่ได้เป็นจริง ถึงต้องใช้วิธีการสร้างประเด็นทางสังคมโดยวิธีการชุมนุมหรือการออกมาเรียกร้องแบบนี้
ถ้ารัฐตอบรับกับเนื้อในของการชุมนุมแต่ละครั้ง การชุมนุมก็จะลดระดับลง หรือมีการจัดการชุมนุมโดยภาคประชาชนโดยไม่ต้องมีกฎหมายก็ได้ อย่างสมัชชาคนจน เมื่อสิบปีก่อน ก็พูดเรื่องเขื่อน เรื่องเหมืองแร่ แต่ทุกวันนี้คนกลุ่มนี้ก็ยังชุมนุมกันอยู่ เพราะปัญหามันไม่เคยถูกแก้เลย
กฎหมายฉบับนี้ยิ่งเป็นการไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้เครื่องมือของประชาชนในการต่อรองหรือเสนอข้อเสนอต่อรัฐบาล ถ้าออกกฎหมายนี้ แสดงว่ารัฐก็ต้องทำงานในการตอบรับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น ถ้ารัฐเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้ว กฎหมายจะมีก็ได้ แต่ตอนนี้มีไปเพื่ออะไร
 
แล้วเมื่อไรสังคมไทยจะพร้อมมีกฎหมายชุมนุมได้
จะต้องทำข้อตกลงทางสังคมกันก่อน ว่ารูปแบบการชุมนุมที่มีหลากหลาย สังคมให้ค่า ให้นิยามอย่างไร
ตัวละครในฝั่งรัฐก็ต้องพร้อมระดับหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมทางการเมืองคืออะไร การปฏิบัติต่อมวลชนควรจะเป็นรูปแบบไหน ไม่ใช่อะไรก็เหมารวมว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่ใช่คนออกมาเยอะๆ รวมตัวกันเยอะๆ แปลว่าเป็นจราจลตลอด
ประชาชนที่มาชุมนุม ก็ต้องทำสรุปบทเรียนเองว่าอะไรที่ทำแล้วสำเร็จ ไม่สำเร็จ สูญเสียน้อย ได้ผลมาก มีกระบวนการไหนอีกบ้างที่จะได้ผลมากกว่าการออกมาชุมนุม
พลเมืองทางสังคมก็ต้องทำความเข้าใจบริบทเหล่านี้ด้วย ว่าที่ออกมาเรียกร้องปิดถนน ทำให้คนเดือดร้อน มันมีผลมาจากอะไร เพราะทุกคนอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงที่มันอาจจะเกิดขึ้นด้วยกัน
ที่ผ่านมาเราเคยมีการตกลง หรือการพูดคุย หรือการสร้างพื้นที่ทำความเข้าใจระหว่างตัวละครเหล่านี้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มี จะมานั่งเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะคุณเปรียบเทียบแค่ตัวกฎหมายสุดท้าย แต่คุณไม่ได้ดูว่าแต่ละประเทศผ่านกระบวนการมากี่ร้อยกี่พันปีแล้ว
 
แล้วที่ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุมก่อน ถ้ากฎหมายนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือเปล่า
ตามร่าง พรบ.นี้ จริงๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตด้วยนะ เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจเต็มขั้นในการที่จะอนุญาตให้มีสิทธิเสรีภาพ หรือไม่มีสิทธิเสรีภาพได้เลย ในประเทศอื่นการกำหนดให้มีการแจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนก็เพื่อการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้การชุมนุม ไม่ใช่เพื่อการอนุญาตหรือไม่อนุญาต
 
กฎหมายนี้เขียนว่าห้ามชุมนุมกีดขวางสถานที่ราชการ จะเป็นการยิ่งตอกย้ำเรื่องการลิดรอนสิทธิหรือไม่
อันนี้เป็นเรื่องตลกมากเลยนะ คนที่มีปัญหากับประชาชน หรือคนที่ไม่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาของประชาชนก็คือหน่วยงานรัฐ และถ้าไม่ให้ไปเรียกร้องข้อเสนอกับคนที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะให้ไปชุมนุมที่ไหน
 
ถ้าเปรียบเทียบกับ อังกฤษที่มี กฎหมายลักษณะอย่างนี้
อย่างในอังกฤษ ฝรั่งเศส กระบวนการทางสังคมทางประชาธิปไตยมีการพัฒนามาตลอด มันเป็นการตกตะกอนทางความคิด ตกผลึกทางความคิดของคนในสังคมนั้นๆ มันถึงได้ออกมาในเรื่องของข้อตกลงทางสังคม เป็น พระราชบัญญัติ หรือว่า act ของที่นั่น แต่ว่ากระบวนการออกกฎหมายบ้านเราไม่ได้เริ่มต้นแบบอังกฤษ เราตั้งต้นมาว่าสถานการณ์หนึ่งเราก็ควรมีพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งมาจัดการสถานการณ์นั้น แต่กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมมันไม่มี
 
ถ้าทำประชาพิจารณ์แล้วประชาชนรู้สึกเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนี้ คิดว่าสังคมเริ่มพร้อมกับกฎหมายแบบนี้บ้างหรือยัง
ความรับรู้ กับ ความเข้าใจมันแตกต่างกัน ถ้าการทำประชาพิจารณ์โดยไปสร้างแค่ความรับรู้ (perception) มันไม่พอ มันต้องเป็นความเข้าใจให้กับคนทุกคน ทุกกลุ่มในสังคม ไม่ใช่แค่สร้างความรับรู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้ เพื่ออย่างนี้ เพราะอย่างนี้ แล้วก็ให้คนมารับรองประชาพิจารณ์ อย่างนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยอีก
 
แล้วกระบวนการที่มีเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกวันนี้มันไม่ใช่การสร้างความเข้าใจตรงไหน
มันเป็นการตั้งเวที และให้ข้อมูลด้านเดียว และไม่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้ามาร่วมเวที
คือ สมมติว่าตั้งเวทีไว้มีคนขึ้นเวที 4-5 คน มีผู้ดำเนินรายการคนนึง มีผู้เข้าร่วม 200 คน ถ้าทำประชาพิจารณ์จริงๆ มันอาจจะฟังดูอุดมคตินะ คือต้องไปไล่ถามคน 200 คนเลยว่ามีความเห็นอย่างไรบ้าง และมันไม่ใช่แค่การ “อ๋อ ดีค่ะ ดีครับ ก็ดีครับ” คุณต้องถามเค้าด้วยว่าวิธีคิดของเค้าต่อเรื่องนั้นๆ มันคืออะไร
 
จะมีวันนั้นไหม ที่สังคมไทยพร้อมขนาดนั้น
ผมว่ามี ทุกอย่างเป็นเรื่องของพัฒนาการทางสังคม คุณไม่สามารถเสกอะไรให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยเฉพาะพัฒนาการทางประชาธิปไตย สำนึกในความเป็นพลเมือง สิทธิมนุษยชน มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
 
 
   
 
 
มองว่าคนที่เรียกร้องกฎหมายชุมนุมสาธารณะกำลังอยากจะเสกอะไรขึ้นมาหรือเปล่า
มองว่าคนที่เรียกร้องกฎหมายชุมนุมสาธารณะทุกวันนี้กำลังเรียกร้องความมั่นคงทางชีวิตและความรู้สึกว่าปลอดภัย เวลาเราพูดถึงการชุมนุมเราจะจินตนาการอยู่ไม่เหลืองก็แดง ซึ่งผมว่ามิติมันมากกว่านั้น คนกรุงจะมองว่าคนที่เข้ามาชุมนุมในกรุงเทพ มาปิดรัฐสภาสร้างความเดือดร้อน ทำให้ไปไหนมาไหนลำบาก มันคือความหวาดกลัวรูปแบบหนึ่ง ที่ชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตในเมืองตกอยู่ในบ่วงความกลัวรูปแบบนี้โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว 
 
แล้วถ้าไม่มีกฎหมายการชุมนุม คนโดยรอบที่อาจได้รับผลกระทบจะสบายใจได้อย่างไร
เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องวางบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกและรักษาความสงบไม่ให้เกิดการแทรกแซง ไม่ให้เกิดความสูญเสียในระหว่างที่มีมวลชนมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ตรงนั้น รวมถึงต้องดูแลความสะดวกความปลอดภัยให้กับประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย แต่ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คิดอยู่แต่ในบทบาทของคนที่ต้องเข้าไปเคลียร์พื้นที่แล้วต้องปราบปรามเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในบริบทของผู้ที่อำนวยความสะดวก
 
คนทั่วไปควรจะมีบทบาทอย่างไรกับเรื่องนี้
ต้องตั้งคำถามเยอะๆ ไม่ว่าคุณจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ไม่ว่าคุณจะมาชุมนุมหรือไม่ ต้องตั้งคำถามกับตัวเองหรือกับสังคมเยอะๆ ต้องคิดว่าคนมาชุมนุมเป็นพวกเรียกร้อง เป็นพวกบ้าเลือด หรือเพราะเค้าได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัว อยู่ในโครงสร้างอำนาจแล้วก็ไปจัดการคนอื่นอย่างเดียว โดยที่ไม่จัดการสร้างความเข้าใจของตัวเองเลย