ชำแหละคำวินิจฉัยส่วนตน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ: คดียุบพรรคอนาคตใหม่

หลังจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ออกมาแล้ว หลายคนคงสงสัยว่าตุลาการแต่ละคนให้ความเห็นว่าอย่างไร เราได้ชำแหละคำวินิจฉัยออกมาให้ทุกคนได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน 

เท้าความเดิม:

คดีนี้เริ่มตั้งแต่ 21 พฤษภาคม 2562 โดยศรีสุวรรณได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวหาว่าธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ตามที่ธนาธรกล่าวบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) จริงหรือไม่ หรือธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 250 ล้านบาท ตามที่พรรณิการ์ โฆษกพรรคอนาคตใหม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้จริงหรือไม่ ซึ่งทั้งสองกรณีอาจเป็นนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

สัปดาห์ถัดมา 28 พ.ค. 2562 สุรวัชร สังขฤกษ์ ยื่นคำร้องต่อ กกต. อีกในกรณีเดียวกัน โดยกระบวนการที่กฎหมายกำหนด กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเรื่องดังกล่าวเพื่อทำความเห็นให้ กกต. ว่ามีมูลหรือไม่ จากนั้น กกต.จึงมีความเห็นยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินทั้งหมด 191.2 ล้านบาท 

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและวินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อ 21 ก.พ. 2563 ด้วยมติ 7:2 โดย 2 เสียงส่วนน้อยที่ลงมติไม่ยุบพรรค คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ ชัช ชลวร 

ที่ต้องดอกจันไว้ก็คือ การยุบพรรคนี้เป็นเพราะฝ่าฝืน มาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่มีโทษถึงยุบพรรค หาใช่มาตรา 66 ว่าด้วยเรื่องการบริจาคที่เป็นคดีอาญา เรื่องนี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกหนว่าสามารถโยงกันได้หรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญคือ เสียงข้างน้อยในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอธิบายการไม่ยุบพรรคอย่างไร โดยเปรียบเทียบกับคำอธิบายของเสียงข้างมาก

หลังคำวินิจฉัยราว 1 เดือนจึงมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน รายงานชิ้นนี้จะทำให้เห็นรายละเอียดแนวคิดของตุลาการแต่ละคน โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น เรียงลำดับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งไว้

1. กกต.มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
2. มีความผิดต้องยุบพรรคหรือไม่
3. กรรมการบริหารพรรคควรถูกตัดสิทธิกี่ปี
4. กรรมการบริหารพรรคไปจัดตั้งพรรคใหม่ได้หรือไม่

 

ประเด็นผู้ร้อง: กกต.

สัญญากู้เงินทั้งสองฉบับระหว่างธนาธรกับพรรคอนาคตใหม่จำนวน 191.2 ล้านบาทนั้นผิดกฎหมาย เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคล ต้องมีรายได้จากที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น คือตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง (มาตรา 62 และรายได้ต้องนำไปใช้ตามที่กำหนด (มาตรา 87) เท่านั้น ซึ่งไม่มีส่วนระบุถึงเงินกู้หรือชำระเงินหนี้เงินกู้ ทั้งไม่พบว่ามีหลักประกันว่าพรรคอนาคตใหม่จะชำระเงินกู้คืนธนาธรได้ จึงเห็นว่านี่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางจากเงินกู้เป็นเงินบริจาคเข้าพรรค ซึ่งเป็นการขัดต่อ มาตรา 66 ประกอบมาตรา 124, 125 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง นอกจากนี้การรับเงินกู้ยืมดังกล่าวถือว่าเป็นการรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 ด้วยอีกชั้นหนึ่ง และเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบ มาตรา 93

ภูมิหลังตุลาการที่วินิจฉัยคดียุบพรรค

เสียงข้างน้อย (ไม่ยุบ)เสียงข้างมาก (ยุบ)
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
นุรักษ์ มาประณีตอดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา เคยเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 
มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ชัช ชลวรอดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา
มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ปัญญา อุดชาชนอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น
 จรัญ ภักดีธนากุลอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 
มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
อุดมศักดิ์ นิติมนตรีอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด
มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
บุญส่ง กุลบุปผาอดีตผู้พิพากษาในศาลฎีกา
มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.
มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น
วรวิทย์ กังศศิเทียมอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด
มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ประเด็นการวินิจฉัยมี 4 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 กกต.มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

พรรคอนาคตใหม่ต่อสู้ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต. กระทำผิดขั้นตอนสำคัญ คือ ก่อนยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามกฎหมาย กกต. และระเบียบของ กกต. เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนที่พิจารณาเรื่องนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง กกต.ก็ต้องสั่งยุติเรื่องเสีย ตามมาตรา 41 พรป.กกต.

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐไม่มีเชื่อได้ว่าพรรคมีความผิดตาม ม.66 รับบริจาคเกิน 10 ล้านบาท แต่ไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าผิดตาม ม.72 รับบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรค ดังนั้น บทลงโทษตาม ม.66 ย่อมเป็นไปตาม ม.124, 125 ซึ่งมีโทษทางอาญาแต่ไม่มีโทษยุบพรรค เมื่อเป็นคดีอาญาก็อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า กกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ชัช ชลวรมีที่ประชุม กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการที่ไม่จำเป็นต้องสืบสวนก่อน ตาม ม.41 ของกฎหมาย กกต. เพราะ กกต. “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” พรรคทำผิดจริง
 
กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาหลักฐานใดๆ ว่ามีเหตุให้ต้องสืบสวนต่อหรือไม่ หมายความว่า โทษยุบพรรคตาม ม.92 ของกฎหมายพรรคการเมือง ไม่อยู่ในบังคับของ ม.41 ของกฎหมาย กกต. ดังนั้น หาก กกต.เห็นว่าหลักฐานมีเพียงพอก็ไม่ต้องสืบสวนต่อ และย่อมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
นุรักษ์ มาประณีตมีตามระเบียบของ กกต.ได้กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่าพรรคการเมืองทำผิดถึงขั้นยุบพรรคซึ่ง กกต.ก็ได้ดำเนินการแล้ว และได้มีการรายงานความเห็นของคณะกรรมการให้ที่ประชุม กกต.ทราบแล้ว ท้ายที่สุดที่ประชุม กกต.พิจารณาเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคทำผิดจริง ก็ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค ดังนั้น จึงเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ปัญญา อุดชาชนมีเรื่องนี้มีการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินคดียุบพรรค ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่แยกอิสระและแตกต่างกัน คดีอาญาต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลยุติธรรม คดียุบพรรคต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กหต.มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่มีความผิดตาม ม.72 ซึ่งมีโทษเป็นการยุบพรรคตาม ม.92 จึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 
Timeline เป็นดังนี้
คดีอาญา:
23 ส.ค. 62 คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะ 13 มีมติ “ยกคำร้อง”
20 ก.ย. 62 เลขาฯ กกต.พิจารณาเห็นแย้งว่า ธนาธรและพรรคมีความผิดตามมาตรา 66 ซึ่งเป็นคดีอาญา
14 พ.ย. 62 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาข้อโต้แย้ง คณะ 6 มีมติเสียงข้างมาก เห็นด้วยกับ เลขาฯ กกต. สถานะการดำเนินคดีอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.
คดียุบพรรค:
26 พ.ย. 62 หลัง กกต.ได้รับทราบรายงานผลการนำส่งพยานเอกสารของพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
27 พ.ย. 62 เลขาฯ กกต.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ความผิดตามมาตราที่ต้องยุบพรรค (ม.72)
29 พ.ย. 62 คณะกรรมการฯ ประชุมคร้้งที่ 1
2 ธ.ค. 62 คณะกรรมการฯ ประชุมครั้งที่ 2 มีมติเอกฉันท์ว่า ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ ผิดตามมาตรา 62, 66, 72 อันเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค  
11 ธ.ค. 62 ที่ประชุม กกต. มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า “มีหลักฐานอันเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิด”
13 ธ.ค. 62 กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
จรัญ ภักดีธนากุลมีคณะกรรมการไต่สวนฯ มี 2 ชุด ชุดแรก ไต่สวนความผิดตามมาตรา 66 ซึ่งเป็นคดีอาญา คณะกรรมการไต่สวนฯ มีมติยกคำร้อง เป็นส่วนของศาลยุติธรรม ต่อมานายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่พิจารณาความผิดตามมาตรา 66 และเพิ่มมาตรา 72 ด้วยซึ่งมาตราหลังนี้มีโทษยุบพรรค ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ถ้า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผิดก็ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่มีอะไรผิดกระบวนการขั้นตอน
อุดมศักดิ์ นิติมนตรีมีการที่เลขาฯ กกต.แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมทั้งเสนอความเห็นกลับมายัง กกต.นั้น ไม่เป็นการผูกมัดให้ กกต.ต้องสั่งตามความเห็นที่มีการเสนอ และในการตั้งคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐานชุดสอง (พิจารณาความผิดยุบพรรค) แม้พรรคอนาคตใหม่จะอ้างว่า ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรรคอนาคตใหม่ตามที่กำหนดในระเบียบ กกต.ก็ตาม เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) พิจารณารายงานแล้วจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุม กกต. ที่ประชุม กกต.ก็พิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคมีความผิดตาม ม.62, 66, 72 จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค จึงถือว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามกฎหมาย
บุญส่ง กุลบุปผามีคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐานฟังได้เป็นที่ยุติว่า พรรคได้กู้ยืมเงินจากธนาธร 191 ล้านเศษจริง จึงเห็นว่ากรณีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาวินิจฉัยได้ นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ก็เห็นว่า เป็นการกระทำผิดตาม 62, 66, 72 ที่ประชุม กกต.ก็พิจารณาเช่นเดียวกันจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการและขั้นตอนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่จึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อโต้แย้งของพรรคที่อ้างว่า กระบวนการสอบสวนและไต่สวนของ กกต.ไม่ชอบ ขัดต่อระเบียบ กกต. เพราะไม่เปิดโอกาสให้พรรคได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงข้อร้องเรียนตามขั้นตอนเสียก่อน จึงไม่มีอำนาจจะยื่นคำร้องและศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัย ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์มีข้อเท็จจริงฟังได้เป็นข้อยุติว่า ศรีสุวรรณ และสุรวัชร์ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่าพรรคอนาคตใหม่รับบริจาคจากธนาธรเกิน 10 ล้าน ผิดกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 66 แต่เมื่อ กกต.รับเรื่องมาพิจารณาดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงประกอบ ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ว่ามีความผิดในส่วนที่จะต้องยุบพรรคด้วย จึงได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนฯ รวบรวมข้อเท็จจริงและเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีพยานหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาวินิจฉัยได้ จากนั้นคณะกรรมการไต่สวนฯ จึงเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ทำความเห็นว่าพรรคทำผิด มาตรา 62, 66, 72 เสนอให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุม กกต.ก็มีมติเสียงข้างมากให้ดำเนินการ ขั้นตอนกระบวนการจึงถูกต้องตามกฎหมาย
วรวิทย์ กังศศิเทียมมี1. ในการจะยุบพรรคการเมือง กกต.ต้องทำตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งกำหนดว่าในการรวบรวมหลักฐานให้นำระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อดูระเบียบว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนฯ มีข้อหนึ่งที่กำหนดให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคอนาคตใหม่มีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้
 
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาระเบียบว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนฯ ที่ว่านั้นมาบังคับใช้ทุกข้อ แต่เป็นการนำมาใช้เฉพาะส่วนที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อ กกต.เห็นว่า พรรคมีพฤติการณ์หลักฐานควรเชื่อได้กว่ากระทำผิด ก็มีอำนาจดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย (โดยไม่ต้องไต่สวน)
 
2. ตามที่ศรีสุวรรณร้อง เป็นความผิดมาตรา 66 เรื่องการบริจาคเกินสิบล้าน และมีโทษตามมาตรา 124, 125 ซึ่งเป็นความผิดอาญา กกต.ได้ดำเนินตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนฯ ในการตั้งคณะกรรมการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมเสนอความเห็นต่อ กกต. ซึ่งความเห็นของแต่ละขั้นตอนย่อมเป็นอิสระต่อกัน ไม่ผูกพันให้ กกต.ต้องเห็นชอบด้วย
 
ที่พรรคอนาคตใหม่อ้างว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 เห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีมูลและเสนอความเห็นต่อ กกต. แล้ว ดังนั้น กกต.ก็ต้องสั่งยุติเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 41 ของกฎหมาย กกต. แต่เลขาฯ กกต.กลับอาศัยข้อเท็จจริงจากสำนวนข้างต้นมาตั้งฐานความผิดตาม ม.72 กฎหมายพรรคการเมืองซึ่งมีโทษถึงยุบพรรคมาเสนอต่อ กกต.ใหม่ เพื่อให้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว กกต.ก็ดำเนินการตามมติเสียงข้างมากเลย โดยมิได้มีการแก้สำนวนและไต่สวนเพื่อให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่พรรค ตามที่กำหนดไว้ใน ม.41 กฎหมาย กกต.
 
เรื่องนี้เห็นว่า มาตรา 41 บอกว่า “…ถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้กระทำการตามที่มีการสืบสวนหรือไต่สวนให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็ว…” ย่อมหมายความว่า เมื่อผลสืบสวนไต่สวนปรากฏไม่มีมูลความผิด กกต.เห็นชอบด้วยกับผลการไต่สวนนั้นของคณะกรรมการ จึงสั่งให้ยุติเรื่อง อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ กกต.ย่อมเป็นอิสระมิได้ผูกพันต้องเป็นไปตามความเห็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน

 

ประเด็นที่ 2 มีเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่

พรรคอนาคตใหม่ต่อสู้โดยแยกเป็นหลายประเด็นว่า
(1) พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐ ทำให้มีเสรีภาพในการทำสัญญาใดก็ได้ สามารถกู้เงินได้ไม่มีกฎหมายห้าม
(2) พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร โดยมีกำหนดชำระคืนแน่นอนและมีดอกเบี้ย จึงเป็น “เงินกู้” ไม่นับเป็น “เงินบริจาค” จึงเป็น “หนี้สิน” ไม่ใช่ “รายได้” ของพรรคอนาคตใหม่
(3) การใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 ผิดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินผิดกฎหมายหรือเงินสกปรก เช่น จากการค้ายาเสพติด ฟอกเงิน ฯลฯ แต่ธนาธรมีแหล่งรายได้จากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไม่ปรากฏเหตุว่ามีรายได้จากเงินผิดกฎหมายแต่อย่างใด
(4) พรรคอนาคตใหม่และธนาธร ไม่ได้ทำนิติกรรมอำพรางการบริจาค เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่เคยเปิดรับบริจาคเงินจากผู้อื่นที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคก่อนจะมีการกู้เงินดังกล่าวแล้ว นายทะเบียนพรรคเมื่อทราบว่ามีการกู้เงินก็ไม่ได้ตักเตือนหรือให้คืนเงินแต่อย่างใด แสดงว่านายทะเบียนพรรคทราบอยู่แล้วว่าเรื่องบริจาคเงินไม่เข้า มาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมืองแต่อย่างใด

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐไม่มี(1) การกู้เงินถ้าเป็นไปโดยปกติทั่วไปทางธุรกิจ บุคคลหรือนิติบุคคลสามารถทำได้ แต่การให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินของธนาธร ไม่เป็นไปตามวิสัยการกู้ยืมเงินตามปกติ ถือว่าเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” เกินกว่า 10 ล้านบาท จึงมีความผิดตาม ม.66 ซึ่งการให้กู้เงินจำนวนมากมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาธรได้เป็นหัวหน้าพรรคจัดทีมงานของตนและได้แสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของพรรค และมีอิทธิพลต่อการบริหารงานของพรรคอนาคตใหม่ และเพื่อขจัดอิทธิพลดังกล่าวให้ลงโทษตาม ม.124 และ ม.125 ต่อผู้รับบริจาคและผู้บริจาค  

(2) ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ทำผิดตาม ม.72 จนเป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ เห็นว่าการรับบริจาคที่เป็นความผิดตาม ม.72 ต้องเป็นกรณีที่ผู้บริจาคนำเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องมีความผิดมาก่อนที่จะได้รับเงินมา เช่น เงินที่มาจากการค้ายาเสพติดหรือฟอกเงินมาบริจาค และพรรคการเมืองที่รับบริจาคต้องรู้ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

แม้การกระทำของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่จะผิด ม.66 แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า เงินที่ธนาธรนำมาให้พรรคอนาคตใหม่กู้นั้นเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ผิด ม.72
ชัช ชลวรไม่มีเห็นว่า “เงินกู้” ไม่ใช่ “เงินบริจาค” หรือ “บริจาคประโยชน์อื่นใด” ต่อพรรคการเมือง และไม่ใช่ “รายได้” แต่เป็น “หนี้สิน” ของพรรคการเมืองด้วย
 
(1) ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเป็นกรณีของพรรคการเมืองทำนิติกรรมทางแพ่งกับบุคคลภายนอก แม้ว่าธนาธรจะมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ต้องมีหน้าที่ในการชำระหนี้จนครบ การกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า กระทำไปโดยไม่สุจริต เช่น รายงานงบการเงินประจำปีตามกฎหมายกำหนดให้ กกต. เพื่อให้มีการตรวจสอบ และสาธารณชนสามารถตรวจสอบรับรู้เรื่องการกู้เงินอย่างเปิดเผย แสดงถึงความโปร่งใส ไม่ใช่การทำนิติกรรมอำพรางตามที่ กกต.กล่าวอ้าง
 
อีกทั้ง กกต.ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะเป็น “การบริจาคประโยชน์อื่นใด” ให้พรรคอนาคตใหม่เกินจำนวน 10 ล้านบาท จากข้อเท็จจริงในสัญญากู้ฉบับแรกที่กำหนดการจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และในสัญญากู้ฉบับที่สอง แม้จะกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ากฎหมายกำหนดร้อยละ 5.5 ต่อปี (ปกติควรจะกำหนดร้อยละ 7.5 ต่อปี) ซึ่งในส่วนนี้อาจจะนับเป็นการ “บริจาคประโยชน์อื่นใด” ที่ธนาธรให้แก่พรรคอนาคตใหม่ได้ แต่เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงจากฝ่าย กกต.ที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนส่วนต่างดอกเบี้ยที่น้อยกว่ากฎหมายกำหนดนั้น รวมกับเงินบริจาคส่วนอื่นของธนาธร แล้วจะมีจำนวนเกินกว่า 10 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตาม ม.66 จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าพรรคอนาคตใหม่ และธนาธรมีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น
 
(2) ในเรื่องส่วนลดดอกเบี้ยจะถือเป็นการบริจาคประโยชน์อื่นใดหรือไม่ เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ และธนาธรไม่มีเจตนาในการปกปิดการบริจาคเพราะมีความเห็นว่า การให้กู้เงินแก่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้โดยสุจริต จึงไม่มีข้อควรกล่าวหาว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเพราะไม่มีแนววินิจฉัยเรื่องดังกล่าวก่อนหน้า และเมื่อพยานหลักฐานที่ กกต.นำมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง จึงไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่
นุรักษ์ มาประณีตมีข้อเท็จจริงรับฟังแล้วยุติได้ว่ามีการกู้เงินทั้งหมด 191.2 ล้านบาทจริง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือการกู้เงินดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากงบการเงินประจำปีและบัญชีของพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ปรากฏว่า พรรคอนาคตใหม่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นเงิน 1,490,537 บาท และมีสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน รวมเป็นเงิน 32,873,211 บาท แต่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ในจำนวนเงินสูงถึง 161.2 ล้านบาท โดยให้เหรัญญิกพรรคปฏิบัติหน้าที่แทนธนาธร หัวหน้าพรรค เป็นผู้กู้เงินแทนพรรคอนาคตใหม่
 
ในสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าวมีส่วนที่ระบุว่า “หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้กู้ต้องรับผิดในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท …” การคิดดอกเบี้ยเพียงวันละ 100 บาทจากจำนวนต้นเงินกู้ดังกล่าวซึ่งมากผิดปกติ ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ซึ่งโดยปกติแล้วต้องจ่ายเบี้ยปรับในอัตราที่มากกว่านี้
 
ในส่วนที่พรรคอนาคตใหม่คืนเงินแก่ธนาธรทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก 4 มกราคม 2562 หลังกู้เงิน 2 วัน คืน 14 ล้านบาท ครั้งที่สอง 21 มกราคม 2562 หลังกู้เงิน 19 วัน คืนอีก 8 ล้านบาท ครั้งที่สาม 29 มกราคม 2562 หลังกู้เงิน 27 วัน คืนโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของธนาธรอีก 50 ล้าน รวมแล้วคืนเงินธนาธรไป 72 ล้าน หลังจากนั้นยังทำสัญญากู้เงินฉบับที่ 2 ในวันที่ 11 เมษายน 2562 เป็นจำนวนเงิน 30 ล้าน ทั้งที่ยังมีหนี้ค้างชำระตามสัญญาฉบับแรกอยู่ และได้กำหนดรับเงินในวันทำสัญญาเพียง 2.7 ล้านบาท และยังไม่ได้รับเงิน อีก 27.3 ล้าน จึงมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงในสัญญาและพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ ผ่อนปรน หรือช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่เป็นกรณีพิเศษ ไม่เป็นไปตามปกติในทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินและการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมระหว่างกันที่มีจำนวนมากดังกล่าว
 
นอกจากนี้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ฉบับที่ 2 ร้อยละ 2 ต่อปี ถือว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยโดยเป็นการให้ส่วนลดที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อันถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายโดยปกติต้องจ่ายตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปกำหนดในการค้า
 
จากพฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า พรรคอนาคตใหม่กระทำการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามข้อห้ามที่บัญญัติใน ม.66 โดยพรรคอนาคตใหม่ใช้วิธีการทำสัญญากู้ยืมเงินแทน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทำความผิดตาม ม.66 และ 62
 
ส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีของเงินต้นกู้นั้น ถือว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยโดยเป็นการให้ส่วนลดที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อันถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายโดยปกติต้องจ่าย อันมีลักษณะที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (หมายถึง มีประโยชน์ทับซ้อน –ผู้เขียน) เป็นการที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ควรจะรู้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากต่อบุคคลใดจะก่อให้เกิดการครอบงำหรือชี้นำพรรคได้ จึงตัดสินว่า
 
(1) การกู้ยืมเงินระหว่างพรรคอนาคตใหม่ และธนาธร ถือเป็นการกู้เงินที่ไม่ได้มีเจตนากู้ยืมเงิน เพียงแค่ต้องการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดการบริจาคเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ตาม ม.66  และ 62 เท่านั้น
 
(2) และการกู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นการได้ประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่า วิธีการได้มาซึ่งประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.45 วรรคสอง เรื่องการครอบงำพรรค ถือเป็นการกระทำความผิดตาม ม.72 ประกอบ ม.92 วรรคหนึ่ง (3) จึงมีคำสั่งยุบพรรค
ปัญญา อุดชาชนมีพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติที่มาของรายได้พรรคการเมืองให้แคบกว่าเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการของพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ ในกฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมือง หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมือง มาตรา 62, 66 และ 72 จึงสอดคล้องกัน
 
มาตรา 62 ไม่มีการระบุถึงรายได้ของพรรคการเมืองที่มาจากการกู้ยืม ตามหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” เมื่อกฎหมายไม่ให้อำนาจในการกู้ยืมเงินแล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ย่อมรู้หรือควรจะรู้ว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถกระทำการกู้ยืมเงินจากธนาธรได้ จึงถือว่าพรรคอนาคตใหม่และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรครู้หรือควรจะรู้ว่า การทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นวิธีการได้มาของรายได้ของพรรคการเมืองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
จรัญ ภักดีธนากุลมีพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เนื่องจากต้องทำตามข้อบังคับใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดต้องทำไปตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดเท่านั้น รวมไปถึงเรื่องที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ในมาตรา 62 ด้วย
 
การกู้เงิน ไม่ใช่ “รายได้” ทำให้พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ ไม่ห้ามตามมาตรา 62 แต่ต้องเป็นการกู้ยืมที่แท้จริงและเป็นไปโดยสุจริต ไม่ได้ทำขึ้นเพื่ออำพรางการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมถึงการบริจาคและรับบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
 
แต่ถึงแม้เงินกู้จะไม่ใช่รายได้ของพรรคการเมือง แต่เงินกู้ที่ได้รับถือเป็นรายรับของพรรคการเมืองที่นำไปใช้จ่ายในกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ ซึ่งถือเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ตามมาตรา 66 ประกอบกับคำนิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงจำนวนดอกเบี้ยที่ธนาธรกำหนดให้พรรคอนาคตใหม่กู้นั้นต่ำกว่ามาตรฐานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารซึ่งปกติจะกำหนดสำหรับผู้กู้ที่ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี พรรคอนาคตใหม่กู้เงินธนาธรโดยไม่มีการค้ำประกัน ปกติแล้วควรจะต้องคิดดอกเบี้ยเท่ามาตรฐานธนาคาร ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดให้ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นให้คิดเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ที่ได้รับ ซึ่งต้องนับรวมกับ “เงินบริจาค” แล้วกำหนดห้ามเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ตามมาตรา 66 ด้วย
 
(1) พรรคอนาคตใหม่ได้รับ “ประโยชน์อื่นใด” จากส่วนต่างของดอกเบี้ยทั่วไป กับสัญญากู้ที่ธนาธรให้กู้เงินทั้งสองฉบับจากเงินกู้ 191,200,000 บาท  
โดยปกติธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้กู้ไม่มีหลักค้ำประกันใดใด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ธนาธรทำสัญญาด้วยดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ สัญญาแรกร้อยละ 7.5 ต่อปี สัญญาที่สองร้อยละ 2.5 ต่อปี เมื่อนำเอาส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยทั่วไปมาคำนวณเป็นเงินบริจาคทั้งหมด คิดเป็นเงินทั้งหมด 15,990,000 บาท และเงินบริจาคของธนาธรอีก 8,500,000 บาท ทำให้เงินบริจาคของธนาธรเกินกว่า 10 ล้านบาท และในระหว่างการกู้มีเหตุพิรุธอันควรสงสัยหลายกระบวนการ เช่น การที่พรรคอนาคตใหม่ชำระเงินคืนหลังจากกู้เงินเพียง 2 วัน เป็นเงิน 14 ล้านบาท และคืนเงินในวันที่ 21 มกราคม 2562 อีก 8,000,000 บาท การคืนเงินจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่ใช่ปกติวิสัยที่จะทำ พฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะนำเงินไปใช้เพื่อการใด สัญญากู้จึงถือเป็นสัญญากู้ที่ทำโดยเจตนาลวงเพื่อปิดบังการรับบริจาคเงินจำนวนมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้การกระทำของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เป็นการฝ่าฝืน ม.66 ซึ่งธนาธร ผู้บริจาคได้กระทำความผิดตาม ม.66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอาญา และมีโทษทางอาญาตาม ม.124 เงินหรือประโยชน์ส่วนเกินจาก 10 ล้านบาทจึงเป็นทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา เป็นทรัพย์ที่มีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
(2) จากบันทึกถ้อยคำของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่พบว่า กรรมการบริหารพรรคมีมติให้กู้เงินจากธนาธรเป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่ากรรมการบริหารพรรค รู้หรือควรจะรู้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่า การกู้เงินจากธนาธรทั้งสองครั้งในปี 2562 เป็นการรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษอาญาของธนาธร ตาม ม.66 วรรค 1 ประกอบ ม.124 เมื่อพรรคอนาคตใหม่รับเงินดังกล่าว จึงครบองค์ประกอบให้ต้องยุบพรรค ตาม ม.72 ประกอบ ม.92
อุดมศักดิ์ นิติมนตรีมีความผิดตาม ม.72 มีข้อห้ามสองกรณี กรณีที่หนึ่ง พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มาและวิธีการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  
 
กรณีที่สอง พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีแหล่งที่มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือเป็นเงินสกปรก การฟอกเงิน การค้าของเถื่อน การค้ามนุษย์ หรือการทุจริตประพฤติไม่ชอบ ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น
 
เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน อยู่ภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งมีหลักว่า นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนจะทำอะไรได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เท่านั้น พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้บัญญัติให้ “การกู้ยืมเงิน” เป็นรายได้ของพรรคการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนหรือบุคคลใดมีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองโดยการให้เงินหรือให้ทุนแก่พรรคการเมือง การให้เงินพรรคการเมืองจึงต้องทำตามที่กำหนดใน ม.66 และการรับเงินของพรรคการเมืองก็จำกัดไว้ในมาตราเดียวกัน
 
ส่วนเงินที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ม.72 นั้น รวมถึงวิธีการที่พรรคนั้นได้เงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เพราะกฎหมายห้ามพรรครับบริจาคจากบุคคลใดเกิน 10 ล้านบาทต่อคน
 
(1) เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินธนาธร เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อเป็นการใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ทันเวลา ซึ่งเป็นความไม่พร้อมของพรรคเอง จะอ้างความไม่พร้อมเพื่อดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไม่ได้
 
และปรากฏว่าในการกู้ยืมเงินดังกล่าว แม้พรรคอนาคตใหม่จะได้ชำระหนี้กู้ยืมบางส่วนแก่ธนาธรหลายครั้ง แต่การคืนเงินครั้งแรกถึง 14 ล้านบาท หลังการกู้เพียง 2 วันถือเป็นผิดปกติวิสัยของการกู้เงิน การทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองโดยที่ยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยู่ ก็ไม่เป็นปกติวิสัย
 
การทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงในสัญญา และพฤติการณ์ในการเอื้อประโยชน์ หรือช่วยเหลือพรรคอนาคตใหม่เป็นกรณีพิเศษที่ไม่เป็นไปตามปกติในทางการค้า และไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน รวมไปถึงการรับชำระหนี้กู้ยืมทั้งการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าสำหรับการกู้ยืมเงินที่ไม่มีหลักประกัน ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ตาม ม.66
 
เมื่อรวมประโยชน์อื่นใดที่พรรคอนาคตใหม่รับจากเงินกู้ยืมจำนวน 191,200,000 บาท กับเงินที่ธนาธรได้บริจาคให้แก่พรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 จำนวน 8,500,000 บาทแล้ว ถือว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องห้ามตาม ม.66 วรรคสอง
 
(2) เมื่อผู้บริจาค และผู้รับบริจาครู้ว่าเป็นเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปีที่ถือเป็นการบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ม.66 แล้วพรรคการเมืองยังรับบริจาคเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเรียกว่า “เงินกู้” หรืออย่างอื่น ก็ถือว่าพรรคการเมืองนั้นรับเงินบริจาคหรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อันเป็นการกระทำต้องห้ามตาม ม.72
 
กรณีการกู้ยืมเงินทั้งหมดของพรรคอนาคตใหม่นั้นเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นที่กล่าวอ้าง พรรคอื่นนั้นกู้ยืมเงินจากคนหลายคน เป็นจำนวนไม่มาก และนำเงินไปใช้ทดรองจ่ายในค่าใช้จ่ายต่างๆ ในสาขาพรรค ขณะที่พรรคอนาคตใหม่นั้นกู้เงินเป็นจำนวนที่สูงมาก หากระบุเป็น “การบริจาค” ตาม ม.66 ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายชัดเจน การกู้เงินดังกล่าวจึงเป็นการบริจาคเงินแต่อำพรางว่าเป็นการกู้เงินจากธนาธร
 
จึงถือว่าเป็นการได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดโดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าวิธีการได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.45 วรรคสอง อันถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน ม.72 ประกอบ ม.92 วรรคหนึ่ง
 
(3) เมื่อการทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นไปตามมติพรรคของพรรคอนาคตใหม่ จึงมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตาม ม.92 วรรคสอง
บุญส่ง กุลบุปผามีพรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน แต่เป็นนิติบุคคลที่ถูกควบคุมโดย พ.ร.ป.พรรคการเมือง และมีการจำกัดให้พรรคการเมืองไม่สามารถรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านบาทต่อปีได้ ตาม ม.66 และยังมีข้อห้ามตาม ม.72 ที่ว่า “ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ด้วย ซึ่งจะเห็นว่า ม.72 ห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รับทั้งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ หนึ่ง “รู้ หรือควรรู้” ว่าเป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือโดยไม่เปิดเผย และ สอง “มีเหตุอันควรสงสัย” ว่าได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน ค้ายาเสพติด
 
(1) จากข้อเท็จจริงที่พรรคอนาคตใหม่และธนาธรใช้วิธีการหรืออาศัยช่องว่างของกฎหมายหลีกเลี่ยงการรับบริจาคทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถือได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการบริจาคเงินให้แก่พรรคอนาคตใหม่ โดยใช้วิธีการคือกู้ยืมเงินจากบุคคลใดเกิน 10 ล้านบาทต่อปีซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงถึงขนาดที่ทำให้เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ครอบงำพรรคการเมืองนั้นได้ และมีการจ่ายดอกเบี้ยโดยเป็นการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยที่ไม่เป็นปกติในทางการค้า ซึ่งถือว่าเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” แก่พรรคการเมือง บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายซึ่งโดยปกติต้องจ่าย อันมีลักษณะที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินเกิน 10 ล้านบาทต่อปี ทำให้เข้าข้อห้ามตาม ม.66
 
(2) ในขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ควรจะรู้ได้ว่าการเป็นหนี้จำนวนมากจากเงินกู้ และยอมรับเงินดังกล่าวโดยเฉพาะจากธนาธรหัวหน้าพรรค ย่อมจะส่งผลให้พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ก่อให้เกิดการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ สามารถอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคเพียงผู้เดียว หรือกลุ่มเดียว ทำให้พรรคการเมืองเป็น “ธุรกิจการเมือง” ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวางโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มแรก กรณีนี้จึงเป็นวิธีการได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็นการกระทำฝ่าฝืน ม.72 ด้วย และยังขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.45 วรรค 2 ด้วย เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
 
การยุบพรรคการเมืองแม้จะเป็นมาตรการที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็ตาม แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อความเหมาะสมในการบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ต้องการให้มีการกำกับดูแลพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และประเพณีการปกครองภายใต้หลักสุจริต หลักธรรมาภิบาล และการคุ้มครองต่อหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมือง และหลักความเสมอภาคในทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเข้มแข็ง อันจะเป็นส่วนเสริมสร้างต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทย และเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองต่างๆ ในอนาคตที่จะต้องคำนึงถึงการทำนิติกรรมระหว่างพรรคการเมืองกับบุคคลต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขและข้อห้ามบางประการของรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตาม ม.72 ประกอบ ม.92 นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์มีพ.ร.ป.พรรคการเมือง มีความมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคเป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ มีมาตรการกำกับให้พรรคดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกของพรรค และรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้พรรคการเมืองมีฐานะเป็นองค์การองค์กรนิติบุคคลทางกฎหมายมหาชน โดยมี พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพรรคการเมืองผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ดังนั้น แม้พรรคมีรากฐานการก่อเกิดมาจากการรวมตัวกันโดยสมัครใจของกลุ่มคนในสังคม แต่ก็มีสถานะเฉพาะต่างไปจากกลุ่มสาธารณะทั่วไปในพื้นที่ประชาสังคม เนื่องจากมีบทบาทหน้าที่เชิงสถาบันภายในระบบการเมือง การกำกับควบคุมการดำเนินกิจการภายในของพรรคการเมืองโดยรัฐจึงมีความจำเป็นต่อการปกป้องความเป็นอิสระของพรรคการเมือง 
 
(1) พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง การดำเนินงานภายในเกี่ยวกับการเงินของพรรคต้องยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวโดยเคร่งครัด ในเรื่องของ การได้มาซึ่ง “รายได้” ของพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 62 เท่านั้น 
 
เมื่อพรรคการเมืองมีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคลมหาชนที่จัดขึ้นตั้งขึ้นตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง คำว่า “รายได้” จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจงในบริบทของการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับควบคุมการเงินของพรรคการเมือง (party finance) โดยนัยนี้ รายได้ของพรรคการเมืองหมายความถึง เงินที่พรรคการเมืองจัดหามาเพื่อใช้สำหรับดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง “เงินทางการเมือง” (political finance) ที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และแลกเปลี่ยนทรัพยากรอื่นๆ สำหรับใช้ในการแข่งขันทางการเมืองนั้น อาจมีแหล่งที่มาทั้งจากภายใน และภายนอกด้วยวิธีการได้มาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
 
เงินส่วนใดที่พรรคนำมาใช้จ่ายเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งไม่ได้มีแหล่งที่มา และวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้จึงถือว่าเป็นเงินที่พรรคการเมืองได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ม.62
 
ในเรื่องการกู้ยืมเงินของพรรค เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้บัญญัติกฎเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ย่อมไม่อาจถือได้ว่ากฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายให้พรรคการเมืองสามารถอาศัยเงินกู้เป็นแหล่งที่มาของเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และไม่อาจถือได้ว่าการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นการได้มาซึ่งเงินทุนทางการเมืองโดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากกฎหมายประสงค์จะอนุญาต โดยทั่วไปกฎหมายจะเริ่มจากบัญญัติกฎเกณฑ์เงื่อนไขว่าด้วยการกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองไว้โดยเฉพาะ 
 
การตรากฎหมายเพื่อกำกับควบคุมทางการเงินของพรรคการเมือง (political finance regulations) โดยทั่วไปวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ว่า เงินทุนทางการเมืองเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมืองในการหาเสียงและทำกิจกรรม แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับส่งอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมืองโดยไม่สุจริตได้ … นอกจากนี้คุณค่าและหลักการของระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนก็อาจถูกบั่นทอนทำลายโดยผลกระทบจากการขาดมาตรการกำกับควบคุมระบบการเงินทางการเมือง หากนักการเมืองถูกผูกมัดให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผู้สนับสนุนทางเงินทุนของพรรคการเมืองอย่างแนบแน่นแล้ว นักการเมืองย่อมจะปฏิบัติหน้าที่โดยตอบสนองและรับผิดชอบต่อประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งน้อยลง หากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของพรรคการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดผลการเลือกตั้งแล้ว ความเสมอภาคในการแข่งขันทางการเมืองก็ย่อมจะเสียไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องมีบทบาทในการกำกับระบบเงินทุนทางการเมืองของพรรคการเมืองโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันว่าพรรคการเมืองทุกพรรคมีโอกาสเข้าสู่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเสมอภาคกัน และการเข้าถึงเงินทุนทางการเมืองที่เพียงพอโดยไม่ผูกมัดกับการอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของใคร การกำกับดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: uncac) ข้อ 7.3 
 
ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีลักษณะการวางมาตรการโดยมุ่งกำกับพรรคการเมือง ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยการจดทะเบียนตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้พรรคการเมืองมีฐานะเป็นองค์กรนิติบุคคลทางกฎหมายมหาชนดังนั้นจึงไม่อาจอ้างได้ว่าพรรคการเมืองที่ดังกล่าวมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน เนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้รับรู้การดำรงอยู่ของพรรคการเมืองในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ว่า พรรคอนาคตใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชน การใช้ และการตีความกฎหมายต่อผู้ถูกร้องย่อมอยู่บนหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงเจตนา ผู้ถูกร้องย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการก่อนิติสัมพันธ์ใดๆ ก็ได้ตราบเท่าที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้าม จึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อโต้แย้งดังกล่าววางอยู่บนฐานของระบบกฎหมายที่ถือว่าพรรคการเมืองมีสิทธิในการดำเนินกิจการภายในทั้งปวงโดยอิสระ ตามหลักการว่าด้วยความมีอิสระเสรีภาพของบุคคลและองค์กรในภาคประชาสังคม ซึ่งไม่เหมือนกับระบบของประเทศไทย
 
(2) การกู้เงินนี้เป็นการรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ม.72 หรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ได้กู้ยืมเงินจากธนาธร เนื่องจากพรรคไม่สามารถจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งได้ทันเวลา แต่เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของพรรคอนาคตใหม่แล้วปรากฏว่าผู้ถูกร้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นเงิน 1,490,537 บาท และมีสินทรัพย์หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน รวม 32,873,211 บาท แต่เหรัญญิกพรรคกลับทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาธรผู้ให้กู้ ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในจำนวนสูงถึง 161.2 ล้านบาท และอีก 30 ล้านบาท ทั้งที่ยังคงมีหนี้เงินต้นค้างชำระ และในสัญญาฉบับที่สอง ระบุว่าผู้กู้จะให้เงิน 2.7 ล้านที่เหลือจะให้แก่ผู้กู้ในภายหลัง อันแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เกินปกติวิสัยที่พรรคการเมืองจะพึงกระทำในการกู้ยืมเงิน
 
และเมื่อพิจารณาถึงข้อตกลงในการทำสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับแรกคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ต้องรับผิดในเบี้ยปรับเพียงวันละ 100 อีกทั้งปรากฏว่ามีการตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขระยะเวลาการชำระดอกเบี้ยจากรายเดือนเป็นรายปี ส่วนสัญญากู้ฉบับที่สองคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่มีหลักประกัน ประกอบกับบันทึกถ้อยคำพยานของธนาธรที่ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนถึงเหตุที่พรรคผู้ถูกร้องไม่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือจากบุคคลอื่น เนื่องจากคิดว่าไม่มีสถาบันการเงินใดให้พรรคผู้ถูกร้องกู้ยืมเงินแน่นอน ส่วนการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากขณะนั้นพรรคผู้ถูกร้องยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับปัจจุบัน สอดคล้องกันกับถ้อยคำของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกของพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน แล้วเห็นได้ว่า การกู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ตามคำนิยามศัพท์ มาตรา 4 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ดังนั้น จากข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด เห็นว่าสัญญากู้ยืมเงินระหว่างพรรคอนาคตใหม่ และธนาธรมีลักษณะเป็นการให้ทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า
 
เมื่อพรรคอนาคตใหม่รับเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาใช้จ่ายเป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งที่เป็นเงินที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 62 จึงเป็นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่รับบริจาคประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.72 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตาม ม.92 วรรคสอง
วรวิทย์ กังศศิเทียมมีพ.ร.ป.พรรคการเมือง ถือว่าเป็นกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองจึงเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว แม้ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นก็ตาม แต่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองอย่างเคร่งครัด
 
(1) จากข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏว่า ธนาธรทำสัญญาให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ในจำนวนสูงถึง 161,200,000 บาท มีการคิดเบี้ยปรับในงวดที่ผิดนัดเพียงวันละ 100 บาทก็ดี มีการชำระหนี้หลังทำการสัญญากู้ดังกล่าวเพียง 2 วัน โดยชำระเป็นเงินสดจำนวนถึง 14,000,000 บาทก็ดี ทั้งงบแสดงฐานะการเงินของพรรคอนาคตใหม่ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 พรรคอนาคตใหม่มีสินทรัพย์หมุนเวียนที่เป็นเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวนเพียง 6,508,353 บาท เท่านั้นก็ดี ในวันที่ 21 มกราคม 2562 หลังจากทำสัญญากู้เพียง 19 วัน พรรคอนาคตใหม่ชำระหนี้เป็นเงินสดอีก 8,000,000 บาทก็ดี ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2562 พรรคอนาคตใหม่ชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ให้กู้จำนวน 50,000,000 บาทก็ดี ทั้งมีการทำสัญญากู้เงินอีก 30,000,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีก็ดี แสดงถึงข้อพิรุธการกระทำของธนาธรผู้ให้กู้และพรรคอนาคตใหม่ในฐานะผู้กู้ว่ามีการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า
 
อีกทั้งยังมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินกู้ อันถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่ที่สามารถคำนวณเป็นเงินที่ไม่ออกค่าใช้จ่ายซึ่งโดยปกติต้องจ่าย
 
จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไม่ต้องการเปิดเผยหรือแสดงเจตนาซ่อนเร้นหลบเลี่ยงในการรับบริจาค เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ใน ม.66
 
(2) พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า การที่พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใช้วิธีการ หรืออาศัยช่องว่างของกฎหมายหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นกรณีต้องห้ามตาม ม.66 โดยใช้วิธีการกู้ยืมเงินจากบุคคลใดเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปีซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินถึงขนาดที่ทำให้เจ้าหนี้ หรือบุคคลผู้ให้กู้ครอบงำพรรคการเมืองนั้นได้ และมีการจ่ายดอกเบี้ยโดยเป็นการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อันถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ กรณีจึงเป็นการวิธีการได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะบุคคลผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ย่อมจะส่งผลทำให้พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีว่า การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้อาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว ทำให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างกว้างขวางโดยทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มแรก กรณีจึงเป็นวิธีการได้มาซึ่งประโยชน์อื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.45 วรรคสอง โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าเป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ม.66 วรรคสอง อันถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนตามกฎหมาย ม.92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบ ม.72 ด้วย ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคอนาคตใหม่ตาม ม.92 วรรคสอง

 

ประเด็นที่ 3 กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนานเท่าใด

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐไม่วินิจฉัย
ชัช ชลวรไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าพรรคอนาคตใหม่มีการกระทำตามมาตรา 92 (3) เกิดขึ้น จึงไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้
นุรักษ์ มาประณีตไม่มีกำหนดเมื่อวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 แล้ว มีข้อพิจารณาต่อไปว่าจะเพิกถอนสิทธินั้นเป็นระยะเวลาเท่าใด เมื่อมาตรานี้มิได้กำหนดระยะเวลาไว้เหมือนกับมาตราอื่นๆ แสดงว่ามีเจตนารมณ์เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเสียเอง มิอาจกระทำได้
มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเสียเอง จึงให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
ปัญญา อุดชาชน10 ปีมูลเหตุที่จะให้ยุบพรรคนั้นมีหลายเรื่องตาม ม.92 ของกฎหมายพรรคการเมือง และศาลได้เคยมีแนวคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ไว้แล้ว (ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ผิดในเรื่องกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบฯ) โดยสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหาร 10 ปี ดังนั้น กรณีนี้เป็นมูลเหตุว่าพรรคทำผิดมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมือง (แม้เป็นคนละประเด็นกับไทยรักษาชาติ) แต่ก็ยังเป็นเงื่อนไขความผิดที่อยู่ใน ม.92 วรรคหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงเห็นควรให้ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเท่ากับ 10 ปีเช่นกัน
จรัญ ภักดีธนากุล10 ปีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 62 และ 11 เม.ย. 62 ส่วนว่าจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าใดเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2562 เป็นบรรทัดฐานไว้ (กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ)
 
เมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำผิด ผู้ถูกร้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย ม.66 ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.45 (บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง) แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สมาชิกพรรคถูกครอบงำหรือชี้นำโดยสิ้นเชิงหรือประชาธิปไตยในพรรคไม่สูญเสียไปทั้งหมด จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคซึ่งสอดคล้องกับระยะเวลาตามกฎหมายพรรคการเมือง ม.94 ที่ห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปตั้งพรรคใหม่มีกำหนดชัดเจนว่า 10 ปี
อุดมศักดิ์ นิติมนตรี10 ปี(เหตุผลเหมือนกับ จรัญ, นครินทร์)
บุญส่ง กุลบุปผา10 ปีเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว กฎหมายกำหนดให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารด้วย จึงมีคำสั่งให้กรรมการบริหารพรรคที่เคยดำรงตำแหน่งในวันที่ 2 ม.ค. หรือ 11 เม.ย. 2562 ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์10 ปี(เหตุผลเหมือน จรัญ, อุดมศักดิ์)
วรวิทย์ กังศศิเทียม10 ปีบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคตามวิถีทางประชาธิปไตย ตาม ม.45 ของรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ-ความได้สัดส่วน-ใช้วิธีการที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้-กระทบสิทธิบุคคลให้น้อยที่สุด-ไม่เกินสมควรแก่เหตุ อย่างไรก็ตาม แม้ ม.92 ของกฎหมายพรรคการเมืองจะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคได้ แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่ใน ม.94 กำหนดว่า เมื่อศาลสั่งยุบพรรคแล้ว ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบไปจดจัดต้้งพรรคใหม่เป็นเวลา 10 ปี แสดงให้เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่องค์กรนิติบัญญัติผู้ตรากฎหมายเห็นว่าเหมาะสมในการจำกัดสิทธิทางการเมืองแล้ว
 
เพื่อให้การกำหนดเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารสอดคล้องกับกำหนดเวลาห้ามกรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคใหม่ จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มีกำหนด 10 ปี

 

ประเด็นที่ 4 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิฯ จะตั้งพรรคใหม่ไม่ได้ภายใน 10 ปีหรือไม่

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐไม่วินิจฉัย
ชัช ชลวรไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าพรรคอนาคตใหม่มีการกระทำตามมาตรา 92 (3) เกิดขึ้น จึงไม่มีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้
นุรักษ์ มาประณีตใช่ม.94 กฎหมายพรรคการเมืองระบุห้ามให้ผู้เคยเป็นกรรมการบริหารไปจดทะเบียนพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีก ภายใน 10 ปี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นผลของการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ปัญญา อุดชาชนใช่(เหตุผลเช่นเดียวกับนุรักษ์, จรัญ, อุดมศักดิ์, บุญส่ง,นครินทร์, วรวิทย์)
จรัญ ภักดีธนากุลใช่(เหตุผลเช่นเดียวกับนุรักษ์,ปัญญา, อุดมศักดิ์, บุญส่ง, นครินทร์, วรวิทย์)
อุดมศักดิ์ นิติมนตรีใช่(เหตุผลเช่นเดียวกับนุรักษ์, ปัญญา, จรัญ, บุญส่ง, นครินทร์, วรวิทย์)
บุญส่ง กุลบุปผาใช่(เหตุผลเช่นเดียวกับนุรักษ์, ปัญญา, จรัญ, อุดมศักดิ์, นครินทร์, วรวิทย์)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ใช่(เหตุผลเช่นเดียบกับนุรักษ์, ปัญญา, จรัญ, บุญส่ง, อุดมศักดิ์, วรวิทย์)
วรวิทย์ กังศศิเทียมใช่(เหตุผลเช่นเดียบกับนุรักษ์, ปัญญา, จรัญ, บุญส่ง, อุดมศักดิ์, นครินทร์)
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน